รายงานพิเศษ: Migrant Sex Worker ชีวิตกะเทยต่างชาติใต้แสงสีพัทยา

ชีวิต Sex Worker จากประเทศเพื่อนบ้านในพัทยา จากงานประจำสู่ฟรีแลนซ์ เมื่อความเป็นกะเทยและความไม่เป็นคนไทยมาเจอกัน ผลคือการกดทับซ้ำซ้อน เกิดวัฒนธรรม 'คุณแม่' รวมตัว พึ่งพาเพื่ออยู่รอด เผยถูกเอารัดเอาเปรียบทุกทาง  เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

ภาพจาก http://www.siamfreestyle.com/travel-gallery/297/ ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม

บนทางเท้าริมหาดพัทยา ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า แสงสีแสงไฟสาดประกายทำหน้าที่ต่อในยามราตรี มันส่องสว่างยั่วล้อหมู่แมลงให้เข้ามาเสาะแสวงหาโอกาส-โอกาสที่จะพลิกเปลี่ยนชีวิตสู่อนาคตที่ดีกว่า แน่นอนว่าจำนวนไม่น้อยใช้เรือนร่างเป็นบันได ไม่ว่ากฎหมายไทยจะยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาและเธอ และอาชีพ Sex Worker หรือไม่ก็ตาม

ถึงยุคนี้ พัทยายังคงเป็นแสงไฟดวงใหญ่เช่นที่เป็นมา แต่ไม่ได้มีหนุ่ม-สาวชาวไทยอีกต่อไป 5,000 คนคือจำนวนของกะเทยที่เดินทางมาไขว่คว้าโอกาสตั้งแต่พื้นที่ศรีราชาจนถึงสัตหีบ ถ้านับเฉพาะในพัทยามีประมาณ 2,100-3,100 คน เป็นข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ซิสเตอร์ พัทยา ศูนย์ที่คอยให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่กะเทยในพัทยา ในจำนวน 5,000 คนนี้ เป็นกะเทยจากประเทศเพื่อนบ้านประมาณร้อยละ 15-20 ส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและกัมพูชา

พัทยาเคยถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 3 จากการจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในไทยของชาวต่างประเทศ ในปี 2554 และยังพบด้วยว่านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศคนหนึ่งจะใช้จ่าย 37,279.55 บาทสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จากตัวเลขนี้คงพอสันนิษฐานได้ว่า จะมีเม็ดเงินวิ่งสะพัดอยู่ในเมืองริมทะเลแห่งนี้มากมายเพียงใด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพัทยาจึงเป็นแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงให้เมืองแห่งนี้เติบโต สิ่งที่ซุกซ่อนเป็นเนื้อในของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว-เรียกว่าซุกซ่อนอาจไม่ถูก-เพราะมันไม่เคยถูกซุกซ่อน-เพียงแต่มันถูกเพิกเฉยที่จะเอ่ยถึง สิ่งนั้นคืองานบริการทางเพศ (Sex Work) ผู้หญิง ผู้ชาย หรือแม้แต่เด็ก หรือจะเรียกให้ใหญ่โตกว่านั้นก็คงได้ว่าเป็น Sex Industry ทว่า ผู้ที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนแทบไม่มีใครมองเห็น

สำหรับพนักงานบริการจากประเทศเพื่อนบ้าน การมีตัวตนอยู่ในสายตาของรัฐหรือสังคมยิ่งเป็นไปไม่ได้ และถูกกดทับซ้ำซ้อนทั้งจากความเป็นคนหลากหลายทางเพศและความไม่เป็น ‘คนไทย’ ของตน

จากจำปาสักถึงพัทยา

เชอร์รี่ (นามสมมติ) จากจำปาสัก ประเทศลาว เธอมาพบผมในชุดผ้าถุงยาวกรอมเท้า เธอมาทำงานในไทยตั้งแต่อายุ 15 เดี๋ยวนี้เธออายุ 27 แล้ว ครั้งแรกที่มาเมืองไทย เธอมาเที่ยว แต่พอเห็นเพื่อนๆ มาทำงานเมืองไทยจึงติดตามมาแสวงโชคบ้าง เริ่มต้นจากการทำงานร้านอาหารอยู่ 5 ปี ทั้งเสิร์ฟ ทั้งล้างจาน ค่าแรงวันละ 100 บาท สั่งสมประสบการณ์การใช้ชีวิตมากพอแล้ว เธอจึงเปลี่ยนไปทำงานบาร์เมื่อเพื่อนชักชวน

