Skip to main content
sharethis
กระทรวงแรงงานจ่อชงเพิ่มสิทธิลูกจ้างรัฐวิสาหกิจฯ
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยพนักงานรัฐวิสาหกิจในช่วงระหว่างที่จะมีการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น จึงจะปรับปรุงสิทธิ ด้านสวัสดิการของพนักงานให้สูงขึ้นเป็นการทดแทนไปก่อน โดยคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้มีการประชุมหารือเตรียมเสนอปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และหลักเกณฑ์การจ่ายค่าช่วยเหลือบุตร และค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ให้กับลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจโดยให้มีหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเช่นเดียวกับข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนิยามคำว่า “การรักษาพยาบาล” “ค่ารักษาพยาบาล” ตลอดจนปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเพื่อการตรวจสุขภาพ การเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคให้สอดคล้องและเป็นไปเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 ที่เป็นของข้าราชการ
 
นอกจากปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังได้เพิ่มเติมนิยามและหลักเกณฑ์การจ่ายกรณีป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ให้สามารถรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ใดก็ได้ รวมทั้งสถานพยาบาลเอกชนนอกระบบของตน โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่ายล่วงหน้าตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการขยายสิทธิและอัตราการจ่ายค่าช่วยเหลือการศึกษาของบุตร ให้จนถึงระดับปริญญาตรี เช่นเดียวกับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรข้าราชการด้วย
 
 
สหภาพฯ ทีโอทียื่นข้อเสนอยินดีรับใช้ต่อนายกฯ 8 ข้อ
 
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2559 เวลาประมาณ 10.30 น. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโดย นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯ และนายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหภาพฯ พร้อมด้วยตัวแทนพนักงานทีโอที เดินทางมาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอแก้ปัญหาทีโอทีให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ยั่งยืน ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 8 ข้อ โดยระบุว่า หลังจากที่เว็บไซต์ manager.co.th ได้เขียนบทวิเคราะห์ เรื่อง หมดเวลาเผาหลอก ได้เวลาเผาจริง ทีโอที เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2559 โดยมีใจความเกี่ยวกับโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านว่าอาจจะไม่ใช่ทีโอทีที่ได้ทำโครงการดังกล่าวนั้น ทำให้พนักงานมีความกังวลใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นจึงขอเสนอศักยภาพที่ทีโอทีมีต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
 
นายอนุชิต กล่าวว่า ข้อเสนอ 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ทีโอที ทำโครงการบรอดแบนด์หมู่บ้านจำนวน 40,000 หมู่บ้าน 2.มอบนโยบายให้ทีโอทีสร้างโครงข่ายที่มุ่งเน้นคุณภาพบริการ รวมทั้ง คุณค่าในเรื่องความปลอดภัยของโครงข่ายและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการเพื่อรองรับบริการ อี-เซอร์วิส ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น 3.มอบนโยบายให้ทีโอที ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เพื่อสร้างบริการ อี-เซอร์วิส ต่างๆ ที่จะผลักดันให้เกิด อี-โซไซตี้ อย่างรวดเร็ว เช่น โครงการ CCTV โดยเฉพาะเพื่อความมั่นคง ในพื้นที่สำคัญ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
4.มอบนโยบายให้ทีโอที เป็นผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐด้วยอุปกรณ์ โครงข่ายสื่อสารของทีโอที เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารภาครัฐ รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดที่จะนำบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง เข้ามาใช้งานในหน่วยงานภาครัฐ 5.ขอให้สถาบันวิชาการทีโอที เป็นหน่วยงานอบรมด้านไอซีทีให้แก่ภาครัฐ 6.ขอให้ทีโอที ตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อขายสินค้าโอทอป และสินค้าเอสเอ็มอีที่รัฐบาลสนับสนุน 7.ขอให้เร่งรัดคณะกรรมการทีโอที ในการลงนามเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายที่รับมอบจากสัญญาสัมปทานเอไอเอสหลังจากสิ้นสุดลงมาใช้ ประโยชน์หารายได้ รวมทั้งพันธมิตรที่จะเข้าร่วมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของทีโอที ซึ่งปัจจุบันมีความล่าช้าในการดำเนินการ และ 8.ขอให้เร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทีโอที ในการแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ที่บริษัทเอกชนร่วมการงานกับทีโอที ในอดีตฟ้องร้องทีโอที
 
นายอนุชิต กล่าวต่อว่า การยื่นหนังสือดังกล่าวมีสัญญาณในการตอบรับที่ดี และเรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรี รับทราบ และพร้อมที่จะให้ทีโอทีมีส่วนร่วมกับคณะที่ทีมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ฝากข้อความจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีไอซีที มาถึงตนเองว่า “ขอบคุณกับสหภาพ ในนาม นรม.ครับเพื่ออนาคตที่ดีกว่าต้องคิดใหม่ ดีกว่าล้มเหลว รัฐบาลก็ล้มตามไปด้วยหากต้องอุดหนุนตลอดไป ทำตัวเองให้เข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนองค์กร ตัวเองให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของแสวงหาความร่วมมือกันทั้งใน นอกองค์กร”
 
ด้าน นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันที่ 24 ส.ค. กสท ยังคงเชิญชวนพนักงาน กสท และทีโอที มาร่วมฟังเสวนา “ผ่าแผนโทรคมของชาติ CAT-TOT วิกฤติ หรือ โอกาส?...ประเทศไทย” จัดโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยวิทยากร ได้แก่ นายอนุภาพ ถิรลาภ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา/นายกสภาทนายความ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.และอดีต สปช.ด้านพลังงาน พร้อมผู้แทนกระทรวงการคลัง เวลา 08.30 น. เป็นต้นไปที่ CAT Convention Hall
 
 
ประกันสังคมลุยเพิ่มสิทธิ ‘คนพิการ’ ยังแทงกั๊กโอนย้ายซบ สปสช.
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาลให้กับคนพิการ โดยได้มอบหมายให้กองที่รับผิดชอบไปพิจารณาเทียบเคียงดูว่าสิทธิประโยชน์ใดที่คนพิการในระบบประกันสังคมได้รับน้อยกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อทราบแล้วก็ให้เร่งแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว
 
"ระบบประกันสังคมมีการผูกผู้ประกันตนไว้กับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียน ซึ่งเราก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย" นายโกวิท กล่าว
 
นายโกวิท กล่าวอีกว่า ระหว่างที่คณะกรรมการแพทย์หารือกันว่าจะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่วนใดให้เทียบเท่าระบบบัตรทองนั้น จำเป็นต้องพิจารณาว่าในช่วงรอยต่อนี้จะดูแลคนพิการให้ได้รับบริการที่สะดวกสบายอย่างไร
 
สำหรับแนวคิดเรื่องการโอนคนพิการจากระบบประกันสังคมไปให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลนั้น ส่วนตัวมองว่ายังเป็นแนวคิดที่ต้องพิจารณาในหลายด้านและมีผลกระทบเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น เมื่อ สปส.โอนคนพิการไปก็ต้องให้เม็ดเงินแก่ สปสช.ด้วย คำถามคือเงินส่วนนี้ใครจะเป็นผู้จ่าย
 
"ถามว่าจะเอาเงินจากไหน รัฐบาลหรือสำนักงานประกันสังคม นี่ยังไม่นับสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่มากกว่าแค่เรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ที่สุดแล้วต้องกลับมาดูว่าข้อเสนอดังกล่าวมันทำได้จริงหรือไม่ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องง่ายแค่โอนย้ายไปก็จบ แต่ในรายละเอียดยังมีอีกมาก"นายโกวิท กล่าว
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแก่คนพิการกำลังทำให้คนพิการได้รับความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยคนพิการที่สมัครเข้าทำงานและมีนายจ้างจะต้องเปลี่ยนสิทธิประกันสุขภาพจากเดิมที่ใช้ระบบบัตรทองเป็นประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
 
ทั้งนี้ ระบบบัตรทองให้สิทธิคนพิการรักษาฟรีในสถานพยาบาลใดก็ได้ ขณะที่ระบบประกันสังคมคนพิการจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิ และสามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ลงทะเบียนประกันตนเอาไว้เท่านั้น
 
สำหรับทางแก้ไข นพ.ยศ เสนอว่า ให้โอนคนพิการจากระบบประกันสังคมมาสู่ระบบบัตรทอง ซึ่งชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
 
 
อนุ กก.ค่าจ้างชงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 13 จังหวัด ตั้งแต่ 4-60 บาท
 
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยถึงความคืบการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ว่า หลังจากที่มอบหมายให้ทางคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด ไปสำรวจข้อมูลในแต่ละพื้นที่ก่อนรวบรวมมาเสนอยังกระทรวงแรงงานใน 3 ประเด็น อาทิ สภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพของแรงงาน และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในพื้นที่ เพื่อให้ทางคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองวิเคราะห์ นำไปเข้าสูตรคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์ว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างหรือไม่ และในอัตราเท่าใดที่จะเหมาะสม ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อที่จะให้เลขานุการคณะกรรมการค่าจ้าง นำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ที่จะประชุมในวันที่ 15 ก.ย.นี้
 
ม.ล.ปุณฑริก เปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลผลสรุปของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัดที่ส่งมา พบว่า มีจังหวัดที่ขอขึ้นค่าจ้าง 10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส และสระบุรี ซึ่งมีการเสนอขอปรับใน 2 อัตรา คือ ฝ่ายนายจ้างเสนอเพิ่ม 15 บาท ฝ่ายลูกจ้างเสนอเพิ่ม 60 บาท ขณะที่มีอีก 2 จังหวัด ที่ทางคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยฝ่ายลูกจ้างขอปรับ แต่นายจ้างไม่ขอปรับ คือ จังหวัดปทุมธานี ขอเพิ่มที่ 20 บาท และสมุทรสาคร 60 บาท
 
"ภาพรวมการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 4 - 60 บาท ใน 13 จังหวัด ส่วนอีก 64จังหวัดที่เหลือไม่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงกรุงเทพฯด้วย"ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
 
กรมการจัดหางานออกพระราชกำหนดนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเผยนายจ้างต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้าน
 
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างการให้ความคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ มีสาระสำคัญกำหนดให้มีการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศได้ 2 กรณี คือ 1. นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันกับทางราชการตามอัตราที่กำหนด
 
2. ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้เป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันการประกอบธุรกิจเป็นเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยกระบวนการขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงานต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด
 
นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศฉบับนี้ กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบกิจการเรียกค่าตอบแทน ซึ่งเป็นค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระทำผิดสัญญาในการนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ สามารถหักเงินจากหลักประกันที่ผู้ประกอบกิจการวางไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางานคืนนายจ้างได้
 
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและนายจ้าง เป็นผู้รับผิดชอบคนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานในประเทศร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนต่างด้าว นายจ้าง รวมทั้งจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยอีกด้วย อีกทั้งยังเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าแรงงานต่างด้าว สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีกเป็นเวลา 60 วัน
 
 
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งจัดทำแผนจัดส่งพ่อครัวแม่ครัว ไปทำงานต่างประเทศนัดหารือสัปดาห์หน้า เดินหน้าจัดอบรมให้ได้ 500 คน
 
นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานบอกว่า กพร.ได้รับการสนับสนุนงบจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกประมาณ 2 ล้านบาท โดยจะอบรมพ่อครัวแม่ครัวไทยในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเช่น กทม. พิษณุโลก เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ให้ได้ 500 คน โดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงานได้มอบนโยบายให้จัดทำแผนฝึกอบรมเพื่อจัดส่งพ่อครัวแม่ครัวไทยไปทำงานต่างประเทศ เช่น เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ซึ่งกกจ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือในสัปดาห์หน้าเพื่อจัดทำแผนเพื่อเสนอของบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
 
 
เตือนคนไทยทำงานเกาหลีระวังถูกหลอกผ่านโซเชียล
 
กรณีนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาข้อมูลแรงงานไทยในเกาหลีใต้ โดยระบุว่า ในปี 2558 มีแรงงานไทยไปทำงานถูกกฎหมาย 19,336 คน เป็นการจัดส่งโดยรัฐ 7,100 คน และมีบางส่วนลักลอบเดินทางจากการชักชวนผ่านเฟซบุ๊กไปทำงานนวดแผนโบราณ อ้างว่ามีรายได้เดือนละเป็นแสนบาท แต่กลับถูกหลอกลอยแพ แถมยังถูกนายจ้างบังคับค้าประเวณี
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่านักวิจัยคนนี้เคยศึกษาข้อมูลของกระทรวงแรงงานบ้างหรือไม่ ว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปบ้าง กกจ.ประกาศเตือนมาตลอด อย่าหลงเชื่อการชักชวนไปทำงานนวดในเกาหลีใต้ เพราะการจัดส่งไปทำงานโดยรัฐผ่านระบบอีเอสพี จะมีการจัดสอบคัดเลือก และนายจ้างเกาหลีจะเป็นคนจ้างงานเอง และไม่มีการจ้างงานนวดแผนโบราณ หรือนวดน้ำมัน ตามที่มีการชักชวนผ่านทางโลกโซเชียลฯ อาทิ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ ที่มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งผลจากการลักลอบไปทำงานคนกลุ่มนี้ ก็ทำให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคนไทย อีกทั้งคนไทยบางส่วนยังถูกส่งตัวกลับ ห้ามเข้าประเทศเกาหลี
 
นายอารักษ์กล่าวว่า คนไทยนิยมเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ เพราะเป็นการจัดส่งโดยรัฐมีค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยไปทำงานด้านอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ปศุสัตว์ ก่อสร้าง การประมงและการบริการ มีรายได้ดี เฉลี่ยเดือนละประมาณ 40,000 บาท ส่วนใหญ่แรงงานจะเป็นผู้ชาย ทุกครั้งที่มีการประกาศเปิดรับสมัครมีคนสนใจเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีคนงานเดินทางไปกว่า 4,000 คน
 
ปัจจุบันการหลอกลวงไปทำงานโดยนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานจึงไม่มี แต่ที่บอกว่าถูกหลอกไปทำงานนั้น เป็นลักษณะการสมัครใจเดินทางไปเองในรูปแบบนักท่องเที่ยว แล้วไปโดดทัวร์ทำงานตามคำชักชวน เมื่อไม่เป็นไปตามทั้งคาดหวัง ก็บอกว่าถูกหลอกโดยเฉพาะอาชีพนวด คนที่จะเดินทางไปทำงาน ต้องรู้ลักษณะงานแล้วว่าต้องเจออะไร เพราะส่วนใหญ่มีแฝงค้าบริการทางเพศ จึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อคำชักชวน ถ้าไม่อยากตกเป็นเหยื่อ
 
"สำหรับแรงงานที่เดินทางไปเกาหลีอย่างถูกต้องผ่านการจัดส่งโดยรัฐตามที่ได้รับอนุญาต ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ก่อนไปมีการฝึกอบรมสอบภาษาเกาหลี มีสัญญาจ้างอย่างถูกต้อง และในเกาหลีมีสำนักงานแรงงานไทยคอยให้การดูแลอยู่แล้ว" อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจการรับสมัครงานในประเทศเกาหลีใต้ ผ่านทางโซเชียล มีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กหรือไลน์ พบว่ามีอยู่จำนวนมาก โดยระบุต้องการพนักงานนวดหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดี อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีมนุษยสัมพันธ์ มีประสบการณ์นวดไม่ต่ำกว่า 3 เดือน สามารถนวดไทย นวดน้ำมัน สื่อสารภาษาอังกฤษได้พอสม ควร
 
นอกจากส่งไปเกาหลีใต้ ยังมีประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ดูไบ ซึ่งล้วนโฆษณาชวนเชื่อว่ามีรายได้ดี โดยงานนวดในเกาหลีใต้จะมีรายได้เดือนละ 70,000-100,000 บาท ค่าทิปต่างหาก มีสวัสดิการที่พัก อาหาร ส่วนคนที่สนใจแต่ไม่มีประสบการณ์นวด มีจัดสอนนวดให้ก่อนเดินทาง เพราะไปถึงแล้วต้องไม่มีปัญหาในการรับลูกค้า โดยมีการยืนยันด้วยว่าไม่มีการแฝงค้ากาม และให้คนสนใจส่งรูปพร้อมประวัติ ไปให้พิจารณาทางอีเมลและไลน์ส่วนตัว จากนั้นให้รอการตอบกลับ ซึ่งมีหญิงสาวให้ความสนใจสอบถามเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงที่หากคนหางานไปทำงานในลักษณะนี้จะถูกหลอกลวง.
 
 
7 องค์กรผนึกกำลังส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่ทำงาน
 
วันที่ 26 สิงหาคม 2559 ที่ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สภาการพยาบาล องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีสวัสดิการมุมนมแม่ และมีนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานหญิงมีเวลาพักเพื่อบีบเก็บน้ำนมได้ ซึ่งเป็นสวัสดิการสำคัญที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง
 
ศาสตราจารย์ คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2555 พบว่ามารดาไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ปรากฏเพียงร้อยละ 12.3 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญอันหนึ่งมาจากที่มารดาไทยต้องทำงานนอกบ้าน ในขณะที่สภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการบีบเก็บน้ำนม ดังนั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงริเริ่มทำงานร่วมกันเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบการกิจการ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถผลักดันให้เกิด มุมนมแม่ในสถานประกอบการกิจการจำนวน 1,026 แห่ง มีต้นแบบมุมนมแม่ จำนวน 47 แห่งใน 17 จังหวัด และมีศูนย์เรียนรู้จำนวน 5 แห่งใน 3 จังหวัดที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงานและทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบกิจการใหม่ๆ ที่สนใจดำเนินการในเรื่องนี้ จากการเก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสร้างงานดี ชีวีมีสุข ด้วยนมแม่ จำนวน 17 แห่ง พนักงานให้ข้อมูล 885 คน พบว่ามีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนถึงร้อยละ 27.9 ในปี 2559”
 
นางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า “การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการถือเป็นความท้าทายเพราะประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการถึง 400,000 แห่ง จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ผู้หญิงวัยทำงานมีโอกาสได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในอัตราที่สูงขึ้น ดังนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จัดได้ว่าเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนกลไกการสนับสนุน และส่งเสริม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงวัยทำงาน และคุณภาพชีวิตของเด็กแรกเกิด อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศอย่างยั่งยืนและเกิดเป็นรูปธรรมในระยะยาว”
 
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทั้ง 7 องค์กร ที่มาร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะจะนำไปสู่การพัฒนาเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ แต่ละองค์กรจะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และดำเนินการเช่น สภาการพยาบาลจะช่วยพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพในสถานประกอบกิจการ และ สสส. จะช่วยประสานกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
 
“นมแม่เป็นอาหารชั้นยอดที่มีคุณค่ามากที่สุดต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมองของทารก โดยที่ไม่มีอาหารอื่นใดจะเทียบเคียงได้” นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “ดังนั้น เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ แม่ที่ต้องไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่โรงงานหรือสำนักงาน ต้องมีเวลาและมีมุมนมแม่ที่ทำให้พวกเธอสามารถมาบีบเก็บน้ำนมในระหว่างวันได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนของสังคมที่จะต้องมาร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนให้แม่ที่ต้องไปทำงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้แก่เด็กๆ ของเรา ครอบครัวของเรา และประเทศของเรา”
 
ในงานนี้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้เปิดตัวแอพลิเคชั่น “มุมแม่”หรือ MoomMae เพื่อบริการเนื้อหาความรู้นมแม่ ข้อมูลคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาลและสถานที่ตั้งของมุมนมแม่ด้วย
 
 
ก.แรงงานจับมือ ILO สัมมนาปฏิรูปยกระดับระบบบำนาญ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานเปิดการสัมมนาว่าด้วย "ทางเลือกสำหรับการปฏิรูปและยกระดับระบบบำนาญของประเทศไทย" (Options for Reform and Improvement of Thailand's Pension System) ซึ่งมี นายเมาริซิโอ้ บุซซี่ (Mr.Maurizio Bussi) ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสปป.ลาว (ILO) ร่วมเป็นประธาน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 20-25 ปีข้างหน้า เนื่องจากคนไทย โดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้อัตราส่วนของ ผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวง แรงงานจึงได้เตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ อาทิ การปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การแก้ไขกฎหมายกำหนดอายุเกษียณ การพิจารณาอัตราค่าจ้างสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน ทั้งงานพาร์ทไทม์ และงานรายชั่วโมง การปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มีงานหรือทำกิจกรรมที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาระบบการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุด้วย
 
ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในการเสริมสร้างหลักประกันบำนาญเพื่อผู้สูงอายุ ให้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนั้น องค์กรระหว่างประเทศยังได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเฉพาะในด้านความเชี่ยวชาญทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
 
"เป็นโอกาสดีที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความคุ้มครองทางสังคมมาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์บำนาญในประเทศไทย ทั้งประเด็นความเพียงพอ ของเงินบำนาญ ความเหมาะสมของระดับการ ออมเงินบำนาญ แนวทางการออมเงินแบบ Defined Benefit และ Defined Contribution ผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และความมั่นคงของคนไทย"
 
 
แรงงานตัดเย็บบุรีรัมย์ร้อง! นายจ้างประกาศย้าย รง.ด่วน หวังลอยแพเลี่ยงจ่ายชดเชย
 
(25 ส.ค.) ตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ.พุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ร่วม 100 คน จากทั้งหมดกว่า 250 คนได้เดินทางเข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากทางบริษัทฯ ได้ติดประกาศจะย้ายสถานประกอบกิจการไปยังกรุงเทพมหานครแบบกะทันหันในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของแรงงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ รวมทั้งจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตด้วยจึงไม่สามารถย้ายตามไปทำงานกับทางบริษัทได้
 
อีกทั้งการติดประกาศย้ายสถานประกอบกิจการของทางบริษัทฯ ในครั้งนี้ไม่ได้มีมาตรการรองรับดูแลหรือเยียวยาแรงงานแต่อย่างใด ทำให้แรงงานกลัวจะถูกลอยแพและไม่ได้เงินชดเชยตามสิทธิ เชื่อว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการในครั้งนี้เป็นการเลี่ยงกฎหมายหรือปัดความรับผิดชอบ เพราะหากประกาศเลิกจ้างทางบริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามอายุงานให้แก่แรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จึงเลี่ยงเป็นการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการแทน
 
นางบุปผา แซ่ลิ้ม อายุ 48 ปี บอกว่า ทำงานกับบริษัท ฟาร์อีสท์ฯ มาตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมาได้ย้ายตามบริษัทมา 4 ครั้งแล้ว แต่ก็ย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้ออกต่างจังหวัด แต่ครั้งนี้ทางบริษัทประกาศจะย้ายไปไกลจากภูมิลำเนาทำให้ไม่สามารถย้ายตามไปได้เพราะจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งมองว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการในครั้งนี้นายจ้างต้องการปัดความรับผิดชอบจะไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานตามสิทธิ จึงได้มาร้องขอความช่วยเหลือ
 
เช่นเดียวกับนางประนอม กมลรัมย์ อายุ 43 ปี มองว่าการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการเป็นการกดดันแรงงานทางอ้อม เพราะหากใครไม่สมัครใจตามไปทำงานถือว่ายอมหยุดทำงานเอง โดยที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร จึงอยากให้ทางบริษัทเห็นใจหากจะย้ายสถานประกอบการก็ขอให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานช่วงที่ว่างงานด้วยเพราะยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจึงจะได้งานทำ
 
ด้านนายประภาส ศิลปรัศมี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งแรงงานจังหวัด จัดหางาน ประกันสังคม และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน มาร่วมชี้แจงถึงสิทธิให้แรงงานได้รับทราบ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายสถานประกอบกิจการของทางนายจ้าง ให้ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ทั้งเรื่องสวัสดิการที่ควรจะได้รับ รวมถึงการจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ การฝึกฝีมือให้แก่แรงงานตามความถนัด เป็นการบูรณาการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานอย่างเต็มที่
 
 
รมว.แรงงานลงภูเก็ตย้ำใช้กฎหมายเข้มคุมแรงงานเถื่อนยันต้องมีนายจ้างเท่านั้น
 
(26 ส.ค.) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหาร เดินทางมาตรวจราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อประชุมติดตามผลการดำเนินงานด้านแรงงาน ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมรับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากนักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต อาทิ ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง อาสาสมัครแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน ได้มีการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลอื่นๆ เพื่อเป็นการวางรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งมาสร้างการรับรู้ถึงนโยบายของรัฐบาล ในงานของกระทรวงแรงงานด้วย ที่สำคัญมารับทราบปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคเอกชน ซึ่งในวันนี้ทางภาคเอกชนได้เสนอแนะในหลายประการซึ่งเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากจะให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมทุกสาขา ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว ซึ่งจะไม่ยึดโยงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่จะเน้นในอัตราตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมา สามารถที่จะกำหนดมาตรฐานอัตราฝีมือแรงงานไปแล้ว 55 สาขา และอยู่ระหว่างขยายเพิ่มในปีนี้อีก 12 สาขา ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม และในปี 60 จะเพิ่มเติมอีก 16 สาขา ในอีก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ก็จะให้ครอบคลุมในทุกสาขาตามที่ภาคเอกชนต้องการ ทำให้มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ขั้นต่ำที่สุดคือ 360 บาทต่อวัน สูงที่สุดคือ 880 บาทต่อวัน
 
ที่สำคัญอย่างยิ่ง จังหวัดภูเก็ต ถือว่าเป็นแลนมาร์กในด้านการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานเกี่ยวกับด้านนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดี เพื่อที่จะให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับโลก เพราะว่าสามารถที่จะสร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดภูเก็ตและประเทศเป็นจำนวนมาก อีกส่วนหนึ่งที่จังหวัดภูเก็ตได้รับตามนโยบายของรัฐบาลคือเป็นซูเปอร์เซ็นเตอร์ด้านดิจิตอล ทางกระทรวงแรงงานเองก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สอดรับต่อทางรัฐบาลมอบหมายให้เป็นซูเปอร์เซ็นเตอร์ด้านดิจิตอล
 
ส่วนเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการจัดระเบียบการทำงานให้เป็นระบบบูรณาการเชื่อมโยงกันและกันในทุกฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมด้วย ส่วนเรื่องการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวซึ่งไม่มีขยายเวลาแล้วนั้น นโยบายต่อไปคือ การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น ประเด็นที่สอง เร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการนำเข้ามาแบบเอ็มโอยู เพื่อที่จะได้มีการตรวจสัญชาติตั้งแต่ประเทศต้นทาง และสามารถทำงานเข้าสู่ระบบการดูแลที่ แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ ประเทศต้นทางก็มีความสุขด้วยที่เห็นคนของเขามาทำงานในประเทศไทย และทำงานอย่างมีความสุข ขอย้ำว่า ถ้ามาทำงานในไทยต้องมีนายจ้างเท่านั้น และทำงานในกิจการที่ไดรับอนุญาตเป็นกรรมกร และผู้รับใช้ในบ้าน จะไปหาบเร่แผงลอยไม่ได้ เพราะถ้าทางเจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นก็มีการจับกุม และดำเนินคดีอย่างเข้มข้นด้วย และวันนี้ทางสมาคมมัคคุเทศก์ได้ขอบคุณรัฐมนตรีฯ ด้วยที่ได้ช่วยแก้ปัญหาไกด์เถื่อนที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ในส่วนแรงงานต่างด้าวก็เช่นกัน
 
 
เครือข่ายผู้ประกันตนยื่นร้องปลัดแรงงาน ทำฟัน 900 บาท ไม่ได้ตามจริง
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งนำโดย นายมนัส โกศล ประธาน คปค. ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลลำลูกกา และผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และ ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 2 เดินทางเข้าพบ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ปัญหาอุปสรรคจากการเข้ารับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน
 
นายมนัสกล่าวว่า หลังจากมีการเรียกร้องความจำเป็นในการเข้ารับบริการทันตกรรมของผู้ประกันตน จนคณะกรรมการการแพทย์ได้มีมติเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน โดยให้สามารถเบิกค่าบริการได้ตามความจำเป็นวงเงิน 900 บาทต่อปีไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปรากฏมีผู้ประกันตนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากว่า การเพิ่มค่าบริการ 900 บาทแต่กลับมีการกำหนดอัตราค่าบริการส่วนที่เบิกได้เป็นรายบริการตามบัญชีแนบท้าย ซึ่งอิงจากสถาบันทันตกรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งผลให้ผู้ประกันตนถูกลิดรอนสิทธิลงกว่าเดิม เพราะเป็นการจำกัดสิทธิการเบิกค่าบริการ ทำให้เบิกได้น้อยกว่าระบบเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการเลย
 
"การกำหนดเงื่อนไขอัตราค่าบริการ อย่างขูดหินปูนทั้งปากกำหนดไม่ให้เกิน 400 บาท แต่ความเป็นจริงในคลินิกเอกชนคิดประมาณ 500-600 บาท กลายเป็นว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่มเองอีก 100-200 บาท และหากผู้ประกันตนคนนั้นไม่ใช้สิทธิทำฟันอื่นๆ จนครบปี ก็เท่ากับว่าเสียสิทธิที่จะได้รับค่าบริการจนครบอัตรากำหนดไปฟรีๆ นอกจากจะไปผ่าฟันคุดจำนวน 900 บาท จึงจะคุ้ม ถามว่าใครจะผ่าฟันคุดบ้าง แบบนี้แสดงให้เห็นว่า สปส.ออกสิทธิมา แต่มีประกาศแนบท้ายพ่วงยิ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ ทำให้สิทธิลดน้อยลงกว่าเดิมเสียอีก จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศแนบท้ายนี้เสีย และหากจะกำหนดอัตราค่าบริการก็ควรอย่างต่ำ 600 บาท ให้ไม่น้อยกว่าของเดิมที่ได้รับ" นายมนัสกล่าว
 
ทพ.ธงชัย กล่าวว่า การออกเงื่อนไขเช่นนี้ เป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกันตนต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลภาครัฐ เนื่องจากอัตราราคาที่กำหนดเป็นของภาครัฐมากกว่า ขณะที่ภาคเอกชนราคาสูงกว่ามาก ทำให้ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการต้องจ่ายเพิ่มทุกรายการ ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ซึ่งส่วนใหญ่รับบริการดังกล่าว และส่วนใหญ่ร้อยละ 77.8 เข้ารับบริการที่คลินิกเอกชน ดังนั้น ผู้ประกันตนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ก่อนอื่นจึงขอให้ปลดล็อกปัญหาตรงนี้ก่อน คือ ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้ายเสีย ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรม 900 บาทต่อปีแบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนหากจะมีการสำรวจการรับบริการ ราคาที่เหมาะสมก็ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ 1 ชุด โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
 
ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โดยหลักการของการเพิ่มค่ารักษาพยาบาล 900 บาทต่อปีนั้นก็เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับประกาศแทบท้าย และส่งผลต่อผู้ประกันตน ก็จะนำเรื่องนี้ให้แก่คณะกรรมการการแพทย์ ที่มี นพ.ชาตรี บานชื่น เป็นประธานฯ พิจารณา โดยอาจต้องมีการเรียกประชุมด่วน เนื่องจากส่งผลต่อผู้ประกันตน คาดว่าจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ แต่ไม่มีการลดอัตราค่าบริการ 900 บาทลง ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการอาจใช้เวลาไม่นานนัก เบื้องต้นน่าจะประมาณ 2 เดือน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์แนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่ เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ประกอบด้วย 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ (เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2.อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลทัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาท อุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400 บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท
 
 
สศช.ระบุแรงงาน "เมียนมา-กัมพูชา-ลาว" ผันตัวเป็นผู้ค้ารายย่อยเพิ่มถึง 45 %
 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 พบว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายที่มีแนวโนมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
 
(29 ส.ค.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานสภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2559 พบว่าการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ โดยปี 2559 มีผู้มีงานทำจำนวน 37,393,472 คน และมีผู้ว่างงานจำนวน 41,1124 คน ขณะที่แรงงานภาคเอกชนได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3
 
นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนอาชีพจากการเป็นลูกจ้าง มาเป็นผู้ค้าขายรายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นอาชีพสงวนของคนไทย โดยชาวเมียนมา หันมาค้าขายมากที่สุด ร้อยละ 45.3 รองลงมาคือ ชาวกัมพูชา ร้อยละ 23.9 และสุดท้ายคือ ลาว ร้อยละ 17.5
 
ขณะที่รายงานงานจากสหประชาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีดัชนีความสุขอยู่อันดับที่ 33 ของโลก ซึ่งถือว่าคนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปี 2558 แต่ผลสำรวจด้านสุขภาพจิตพบว่าลดลง โดยในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 31.44 ลดลงจากปี 2557 ที่ร้อยละ 0.04
 
แต่สิ่งที่สำคัญพบว่า คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 6.07 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2557 เป็น 6.31 คนต่อประชากร 100,000 คนในปี 2558 โดยช่วงอายุที่มักจะมีการฆ่าตัวตายมากสุดคือ 30-39 ปี
 
 
สภาพัฒน์ห่วงคนไทยยังเตะฝุ่นกว่า 4.1แสนคน
 
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2559 ว่า ในไตรมาสที่ 2 ยังคงมีคนว่างงานมากถึง 411,124 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเท่ากับ 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 0.88% สอดคล้องกับอัตราการจ้างงานในภาพรวมที่ลดลง 0.9% โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ลดลงมากถึง 6.2% เช่นเดียวกับการจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมที่ยังลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ 1.7% มีสาเหตุหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวในอัตราเร่ง 3.5% แต่การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงลดลง จนทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ จึงหันมาใช้วิธีปรับลดแรงงานลงเพื่อแก้ปัญหาแทน
 
อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นไปตามประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง จึงน่าจะส่งผลให้สถานการณ์การจ้างงานกลับมาปรับตัวดีขึ้น โดยตัวเลขมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2559 สศช.ยังมองว่า จะลดลง 1.9% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากทั้งปี 58 ที่ลดลงถึง 5.6%
 
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องพิจารณาการจ้างงานและรายได้แรงงานภาคเกษตร จากเดิมที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2557 ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 แต่อย่างไรก็ดีปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนก.ค.-ต.ค.นี้ จะทำให้มีน้ำเพียงพอกับการเพาะปลูก หากมีการวางแผนการกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการจ้างงานภาคเกษตรจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
 
สำหรับการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรม โดยหลังจากผู้ประกอบการหันมาใช้วิธีปรับลดแรงงานลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ซึ่งนอกจากมีแนวโน้มเลิกจ้างแรงงานในกิจการโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นด้วย ขณะที่การบังคับใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 20 สาขาอาชีพใน 5 อุตสาหกรรม จากเดิมที่กำหนดไว้ 35 สาขาอาชีพ ซึ่งมีค่าจ้างสูงสุดถึงวันละ 550 บาท จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาศักยภาพให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น
 
นส่วนของสถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันพบว่า มีแรงงานต่างไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนการการเป็นลูกจ้างในงานอันตราย สกปรกและยาก มาเป็นผู้ค้าขายรายย่อยมากขึ้น ซึ่งว่าผิดกฎหมาย โดยคนต่างด้าวที่เข้ามาถูกกฎหมายและไปประกอบอาชีพค้าขาย มีเหตุผลหลักคือมีรายได้ดีกว่าการเป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นงานไม่ต่อเนื่องและถูกเอาเปรียบ ส่วนที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายเพราะไม่สามารถทำงานได้จึงเข้าสู่การค้าขายรายย่อย โดยแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ค้าขายรายย่อยมีมากถึง 40% ที่เป็นเจ้าของกิจการทั้งที่เป็นเจ้าของเอง จ้างคนไทยให้เป็นนายจ้าง และรับช่วงจากผู้ออกทุนโดยตกลงแบ่งผลประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา 44.5% รองลงมาคือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน ชนกลุ่มน้อย และอื่นๆ
 
ผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยนั้น จากการสำรวจผู้ค้าคนไทยเห็นว่าการเข้ามาค้าขายของคนต่างด้าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผลดีคือส่งเสริมให้ตลาดมีความคึกคัก ดึงดูดคนต่างด้าวอื่นๆมาซื้อสินค้า และทำให้มีสินค้าหลากหลาย ส่วนผลเสียคือ การแย่งอาชีพคนไทย โดยมักขายสินค้าประเภทเดียวกัน คือ ผักสดและผลไม้,อาหารสำเร็จรูป,เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและไข่ และเนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่เห็นว่าทำให้รายได้จากการขายสินค้าของคนไทยลดลง มีการขายตัดราคาโดยใช้ของคุณภาพต่ำ, แย่งชิงสินค้าและวัตถุดิบทำให้ราคาแพงขึ้น รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มอิทธิพล ฯลฯ
 
 
แรงงานไทย ร้องผู้ตรวจฯ สอบเจ้าหน้าที่แรงงาน หลังปล่อยลูกจ้างไทยในไต้หวัน ถูกนายจ้างกระทำอนาจาร ชี้ สายด่วน 1955 ช่วยเหลือไม่ได้
 
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยนาง ก. (นามสมมุติ) แรงงานผู้เสียหายจากการเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน เข้ายื่นร้องขอให้ผู้ตรวจการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งได้ยื่นหนังสือผ่านนายทิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ
 
นายสงกานต์ กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือผ่านทางเฟซบุ๊ค จากนางประนอม ว่าถูกลูกนายจ้างลวนลามกระทำอนาจาร และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่กรมแรงงาน ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1955 ซึ่งเป็นหมายเลขที่เจ้าหน้าที่ได้แจกให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ไต้หวันและไทเปทุกคน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือ แต่เมื่อโทรไปแจ้ง และร้องขอกลับประเทศ เจ้าหน้าที่กลับบอกให้รอดำเนินคดี เพราะหากกลับมาก่อนจะไม่มีพยานผู้เสียหายและไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่เมื่อรอไประยะหนึ่งและเมื่อโทรไปติดตามถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่า ไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ และระบุว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไม่มีอำนาจในการแจ้งความ เป็นเพียงหมายเลยที่ใช้ประสานเรื่องเงินเดือน และไม่ใช่หมายเลขของกระทรวงแรงงาน จึงตั้งข้อสังเกตว่าหากไม่ใช่ ทำไมจึงมีการแจกเป็นสมุดและมีหมายเลข 1955 ดังกล่าวให้กับแรงงานทุกคน และเมื่อค้นหาในเว็บไซด์พบว่ามีการเผยแพร่หมายเลขดังกล่าวเป็นการทั่วไป
 
นายสงกานต์ กล่าวว่า จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่กรณีนี้กรณีเดียว แต่มีแรงงานคนอื่นในไต้หวันได้รับผลกระทบ เพราะเชื่อว่าเป็นขบวนการสกัดไม่ให้เอาผิดนายจ้าง เพราะถ้านายจ้างถูกดำเนินคดีเอเยนต์ก็ไม่สามารถที่จะส่งแรงงานไทยไปได้ ทำให้เสียประโยชน์ เพราะเอเยนต์จะทำสัญญาหักเงินแรงงานต่อปี การที่เจ้าหน้าที่หมายเลข 1955 ไม่ดำเนินคดีลูกชายนายจ้าง และถ่วงให้รอ โดยไม่ดำเนินคดีอาญาใดๆ ก่อนพยายามปล่อยตัวกลับ
 
ด้าน นาง ก. กล่าวว่า ได้โทรไปในเบอร์ดังกล่าวแล้วเจ้าหน้าที่บอกว่าจะให้ความช่วยเหลือ และให้อยู่รอ เพราะถ้าไม่อยู่จะไม่มีผลในการดำเนินคดี แต่เมื่อติดต่อกลับไป กลับบอกว่าไม่ได้รับเรื่อง และไม่มีหน้าที่รับเรื่องดังกล่าว หากไม่ช่วยทำไมไม่พูดตามตรง
 
"แรงงานไทยทุกคนไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย หากร้องอะไร ก็จะร่วมกับนายจ้าส่งแรงงานคนนั้นกลับไทย เอเยนต์ไม่ดูแล ไม่ช่วยเหลือ แต่กลับช่วยนายจ้าง ทั้งที่เราหาเงินให้ใช้ หักเงินเราไปทุกเดือน เอาเงินไปทำไม” นายประนอม กล่าวทั้งน้ำตา
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือร้องเรียนยังระบุว่า เจ้าหน้าที่แรงงานไทย ที่เกี่ยวข้องมีอักษรย่อ “จ” และ “ธ” และเมื่อนางสงกานต์เข้าไปช่วยเหลือนาง ก. กลับถูกข่มขู่ด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net