Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Norapat KamMart

อันที่จริงคงต้องกล่าวว่าผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพชั้นปีที่สอง ซึ่งเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเทคนิคการถ่ายภาพและเทคนิคการนำเสนอ เนื่องจากผลงานในลักษณะนี้เคยปรากฏขึ้นมานานแล้วในแวดวงการถ่ายภาพในฐานะที่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ พลังที่ดูโดดเด่นที่สุดของผลงานชิ้นนี้คือ การนำเสนอดังกล่าวถูกทักท้วงจากหน่วยงานตำรวจให้มีการห้ามปรามและตักเตือนนักศึกษาผ่านอาจารย์ โดยส่วนตัว ผมคิดว่าจะโดยตั้งใจหรือไมตั้งใจ นี่คือความความสำเร็จของการทำงานศิลปะ โดยเฉพาะการชี้ชวนให้สังคมตั้งคำถามและปั่นป่วนอำนาจเชิงสถาบันให้รู้สึกร้อนหนาวขึ้นมาบ้าง

ในการนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตถึงปฏิกริยาที่มีต่อ "การนอน" ดังนี้


1. ชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปดำรงอยู่ได้ในพื้นที่ประเภทต่างๆ มนุษย์อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และจัดแบ่งพื้นที่เป็นประเภทต่างๆ แต่พวกเขาล้วนถูกพื้นที่ดังกล่าว "จัดการและควบคุม" ชีวิตด้วยเช่นกัน เนื่องมาจาก "พื้นที่ทางกายภาพ" ล้วนเป็นแหล่งรวมของกฎระเบียบและการควบคุมทางสังคมอยู่เสนอ มโนทัศน์เรื่องพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาควบคู่กับการสร้างสังคมสมัยใหม่ให้เป็นไปตามทิศทางที่รัฐสมัยใหม่กำกับ กิจกรรมบางประเภทจึงกลายเป็นเรื่องส่วนตัวเช่น การร่วมเพศ, การเปลือยกาย, การนอน, การเปลี่ยนเสื้อผ้า จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำในพื้นที่ส่วนตัว ไม่อาจทำได้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่ก่อนกลไกการแยกพื้นที่ประเภทนี้เกิดขึ้น กิจกรรมดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างที่ลับกับที่แจ้ง ไม่ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องอนาจารแต่อย่างไร

การนอนในสังคมสมัยใหม่จึงผูกโยงกับห้องหับส่วนตัวหรือสถานที่ซึ่งเตรียมขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, หอพัก ฯลฯ กิจกรรมประเภทนี้จึงมิอาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สาธารณะ และโดยข้อเท็จจริง ผู้ที่นอนในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นประจำ เช่น คนไร้บ้าน ก็มักจะถูกจัดประเภทว่าเป็นคนที่ไร้ศักยภาพและสร้างปัญหาให้กับผู้อื่นหรือสังคมโดยรวม นี่คือ มายาคติว่าด้วยเรื่องพื้นที่ซึ่งถูกสร้างขึ้นในสังคมสมัยใหม่


2. เวลาเราจะครุ่นคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย การคิดผ่านแนวความคิดเรื่องปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) ของฮาเบอร์มาส เนื่องจากแนวคิดนี้ วางบนพื้นฐานของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางกายภาพมาสู่พื้นที่ทางความคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันพื้นที่กายภาพดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ใหม่ในการพบปะสังสรรค์และยังไม่ได้มีการควบคุมหรือตรวจตรามากมายเพียงอย่างไร ขณะที่พื้นที่สาธารณะของรัฐไทยในฐานะรัฐสมัยใหม่ มันคือพื้นที่ในการควบคุมตรวจตราอย่างมีระเบียบแบบแผน เราเดินบนฟุตบาทคือพื้นที่ของเทศบาล เดินบนถนนคือพื้นที่ของกรมทาง รูระบายน้ำข้างทางก็อาจเป็นพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างการปะปากับเทศบาล ขึ้นไปบนตึกก็คือสถานที่ราชการ เข้าไปในป่าก็เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ กระโดดลงน้ำปิงไปก็เป็นพื้นที่ซ้อนทับกันระหว่างกรมชลกับเทศบาล เข้าสวนสาธารณะก็เป็นพื้นที่ของส่วนราชการ

พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยการควบคุมและชีวิตประจำวันของเราล้วนตัดผ่านพื้นที่เหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การขับรถ ฯลฯ การดำรงอยู่ของมนุษย์ในรัฐสมับใหม่โดยทั่วไปจึงอยู่ในพื้นที่และการจัดประเภทของพื้นที่ซึ่งรัฐเป็นผู้ควบคุม กล่าวอีกแบบคือ รัฐไม่ได้ควบคุมประชากรโดยตรงแต่ควบคุมผ่านพื้นที่นั่นเอง


3. ผลงานของนักศึกษาว่าด้วยการนำหมอนและผ้าห่มไปนอนตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแยกไฟแดงหน้าเมญ่า, หน้าตึกเรียน, บันไดขึ้นดอยสุเทพ และขัวเหล็ก เป็นต้น ด้านหนึ่งจึงเป็นการตั้งคำถามต่อมโนทัศน์ว่าด้วยด้วยการจัดแบ่งพื้นที่ดังกล่าว ผ่านกระบวนการสลับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ มองผิวเผินอาจเป็นแค่กิจกรรมที่กวนอารมณ์ธรรมดา ทว่าอีกด้านหนึ่งเราอาจพิจารณาได้ว่ามันคือการยักย้ายถ่ายเทพื้นที่จากที่เคยถูกแยกออกจากกันให้หันมาซ้อนทับและบรรจบขึ้นใน "ชั่วขณะ"

สภาวะเช่นนี้เองสะท้อนให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อการควบคุมของรัฐในเชิงพื้นที่ ช่วงเวลาชั่วขณะที่เขาเอาหมอนและผ้าห่มไปนอนตามที่ต่างๆ นั่นเองกลับสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการพื้นที่สาธารณะที่แสนอนาถอนาถาของรัฐ ความจำกัดจำเขี่ยของพื้นที่ในการมีชีวิตอยู่ในสังคมสมัยใหม่ อาทิ ความล้มเหลวในการจัดการระบบจราจรของเชียงใหม่ (หรืออาจรวมถึงเมืองอื่นๆ) ซึ่งทำให้คนจำนวนมากอยู่บนพื้นที่สาธารณะอย่างสูญเปล่าและเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย หรือการนอนหน้าตึกเรียนรวมก็อาจเป็นการส่งสารถึงการออกแบบตึกที่ใหญ่โตดูเป็นสง่า แต่ไร้ประสิทธิภาพในแง่ของการใช้สอย เป็นต้น ในห้วงขณะของการนอนนี่เองจึงเป็นเสมือนการสร้างพื้นที่แห่งใหม่หรือพื้นที่ที่สาม พลังของพื้นที่ในลักษณะนี้คือการกระตุกต่อมคิด,ท้าทาย, และชี้ชวนให้เห็นถึงข้อจำกัดของพื้นที่ซึ่งถูกจัดการอย่างล้มเหลวมาโดยตลอด


4. ผลงานของนักศึกษาท่านนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในแง่ของการถ่ายภาพศิลปะ สภาวะห้วงขณะของการวางหมอนและห่มผ้าในพื้นที่ต่างๆ อาจมีระยะเวลาที่ต่างกัน ตรงแยกไฟแดงอาจถูกควบคุมด้วยระยะเวลาของไฟแดง และหลายๆ ที่อาจถูกควบคุมด้วยเงื่อนไขที่ต่างออกไป ทว่า ห้วงขณะนั้นไม่ได้สิ้นสุดด้วยเสียงของการกดชัตเตอร์ที่จบลง ทว่า สภาวะห้วงขณะดังกล่าว ได้เกิดการยักย้ายถ่ายเทพื้นที่ครั้งที่สอง ผ่านกระบวนการสร้างเป็นไฟล์แล้วอัพขึ้นบนโลกออนไลน์

ชายคนที่นอนบนพื้นที่สาธารณะนั้นไม่ได้นอนบนพื้นที่ทางกายภาพที่รัฐควบคุมเพียงอย่างเดียว ทว่า เขาได้ "นอนบนภาพถ่าย" ซึ่งถูกส่งต่อ ปรับเปลี่ยน และผลิตซ้ำบนโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา การยักย้ายถ่ายพื้นที่ในลักษณะนี้เองจึงมีพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและตั้งคำถามสำคัญต่อไป ด้านหนึ่งอำนาจในการควบคุมของรัฐในระดับต่างๆ อาจเข้ามาตรวจตราโลกออนไลน์และรับทราบข่าวสะดวกสบายขึ้น ทว่า อีกด้าน การยักย้ายถ่ายเทพื้นที่ระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของอำนาจรัฐที่มักควบคุมประชากรผ่านพื้นที่ด้วยระบบอันล้มเหลวและไร้ความเป็นธรรมตลอดเวลา

5. มนุษย์ในภาพรวมล้วนปรารถนาที่จะมีพื้นที่ซึ่งตนสามารถเป็นตนเองได้มากที่สุด ควบคู่กับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ความสัมพันธ์ลักษณะนี้มักเป็นแรงตึงที่รัฐมักเข้ามาจัดการและวางระเบียบต่างๆไว้มากมาย ผลงานการถ่ายภาพของนักศึกษาท่านนี้ชี้ชวนให้เราจินตนาการถึงพื้นที่อันปรารถนาและพวกเราล้วนสูญเสียมันไปและไม่มีสิทธิในการจัดการพื้นที่ พวกเราล้วนเป็นเพียงร่างอันเปลือยเปล่าที่ถูกควบคุมด้วยวิธีการต่างๆ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผลงานนี้ก็ชี้ให้เราเห็นอีกว่า โดยแท้จริงแล้วพวกเราล้วนสามารถขัดขืนระเบียบการจัดการพื้นที่ของรัฐสมัยใหม่ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงแค่การนอนในฐานะภาพถ่ายศิลปะแบบนี้เท่านั้น ทว่ายังชี้ชวนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้คนที่พยายามขัดขืนอำนาจผ่านการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ อาทิ การเปลี่ยนพื้นที่ริมตลิ่ง (ซึ่งอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานราชการ) ให้กลายเป็นสวนผัก, การแอบวางแผงขายของเล็กๆ ตามฟุตบาททางเท้า เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะที่จืดชืดให้กลายเป็นพื้นที่ชีวิตแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ยังมิพักต้องเอ่ยถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายในเชิงพื้นที่ของชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงในฐานะที่เป็นป่าชุมชนไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ตามความหมายของหน่วยงานราชการ

เราหันมาสร้างพื้นที่ที่เราสามารถจินตนาการได้ด้วยตัวเองกันเถอะครับ ในรัฐที่ใช้อำนาจบงการและคุกคามอิสระภาพของผู้คน จินตนาการว่าด้วยพื้นที่ซึ่งต่างออกไปจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังคงสามารถรักษาเสรีภาพเอาไว้ได้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net