Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีอะไรที่น่าสนใจแก่ผมมากกว่าวีรกรรมของคุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กรณีที่คุณเนติวิทย์แฉโพยและระดมความเห็นผู้คนออกมาต่อต้านรุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่บังคับกดขี่น้องใหม่จนเกินไป

เพราะเรื่องนี้อาจไม่เกี่ยวกับวีรกรรมส่วนตัวของคุณเนติวิทย์อย่างเดียว คุณเนติวิทย์เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เมื่อการเคลื่อนไหวของคุณเนติวิทย์ดังไปทั้งจุฬาฯและสื่อสังคมแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าคุณเนติวิทย์ถูกรุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์ห้ามปราม หรือข่มขู่ลงโทษแต่อย่างไร ผมไม่ทราบหรอกว่ารุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์คิดอะไรอยู่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในระบบที่เรียกกันว่าโซตัส แต่คิดอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับที่รุ่นพี่รัฐศาสตร์ยอมรับสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้องคนหนึ่ง ที่จะแสดงออกและเคลื่อนไหวในเรื่องที่ต้องถือว่าเป็นเรื่อง “สาธารณะ” แน่

ถ้าเป็นรัฐศาสตร์สมัยผมยังเรียนอยู่ที่จุฬาฯจะไม่เป็นอย่างนี้แน่ นิสิตรัฐศาสตร์สมัยนั้นเป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่ผดุงระบบโซตัสไว้อย่างเข้มแข็งในจุฬาฯ อีก 2 เสาที่เหลือคือนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการวางเฉยของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกของระบบโซตัสในจุฬาฯ (ซึ่งมักเป็นแบบอย่าง หรือสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนี้ในมหาวิทยาลัยอื่นด้วย)

ในสมัยที่ผมเรียนที่นั่น นอกจากสองคณะที่เข้มงวดกวดขันกับระบบโซตัสอย่างยิ่งคือ รัฐศาสตร์และวิศวะแล้ว คณะอื่นก็ยอมรับนับถือและใช้ระบบดังกล่าวนี้ในการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องเหมือนกัน เพียงแต่ไม่กวดขันนัก เป็นประชาธิปไตยที่มีหัวมีก้อย โดยไม่ต้องเป็นเผด็จการ-แต่ก็มีหัวมีก้อยเหมือนกัน

ในสมัยนั้น คณะเดียวที่แทบจะไม่มีหัวมีก้อยเลย และก็แสดงความไม่มีหัวมีก้อยนี้ให้นิสิตคณะอื่นได้เห็นตลอด คือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เช่นในวันกีฬามหาวิทยาลัย คณะอื่นเกณฑ์แรงงานน้องใหม่ยก “อัฒจันทร์” ไม้มาเรียงกันเพื่อใช้นั่งเชียร์กีฬา (ผมเรียกว่าอัฒจันทร์เพราะไม่รู้จะเรียกอะไร ที่จริงเป็นสแตนด์ไม้รูปสี่เหลี่ยมที่หนักมาก ไม่ได้เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวแต่อย่างใด) แล้วในวันเล่นกีฬาก็เกณฑ์น้องใหม่ทุกคนขึ้นไปนั่งตากแดดบนอัฒจันทร์นั้นทั้งวัน รุ่นพี่สถาปัตย์ก็ทำคล้ายๆ กัน คือยกอัฒจันทร์สักอันหนึ่งสองอันมาตั้งไว้ขอบสนามหน้าคณะ แต่ในวันเล่นกีฬา แทนที่จะเกณฑ์น้องใหม่มานั่งตากแดด พวกเขาช่วยกันเขียนหน้าคน หญิงบ้างชายบ้าง มาตั้งเรียงไว้บนอัฒจันทร์ ปล่อยกระดาษเหล่านั้นให้ตากแดดไป ส่วนใครที่ชอบดูกีฬาก็ไปหาที่นั่งใต้ร่มไม้เอาเอง

ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ยิ่งน่าสนใจ

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันมานานแล้วว่า ระบบโซตัสคือการฝึกทางวัฒนธรรม ให้นิสิตยอมรับและเลื่อนไหลอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบไทยได้คล่องแคล่ว (คือไม่ใช่แบบอาหรับ, แบบปากีสถาน, แบบอินโดนีเซีย หรือแบบญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งก็มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นความสัมพันธ์เด่นเหมือนกัน แต่มีเนื้อหาต่างกัน)

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบไทยเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเป็นอย่างไรหลังจากไทยกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ไปแล้ว ขอสรุปดังนี้

ก็เหมือนกับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสังคมอื่นๆ คือเป็นการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่ง ระหว่างคนที่มีสถานภาพไม่เสมอกัน ความสัมพันธ์นี้อาจสร้างขึ้นระหว่างบุคคลที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน, วัดเดียวกัน, ระบบราชการเดียวกัน, สถาบันการศึกษาเดียวกัน, วงการเดียวกัน โดยฝ่ายที่มีสถานภาพสูงกว่าอาจให้ความคุ้มครอง, การสนับสนุน, สายสัมพันธ์หรือเส้น, ความมีหน้ามีตาในแวดวง, เพื่อทำให้ผู้ใต้อุปถัมภ์เข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้สะดวกขึ้นและแน่นอนขึ้น ในขณะที่ฝ่ายผู้ใต้อุปถัมภ์ให้ความภักดีระดับหนึ่ง, ให้ความร่วมมือในการสร้างแรงกดดันหรือสนับสนุน, ให้เกียรติยศ, ให้ความมีหน้ามีตา (อีกชนิดหนึ่ง) แก่ผู้อุปถัมภ์เป็นการตอบแทน

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เช่นนี้มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพการงานในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ในระบบราชการ หรือในวงการที่ต้องอาศัยสายสัมพันธ์กับราชการและ “ผู้ใหญ่” ในวงการเดียวกัน นี่คือเหตุผลที่นิสิตคณะรัฐศาสตร์และวิศวะในสมัยนั้นต่างยึดมั่นในระบบโซตัสอย่างเข้มข้น เพราะชีวิตการงานของบัณฑิตสองคณะนี้จะเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น ราชการ, รัฐวิสาหกิจ, องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ หรือการใช้เส้นในการรับงาน

ในสมัยที่ผมยังเป็นนิสิตจุฬาฯ แทบไม่มีหน่วยราชการใดมีสถาปนิกประจำของตนเอง หลายครั้งด้วยกันวิศวกรทำงานแทน ไม่มีใครจ้างสถาปนิกสร้างเรือนอยู่อาศัยของตนเอง งานของสถาปนิกอยู่ในตลาด “เสรี” ใช้เส้นเหมือนกัน อย่างน้อยก็เพื่อแนะนำให้ไปถึงผู้จ้างงาน แต่เส้นมักทับกันไปทับกันมาจนยากจะเกาะกันเป็นสายๆ ได้เหมือนคนที่อยากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออยากสร้างงานขนาดใหญ่ของราชการและรัฐวิสาหกิจ

นี่คือเหตุผลว่า ระบบโซตัสแทบไม่มีความหมายอะไรมากนักในหมู่นิสิตคณะสถาปัตย์สมัยนั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากก็คือ ในกรณีคุณเนติวิทย์กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ปัจจุบัน นิสิตคณะที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมศาสตร์รุ่นผมที่สุดน่าจะเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์นี่แหละครับ จะมีองค์กรขนาดใหญ่ที่ไหนในเมืองไทยลงทุนจ้างนักดนตรีประจำ หรือมีวงออเคสตราของเทศบาลเมือง จะมีองค์กรขนาดใหญ่ใดหรือที่จะจ้างประติมากรหรือจิตรกรประจำหน่วยงานมากกว่า 1 คน โดยสรุปก็คือ บัณฑิตที่จบจากคณะนี้ไม่พึงหวังตำแหน่งงานราชการได้มากนัก อาชีพการงานของพวกเขาอยู่ในตลาด “เสรี” เช่น ค่ายเพลง (ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังจะต้องเลิกไป), ค่ายหนัง และสื่อ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องทำงานอิสระ (ซึ่งต้องฝึกเป็นนักพูดที่เก่งพอจะให้ทีวีเชิญไปออกรายการเสมอด้วย)

ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในหน่วยงานเอกชนเลย มีแน่ครับ ไม่อย่างนั้นนักแต่งเพลงที่มีตำแหน่งบริหารในค่ายเพลงใหญ่ๆ จะไม่ถูกเรียก “พี่” ทั้งเมืองอย่างนี้หรอก แต่ธรรมชาติของธุรกิจเอกชนคือการแข่งขัน ด้วยเหตุดังนั้นจึงพึ่งพิงกับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มากนักไม่ได้ เพราะจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจนั้นๆ อ่อนแอลงไป ฉะนั้นแม้แต่ “พี่” ก็ต้องดูด้วยว่า ผู้ที่อาสามาเป็นผู้ใต้อุปถัมภ์ของตนนั้น ต้องพอมีฝีมืออยู่บ้าง

แต่คณะที่ “ว้าก” น้องมาก และโซตัสมากกลับเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังผลิตบัณฑิตออกไปสู่ตลาด “เสรี” ผมพบปรากฏการณ์คล้ายอย่างนี้ในมหาวิทยาลัยบ้านนอกอีก 2-3 แห่งเหมือนกัน

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ผมอธิบายไม่ได้หรอกครับ แต่ก็จะฝืนอธิบายอย่างไม่น่าเชื่อถือข้างหน้า ผมขอเริ่มกับขั้วตรงข้าม คือนิสิตรัฐศาสตร์ที่ปล่อยให้น้องใหม่อย่างคุณเนติวิทย์ไปป่วนระบบโซตัสของคณะอื่น ซึ่งย่อมมีผลต่อระบบโซตัสโดยรวมของจุฬาฯด้วย

ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การเมืองการปกครองของไทยเปลี่ยนไปมาก ที่สำคัญคือหน่วยงานสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ถูกมองเห็นและตั้งคำถามจากสาธารณชนมากกว่าสมัยก่อนอย่างมาก ผมคิดว่าแสงสว่างที่ถูกสาดเข้าไปในหน่วยงานเหล่านี้ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ให้ผลตอบแทนได้น้อยลง (เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น) หรืออาจถึงขาดทุน หากถูกแฉโพยแล้วคนอื่นในเครือข่ายอุปถัมภ์เดียวกันพากันกระโจนหนีไปหมด ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในหน่วยงานเหล่านี้ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้าในอาชีพการงานอีกแล้ว

ผมคิดว่าสิ่งที่เข้ามาแทนที่ในหมู่ผู้ดำรงตำแหน่งสูงหน่อย ก็คือสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร (ภาษาชาวบ้านคือประจบสอพลอ) และต้องทำให้สายสัมพันธ์นั้นปรากฏแก่สาธารณชนด้วย (เท่ากับการดื่มน้ำสาบานแสดงความภักดีในสมัยโบราณ) เพราะแสดงระดับของพันธะ (commitment) ที่มีต่อนาย

เราจึงได้เห็นปลัดกระทรวงก้มกราบรัฐมนตรีใหม่ที่พรรคการเมืองเพิ่งส่งเข้ามา ปรากฏในสื่อทุกชนิดและทุกสื่อ เพราะเขาตั้งใจให้ปรากฏ (ก็ไปแอบกราบกันในที่ลับตาคนก็ได้นี่ครับ) เช่นเดียวกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ยกย่องสรรเสริญหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างน่าคลื่นเหียน อย่านึกว่าเราเท่านั้นที่อยากอาเจียน แต่ผู้ให้สัมภาษณ์เองก็ต้องกลั้นอาเจียนไว้เหมือนกัน แต่ต้องทำในที่สาธารณะให้รู้เห็นทั่วกัน เพื่อยกระดับพันธะให้สูงจนเป็นที่ไว้วางใจของหัวหน้าคณะรัฐประหาร

บางคนอาจบอกว่านี่ก็เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เช่นสร้างขึ้นได้เร็วเหมือนอาหารแดกด่วน จึงต้องทุ่มกันสุดตัวจนน่าคลื่นเหียน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบนี้ขาดมิติด้านอุดมการณ์หรือจิตใจ เกือบจะเหมือนการแลกเปลี่ยนในตลาด เมื่อปลัดกระทรวงกราบรัฐมนตรีให้สังคมได้เห็นอย่างเปิดเผย ปลัดกระทรวงเอาความภักดีของข้าราชการในกระทรวงทั้งระบบ มาแลกกับความเอ็นดูและการสนับสนุนที่รัฐมนตรีจะให้แก่ปลัดตอบแทน รัฐมนตรีก็รู้ว่า เปลี่ยนรัฐบาลเมื่อไร ปลัดกระทรวงก็พร้อมจะหมอบลงกราบรัฐมนตรีคนใหม่ได้ทันที ปลัดก็รู้ว่า หากคนอื่นเอาสิ่งเดียวกันมาแลกได้ รัฐมนตรีก็พร้อมจะสนับสนุนเหมือนกัน เพราะนี่เป็นการแลกเปลี่ยนกันตรงไปตรงมา

เรื่องนี้สำคัญนะครับ เพราะกลับมาคิดว่าระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยมุ่งฝึกหัดอะไรในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ไม่ใช่ฝึกกิริยามารยาท, ไม่ใช่ฝึกการปฏิบัติงานภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้, ไม่ใช่ฝึกการแสวงหาอำนาจในกลุ่มอุปถัมภ์ ฯลฯ แต่เป็นการฝึกด้านอุดมการณ์เกือบจะล้วนๆ เลย เหมือนละครโทรทัศน์ การแสดงทั้งหมดถูกย่อให้เหลือสัญลักษณ์นามธรรมที่เกินจริง ดังนั้นอำนาจของ “ผู้ใหญ่” จึงแสดงออกด้วยการ “ว้าก” จนบางครั้งกลายเป็นวาจาหยาบคาย ท่าทีของรุ่นน้องถูกย่อลงมาจนกลายเป็นความพินอบพิเทาและไร้อำนาจอย่างเกินจริง

ก็มันเป็นการฝึกอบรมทางอุดมการณ์นี่ครับ ไม่ใช่การเรียนรู้อย่างซึมซาบจากวิถีชีวิตจริงของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์

อุดมการณ์อย่างนี้แหละครับซึ่งเป็นที่ต้องการของนิสิตคณะที่อาชีพการงานอยู่ในตลาด “เสรี” เพราะเส้นกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ได้งานเสียยิ่งกว่าฝีมือ ผมไม่ได้หมายความว่าได้งานประจำทำนะครับ แต่ผมหมายความว่าได้งานเป็นชิ้นๆ น่ะครับ เช่นแต่งเพลงแล้วค่ายเพลงยอมซื้อ (ถึงอย่างไร “พี่” ซึ่งชำนาญการตลาดกว่า ก็จะแก้ไขปรับปรุงให้ขายได้) เส้นของพี่จึงทำให้ได้โอกาสเรียบเรียงดนตรีให้แก่เพลงของค่าย “พี่” ทำให้ได้โอกาสไปเป็นผู้ช่วยเขียนบทภาพยนตร์ “พี่” ทำให้ได้งานออกแบบอาคารขนาดใหญ่ของรัฐหรือเอกชน ฯลฯ

กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ต้องการความคิดสร้างสรรค์ (เช่น ศิลปะการแสดง, ศิลปะที่ต้องการพื้นที่และไม่ต้องการพื้นที่, สถาปัตยกรรม, นักเขียน, นักออกแบบ ฯลฯ) ซึ่งก็คือจุดอ่อนที่สุดของระบบการศึกษาไทย ฉะนั้นส่วนใหญ่ของบัณฑิตจากคณะเหล่านี้จึงมีกึ๋นจริงอยู่ไม่กี่คน คิดดูแล้วกันครับว่า สถาปนิกที่ต้องการแสดงความอุดมสมบูรณ์ของไม้สัก ต้องตัดต้นสักลงเป็นร้อยๆ ต้น จะเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์กันไปทำไม ศิลปะทั้งโลกนี้คือการสร้างตัวแทน (representation) ทั้งนั้น ไม้สักแทนได้ด้วยไม้สักเท่านั้น จะเรียกแบบอาคารของเราว่าเป็นศิลปะได้อย่างไร

ความไม่มีกึ๋นนั้นทดแทนได้ด้วยเส้น ระบบโซตัสจึงยังคงเข้มแข็งคึกคักในคณะที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลาย

ผมอยากจะแนะว่า วิธีประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยนั้นไม่ยากอะไร ดูพิธีรับน้องว่าโหดมากน้อยกี่องศา การประชุมเชียร์เคร่งครัดและมากสักกี่ชั่วโมง พฤติกรรมรุ่นพี่ในการประชุมเชียร์ว่ากร่างและเหี้ยมแค่ไหน ฯลฯ ก็ประเมินได้เองว่า ยิ่งมีสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร มหาวิทยาลัยนั้นก็มีกึ๋นน้อยเท่านั้น

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 5 กันยายน 2559
ที่มา: Matichon Online

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net