เชอร์รี่เป็นชีเมล (Shemale) หมายถึงกะเทยที่ยังไม่ได้แปลงเพศ ถือเป็นกลุ่มพนักงานบริการที่มีกลุ่มลูกค้าอยู่พอสมควร โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศแถบตะวันออกกลาง

“เรารู้ว่าเป็นกะเทยตั้งแต่น้อยๆ แล้ว ชอบเล่นกับหมู่ผู้หญิง พวกผู้ชายเขาชอบแกล้ง เล่นขายของ แม่ก็บ่ค่อยยอมรับ แต่แม่ใหญ่ไม่ค่อยสนใจ แต่เดี๋ยวนี้ที่บ้านยอมรับแล้ว

“บาร์ทำงานเที่ยงคืน ถ้าขยันก็ออกเร็ว ถ้าแขกเยอะก็อยู่ถึงเช้า ตื่นบ่าย บ่ายสอง แล้วแต่อารมณ์ แต่งหน้าแล้วออกไปทำงาน เจ้าของบาร์ดูแลดี ค่าแรงเดือนละ 3 พัน วันละร้อย ถ้าไม่ได้แขกเลยก็ได้เท่านี้ ถ้าได้แขกร้านก็ได้ค่าออฟ เราก็ไปต่อรองกับแขกอีกทีหนึ่ง รายได้งานบาร์ ดี แล้วแต่ว่ามีแขกมั้ย ถ้ามี รับแขกสูงสุดวันหนึ่ง 5 คน จะหาเงินไปให้แม่ อยากได้เงิน คนละพัน เคยได้สูงสุด 5 พัน ต่ำสุดคือไม่ได้เลย ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ออกไปไหน มานวดเท้า สบายใจ ก็มีออกไปหาแขกเองบ้าง ในบาร์ก็ดีไปอีกอย่าง บอกไม่ถูก ฟรีแลนซ์อยากทำอะไรก็ทำ อยู่วอล์คกิ้ง เดินเป็นจุดๆ แขกส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ ส่งเงินให้แม่ คุณพ่อเสียตั้งแต่เกิดได้ 5 วัน ส่งให้ทุกเดือน มีมากก็ส่งมาก มีน้อยก็ส่งน้อย ส่งสามพันสี่พันก็แล้วแต่”

นอกจากการเป็นพนักงานบริการ เชอร์รี่ยังมีอาชีพเสริมเป็นพนักงานนวด เธอมองว่ามันจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ติดตัวเธอไป ในวันที่เธอไม่ได้ทำอาชีพนี้อีก

อาจเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง ความเป็นคนลาวของเชอร์รี่ซึ่งมีความใกล้ชิดทั้งในเชิงหน้าตาและโดยเฉพาะภาษา ช่วยให้เธอดูกลมกลืนและไม่มีปัญหามากนักยามต้องสนทนากับคนอื่น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอเล่าและบ่นระบายความรู้สึกว่า

“ชีวิตในเมืองไทยก็สบายดี หลายอย่าง มีเศร้า มีสุข งานบาร์เบื่อ เจออะไรหลายอย่าง ไปหาแขกอยู่วอล์คกิ้งต้องวิ่งหนีตำรวจ ก็มีปัญหากับตำรวจบ้าง เวลาออกไปทำงาน โดนจับก็ไปจ่ายที่โต๊ะ โดนข้อหาเตร็ดเตร่ เรายืนอยู่เฉยๆ ทำไมผู้หญิงเดินได้ แล้วกะเทยทำไมเหรอ ทำไมต้องจับ เวลาไปโรงแรมกับแขก กะเทยห้ามเข้านะคะ ก็มีลูกค้าเอาเปรียบและทำร้ายบ้าง พวกอิหร่าน เขาไม่พูดภาษาอังกฤษด้วย ทะเลาะกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง ถ้าเจอแขกงี่เง่า ไม่ยอมใส่ถุงยาง ก็ต้องหาทางออกมา ฉันท้อ ฉันไม่ไหวแล้ว กะเทยดีก็มี กะเทยไม่ดีก็มี แต่สังคมเขาเหมารวม เก็บไปนั่งร้องไห้”

เตร็ดเตร่เป็นข้อหาที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีพนักงานบริการในพัทยาถูกจับในข้อหานี้อยู่เป็นเรื่องปกติ

(อ่านข่าวประกอบ ‘เปิดหลักฐานจนท.รัฐยัดข้อหาเตร็ดเตร่ ‘SexWorker’ พัทยา-ไม่มีกฎหมายรองรับ’ http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4711)

เชอร์รี่ไม่ได้บอกแม่ว่าเธอทำงานอะไรในพัทยา แม่ของเชอร์รี่รู้เพียงว่าเธอเป็นเด็กเสิร์ฟ เธอต้องโกหกแม่เพราะไม่อยากให้แม่ต้องคิดมาก

“อยากเปิดร้านขายของ เก็บเงินได้บ้าง แต่ก็ต้องส่งบ้าน ยังไม่รู้ว่าจะได้เปิดเมื่อไหร่ แล้วแต่วาสนาของเฮา ถ้ามีเงินก็อยากกลับลาว แต่ที่นี่หางานง่าย แต่งตัวยังไงก็ได้ ที่ลาวทำไม่ได้ต้องเรียบร้อยตลอด ยังไม่แน่ใจตัวเองว่าอยากอยู่ลาวหรือไทย”

ถามเธอว่าคิดเรื่องการมีครอบครัวหรือเปล่า เชอร์รี่ตอบว่า “ไม่อยากมี เป็นกะเทยน่ะ ชินไปแล้ว เคยคิดว่าจะมีแฟนเป็นฝรั่ง แล้วไปอยู่เมืองนอก เคยมี แต่เขาก็หายไป”

จากถ้อยคำของพนักงานบริการที่เป็นกะเทยมากกว่าหนึ่งคน เล่าให้ผมฟังว่า สามสิ่งที่มักจะชักพาชีวิตกะเทยพัทยาให้จมดิ่งคือ ยา การพนัน และผู้ชาย ผมอยากรู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน

"กะเทยทำไมเหรอ ทำไมต้องจับ เวลาไปโรงแรมกับแขก กะเทยห้ามเข้านะคะ ก็มีลูกค้าเอาเปรียบและทำร้ายบ้าง พวกอิหร่าน เขาไม่พูดภาษาอังกฤษด้วย ทะเลาะกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง ถ้าเจอแขกงี่เง่า ไม่ยอมใส่ถุงยาง ก็ต้องหาทางออกมา ฉันท้อ ฉันไม่ไหวแล้ว กะเทยดีก็มี กะเทยไม่ดีก็มี แต่สังคมเขาเหมารวม เก็บไปนั่งร้องไห้”

“ส่วนมากจะจริง ยา พนัน ผู้ชาย เพื่อนชอบเล่นตามบ่อน ตัวเองไม่ชอบ ผู้ชายอย่างเดียว” แล้วเธอก็หัวเราะต่อเนื่องไปหลังตอบคำถาม

วัฒนธรรม ‘คุณแม่’ รวมกันเราอยู่

ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการศูนย์ซิสเตอร์ ศูนย์ที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพและการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แก่พนักงานบริการสาวประเภทสองในพัทยา เล่าว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยเป็นแหล่งดึงดูดพนักงานบริการที่เป็นกะเทยจากประเทศเพื่อนบ้านเพราะสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศง่าย กฎหมายไม่เข้มงวดมาก อีกทั้งในมุมของสาวสองหรือกะเทย สังคมไทยค่อนข้างให้การยอมรับพวกเธอมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ จึงรู้สึกปลอดภัยที่อยู่ที่นี่ แม้ว่าจะไม่มีอะไรรับรอง แต่เขาก็ยังมีเพื่อน มีกลุ่มก้อน มีรายได้ได้มากพอจะส่งกลับบ้าน

“น้องๆ เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว อยู่ได้นาน คือเข้ากลับไปต่อ เข้าๆ ออกๆ ไม่มีการตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่เท่าไหร่ แล้วเขาก็มีเพื่อนที่รองรับที่นี่ ขบวนการนายหน้าก็มี แต่น้องๆ สาวสองส่วนใหญ่รู้จักประเทศไทย มาบ่อย มีญาติ มีชีวิตอยู่ที่นี่

“ตอนแรก น้องคงไม่ได้คิดว่าจะต้องทำงานนี้ จากที่คุยกับน้องๆ มาตอนแรกคิดจะทำงานอะไรก็ได้ ขอให้จ้าง ไปทำงานเด็กเสิร์ฟ พอช่วงหนึ่งเขาอยู่ในระบบแบบนั้นไม่ได้ เขาก็จะผันตัวเองออกมา แต่สิ่งสำคัญคือเขาเห็นรุ่นพี่ เห็นคุณแม่ เห็นคนที่มาก่อนแล้วประสบความสำเร็จ มันง่าย ไม่ต้องเหนื่อยมาก คุณเสิร์ฟหมูกระทะ 160 บาทต่อวัน กับไปยืนได้วันละ 2,000 บาท แป๊บเดียวเอง แต่งตัวสวยด้วย ง่ายด้วย เกิดการบอกต่อ แล้วหลีกเลี่ยงที่จะถูกจับได้ พัทยาถ้าไม่หนักหนาจริงๆ ไม่จับเข้าคุกหรอก เพราะประชากรที่มาจากข้างนอกมันเยอะ ถ้าคุณจ่าย 200 บาท คุณก็มีสิทธิ์ยืนได้ทั้งคืน คุณมีสิทธิ์ได้ 5,000 แล้ว กำไร 4,800 อีก 200 ก็จ่ายไปสิ”

‘คุณแม่’ คืออะไร? มันคือวัฒนธรรมที่หล่อหลอมจากการอยู่ร่วมกัน พึ่งพิงกัน ในหมู่กะเทยพัทยา ซึ่งต่างจากมาม่าซังทั่วไป ฐิติญานันท์ อธิบายว่า

“แม่ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นมาม่าซัง เพราะแม่ลูกหมายถึงคนที่มีอายุมากกว่า มีความเป็นที่นิยมในกลุ่มมากกว่า ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุกับประสบการณ์ กะเทยน้อยๆ ไม่ค่อยเรียกแม่เราจะเรียกเขาว่าลูกสาว ส่วนอย่างดอยอายุน้อย แต่ว่าดอยทำงานตำแหน่งนี้ไงพอตำแหน่งนี้ก็เป็นตัวแม่ที่นี่ เขาก็เรียกคุณแม่ทั้งๆที่อายุไม่ได้มาก อันนี้อาจจะมาจากด้วยตำแหน่งและงานที่เราทำ แต่หลายคนมาจากบารมีในพื้นที่ เช่น รวยมาก อย่างแม่ซาร่าเป็นคนพะเยา มีสามีเป็นต่างชาติอยู่บ้านหลังใหญ่โต เวลามีงานอะไรก็จะเชิญแม่ซาร่ามาเป็นกรรมการ บารมีก็จะเพิ่มแล้ว

“อย่างแม่เอ๋ เขาเป็นมาม่าซัง ส่งกะเทยออกต่างประเทศเยอะมากไปมาตั้งแต่เยอรมัน ฟินแลนด์ คานส์ ทุกที่ ไปอยู่มาหมด สุดท้ายนางกลับมาเป็นพนักงานที่นี่ คือนางบอกว่าอยากทำดี เพราะทำไม่ดีมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ชีวิตเล่นมาหมดทุกอย่าง ประสบการณ์นางมากพอ กลับมาอยู่ที่นี่เขาก็จะเรียกแม่ แล้วพอเวลาจะไปต่างประเทศก็จะถามว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไรต้องทำอะไรบ้าง เข้าทางไหนหนังสือเดินทางต้องทำอย่างไรหลบเลี่ยงตรงไหนได้บ้าง ลูกสาวนางได้ดิบได้ดีมีสามีต่างชาติเปิดรีสอร์ทส่งเงินมาให้ไม่ต้องทำงาน ลูกสาวเลี้ยงนางตลอดชีวิตเพราะได้ดีเพราะคุณแม่คนนี้ อันนี้ก็คือคุณแม่”

ความเป็นคุณแม่ในหมู่ลูกๆ บางครั้งยังช่วยหาแขกให้โดยไม่มีการหักหัวคิว แต่ก็มีบางคนที่หักให้เองโดยไม่ต้องขอ

Pattayarization งานประจำ-ฟรีแลนซ์

ไม่ใช่แต่คุณแม่และเพื่อนๆ หรอกที่ช่วยให้คนต่างบ้านต่างเมืองที่มาทำมาหากินในพัทยาเอาตัวรอดอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวยังช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาให้พวกเธอกลายเป็นคนพัทยา ฐิติญานันท์ใช้คำว่า Pattayarization หรือการทำให้เป็นพัทยา เกิดการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพัทยา

“ความเป็นเมืองธุรกิจเซ็กส์จะหล่อหลอมให้คนที่ใช้ชีวิตที่นี่เปลี่ยนไป พนักงานสาวสองจบ ป.ตรี ปวช. ปวส. มีบ้าง ไม่จบก็มี มาพัทยาตอนแรกหงิมหมด อีกประมาณสามสี่เดือนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะคนไทยหรือไมแกรนท์ เขาเปลี่ยนตัวเอง กลางวันทำงานอย่างหนึ่ง กลางคืนขาย มันง่าย เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัว เปลี่ยนรูปแบบคำพูดบางคำ กลายเป็นสาวมั่น แต่งหน้าเข้ม เห็นแขกแล้วพุ่งใส่ ชู้ทใส่ วิถีชีวิตเปลี่ยน มันจะหล่อหลอมเปลี่ยนให้เป็นแบบนั้น”

สำหรับพนักงานจากประเทศเพื่อนบ้าน วิถีทางการประกอบอาชีพของพวกเธอในพัทยาไม่แตกต่างจากคนไทย ถ้าไม่เป็นพนักงานประจำบาร์ก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งสองรูปแบบนี้ต่างก็มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน

การเป็นพนักงานประจำบาร์หมายถึงว่าคุณจะมีรายได้แน่นอนอย่างน้อยวันละ 100-150 บาท ถ้าออกไปกับแขกก็จะได้ต่างหาก ที่สำคัญพนักงานบริการกลุ่มนี้ไม่ต้องหวั่นเกรงหรือวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ เจ้าของบาร์จะเป็นผู้รับหน้าแทน เรียกว่าตัดความเสี่ยงในส่วนนี้ออกไปจากการทำมาหากินได้ กฎการลงทุนทั่วไป ผลตอบแทนย่อมแปรผันตามกับความเสี่ยง ความเสี่ยงต่ำรายได้ย่อมน้อยกว่ากลุ่มฟรีแลนซ์

ฟรีแลนซ์คือพนักงานบริการที่หาแขกเอง เป็นเจ้านายตัวเอง จะหยุดงานหรือจะออกทำงานกี่โมงก็แล้วแต่ความพอใจ แต่คนที่จะมาเป็นฟรีแลนซ์ได้ต้องชั่วโมงบินสูง เจนเวทีพอประมาณ รู้วิธีที่จะรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่และแขก แต่ก็ต้องไว ต้องชู้ทแขกเร็ว เพราะการแข่งขันสูง

“กลุ่มที่ประจำร้านมีรายได้ต่อเดือนต่างกันไป คนที่เป็นดาวจะได้เยอะ” ฐิติญานันท์เล่าอีกว่า “ฟรีแลนซ์ก็เหมือนกัน แทบไม่ต้องยืนเลย ติดเร็วมาก ไปแป๊บเดียว กลับมาก็ไปอีกแล้ว บางคนขับรถมาทำงาน พวกดาวบางคนทำงานวันเดียวได้ 48,000 บาท มาถอยกระเป๋าปราด้าที่กรุงเทพฯ ไปเลย วันเดียว แต่ออกแขก 10 รอบ รอบละ 4-5 พันบาท นี่คือช่วงไฮซีซั่นที่ผ่านมา หน้าฝนกับร้อนก็อีกสเต็ปหนึ่ง ไม่ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ยืนทำไมเสียเวลา ใช้โซเชียลมีเดีย ใช้แชท เดี๋ยวนี้มีโปรแกรม มีห้องเยอะที่ขายบริการผ่านเว็บ ไมแกรนท์ก็ทำแบบนี้ด้วย”

ภาพของกะเทยที่ปรากฏบนสื่อสร้างม่านหมอกมายาคติแก่สังคม ลดทอนความหลากหลายของกะเทยลงเหลือเพียง-ถ้าไม่ตลกก็ต้องสวย ซึ่งมันสร้างแรงบีบอัดให้กะเทยในสังคมต้องเลือกพาตัวเองอยู่ใน 2 หมวดหมู่นี้ ทว่า ในโลกของความเป็นจริง มันผิดไปจากภาพบนสื่อมาก

“เจ้าของบาร์ถ้ามีเส้นมีสาย เขารับหมดอยู่แล้ว เพราะประหยัด กดได้ ไม่ต้องทำอะไรให้พนักงาน ไม่ต้องสนใจ น้องไมแกรนท์ส่วนใหญ่จึงเป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีสังกัดกันเยอะ ประเด็นคือการเอารัดเอาเปรียบและการต่อรอง ไม่เหมือนคนไทยที่ยังพอต่อรองได้ แต่น้องไมแกรนท์เขาจะกลัวอยู่แล้วเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลัวถูกส่งกลับ กลัวโดนจับ แล้วใครจะช่วยเขา วิธีการคือยอม ยอมเจ้าของร้าน ยอมลูกค้า ยอมตำรวจ ยอมแม้แต่เจ้าของห้องเช่า”

“แขกมีสเป็กหลากหลาย ไม่ใช่ว่าต้องสวยแล้วจะเป็นตัวท็อป เพราะยุโรปก็ไม่กินแบบน้องปอยจะเป็นรสนิยมเกาหลี ตัวเล็ก ขาว บาง แต่พัทยาต้องเป็นเทสดำ ดั้งหักๆ แต่งตัวแรงๆ สะโพกสับๆ ผมลอน ใส่บิ๊กอายสีเทา จึงจะถูกยุโรปชู้ท เกาหลี อินเดีย ปากีฯ ก็อีกแบบหนึ่ง นั่นทำให้ไมแกรนท์ชาวลาว กัมพูชา เป็นที่ต้องการ แต่กะเทยไทยก็โมดิฟายตัวเองให้เป็นแบบนั้นคือไม่เทคฮอร์โมน ร่างชาย แต่ยิ่งกว่าได้เกิด แปลงเพศอย่าหวังจะมาสู้ มีงูชนะเลิศกว่า” ฐิติญานันท์ เล่า

‘ความเป็นกะเทย’-‘ความไม่เป็นคนไทย’ แรงกดทับซ้ำซ้อน

‘ความเป็นกะเทย’ ในพัทยาทำให้ตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่มากกว่าพนักงานบริการที่เป็นหญิง เวลาเกิดการจับกุมดังปรากฏตามเนื้อข่าวบ่อยครั้งก็มักสรุปแบบเหมารวมด้วยถ้อยคำชนิดว่า กะเทยแสบ กะเทยโหด แก๊งกะเทย เป็นต้น เมื่อผสมโรงกับ ‘ความไม่เป็นคนไทย’ แรงกดทับที่กระทำต่อพวกเธอก็เหมือนถูกยกกำลังสอง

ภาพเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครเดินขอดูบัตรประชาชนของพนักงานบริการที่ยืนบนวอล์คกิ้ง สตรีท เป็นภาพชินตา ในกรณีที่ไม่ใช่คนไทยก็จะขอดูพาสปอร์ต แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าต้องการได้คืนก็ต้องเดินไปจ่ายค่าปรับที่โต๊ะของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งอยู่บนวอล์คกิ้ง สตรีท

“ถ้าจะให้จบ 200 จ่ายตรงนั้นเลย ใบเสร็จไม่ต้องมี แต่ถ้าเป็นต่างชาติก็อาจจะ 300-400 บาท”

การสมัครงานบาร์ก็ค่อนข้างจะมีโอกาสน้อยกว่าคนไทย บางครั้งบาร์ไม่กล้ารับ ถ้าไม่มีหลักฐานเลย เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เจ้าของบาร์บางแห่งก็เห็นช่องทางหาประโยชน์จากจุดนี้ และก็ไม่ใช่แค่เจ้าของบาร์ ยังมีอีกหลายคนที่มองหาประโยชน์จากความไม่เป็นคนไทยของพวกเธอ ฐิติญานันท์ บอกว่า

“เจ้าของบาร์ถ้ามีเส้นมีสาย เขารับหมดอยู่แล้ว เพราะประหยัด กดได้ ไม่ต้องทำอะไรให้พนักงาน ไม่ต้องสนใจ น้องไมแกรนท์ส่วนใหญ่จึงเป็นฟรีแลนซ์ ไม่มีสังกัดกันเยอะ ประเด็นคือการเอารัดเอาเปรียบและการต่อรอง ไม่เหมือนคนไทยที่ยังพอต่อรองได้ แต่น้องไมแกรนท์เขาจะกลัวอยู่แล้วเพราะเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลัวถูกส่งกลับ กลัวโดนจับ แล้วใครจะช่วยเขา วิธีการคือยอม ยอมเจ้าของร้าน ยอมลูกค้า ยอมตำรวจ ยอมแม้แต่เจ้าของห้องเช่า”

ความเป็นมนุษย์ที่เลือนราง

นอกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่พวกเธอต้องเผชิญ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวีและโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ แม้ว่าพวกเธอจะมีความรู้พื้นฐานและการป้องกันจากการบอกต่อในกลุ่มเพื่อนๆ ด้วยกัน

“แต่ความเปราะบางมากกว่าหลังจากนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างคู่ หมายถึงเขาก็ถูกละเมิด ลูกค้ารู้ว่าไม่ใช่คนไทย ร้อนเงิน บางครั้งพูดไม่ได้ ยูให้เงินหมื่นหนึ่งนะ ยูเสียบสดกับไอมั้ย เงินหมื่นสำหรับเขา เยอะ น่าจะลองดูนะ ไทยก็เหมือนกัน ถ้าให้เงินเยอะๆ แล้วเสียบสด ขอแสนเอามาวางก่อน แล้วค่อยเสียบสด เพราะรู้ว่าเป็นเอดส์แล้วไม่ตาย ไปก่อน แล้วพรุ่งนี้ค่อยไปตรวจเลือด เป็นเอดส์ปุ๊บ ไม่เป็นไร เดี๋ยวขอยาต้าน ชีวิตมีความสุขดี แค่เป็นเอดส์

“เขามีโอกาสเสี่ยงและเปราะบางมากกว่าคนที่รู้วิธีป้องกัน อย่างถ้าวันนี้ซิสเตอร์ตรวจเลือดมามั้ย หนูอยากตรวจ แต่หนูออกจากบ้านไม่ได้ ถ้าตำรวจจับหมวกกันน็อก แล้วถามว่าหนูเป็นคนประเทศอะไร ดีไม่ดีหนูถูกส่งตัวกลับนะ รอมืดก่อน เดี๋ยวหนูค่อยออกจากบ้าน คือน้องกลัวการไม่ได้อยู่ต่อที่นี่มากกว่า เพราะเขาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ต่อวีซ่า อยู่มานานแล้ว นี่คือข้อจำกัดที่จะรับบริการของน้องที่เป็นไมแกรนท์ ระแวงไปหมด ต้องไว้ใจจริงแล้วเอารถยนต์ไปรับ ไปส่ง”

สถานการณ์ต่างๆ จะหนักหนาขึ้นในกรณีที่ติดเชื้อ เนื่องจากพวกเธอไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพของรัฐได้ อีกทั้งการเข้าถึงยาต้านก็มีราคาสูง ในกรณีนี้ซิสเตอร์จะคอยให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้วิธีซิกแซกเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนเอาไว้ก่อนที่จะคำนึงถึงระบบ

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ Sex Industry คือแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพัทยา โดยมี Sex Worker กว่า 5,000 ชีวิต ทั้งคนไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นฟันเฟือง แต่ศีลธรรม กฎหมาย อคติและการเลือกปฏิบัติกลับทำให้พวกเขาและเธอไม่เคยมีที่อยู่ที่ยืน และเมื่อยิ่งไม่ใช่ ‘คนไทย’ การจะได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์ก็ยิ่งเลือนราง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท