โปรดฟังอีกครั้ง ปมคำถามพ่วง มติ กรธ.ไม่ให้สิทธิ์ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในงานเลี้ยงขอบคุณคณะอนุกรรมการและสื่อมวลชนที่สโมสรรัฐสภา ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า กรธ.ได้เดินมาครึ่งทางด้วยความราบรื่นแล้ว ซึ่ง กรธ. และเจ้าหน้าที่ต่างทุ่มเทกับการทำงานที่มากันด้วยมือเปล่า โดยการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เป็นการร่าง เพื่อให้รับรู้ในวงแคบๆ แต่จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ถึงผลประโยชน์กับสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ ซึ่งสื่อจะต้องช่วยกันเผยแพร่

มีชัย กล่าวอีกว่า การทำงานในช่วงแรก กรธ.ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน แต่ในขณะนั้น ตนเองไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า จะทำอะไรในอนาคต แต่ไม่ได้มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงคำถามของสื่อมวลชน เพียงแค่คิดอย่างเดียวว่าจะต้องให้ประเทศเดินหน้าต่อไปด้วยแนวคิดวิวัฒนาการแบบใหม่ๆ อาศัยคณะกรรมการผู้ทรงความคิดด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งทางหลังที่ กรธ.ต้องเดินหน้า ยังคงต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน และสิ่งที่จะทำต่อจากนี้ อาจพลิกโฉมในหลายเรื่อง ซึ่งอาจจะถูกต่อต้านพอสมควร แต่หากไม่พลิกโฉม ประเทศก็จะกลับไปสู่จุดเดิม โดยการพลิกโฉมนั้นต้องค่อยๆ รับฟัง ซึ่งขอให้วางใจได้ว่า กรธ.ไม่คิดจะเล่นการเมืองอยู่แล้ว และไม่ได้คิดเรื่องของตัวเอง แต่ กรธ. คิดถึงภาพรวมและประชาชนของประเทศเป็นส่วนใหญ่

มีชัย ยังได้ให้เหตุผลของการคงหลักการเดิมให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีว่า กรธ.เขียนตามถ้อยคำของคำถามพ่วงที่มีอยู่ ไม่สามารถเขียนเกินกว่านั้นได้

ปมคำถามพ่วง มติ กรธ.ไม่ให้สิทธิ์ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ 

วันเดียวกัน นรชิต สิงหเสนี  พร้อมด้วย อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.  เปิดเผยถึงผลการพิจารณาปรับแก้บทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติโดยระบุว่า ที่ประชุม กรธ.มีมติไม่ให้สิทธิ์สมาชิกวุฒิสภาเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด และมีการปรับแก้มาตรา 272  เพียงมาตราเดียว ให้ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก  ยังคงให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  เท่านั้น  เป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 88 และให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี    

ส่วนในกรณีที่ไม่อาจเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 88 ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีมติยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ และเมื่อได้รับการยกเว้นแล้ว ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  แล้วจึงให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป   

และสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น จะสามารถดำเนินการได้เพียงในรัฐสภาชุดแรกในระยะ 5 ปีแรก เท่านั้น ทั้งนี้ กรธ.จะนำข้อสรุปดังกล่าวไปขัดเกลา ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทยและวิทยุรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท