เผยชีวิตคนทำงานผลิตชิ้นส่วนแอปเปิลในจีน ‘ทำงานหนัก-สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่’

องค์กรสิทธิแรงงานจีนเผยพบคนทำงานในโรงงานของบริษัท ‘เพกาตรอน’ ที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้ ‘แอปเปิล’ ยังทำงานหนัก-ได้รับค่าตอบแทนน้อย-สภาพความเป็นอยู่ยังย่ำแย่

‘ไอโฟน’ ผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมหน้าของโลกโดยบริษัทแอปเปิล ยังถูกขุดคุ้ยเรื่องที่มาของชิ้นส่วน จากโรงงานรับจ้างผลิตในจีนว่ายังคงมีการจ้างงานที่ไม่ได้มาตรฐาน-กดขี่แรงงานอยู่ (ที่มาภาพประกอบ: flickr.com/20262161@N00/by-nc-nd/2.0/)

30 ส.ค. 25 บริษัท แอปเปิล อิงค์ (Apple) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังอย่างไอโฟน (iPhone) พึ่งแถลงไปเมื่อเดือน ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าสามารถจำหน่ายไอโฟนได้ถึง 1 พันล้านเครื่องแล้ว โดยทิม คุก (Tim Cook) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของแอปเปิล ประกาศว่า "ไอโฟนกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมหน้าของโลก สำคัญที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์"

แต่กระนั้นผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมหน้าของโลกชิ้นนี้ในด้านหนึ่งกลับได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นสิทธิแรงงานในโรงงานรับจ้างผลิตของแอปเปิลที่ประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายปีแอปเปิลได้ว่าจ้างให้ ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ (Foxconn) บริษัทสัญชาติไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนผลิตให้เป็นหลัก ซึ่งฟ็อกซ์คอนน์เริ่มถูกจับตามองเป็นครั้งแรกในปี 2553 หลังเกิดเหตุคนงาน 14 คน ฆ่าตัวตายในโรงงานของฟอกซ์คอนน์ โดยคนงานเหล่านั้นต้องทำงานติดต่อกันยาวนานหลายชั่วโมง สภาพการทำงานย่ำแย่ รวมทั้งได้ค่าตอบแทนในการทำงานต่ำ

ต่อมาแอปเปิลได้เปลี่ยนผู้รับจ้างผลิตหลักมาเป็นบริษัทสัญชาติไต้หวันอีกแห่งอย่าง ‘เพกาตรอน’ (Pegatron) ซึ่งก็มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีนเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังพบข่าวคราวเรื่องการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมในสายการผลิตของแอปเปิลอยู่เสมอ

องค์กรสิทธิแรงงานเผยยังพบคนทำงานผลิตชิ้นส่วนให้แอปเปิลยังทำงานหนัก-สภาพความเป็นอยู่ยังย่ำแย่

เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาไชนา เลเบอร์ วอตซ์ (China Labor Watch) องค์กรที่จับตาการละเมิดสิทธิแรงงานในจีน ได้เผยแพร่รายงาน Apple making big profits but Chinese workers’ wage on the slide โดยในรายงานระบุว่าเพกาตรอน ยังคงมีการจ้างงานหนัก รวมทั้งพนักงานก็มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ไม่ดีมากขึ้นนัก

งานศึกษาของไชนา เลเบอร์ วอตซ์ ระบุว่าได้รวบรวมสลิปเงินเดือนของพนักงานฝ่ายผลิตและฝ่ายซ่อมบำรุงจากพนักงานโรงงานในเซี่ยงไฮ้ของเพกาตรอนกว่า 2,000 ฉบับ แม้พนักงานทุกคนจะมีค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายของจีน เป็นเงินประมาณ 304 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนก่อนเดือน เม.ย. 2559 ก่อนจะเพิ่มเป็น 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ในรายงานระบุว่าค่าแรงในระดับนี้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในเขตเซี่ยงไฮ้ ทำให้พนักงานต้องทำงานล่วงเวลา (OT) เพิ่มมากขึ้น

