Skip to main content
sharethis

ที่มา เพจ CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

1 ก.ย. 2559 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Coordinating Center for the Public Higher Education) หรือ CHES ได้ออกแถลงการณ์ CHES เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนมติของผู้บริหาร กรณีการไม่ต่อสัญญาจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จำนวนมาก

โดยระบุว่า จากกรณีข่าวการศึกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่าามา ทราบว่า อ.ดร. เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อและมีการเผยแพร่ข่าวออกทางสื่อมวลชน ซึ่งประเด็นที่น่าตกใจคือ มีการระบุว่า ขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คนได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญา ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่ง CHES มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะมีการเลิกจ้างคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในปีงบประมาณนี้ จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนหรือหยุดยั้งมติของผู้บริหารดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อความเป็นธรรม และขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหาร โปรดชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อสังคมเพื่อความเข้าใจต่อไป

วานนี้ (31 ส.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อ โดยระบุว่า

“ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยฯ ช่างตกอับและไม่มีความมั่นคง..ไม่ต่อสัญญาจ้าง..อ้างแต่เพียงว่า..”ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้าง” แค่นี้หรือ!! ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ เป็นหัวหน้าสาขานิติศาสตร์ ผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในเกณฑ์ดี มีผลงานทางวิชาการครบคุณสมบัติในการต่อสัญญาตามประกาศ กบม. นั่นสิ ทำไม ไม่ต่อสัญญา”

โดย ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ สอบถามเพิ่มเติมไปยัง อ.เสนีย์ เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนนักวิชาการได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยไม่ประสงค์จะต่อสัญญาอีกต่อไป โดยให้ยุติการเป็นอาจารย์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้

โดยหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ท่านนี้ ระบุว่า ตนเองรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ต่อสัญญาจ้างในครั้งนี้ โดยตนเองทำงานในตำแหน่งนี้มากว่า 6 ปี โดยครั้งนี้จะเป็นวาระการต่อสัญญาอีก 5 ปี แต่ก็ต้องพบกับข่าวร้าย ซึ่งที่ผ่านมาตนเองพยายามสร้างผลงานทางวิชาการ จนได้รับการประเมินอยู่ในสถานะที่ดี มีผลงานตีพิมพ์ระดับชาติ ตามเงื่อนไขของระเบียบมาโดยตลอด ทั้งยังได้รับเลือกเขาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยผลงานทั้งหมดเพิ่งส่งไปแต่กลับได้รับหนังสือแจ้งไม่ต่อสัญญา ขณะที่ยังคงมีภาระงานสอนนักศึกษาที่เพิ่งเปิดเทอมค้างไว้ ทั้งนี้ทราบว่าขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คนได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญาเช่นเดียวกับตน รวมถึงล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยประมาณ5 คน มาพูดคุยกับตน ว่าขอให้ช่วยทำหนังสือร้องเรียน ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ตนก็ได้รับแจ้งว่าไม่ได้ต่อสัญญาเช่นกัน ซึ่งกังวลว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดหลักสูตรการสอน เช่นตนเองที่เป็นหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ หากยุติการสอนลง ก็จะส่งผลกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ ทำให้เป็นหลักสูตรที่มีปัญหาไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด โดยจำนวนอาจารย์ 20 คนนั้นเป็นการประเมินเบื้องต้นจากที่พูดคุยกัน ที่จริงน่าจะมากกว่านี้

นอกจากนี้ตนเองยังได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาเอก ซึ่งหากตนไม่ได้รับการต่อสัญญา มหาวิทยาลัยก็จะสูญเสียเงินไปฟรีๆ เพราะตนจะไม่ได้อยู่ชดใช้ทุนที่เรียนไป โดยจากการพูดคุยหลายคนสูญเสียกำลังใจ เพราะหลายคนมีภาระ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม คาดว่าในอนาคตตนจะไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานว่าจากกรณีดังกล่าวประธานสภาคณาจารย์ได้มีหนังสือถึงอธิการบดี ให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วนแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net