Skip to main content
sharethis

 

24 ธ.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ประจักษ์ชัย(สงวนนามสกุล) พร้อมพี่สาวและทนายความเดินทางมาศาลทหารตามนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่เขาตกเป็นจำเลยจากการเขียนและยื่นคำร้องถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2558 จนถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112

การพิจารณาเริ่มในเวลา 9.45 น. ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐาน ทนายความของประจักษ์ชัยได้แถลงว่าเอกสารการรักษาโรคของประจักษ์ชัยที่ได้ส่งหมายขอไปทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ยังไม่ได้ส่งมาเนื่องจากทางสถาบันกำลังรวบรวมอยู่ จึงไม่สามรถนำมาในนัดนี้ได้ ซึ่งตุลาการศาลทหารเห็นว่าเอกสารดังกล่าวสามารถนำมาสืบในการสืบพยานได้อยู่แล้วจึงไม่เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป

จากนั้นอัยการศาลทหารกรุงเทพซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคล10 ปาก ได้แก่ นายทหารผู้กล่าวหา นายทหารผู้จับกุม นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ นายทหารผู้นำตัวประจักษ์ชัยไปซักถามในชั้นกฎอัยการศึก พยานลำดับที่ 5-8 เป็นผู้ที่ออกความเห็นจากการอ่านข้อความของประจักษ์ชัย พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา พนักงานสอบสวนในคดี นอกจากนั้นยังมีพยานเอกสารอีก 13 ลำดับ

ทางฝ่ายจำเลยทนายความได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคลจำนวน 9 ปาก ได้แก่ ตัวประจักษ์ชัยเอง น้องสาวและแม่ของประจักษ์ชัย ซึ่งจะเบิกความถึงช่วงที่ได้ดูแลรักษาประจักษ์ชัยตั้งแต่เด็กและช่วงหลังเกิดเหตุ จิตแพทย์ที่ทำการรักษา พยานที่จะเบิกความเรื่องโรคและสิทธิในการรักษาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท และพยานที่จะเบิกความถึงสิทธิของผู้ป่วยโรคจิตเภทก่อนถูกนำเข้าสู่การดำเนินคดี นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่จะเบิกความในประเด็นของการพิจารณาคดีและเจตนารมณ์ของมาตรา 112 พี่สาวของประจักษ์ชัย และพยานปากสุดท้ายเป็นอดีตนายจ้างของประจักษ์ชัยที่จะเบิกความถึงช่วงที่ได้รับประจักษ์ชัยเข้าทำงานในโรงขัดเหล็ก

ตุลาการศาลทหารได้อนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบพยาน โดยพักการพิจารณาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีเวลาในการดูพยานหลักฐานของอีกฝ่าย จากนั้นภายหลังคู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูพยานหลักฐานเสร็จสิ้นได้แถลงไม่รับพยานหลักฐานของอีกฝ่าย

ทั้งนี้ทนายความได้แถลงคัดค้านการตรวจพยานหลักฐานเนื่องจากฝ่ายโจทก์ไม่นำพยานเอกสารลำดับที่ 22-23 ซึ่งเป็นคำให้การพยานในชั้นสอบสวนมาแสดงต่อศาลในนัดนี้จึงไม่สามารถตรวจได้

ภายหลังการตรวจพยานเสร็จสิ้นศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ปากแรกนายทหารผู้กล่าวหาในคดีนี้มาเบิกความต่อศาลในวันที่ 1 ธ.ค.2559

คดีนี้จิตแพทย์ได้เคยมีความเห็นสรุปได้ว่าประจักษ์ชัยวิกลจริตจริง ศาลจึงสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะสู้คดีได้และให้ประกันตัวด้วยเงินหนึ่งแสนบาท จากนั้นเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 จิตแพทย์ได้ให้การต่อศาลในนัดประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของจำเลยว่าอาการดีขึ้นแล้วสามารถสู้คดีได้

สำหรับประวัติของประจักษ์ชัย ศูนย์ทนายฯ รายงานไว้ว่า คดีนี้เริ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 ประมาณ 10.00น. จากคำบอกเล่าของประจักษ์ชัย เขาเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยติดต่อตำรวจที่ป้อมยามหน้าประตูทำเนียบ ตำรวจให้เขาข้ามถนนไปร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียนในสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) ทหารที่อยู่หน้าทางเข้าได้ยื่นกระดาษให้ 1 แผ่นพร้อมปากกา เขาได้เขียนข้อความร้องเรียนของเขาลงไปในกระดาษแผ่นนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ได้อ่านข้อความ ตำรวจ 10 กว่านายกรูเข้าล้อมตัวเขาและนำตัวไป สน.ดุสิต

เมื่อถึงที่หมายประจักษ์ชัยถูกพาขึ้น “ห้องสายสืบ” ราว 20 นาที แล้วเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวไป เขาจึงไปเที่ยวงานตรุษจีนที่ลาดพร้าวแล้วจึงเดินทางไปทำงานต่อที่ย่านบางบอนตอนเวลาประมาณทุ่มสองทุ่ม แต่ในขณะเดินทางด้วยรถสองแถวเข้าที่ทำงานแถววัดหัวกระบือก็มีตำรวจมาดักรอจับและเรียกให้ลงจากรถแล้วควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1

ที่เขาถูกถ่ายภาพทำประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือและสอบสวนและเขาได้ให้การว่าเป็นคนทำในการสอบสวน สารวัตรสอบสวนยศพันตำรวจตรี พูดว่า “ไม่เกิน 2 เดือนยกฟ้อง” และตำรวจได้ถามว่า “ได้ความคิดนี้มาจากไหน” แต่ ประจักษ์ชัยเพียงแค่บอกว่า “เพราะกระดาษแผ่นเดียว” ระหว่างการสอบสวนเขาไม่มีทนายความร่วมฟังการสอบสวนจนเวลาประมาณ 23.00น. เขาถูกส่งตัวไปขังที่สน.ดุสิต เบ็ดเสร็จในวันเดียวเขาถูกจับถึงสองครั้ง

ประจักษ์ชัยเล่าว่าเคยมาร้องเรียนแบบนี้ตั้งแต่ปี 2537 รวมแล้วน่าจะเกิน 10 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะร้องเรียนปากเปล่าไม่เคยเขียนลงกระดาษมีครั้งนี้ที่เขียน ที่ผ่านมาไม่เคยถูกจับดำเนินคดี ที่ทำแบบนี้เพราะอยากพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรม เขาเห็นว่า “สมบัติทุกอย่างเป็นของประชาชน” เขาไม่เคยทำความผิดอาญา และไม่มีสีทั้งเหลืองทั้งแดง

แม่ซึ่งเป็นผู้ดูแลประจักษ์ชัยมาตลอดเล่าว่าตอนประจักษ์ชัยอายุ 18-19 ปี แสดงออกถึงอาการทางจิตและเสพยาเสพติดทำให้อาการของโรคหนักขึ้น จึงส่งตัวตรวจที่โรงพยาบาลศรีสะเกษด้วย แต่ว่าทางโรงพยาบาลได้ขอยาจากทางโรงพยาบาลจิตเวชในจังหวัดอุบลราชธานี แต่ประจักษ์ชัยกินยาได้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ไม่ได้กินอีกเลย

น้องสาวของประจักษ์ชัยเล่าว่าตั้งแต่เธอเริ่มรู้ความ พี่ชายก็มีอาการทางจิตแล้วตั้งแต่ในวัยเด็กแต่เริ่มสงบขึ้นเมื่อตอนอายุ 20 ปลายๆ อาการที่เธอเคยเห็นมีทั้ง ตะโกนเสียงดังด้วยคำที่ไม่มีความหมาย หัวเราะหรือพูดคนเดียว แต่ปกติไม่เคยทำร้ายใครและสามารถทำงานได้ก่อนถูกจับก็เป็นช่างเจียร์ในโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางขุนเทียนและคำนวนเลขได้เพราะเคยเรียนจนถึงชั้นประถม6

นอกจากอาการทางจิตแล้วประจักษ์ชัยยังมีอาการท้องบวมจากโรคตับแข็งจากการดื่มสุราและตับอักเสบเป็นมา 3 ปีแล้ว แต่เรื่องนี้เจ้าตัวไม่ยอมรับว่าติดเหล้าแค่ “กินเหล้าขาวเยอะ”

ระหว่างที่ประจักษ์ชัยถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อการฝากขังมาถึงผัดที่4 ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังของพนักงานสอบสวนต่อศาลทหารโดยให้เหตุผลเกี่ยวกับอาการป่วยไข้ของประจักษ์ชัยซึ่งมีทั้งโรคตับที่อาการขอโรคปรากฎให้เห็นทั้งท้องบวมจากน้ำคั่งในท้องและมีเนื้องอกที่สะดือ ตัวเหลืองตาเหลือง

นอกจากนั้นยังมีอาการทางจิต ซึ่งจำเป็นต้องตรวจรักษาประจักษ์ชัย หากยังควบคุมตัวต่อจะกระทบสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอาการป่วยทางกายและทางจิตของประจักษ์ชัยได้ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทางครอบครัวของประจักษ์ชัยเองก็ไม่สามารถจะยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวเขาออกมาได้เนื่องจากมีฐานะยากจน เขาจึงอยู่ในเรือนจำมาตลอด

ในระหว่างที่การสอบสวนของตำรวจยังไม่เสร็จสิ้นทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตและให้พนักงานสอบสวนทำการส่งตัวประจักษ์ชัยได้รับการตรวจความผิดปกติทางจิต ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 14 แต่พนักงานสอบสวนอ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจให้ยื่นคำร้องต่อศาล และทนายความก็ได้ยื่นถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพแต่ก็ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน

เมื่อเป็นดังนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ภายหลังอัยการทหารสั่งฟ้องคดีของประจักษ์ชัยและคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลทหาร ทนายความจึงดำเนินการยื่นคำร้องถึงศาลทหารเรื่อง ขอให้ส่งตัวประจักษ์ชัยตรวจรักษาอาการทางจิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 โดยให้เหตุผลว่าจากการที่ทนายได้เข้าพบประจักษ์ชัยและข้อเท็จจริงจากญาติพบว่าประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตที่สามารถเห็นจากอาการภายนอกได้และ ญาติได้ให้ข้อมูลว่าเขามีอาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งศาลได้พิจารณาส่งตัวประจักษ์ชัยตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ฯ และได้รับการตรวจครั้งแรกเมื่อ 6 ก.ค. ซึ่งนำมาสู่การไต่สวนรายงานในครั้งนี้

หลังจากที่ประจักษ์ชัยได้รับการปล่อยตัวแล้วระหว่างนี้เขายังต้องอยู่ในการดูแลของญาติให้ได้รับการรักษาอาการทางจิตไปพร้อมโรคตับแข็ง และแพทย์ของสถาบันกัลยาณ์ฯ จะต้องรายงานผลทุก 180 วัน ต่อศาลตั้งแต่วันที่รับตัวรักษาจนกว่าประจักษ์ชัยมีอาการทางจิตดีขึ้นจนสามารถต่อสู้คดีได้ ศาลทหารจึงนำคดีกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net