จากการตรวจสอบเมื่อเดือน ก.พ. 2559 โดยไชนา เลเบอร์ วอตซ์ พบว่าร้อยละ 71.1 ของพนักงานในฝ่ายผลิตทำงานล่วงเวลากว่า 60 ชั่วโมงต่อเดือน ร้อยละ 64 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 90 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดหลักการจ้างงานที่ดีของแอปเปิ้ล (Apple's Guidelines) และยังผิดกฎหมายแรงงานของจีนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่รัฐบาลท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้ได้ทยอยประกาศค่าแรงขั้นต่ำจาก304 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น บริษัทเอกชนหลายแห่งได้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เพกาตรอนกลับลดรายจ่ายด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดโบนัส การหยุดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเมื่อมาพิจารณา "ค่าแรงที่แท้จริง" (เงินเดือน+ค่าทำงานล่วงเวลา+สวัสดิการอื่น ๆ ที่เป็นตัวเงิน) ของพนักงานเพกาตรอน กลับลดลงถึง 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

เปรียบเทียบค่าแรงพนักงานเพกาตรอนและค่าแรงเฉลี่ยในเซี่ยงไฮ้ (ที่มาภาพ: ไชนา เลเบอร์ วอตซ์)

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพนักงานของบริษัทอื่น ๆ ในเขตเซี่ยงไฮ้พบว่าพนักงานของเพกาตรอนได้รับค่าตอบแทนจากการน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดโดยในปี 2558 พนักงานของเพกาตรอนที่ทำงานล่วงเวลา 80 ชั่วโมงต่อเดือนจะมีรายได้รวม 672 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พนักงานที่ทำงานล่วงเวลา 20  ชั่วโมงต่อเดือนจะมีรายได้รวมเพียง 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานที่ทำงานในเขตเซี่ยงไฮ้ที่ 895 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนนั้น ถือว่าเป็นค่าตอบแทนที่น้อยมาก ส่วนในปี 2559 พนักงานของเพกาตรอนที่ทำงานล่วงเวลา 80 ชั่วโมงต่อเดือนมีรายได้ลดลงเหลือ 628 ดอลลาร์สหรัฐฯ และพนักงานที่ทำงานล่วงเวลา 20  ชั่วโมงต่อเดือนจะมีรายได้รวมเพียง 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ด้านสภาพความเป็นอยู่หลังการทำงาน พบว่าหอพักของพนักงานก็ไม่ได้มาตรฐาน แออัด คับแคบ และสกปรกอีกด้วย

สภาพหอพักของพนักงานเพกาตรอน ในเซี่ยงไฮ้ (ที่มาภาพ: ไชนา เลเบอร์ วอตซ์)

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 ไชนา เลเบอร์ วอตซ์ ก็เคยออกมาเปิดเผยครั้งหนึ่งแล้วว่า แม้เพกาตรอนจะมีการลดเวลาทำงานของพนักงานในบริษัทฯ และโรงงานต่าง ๆ ในเครือเพกาตรอนลงจาก 63 ชั่วโมง เหลือ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ยังถือว่าเป็นการทำงานที่นานกว่ากฎหมายอนุญาต รวมทั้งพนักงานไม่ได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรฐาน ขณะที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะโรงงานหลายแห่งมีสารหนูและปรอทปริมาณมากปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม, พนักงานไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอกับจำนวนคน, สภาพความเป็นอยู่ในหอพักพนักงานทั้งแออัดและสกปรก ทั้งยังไม่มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิ สวัสดิการ และมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยใด ๆ ให้แก่พนักงาน

ส่วนเมื่อปี 2557 สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่าเพกาตรอนไม่มีมาตรฐานชั่วโมงทำงาน บัตรประจำตัว หอพัก การประชุมงาน และการใช้แรงงานที่เป็นเยาวชน พนักงานงานต้องเข้ากะนาน 16 ชั่วโมง บางคนต้องทำงานติดต่อกัน 18 วันเลยทีเดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท