ข้อสังเกตเพิ่มเติมบางประการ: ว่าด้วยการอดอาหารประท้วงจากมุมมองของนักเรียนสันติวิธี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังจากข้าพเจ้าตีพิมพ์บทความเรื่อง “ว่าด้วยการอดอาหารประท้วงของ ไผ่ ดาวดิน : ข้อสังเกตจากนักเรียนสันติวิธี” ลงในประชาไทไป ข้าพเจ้าเห็นว่าควรตั้งข้อสังเกตบางประการเพิ่มเติมต่อยอดจากบทความดังกล่าว อย่างที่ทราบกันแล้ว (หรือหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ) ว่า บทความก่อนหน้านี้ เสนอว่า การอดอาหารประท้วงไม่ได้เริ่มต้นที่คานธี และไม่ได้จบลงที่คานธี แต่เป็นขนบทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและเกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าไม่ควรทำความเข้าใจอำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดอาหารประท้วงด้วยการจำกัดอยู่ที่คานธีเพียงคนเดียว จากนั้น บทความก็ได้พยายามลองประยุกต์ใช้ทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของ ยีน ชาร์ป ที่ช่วยให้เห็นพลวัตอำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดข้าวประท้วงได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บทความดังกล่าวยังไม่ได้สาธยายให้ละเอียด ก็คือ ประเด็นว่าด้วยการจัดประเภทการอดอาหารประท้วงออกมาให้เป็นระบบ เพราะบทความดังกล่าวสนใจไปที่อำนาจและเงื่อนไขความสำเร็จของการอดอาหารประท้วงโดยทั่วไปมากกว่า เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว คำถามของบทความชิ้นนี้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อการอดอาหารประท้วงเป็นขนบทางประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ก็แสดงว่าการอดอาหารประท้วงก็ต้องมีหลากหลายรูปแบบ ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะสามารถจำแนกแยกแยะการอดอาหารประท้วงออกมาให้เป็นระบบได้อย่างไร

คำถามที่ว่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติด้วย เพราะการจำแนกแยกแยะประเภทของการอดอาหารประท้วง จะช่วยทำให้นักกิจกรรมที่ยังปฏิบัติงานอยู่สามารถเลือกใช้วิธีการอดอาหารประท้วงที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตนเองและพัฒนาประสิทธิภาพของการอดข้าวประท้วงได้ดียิ่งขึ้น

เพื่อตอบคำถามที่ว่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า วิธีการจำแนกแยกแยะการอดข้าวประท้วง สามารถทำได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ (1.) การอดอาหารประท้วง กับ การถือศีลอดอาหารประท้วง (2.) จำแนกด้วยพลวัตอำนาจ (3.) จำแนกด้วยจำนวนของคน(4.) จำแนกด้วยเป้าหมายของการประท้วง วิธีการจำแนกแยกแยะเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน แต่เชื่อมโยงสอดคล้องกันในบางมุม การวิเคราะห์หรือวางแผนกิจกรรมการอดอาหารประท้วงที่มีประสิทธิภาพ จึงควรคำนึงถึงรูปแบบกิจกรรมด้วยการพิจารณาวิธีการจำแนกแยกแยะเหล่านี้ร่วมกันทั้งหมดให้ดีก่อน ประเด็นทั้งหมดนี้จะได้รับการขยายความให้ชัดเจนขึ้นในส่วนต่อ ๆ ไป

การอดอาหารประท้วง กับ การถือศีลอดอาหารประท้วง

ในประเด็นนี้ ข้าพเจ้าขอยกข้อความ ของ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหนังสือเรื่อง “ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุง)” มาดังนี้:

“...การอดอาหารประท้วงเป็นการอดอาหารจำเพาะประเภทที่มุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาวะทางสังคมชนิดที่ไม่พึงประสงค์บางประการ คำว่า “อดอาหารประท้วง” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษที่ต่างกันสองคำ คือ คำว่า “Hunger Strike” กับคำว่า “Fasting”

คำแรกนั้นอาจตรงกับคำว่า “อดอาหารประท้วง” ยิ่งกว่าคำหลังที่น่าจะแฝงกังวานทางศาสนา ดังนั้น น่าจะตรงกับคำว่า “ถือศีลอดอาหารประท้วง”    

จากที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่า อ.ชัยวัฒน์ ได้แยก “การอดอาหารประท้วง” ทั่วไปในทางโลก ออกจากการอดอาหารประท้วงในทางศาสนาที่เรียกว่า “การถือศีลอดอาหารประท้วง” อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอย่างมีก็จุดร่วมกันอยู่ตรงที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างตั้งใจ มากกว่าจะเป็นพิธีกรรมกิจวัตรทางศาสนา หรือเป็นการอดอาหารเพราะไม่มีจะกินอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ข้าพเจ้าเห็นว่า การแยกการอดอาหาร 2 ประเภทนี้ออกจากกันจะช่วยให้นักกิจกรรมสามารถออกแบบกิจกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าต้องการจะทำกิจกรรมรูปแบบไหน หากต้องการเน้นให้ศาสนิกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรม ก็ให้ใช้ภาษาในทางศาสนาของกลุ่มนั้น ๆ เพื่อจัดกิจกรรมการถือศีลอดอาหารประท้วง เช่น การอดอาหารประท้วงที่ระบุอยู่ในคัมภีร์พันธะสัญญาเก่า (ตัวอย่าง ของ อ.ชัยวัฒน์)[1] หรือ การอดอาหารประท้วงที่ปรากฏอยู่ในประไตรปิฎก (ตัวอย่างของ อ.ชาญณรงค์)[2] หรือบางที นักกิจกรรมอาจลองคิดถึงการให้ศาสนิกจากต่างศาสนากันมาต่อสู้ร่วมกันในประเด็นหนึ่ง ๆ ร่วมกัน ด้วยการให้ศาสนิกแต่กลุ่มได้ใช้เหตุผลศรัทธาของตัวเองเป็นเหตุผลในการต่อสู้ร่วมกันก็ได้ แต่หากต้องการเน้นให้ทุกคนเข้าร่วมอดอาหารประท้วงในทางโลกเหมือนกันในฐานะพลเมือง โดยไม่ต้องพึ่งหาเหตุผลทางศาสนาเลย ก็ให้ใช้ภาษามนุษยธรรมทั่วไปในทางโลกเพื่อจัดกิจกรรมก็ได้ ถึงเวลาแล้ว นักกิจกรรมควรจะคิดถึงการจัดรูปแบบกิจกรรมที่เปิดให้คนสามารถมาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อสู้  

จำแนกด้วยพลวัตรอำนาจ

เพื่อชี้ให้เห็นการจำแนกวิธีนี้ ข้าพเจ้าขอเท้าความไปถึงบทความที่แล้ว เกี่ยวกับทฤษฎีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงของ ยีน ชาร์ป จากทฤษฎีที่ว่านี้ เราสามารถแยกพลวัตอำนาจตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงได้ออกเป็น 4 ระดับ[3] ได้แก่ :

(1.) อำนาจระดับน้อย : อำนาจของการเปลี่ยนทรรศนะ

(2.) อำนาจระดับกลาง : อำนาจของการสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ฝ่ายตรงข้ามการโอนอ่อนตาม

(3.) อำนาจมาก : อำนาจของการบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามต้องยอมจำนน เพราะฝ่ายตรงข้ามสูญเสียอำนาจถึงขั้นที่เป็นภัยต่อการดำรงอยู่

(4.) อำนาจมากที่สุด : อำนาจของการทำให้ฝ่ายตรงข้ามแตกสลายไป กระทั่งว่าไม่สามารถที่จะยอมจำนนได้อีก (มีอำนาจมากที่สุด)                

ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าชี้ให้เห็นว่าการอดข้าวประท้วงด้วยตัวมันเองเป็นกิจกรรมที่อำนาจอยู่ในระดับน้อยถึงระดับปานกลาง ที่อำนาจน้อยก็เพราะธรรมชาติของการอดข้าวประท้วงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนทรรศนะ ด้วยการปลุกเร้าให้เกิดมโนธรรมสำนึกขึ้นในกลุ่มประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ และเนื่องจากตัวกิจกรรมไม่ได้ก่อให้เกิดสภาพบังคับ อำนาจจึงมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าหากประชาชนสนับสนุนการอดอาหารประท้วงและเข้าร่วมอดอาหารหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างกดดันให้กับรัฐบาลมากขึ้น พลวัตอำนาจก็อาจยกระดับจากการเปลี่ยนแปลงทรรศนะไปสู่การสร้างแรงกดดันให้เกิดการโอนอ่อนตาม หรือกระทั่งขยายผลยกระดับไปถึงขั้นที่สูงขึ้นได้ (แม้ว่าโอกาสของการขยายผลที่ว่านี้จะน้อยมากก็ตาม) ดังนั้น การอดอาหารประท้วงจึงสามารถจำแนกออกมาด้วยพลวัตอำนาจได้ และส่วนใหญ่แล้วอำนาจจะอยู่ที่การเปลี่ยนทรรศนะ (อำนาจน้อย) ไม่ก็สร้างแรงกดดันเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามโอนอ่อน (อำนาจปานกลาง)     

การแยกพลวัตอำนาจออกเป็นประเภทเช่นนี้จะเป็นประโยชน์กับนักกิจกรรม ตรงที่ทำให้นักกิจกรรมสามารถเลือกที่จะใช้ทรัพยากรให้ตรงจุดขึ้น เช่น ถ้าต้องการเพิ่มอำนาจของการเปลี่ยนแปลงทรรศนะ ก็อาจเน้นไปที่การทำให้ข่าวของผู้อดอาหารประท้วง สามารถมองเห็นได้ในสังคมมากขึ้น สื่อสารให้ชัดเจนขึ้น หรืออาจจะอาศัยโวหารต่าง ๆ เพื่อให้คนในสังคมมาให้ความสำคัญกับปัญหามากขึ้น แต่ถ้าต้องการเพิ่มอำนาจของการสร้างแรงกดดันทางสังคม นักกิจกรรมก็อาจคิดถึงชักชวนให้คนออกมาเข้าร่วมมากขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมนัดอดอาหารประท้วงเป็นกลุ่ม หรือ อาศัยการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นต่อฝ่ายตรงข้าม ถ้าต้องการยกระดับกระแสกดดันเพิ่มขึ้นอีก (ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นไปได้น้อยมาก) ก็จะต้องออกแบบกิจกรรมให้คนเข้าร่วมมากขึ้นและบั่นทอนอำนาจของฝ่ายเผด็จการให้มากขึ้นอีก

ทั้งนี้ ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดประท้วง หรือ การอดอาหารประท้วงตามปกติในทางโลก ก็ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างทางด้านพลวัตอำนาจด้วยตัวมันเองเสมอไป เพื่อขยายประเด็นที่ว่านี้ ข้าพเจ้าขอยกข้อความของ อ.ชัยวัฒน์ ขึ้นมาก่อน แล้วจากนั้นจะเสนอข้อโต้แย้งต่อข้อความดังกล่าว:

“คำแรก [การอดอาหารประท้วง] มีลักษณะของการอดอาหารประท้วงแกมบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในขณะที่คำหลัง [การถือศีลอดอาหารประท้วง] ออกจะเป็นการประท้วงที่มุ่งเปลี่ยนทรรศนะของฝ่ายตรงข้าม แล้วจึงค่อยอาศัยทรรศนะที่เปลี่ยนแปลงนั้นมาแปรรูปพฤติกรรมในภายหลัง

ตรงนี้เห็นจะต้องอธิบายให้ชัด

มาตรการบางประเภทนั้นเป็นไปเพื่อบังคับให้พฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนแปลงไปโดยตรง ทั้งนี้โดยไม่ใส่ใจว่าเขาจะปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือไม่ เช่น เมื่อคนงานนัดหยุดงานประท้วงนายจ้างเพื่อให้เพิ่มค่าข้างนั้น เป้าหมายอยู่ที่การให้นายจ้างขึ้นค่าจ้าง คงมีน้อยคนที่หวังว่าจะเปลี่ยนทรรศนะเรื่องการจ้างงานของนายจ้างให้แปรจากการเป็นคนเห็นแก่เงินและประโยชน์ส่วนตน มากลายเป็นคนมีเมตตาต่อคนงานได้

แต่ขณะเดียวกัน หากลูกรักร้องไห้เสียใจที่ไม่ได้เสื้อนักเรียนตัวใหม่เมื่อเปิดภาคเรียน ผู้เป็นพ่ออาจสงสารลูกจนเปลี่ยนใจจากที่เก็บเงินไว้ทำการอย่างอื่นมาเป็นซื้อเสื้อให้ลูกได้ ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าน้ำตาลูกทำให้พ่อเปลี่ยนใจจนยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ลักษณะเช่นนี้พ้องกับ Fasting ในคติของคานธียิ่งนัก[4]

               
ในข้อความตอนนี้ อ.ชัยวัฒน์ ชี้ให้เห็นว่าอำนาจของการถือศีลอดอาหารประท้วงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทรรศนะ แต่อำนาจของการอดอาหารประท้วงธรรมดาอยู่ที่การสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ฝ่ายตรงข้ามโอนอ่อนตาม ข้าพเจ้าเห็นแย้งว่า การอดอาหารประท้วง ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดอาหารประท้วง หรือ การอดอาหารประท้วงทั่วไป ก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรรศนะและสร้างแรงกดดันทางสังคมเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามโอนอ่อนตามไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะด้านหนึ่ง การอดอาหารประท้วงในทางโลกก็มุ่งที่จะให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางทรรศนะ ด้วยการปลุกเร้าให้เกิดมโนธรรมสำนึกในเชิงมนุษยธรรมขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งหลักการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น กรณีที่ ไผ่ ดาวดิน กำลังทำอยู่ก็ถือว่าเป็นการอดอาหารประท้วงในทางโลกที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรรศนะ เพราะปลุกเร้าให้เกิดมโนธรรมสำนึกจากคนได้จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ถ้าการถือศีลอดอาหารประท้วงในเชิงศาสนาเกิดขึ้นในลักษณะร่วมกันทำเป็นหมู่หรือมีคนออกสนับสนุนมากขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคมขึ้นได้เช่นกัน แม้จะเป็นจริงที่ว่าการถือศีลอดในคติทางศาสนาจะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทรรศนะมากกว่า และการอดอาหารประท้วงจะเน้นไปที่การสร้างแรงกดดันทางสังคมมากกว่า แต่ข้อเสนอที่ว่านี้ก็ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป

จำแนกด้วยจำนวนคนที่เข้าร่วม

การอดอาหารประท้วงสามารถจำแนกด้วยจำนวนคนที่เข้าร่วมออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ :

(1.)  การอดอาหารประท้วงคนเดียว เช่น กรณีของ ไผ่ ดาวดิน ในช่วงที่ผ่านมา กรณีของ ฉลาด วรฉัตร ในช่วงพฤษภาทมิฬ หรือ กรณีของคานธีในประเทศอินเดีย เป็นต้น

(2.)  การอดอาหารประท้วงรวมหมู่ ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เช่น กรณีการอดอาหารประท้วงของนักโทษชาวปาเลสไตน์จำนวนหลายร้อยคนที่ถูกทารุณกรรมในเรือนจำของอิสราเอลอย่างไม่เป็นธรรม และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนาย Bilal Kayed ซึ่งเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่เริ่มอดอาหารประท้วงในเรือนจำต่อทางการอิสราเอลเป็นเวลากว่า 54 วันจนกระทั่งเข้าโรงพยาบาล เหตุที่นาย Bilal Kayed อดอาหารประท้วงในเรือนจำ เนื่องจากเขาเป็นชาวปาเลสไตน์ที่เพิ่งพ้นโทษจำคุกของอิสราเอลเป็นเวลากว่า 14 ปีครึ่งออกมา แต่กลับถูกจับตัวเข้าไปใหม่จากคำสั่งของฝ่ายบริหารของรัฐบาลอิสราเอล[5]

(3.)  การอดอาหารที่มีคนเข้าร่วมสนับสนุนด้วยการทำกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น กรณีการต่อต้านเกณฑ์ทหารของประเทศกรีซ ซึ่งมีผู้อดอาหารประท้วงอยู่ในคุกจำนวน 2 คน แต่มีผู้สนับสนุนอยู่นอกคุกนับหมื่นคนร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านการเกณฑ์ทหารและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้อดอาหารประท้วง ด้วยการเขียนจดหมายหลายพันฉบับเข้าไปในเรือนจำ และจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต รวมไปถึง อีเวนต์ อีกจำนวนมากเพื่อสร้างแรงกดดันรัฐบาล[6]

               
การจำแนกประเภทที่ว่านี้สัมพันธ์กับพลวัตของอำนาจอย่างมาก เพราะหากผู้อดอาหารประท้วง และผู้เข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ มีจำนวนน้อย พลวัตของอำนาจจะเน้นไปที่การเปลี่ยนทรรศนะเป็นหลัก แต่ถ้าจำนวนของผู้อดอาหารประท้วงหรือผู้สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น พลวัตของอำนาจก็จะยกระดับไปเน้นที่การสร้างแรงกดดันทางสังคมเพื่อให้รัฐบาลโอนอ่อนตามได้  

การจำแนกประเภทที่ว่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักกิจกรรมให้สามารถออกแบบการต่อสู้ให้ประสิทธิภาพขึ้นได้ ถ้าหากคนที่พร้อมจะอดอาหารประท้วงมีเพียงแค่คนเดียว (เช่น กรณีของ ไผ่ ดาวดิน) เป้าหมายก็คือต้องทำให้ความอยุติธรรมที่ผู้อดอาหารประท้วงประสบพบเจออยู่เป็นที่รับรู้ในสังคมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรรศนะ ถ้าหากคนที่พร้อมจะอดอาหารประท้วงมีหลายคน ก็อาจทำให้ผู้คนในสังคมฮึกเหิมและพร้อมที่จะต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวได้มากขึ้น และในทั้งสองกรณี การหาคนจำนวนมากในสังคมเพื่อมาร่วมกันกิจกรรมรูปแบบอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมผู้อดอาหารประท้วง ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้อำนาจแรงกดดันของการอดอาหารประท้วงให้เพิ่มขึ้นได้

จำแนกด้วยเป้าหมายของการต่อสู้

การจำแนกเป้าหมายของการต่อสู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

(1.)  ระดับครัวเรือน (เล็ก) : เช่น การอดอาหารประท้วงของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ในประเทศอินเดีย และไอร์แลนด์ เป็นต้น

(2.)  ระดับกลุ่มเดียวกัน (กลาง) : เช่น การอดอาหารประท้วงของคานธีต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮินดูกับมุสลิมในประเทศอินเดีย เป็นต้น

(3.)  ระดับชาติ (ใหญ่) : เช่น การอดอาหารประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทารุณกรรมนักโทษชาวปาเลสไลน์ในประเทศอิสราเอล และการอดอาหารประท้วงเพื่อต่อต้านการเกณฑ์ทหารในประเทศกรีซ เป็นต้น    

การจำแนกเป้าหมายให้ชัดเจนว่ากำลังต่อสู้ในระดับไหน ทำให้เห็นว่าการอดอาหารประท้วงไม่จำกัดอยูเพียงการใช้กับพวกเดียวกันเอง หรือต้องอาศัย “ความรัก” อย่างที่คานธีทำอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือที่สร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นในสังคมได้หากตระเตรียมดี ๆ ความเข้าใจที่ว่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักกิจกรรมตรงที่ช่วยให้เห็นว่า ถ้าหากต้องการต่อสู้ในระดับชาติ นักกิจกรรมก็จะต้องตระเตรียมวางแผนสร้างอำนาจต่อรองของตนเองให้มาก ด้วยการทำให้ประเด็นการต่อสู้เป็นที่มองเห็นในสังคมได้อย่างกว้างขวาง และทำให้คนมาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ถ้าหากการต่อสู้เป็นระดับภายในกลุ่มด้วยกันเอง เช่น เรียกร้องให้เกิดความสามัคคีขึ้นในกลุ่ม การประท้วงก็ไม่ต้องอาศัยพลังของสื่อมวลชนหรือประชาชนสนับสนุนมากนัก

บทสรุป          

บทความนี้พยายามจะสร้างเครื่องมือการวิเคราะห์ขึ้นมาเพื่อจำแนกแยกแยะการอดอาหารประท้วงต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลก และช่วยให้เห็นชัดมากขึ้นว่าการอดอาหารประท้วงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เหมือนแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้ การแยกประเภทของการอดอาหารประท้วงยังจะเป็นประโยชน์ต่อนักกิจกรรมด้วย เพราะทำให้เห็นชัดขึ้นว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และจะพัฒนาขีดความสามารถในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคมให้มากขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นสุดท้ายที่อยากฝากเอาไว้ก็คือ การอดอาหารประท้วงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองโลก กระทั่งในปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ยังมีการอดอาหารประท้วงอยู่เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอยู่ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าปัญหาความอยุติธรรมในสังคมเรา ไม่ได้เป็นเรื่อง “ไทยแลนด์ออนลี่” เพราะหลาย ๆ ประเทศก็ยังมีเหยื่อของความอยุติธรรมในสังคมอยู่เช่นกัน ดังนั้น พวกเราจึงไม่ควรสิ้นหวัง และไม่ควรท้อแท้ว่าตนกำลังต่อสู้กับความอยุติธรรมอยู่คนเดียวบนโลกนี้  

0000

 

เชิงอรรถ

[1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่), (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ของเรา, 2557), หน้า 148-149

[2] ชาญณรงค์ บุญหนุน, ‘แด่. . .ไผ่ ดาวดิน การอดอาหารประท้วง สันติวิธีที่ผิดที่ผิดทาง ?’, ประชาไท,http://www.prachatai.com/journal/2016/08/67509, (เข้าถึง 18 สิงหาคม 2559)

[3] Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation (East Boston, The Albert Einstein Institution, 2010), p. 35

[4] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ท้าทายทางเลือก, pp. 147-148

[5] ‘Bilal Kayed threatened with forced treatment on 56th day of hunger strike’, SAMIDOUN: Palestinian Prisoner Solidarity Network, http://samidoun.net/2016/08/bilal-kayed-threatened-with-forced-treatment-on-56th-day-of-hunger-strike/ (accessed 22 August 2016)

[6] Alexia Tsouni and Mechalis Maragakis, ‘Refusing to serve in the army for reasons of conscience in Greece’, in, Özgür Heval Çınar and Cos¸kun Üsterci, ed., Conscientious Objection : Resisting Militarized Society (London and Newyork : Zed Books, 2009), p. 161

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท