เมียนมาร์-อินเดียจุดเชื่อมสำคัญของ 2 ภูมิภาค

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

Myanmarese President U. Htin Kyaw with Narendra Modi at Hyderabad House in New Delhi on Monday. —Photo: V. Sudershan

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและเมียนมาร์ค่อนข้างติดขัด และไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เป็นผลจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันในช่วงสงครามเย็น แม้รัฐบาลพลเรือนของอินเดียจะประกาศตนเป็นรัฐที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) แต่กลับมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นแกนนำหลักของโลกคอมมิวนิสต์ ในขณะที่รัฐบาลทหารของพม่า (ณ เวลานั้น) ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา แกนนำหลักของกลุ่มโลกเสรี ในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อุดมการณ์ทางการเมืองยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เมียนมาร์ถูกกีดกันออกจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้ (South Asia) ด้วย ทั้งที่มีภูมิศาสตร์ติดต่อกับประเทศอินเดียทั้งทางบกและทางน้ำ หรือแม้แต่ระเบียบประเพณี วัฒนธรรมและศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย[1] นอกจจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่มักใช้พื้นที่ของประเทศเมียนมาร์เป็นฐานในการปฏิบัติการ

แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันจันทร์ 29 สิงหาคม 2559) ประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาร์
นายอู ทิน จอ (U. Htin Kyaw) ได้เดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้ง โดยประเทศที่นายทินจอ ไปเยือนเป็นประเทศแรกกลับกลายเป็นประเทศอินเดีย ทั้งนี้อินเดียถือเป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญประเทศหนึ่ง และมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคเอเชียใต้ การมาเยือนครั้งนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi ) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ในการเยือนครั้งนี้ทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงทวิภาคีร่วมกันในหลายประเด็น ทั้งการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างกันกว่า 69 แห่ง ระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกับภาคตะวันตกของเมียนมาร์ การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มกบฏต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนอินเดีย-เมียนมาร์ ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญที่อินเดียคาดหวังให้เกิดขึ้น[2]

การเปิดศักราชความสัมพันธ์ทางการทูตของรัฐบาลพลเรือนทั้ง 2 ประเทศจึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้ง 2 ประเทศ และมีผลอย่างสำคัญต่อ 2 ภูมิภาคด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเมียนมาร์ถือเป็นประตูสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเข้าสู่ประเทศอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งถือว่ามีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรชาวอินเดียกว่า 1 พันล้านคน

ทำไมเมียนมาร์ต้องไปเยือนอินเดีย? และทำไมอินเดียต้องร่วมมือกับเมียนมาร์?

คำถามเหล่านี้คงเป็นที่สงสัยของผู้อ่าน ซึ่งสามารถวิเคราะห์เป็นประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาระหว่างเมียนมาร์กับจีน เป็นที่ทราบกันว่าภายหลังจากรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาร์ได้รับการเลือกตั้ง บทบาทของสหรัฐอเมริกามีมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาร์ จากที่ในอดีต จีนถือเป็นประเทศสำคัญที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ภายใต้รัฐบาลทหาร ทำให้ความสัมพันธ์เมียนมาร์กับจีนมีปัญหา การแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเมียนมาร์ ในการคานบทบาทและอิทธิพลของจีน ซึ่งอินเดียถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะกำลังแสดงบทบาทเพิ่มมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชีย และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

2. อินเดียต้องการเพิ่มบทบาทของตนเองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามนโยบายมองตะวันออก (Act East Policy) หลังจากที่ละเลยต่อภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน เพราะภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลาดเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะใหญ่มากยิ่งขึ้น และเมียนมาร์ก็ถือเป็นประตูที่สำคัญของอินเดียในการเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกรณีทะเลจีนใต้อินเดียพยายามเพิ่มบทบาทของตนเองมากยิ่งขึ้นผ่านการวิพากษ์วิจารณ์จีน และในเร็ววันข้างหน้านี้นายกรัฐมนตรีของอินเดียมีกำหนดการในการเยือนประเทศเวียดนาม สะท้อนความต้องการสำคัญของอินเดียในการเพิ่มบทบาทในเวทีอาเซียน จากที่อดีต จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญรายเดียวในภูมิภาคนี้

3. อินเดียได้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานตั้งแต่หลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เพราะการได้รับความร่วมมือจากเมียนมาร์ในการแก้ไขปัญหานี้ จะทำให้กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทำงานยากมากขึ้น เพราะเมียนมาร์เป็นพื้นที่สำคัญในการกบดานและซ่องสุมกำลังพลของกลุ่มกบฏเหล่านี้

ไทยและอาเซียนได้อะไรจากความสัมพันธ์เมียนมาร์-อินเดีย

ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างอินเดียและเมียนมาร์ในครั้งนี้ถือว่าสร้างผลประโยชน์ครั้งสำคัญต่อทั้ง 2 ภูมิภาคคือ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการทำข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ช่วยส่งเสริมให้การสร้างทางคู่ขนานตะวันออก-ตะวันตก (East-West corridor) ตามแผนของอาเซียนเข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น การเคลื่อนย้ายถ่ายเทสินค้าระหว่างภูมิภาคจะมีช่องทางมากยิ่งขึ้น จากที่ในอดีตมีเพียงการขนส่งทางอากาศ ซึ่งถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หรือการขนส่งทางทะเลที่ต้องใช้เวลายาวนานในการขนส่งเท่านั้น การสร้างถนนและสะพานเชื่อมระหว่างอินเดีย-เมียนมาร์จะช่วยเพิ่มช่องทางการขนส่งทางบกที่จะลดระยะเวลาในการขนส่งได้ รวมถึงการสานความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์-อินเดีย อาจนำไปสู่การสานความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาคในอนาคตก็เป็นได้

India, Thailand Agree to Bolster Defence Cooperation

ภาพจาก www.ndtv.com/india-news/india-thailand-agree-to-bolster-defence-cooperation

ประเทศไทยถือได้ว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมากในความร่วมมือครั้งนี้ของทั้งสองประเทศ เพราะปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปอินเดีย สามารถทำได้เพียงทางอากาศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ค่อนข้างสูงและขนส่งได้ในปริมาณที่น้อย อีกช่องทางคือทางเรือ ซึ่งใช้เวลายาวนานในการขนส่ง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีท่าเรือทางฝั่งอันดามัน การขนส่งทางเรือจึงต้องใช้ท่าเรือฝั่งตะวันออกเท่านั้น การเดินเรือจึงต้องอ้อมช่องแคบมะละกา จึงจะเข้าสู่อ่าวเบงกอล ไปจอดท่าเรือเจนไนของอินเดีย ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าเกษตรไปอินเดียมีปัญหา

การเปิดช่องทางบกระหว่างอินเดีย-เมียนมาร์จะเพิ่มทางเลือกในการขนส่งของนักลงทุนและภาคธุรกิจของไทยมากยิ่งขึ้นในการติดต่อค้าขายกับอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมและสานต่อให้นโยบายมองตะวันตก (Look West policy) ของรัฐบาลไทยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จากที่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของไทยได้ไปเยือนอินเดีย และทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมระหว่างกัน และช่วยในเรื่องการเชื่อมต่อถนนของทั้งอินเดีย เมียนมาร์ และไทยที่มีความยาวกว่า 1400 กิโลเมตร[3]เป็นจริงมากยิ่งขึ้น

0000

 

 

เชิงอรรถ

[1] Singh, S. (2001). Framing "South Asia": Whose Imagined Regian? IDSS Working paper series, 27-29.

[2] The Hindu. (2016, August 30). India, Myanmar to build bridges, sign pact for 69. Retrieved August India, Myanmar to build bridges, sign pact for 69, 2016, from The Hindu: http://www.thehindu.com/news/international/pm-holds-talks-with-myanmarese-president/article9045541.ece?ref=topnavwidget&utm_source=topnavdd&utm_medium=topnavdropdownwidget&utm_campaign=topnavdropdown

[3] The Economic Times. (2016, May 23). India, Thailand, Myanmar to be connected with a 1400-km road . Retrieved August 30, 2016, from The Economic Times: http://economictimes.indiatimes.com/news/economy/infrastructure/india-thailand-myanmar-to-be-connected-with-a-1400-km-road/articleshow/52399232.cms

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก นักศึกษาปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพื้นที่ศึกษา มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู ประเทศอินเดีย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท