Skip to main content
sharethis

30 ส.ค. 2550 ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พ.ค. - 22 มิ.ย. 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว 19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%

ในการสำรวจพบอีกว่า ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย โดยผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3 ใน 4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่าอาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้ว่าผิดกฎหมายเพียง 1 ใน 4 โดยผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่า มีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง

นอกจากนี้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลย มีสัดส่วน 41.3% อาจเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่ายทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1ใน3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี ชี้ให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงาน ปรับเป็นผู้ประกอบค้าขายเพิ่มขึ้น แม้มีการจับกุมแต่กว่าครึ่งก็จะกลับมาค้าขายใหม่อีก ด้านรายได้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และ กว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศเดือนละครั้ง โดยครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% และส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1% ทั้งนี้ การเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าว มีทั้งเข้าเมืองมาใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือ การตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น ถือวีซ่านักท่องเที่ยว เป็นแรงงานเถื่อน เป็นต้น

รายละเอียดการประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าว 

สศช. ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจจํากัด (SAB) ดําเนินโครงการสํารวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าว โดยรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 4 พ.ค.-22 มิ.ย. 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรี และสงขลา โดยผลสํารวจ พบว่า แรงงานต่างด้าวมีการค้าขายในทุกระดับ 
 
ผลการแจงนับร้านค้าคนต่างด้าวในสถานที่ 4 ประเภท คือ ศูนย์สรรพสินค้า ตลาดนัด ตลาดสด และตลาดชุมชน 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบ ร้านค้าที่เปิดขายทั้งสิ้น 10,453 ร้าน/แผง อยู่ในศูนย์สรรพสินค้า 1,480 ร้าน ตลาดนัด 8,497 ร้าน/แผง ตลาดสด 321 ร้าน/แผงและตลาดชุมชน 155 ร้าน/แผง พบร้านค้าที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ 102 ร้าน (%6.9) 149 ร้าน/แผง (1.8%) 67 ร้าน/แผง ( 20.9%) และ15 ร้าน/แผง ( 9.7%) ตามลําดับ โดยเฉพาะในตลาดสดและตลาดชุมชนที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูงเนื่องจากความยากง่ายในการเข้าถึงสถานที่ และแม้ว่าจะเป็นการสุ่มเฉพาะจุดแต่ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามีแรงงานต่างด้าวเข้ามาค้าขายในทุกระดับ 
 
-ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย ผลการสัมภาษณ์ผู้ค้ารายย่อยไทย 432 รายและผู้ค้าต่างด้าว 424 ราย พบว่า ผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3 ใน 4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าว ประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งที่ทราบว่าการประกอบอาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้มีเพียง 1 ใน 4 โดยผู้ที่รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของ 
 
-ผู้ค้าต่างด้าวส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานตอนต้น โดยร้อยละ 80.9 มีอายุ 20-39 ปี ซึ่งอยู่เป็นวัยเริ่มต้นมีครอบครัวและบุตร ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว 45.3% 23.9% และ 17.5% ตามลําดับ ผู้ค้าต่างด้าวส่วนใหญ่มีเอกสารแสดงตัว ได้แก่ พาสปอร์ต 58.0% บัตรสีชมพู 35.6% โดยเป็นผู้ไม่มีใบอนุญาตทํางาน (มีทร. 38/1) หรือไม่มีบัตรเพียง 1.2% ซึ่งเป็นผลจากการดําเนินงานของรัฐทั้งในเรื่องของการผ่อนผันและปรับสถานะผู้จดทะเบียนให้เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ระยะเวลาอยู่ในประเทศไทย 1-5 ปี 63% และ 6-10 ปี จำนวน 25.7% 
 
-ลักษณะที่ขายส่วนใหญ่เป็นแผงและรถเข็น โดย 40% เป็นเจ้าของเอง ลักษณะที่ขายเป็นแผงและรถเข็น 74% เป็นบูธ/บล็อกในห้าง และอาคารพาณิชย์ 24.6%
 
ขณะที่สถานภาพของผู้ค้ารายย่อยต่างด้าว พบว่า เป็นลูกจ้าง 45.8% เป็นเจ้าของ 42.9% และค้าขายให้ครอบครัว/ญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกรแต่ในทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทํางานที่หลากหลายรวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจํานวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง 
 
-ส่วนใหญ่ผู้ค้าต่างด้าวไม่เคยประกอบอาชีพอื่นมาก่อน 60.8% โดยกลุ่มที่เป็นเจ้าของมีสัดส่วนเคยประกอบอาชีพอื่นสูงกว่า สําหรับคนต่างด้าวที่เป็นเจ้าของพบกว่าครึ่งมีอายุระหว่าง 30-39 ปี ส่วนใหญ่มีสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว แต่คนสัญชาติเวียดนามและจีนมีสัดส่วนเป็นเจ้าของกิจการสูงกว่า
 
ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของค้าขายหลังจากเข้ามาแล้ว 2-3 ปีชี้ให้เห็นพลวัตของการปรับเปลี่ยนการทํางานของแรงงานต่างด้าวซึ่งจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงานมาสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายเพิ่มขึ้น 
 
-แม้จะมีการจับกุมแต่กว่าครึ่งกลับมาค้าขายใหม่ ด้านการตรวจสอบจับกุม ผลสํารวจพบว่าผู้ค้าชาวไทย 43.1% เคยพบเห็นการตรวจสอบ จับกุมแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพค้าขายของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ผู้เคยพบเห็นการจับกุมเห็นว่าหลังการจับกุมมีการกลับมาขายใหม่ถึง 63.4% 
 
-มีผู้ได้รับสวัสดิการทางสังคมเพียง 1 ใน 5 ผู้ค้ารายย่อยต่างด้าว 19.3% ได้รับสวัสดิการสังคม โดยสวัสดิการที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นการรักษาพยาบาล รองลงมาเป็นการศึกษาของบุตรผู้ค้าต่างด้าว 
 
-ส่วนใหญ่มีเงินเก็บและส่งเงินกลับ ผลประกอบการผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และกว่า80% มีการส่งเงินกลับประเทศ โดยกลุ่มนี้ 32.1% ไม่มีเวลาส่งกลับที่แน่นอน ขณะที่ 25.9% ส่งเงินกลับเดือนละครั้ง จํานวนเงินส่งกลับแต่ละครั้ง 52.0% ส่งกลับ 1,001-5,000 บาท และ 35.1% อยู่ระหว่าง 5,001-10,000 บาท
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net