Skip to main content
sharethis

ถอดคำสัมภาษณ์ 'มูฮำมัดอายุบ ปาทาน' ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ก่อนการพูดคุยไทย-มารา ย้ำประเด็นผู้บริสุทธิ์คือเรื่องแรกที่ต้องคุยบนโต๊ะสันติภาพเพราะคนข้างล่างต้องการ ชี้ถ้าพูดคุยไม่ชัดเจนคนกังวลสถานการณ์จะแรงขึ้น เผย 3 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในรอบ 3 ปีที่ต้องผลักดันการพูดคุยให้ไปข้างหน้า ทั้งประชาสังคมเข้มแข็ง ไม่มีใครโยนให้ทหารฝ่ายเดียวและทุกฝ่ายอยากมีส่วนร่วม ฝ่ายไทยต้องสื่อสารให้คนในประเทศเข้าใจ

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เรื่องทิศทางการเดินหน้าพูดคุยสันติสุข เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานีที่มีผู้เสียชีวิต 2 คนบาดเจ็บอีกหลายสิบคนและก่อนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มมาราปาตานีในวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่มูฮำมัดอายุบพูดถึงคือเรื่องการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ซึ่งในวันที่นี่ก็ยังเป็นปัญหาหลักที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะเหตุระเบิดที่หน้าโรงเรียนตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนซึ่งจำนวนเป็นพ่อกับลูกสาววัย 5 ขวบที่เป็นนักเรียนอนุบาลซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมากและมีหลายกลุ่มออกมาประณามการก่อเหตุครั้งนี้อย่างกว้างขวาง

แม้ว่าการพูดคุยระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับกลุ่มมาราปาตานีครั้งล่าสุดได้ให้การยอมรับ TOR หรือกรอบกติกาการพูดคุยไปแล้วซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าของการพูดคุยในระดับหนึ่งไปแล้ว ซึ่งมูฮำมัดอายุบบอกว่าประเด็นเรื่อง TOR ที่ยังไม่ลงตัวเพราะว่าฝ่ายไทยอยากให้หยุดการใช้ความรุนแรงก่อนที่จะคุย ส่วนฝ่ายมาราปาตานีให้ยอมรับสถานะเขาก่อน

“คนข้างล่างพยายามบอกว่าควรพูดคุยเรื่องคนบริสุทธิ์”

แม้การพูดคุยดำเนินไปและมีการยอมรับร่วมกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่มูฮำมัดอายุบพยายามจะบอกก็คือว่า “คนข้างล่างพยายามจะบอกว่าการพูดคุยควรจะพูดเรื่องคนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และน่าจะเป็นข้อตกลงแรกๆหรือพูดเรื่องพื้นที่ที่ปลอดภัย พื้นที่ที่คุณจะก่อเหตุต้องไม่เกี่ยวข้องกับผู้บริสุทธิ์ แต่ยังไม่เห็นข้อตกลงแบบนี้”

มูฮำมัดอายุบ บอกว่า เรื่องผู้บริสุทธิ์มีการคุยกันมานานแล้ว เช่น ขอให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัย แต่ในรายละเอียดของ TOR ยังไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งเรื่อง TOR พูดมากันมาหลายครั้งก่อนจะหยุดไปซักพักแล้วมาคุยกันใหม่ในวันที่ 2 กันยายน “การพูดคุยถ้าไม่ชัดเจนก็มีโอกาสที่ความรุนแรงจะตามมา หรือถ้าไม่คุยเลยความรุนแรงก็จะสูงขึ้นก็ได้ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันพื้นที่อย่างเต็มที่”

ผู้ดำเนินรายการถามว่า การวางตัวของรัฐบาลไทยขณะนี้ควรเป็นอย่างไร มูฮำมัดอายุบบอกว่า ฝ่ายไทยต้องไปคุยกับมาราปาตานีหรือฝ่าย BRN ให้ชัดมากกว่านี้ เพราะตนทำงานในพื้นที่ได้ฟังเสียงประชาชน มีการสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ทุกคนหนุนเรื่องการพูดคุยเพราะเป็นทางออกเดียวที่จะหาข้อยุติได้

ต้องพูดคุยเรื่องที่ชาวบ้านอยากให้เป็น

ประเด็นที่สองคือคนส่วนใหญ่พูดว่า บนโต๊ะพูดคุยต้องพูดคุยเรื่องผู้บริสุทธิ์ซึ่งน่าจะเป็นหัวข้อแรกที่กำหนดไว้ในTORของการพูดคุย เป้าอ่อนแอต้องไม่มีหรือต้องลดลงในระหว่างการพูดคุย ฝ่ายไทยก็น่าจะเอาข้อเสนอนี้ไปคุยกับฝ่ายมาราปาตานีเพื่อให้รับรู้ว่านี่คือข้อเสนอจากประชาชน

“เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมักอ้างว่าประชาชนคิดอย่างไร แต่เท่าที่เราฟังประชาชนพบว่าประชาชนขอเรื่องความปลอดภัย และผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับการยกเว้น เพราะเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่ง TOR ต้องพูดคุยเรื่องที่ชาวบ้านอยากให้เป็น แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายอยากให้เป็น จึงจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าการพูดคุยมันก้าวหน้า” มูฮำมัดอายุบ กล่าว

ป้องกันเหตุได้ไม่นาน ถ้าการพูดคุยไม่ชัดเจน

มูฮำมัดอายุบยังตอบคำถามเรื่องการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการด้วยว่า การก่อเหตุในเขตเมืองในรอบปีนี้ค่อนข้างจะทำไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ป้องกันเต็มที่ ส่วนเหตุคาร์บอมที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวก็อยู่นอกเขตเมืองแต่เป็นพื้นที่ชุมชนทางเศรษฐกิจ

“แต่การป้องกันนี้จะอยู่นานไม่ได้ถ้าข้อตกลงการพูดคุยมันไม่เดินไปข้างหน้า เพราะคนที่จ้องจะก่อเหตุจะดูประเด็นการพูดคุยของฝ่ายไทยและฝ่ายเห็นต่างด้วยว่าจะขยับอย่างไร เพราะเหตุการณ์จะเชื่อมกับการพูดคุย” มูฮำมัดอายุบ กล่าว

ทุกเวทีคนคาดหวังความต่อเนื่อง แต่กังวลสถานการณ์แรงขึ้น

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า “เราสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากการเจรจาครั้งนี้” มูฮำมัดอายุบ ตอบว่า “ตอนนี้ผมทำเวทีฟังความคิดเห็นจากผู้นำศาสนาและทำเวทีภาคประชาสังคม ทุกคนคาดหวังว่าการพูดคุยมีความต่อเนื่อง เป็นความเห็นประชาชนจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายพุทธ ฝ่ายมุสลิม นักธุรกิจ เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็กังวลว่า ถ้าการพูดคุยไม่เดินไปข้องหน้าก็กลัวว่าสถานการณ์จะรุนแรงขึ้นไปอีก”

“เราต้องหนุนเสริม เพราะจะให้สถานการณ์กลับไปแบบที่เดิมคงไม่ได้แล้ว เพราะคนที่นี่ตายไป 6,000 กว่าคน มีเหตุการณ์หมื่นกว่าครั้ง มันต้องเดินไปข้างหน้าคนกรุงเทพก็ต้องช่วยด้วย ไม่อย่างนั้นจะกลับไปที่เดิม ซึ่งคงไม่ได้แล้ว”

มูฮำมัดอายุบยังได้ยกผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่มีการสำรวจทุก 3 เดือนด้วยว่า มีการระบุชัดเจนว่าประชาชนอยากให้การพูดคุยเดินไปข้างหน้า ประชาชนหนุนเสริมการพูดคุย แม้บางส่วนไม่ทราบรายละเอียดของกระบวนการพูดคุย แต่ทุกคนเชื่อว่าการพูดคุยคือทางออก

ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังเกิดเหตุรุนแรง ขวัญและกำลังใจของประชาชนเป็นอย่างไร มูฮำมัดอายุบ ตอบว่า ประชาชนรู้สึกหดหู่แน่นอน นี่แหละคือที่มาของการพูดคุย ถ้าไม่มีการพูดคุยก็ไม่รู้จะไปพูดคุยกับใคร แต่เมื่อมีโต๊ะพูดคุยแล้ว อย่างน้อยประชาชนก็ส่งเสียงได้

3 ความเปลี่ยนแปลงในรอบ 3 ปีที่ต้องดันการพูดคุยไปข้างหน้า

“ผมไม่เคยเห็นภาคประชาสังคมต่างๆ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์อย่างนี้มาก่อน ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเห็นภาคประชาสังคมเติบโตเรื่องนี้มาก มีการออกแถลงการณ์ประณามว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง”

“ในรอบ 3 ปีที่มีการพูดคุย เราเห็นประชาชนในพื้นที่บอกว่าเราต้องเสนอต่อทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจากเดิมเรามักได้ยินคนพูดถึงฝ่ายทหารอย่างเดียวไม่ได้พูดถึงฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ แต่ตอนนี้บอกว่าต้องเสนอความเห็นทั้ง 2 ฝ่าย”

และสิ่งที่มูฮำมัดอายุบย้ำคือ “ผมเจอทุกเวทีคือ ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ ดังนั้นเราต้องสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อให้มันเดินไปข้างหน้า ผมว่าข้อมูลขนาดนี้เพียงพอแล้วที่ฝ่ายไทยและฝ่ายเห็นต่างจากรัฐต้องฟังเสียงของคนที่อยู่ฝ่ายที่ 3 เพราะเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะมีญาติพี่น้องและเพื่อนๆที่เสียชีวิต”

มูฮำมัดอายุบ บอกว่า นั่นคือเหตุผลที่จะต้องผลักดันให้การพูดคุยไปข้างหน้า เพราะประตูการพูดคุยมันเปิดแล้วและความรุนแรงไม่ใช่ทางออกนอกจากการพูดคุยหรือจะเรียกการเจรจาก็ได้ จะเรียกสันติภาพหรือสันติสุขก็ได้ แต่จะต้องเป็นรูปธรรมที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันเดินไปข้างหน้า

ฝ่ายไทยต้องสื่อสารให้คนในประเทศเข้าใจ

ผู้ดำเนินรายการถามว่า รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องลงไปติดตามเหตุการณ์ในพื้นที่หรือไม่

มูฮำมัดอายุบ ตอบว่า การลงพื้นที่เป็นเรื่องปกติของระบบราชการอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าถ้าสื่อมวลชนสนใจคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ว่าด้วยเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคำสั่งที่ให้การพูดคุยระหว่าง Track1 คือระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายมาราปัตตานี ใน Track2 ระดับภาคประชาสังคม และ Track3 คือระดับชาวบ้านข้างล่าง ผมคิดว่าคำสั่งนี้ชัดเจนมาก ต้องเผยแพร่ให้พี่น้องในประเทศให้เห็นว่าการพูดคุยทั้งในระดับบนและระดับล่างไม่ใช่ในเรื่องผิดกฎหมายและยิ่งทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมไปสู่กระบวนการพูดคุย

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ประชาชนควรติดตามข่าวสารจากที่ไหนได้บ้าง

มูฮำมัดอายุบ ตอบว่า คณะฝ่ายไทยต้องสื่อสารเรื่องนี้ว่าไปคุยอะไร ถ้าคุณไม่สื่อสารกับประชาชนกับคนทั้งประเทศมันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย แต่ถ้าคุณสื่อสารมันจะเป็นประโยชน์ต่อคณะฝ่ายไทยมากว่า คุณทำงานถึงไหน ตอนนี้มีข้อเสนออะไร ยอมรับอะไรได้บ้าง

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของกระบวนการพูดคุย ไม่ใช่แถลงเฉพาะเรื่องที่ทำไปแล้วแต่ควรแถลงความคืบหน้าของการพูดคุยว่าตอนนี้เป็นอย่างไร อยู่ในระดับไหน อันนี้ประชาชนอยากจะรู้เพราะมันมีความหวัง

ประเด็นต่อมา ผมคิดว่าสื่อมวลชนทุกแขนงต้องเกาะติดในการนำเสนอเรื่องกระบวนการพูดคุย เพราะถ้าเราไม่เสนอเรื่องกระบวนการพูดคุย เสนอแต่ความรุนแรงอย่างเดียวอันนี้มันไม่สัมพันธ์กัน

สื่อเริ่มรู้แล้วว่าต้องเสนอด้านอื่นที่ไม่ใช่ความรุนแรงอย่างเดียว

ถามว่าจะติดตามจากที่ไหน ผมรู้สึกว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยมีการขยับขึ้นเยอะขึ้น ไม่ได้เสนอเฉพาะเรื่องตายกี่คน มีเหตุการณ์ที่ไหน แต่ตอนนี้มีสื่อมวลชนเริ่มรู้แล้วว่าต้องเสนอด้านอื่นไปด้วย เพื่อให้รู้ว่ากระบวนการพูดคุยจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ประเด็นต่อมา ในพื้นที่ตอนนี้มีเว็บไซต์ที่รายงานเรื่องนี้มาตลอด 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สามารถติดตามได้

อะไรที่สามารถเปิดเผยได้คุณก็เปิดเผย อะไรที่เปิดเผยไม่ได้ก็ไม่ต้องเปิดเผย เพราะมันเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลกับผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างเดียว คนทั้งประเทศต้องรับรู้ ถ้าไม่มีใครรับรู้ก็ไม่มีใครจะเข้าไปช่วย เพราะมีทหารจากภาคเหนือ ภาคอีสานมาเสียชีวิตที่นี่เยอะ เพราะฉะนั้นเครือญาติเขาควรจะรับรู้ได้

ผู้ดำเนินรายการถามว่า อยากฝากอะไรถึงการพูดคุยครั้งต่อไปเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน

มูฮำมัดอายุบ ตอบว่า เรื่องแรกที่ควรคุยบนโต๊ะเจรจาระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายมาราปาตานี คือต้องคุยเรื่องเป้าหมายอ่อนแอให้ชัดว่า การกระทำต่อผู้บริสุทธิ์จะต้องเป็นประเด็นที่คุยกันอย่างจริงจัง และต้องคุยแบบซีเรียสบนโต๊ะด้วยว่าการกระทำที่ประชาชนไม่รู้อีโหน่อีเหน่มันผิดหลักของการต่อสู้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

คารบอมบ์รร.เซาท์เทิร์นวิวปัตตานี เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 35 ราย

สลด! บึ้มตำรวจแต่โดนเด็กอนุบาลเสียชีวิตพร้อมพ่อ สภานักเรียนขอให้หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์

“รถไฟต้องปลอดภัย” เอ็นจีโอเรียกร้องอย่าโจมตีพื้นที่สาธารณะ

“พื้นที่ปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย" คณะทำงานผู้หญิงฯยื่นวงถกไทย-มาราปาตานี

คณะพูดคุยสันติสุข-มาราปาตานีเห็นชอบTOR รับข้อเสนอผู้หญิง-ระทึกกู้คาร์บอมบ์ข้าง สภ.แว้ง

สภาประชาสังคมใต้แถลงยุทธศาสตร์ใหม่ สร้างพื้นที่กลาง-ผลักดันประชาชนร่วมกระบวนการสันติภาพ

เปิดคำสั่ง 230 ทำความเข้าใจกลไกและกระบวนการ ก่อนการพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 4

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net