Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


                                      
           
บทความนี้แปล เรียบเรียงจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ 25 years on: The failed coup that ended the Soviet Union ซึ่งถูกเผยแพร่โดยแบ่งเป็น 2 ตอน ในเว็บไซต์สำนักข่าว RT ของรัสเซีย 
      
คณะผู้ก่อการซึ่งพยายามยึดอำนาจสหภาพโซเวียต ระหว่างวันที่ 18 ถึง 21 สิงหาคม ปี 1991 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มทำรัฐประหารที่ไร้ประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์  ไม่เพียงแต่พวกเขาล้มเหลวในการยึดอำนาจ แต่ยังนำไปสู่ผลตรงกันข้ามกับเป้าหมายนั่นคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
    
การทำรัฐประหารเกิดขึ้นจากสนธิสัญญาการรวมตัวเป็นสหภาพครั้งใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายและยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของผู้นำโซเวียต คือ มิกคาอิล กอร์บาชอฟ เพื่อที่จะรักษาสหภาพโซเวียตไว้  สภาพเช่นนี้อยู่ท่ามกลางการล่มสลายที่ยากเกินเยียวยาของเศรษฐกิจที่อิงกับรัฐเป็นหลัก และยังถูกฉีกเป็นเสี่ยงๆ โดยชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ซึ่งเริ่มแสดงท่าทีชาตินิยมขึ้นเรื่อยๆ
     
จากการที่สาธารณรัฐลูกของโซเวียต 6 แห่ง นำโดยรัฐย่านทะเลบอลติก แทบจะแยกตัวออกไปเมื่อปีก่อน และนายบอริส เยลต์ซิน ผู้อหังการ์ได้ข่มขู่จะโค่นกอร์บาชอฟในกรุงมอสโคว์  นักอุดมคติเปเรสตอยกา (นโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ –ผู้แปล) พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มสมาชิก 9 รัฐที่เหลือ ให้เป็นสมาพันธ์แห่งรัฐอิสระแบบใหม่ซึ่งมีลักษณะรวมตัวแบบหลวมๆ กว่าเดิม
      
“ผมคิดว่าความไร้เสถียรภาพอันเลวร้ายที่สุดได้จากพวกเราไปแล้วในตอนนี้” กอร์บาชอฟ กล่าวในช่วงก่อนหน้าการจัดงานระลึกถึงการทำรัฐประหารที่ล้มเหลว และยืนยันว่าเขายังไม่มีความเสียใจเกี่ยวกับแผนการของตัวเอง “จะมีความลำบากในอนาคตข้างหน้า แต่ไม่มีอะไรที่จะเท่ากับความทุกข์ยากลำบากอันเกิดจากการปฏิรูปประเทศซึ่งมีขึ้นภายหลังจากประเทศได้แตกเป็นเสี่ยงๆ ไปแล้ว

แต่ในขณะกอร์บาชอฟวาดแผนที่ใหม่ซึ่งในอนาคตเป็นได้เพียงสิ่งแปลกใหม่ทางประวัติศาสตร์เท่านั้น ศัตรูหัวรุนแรงของเขามองภาพอีกมุมหนึ่งว่าเขาเพียงแค่กำลังปูทางไปสู่การล่มสลายของประเทศ ไม่ใช่การประนีประนอมตามที่เขาตั้งใจไว้
         
“สนธิสัญญาดังกล่าวเท่ากับการก่อกบฏ” วาซิลี สตาโรดับต์เซฟ หนึ่งในผู้ก่อการกล่าวห้วนๆ ในช่วงการสัมภาษณ์หลายปีหลังจากนั้น ภายหลังจากการถกเถียงกันเรื่องสนธิสัญญาสหภาพใหม่ได้รับการสรุปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม  กอร์บาชอฟก็เดินทางไปพักผ่อนที่บ้านพักตากอากาศในเมืองโฟรอส ที่แหลมไครเมีย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโคว์ไปหลายพันไมล์
       
คนซึ่งเขาได้มอบหมายให้รับผิดชอบในรัฐบาลนั้นไม่ใช่เพื่อน ๆ ของเขา เป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า ความพยายามของกอร์บาชอฟที่จะซื้อใจคนเหล่านั้น โดยการมอบตำแหน่งให้ กลับนำไปสู่คณะรัฐมนตรีเนรคุณ     ซึ่งจ้องจะเลื่อยขาเก้าอี้เขา
         
ก่อนหน้านี้ก็เป็นกลุ่มกระจอกๆ ของพวกหัวปฏิกิริยา(พวกปฏิเสธแนวคิดใหม่ๆ -ผู้แปล) อยู่แล้ว รัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มต้นช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดของนโยบายเปเรสตอยกา นั่นคืออยู่ในจุดเชื่อมต่อระหว่างเศรษฐกิจที่กำหนดจากส่วนกลางและที่ถูกกำหนดโดยตลาด ซึ่งทำให้ชั้นวางสินค้าในร้านค้าว่างเปล่าและประเทศกำลังใกล้จะล่มจม  พวกเขาเกือบทั้งหมดเป็นผู้ภักดีต่อพรรค ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องสูญเสียตำแหน่งในลำดับขั้นต่อไปของการปฏิรูปประชาธิปไตยของกอร์บาชอฟและเยลต์ซิน และพวกเขาก็รู้เรื่องนี้
        
“ระบบราชการของโซเวียตทั้งหมด กระทรวงต่างๆ และคณะรัฐมนตรี ไม่มีใครจำเป็น ภายหลังสนธิสัญญาสหภาพใหม่เลย  ผู้ก่อการต่างเกิดความกลัว” เยลต์ซิน กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการทำรัฐประหาร
     
นักเสแสร้งทั้งหลายก็ไม่ได้ถึงขั้นขาดการเตรียมความพร้อมเสียทั้งหมด หน่วยเคจีบีวางแผนสำหรับภาวะฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบหน่วยพิเศษของกองทัพถูกสั่งให้เตรียมพร้อม และโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อการเองถูกดักฟัง
     
ในวันที่ 18 สิงหาคม โทรศัพท์ทั้งหมดในที่พักของกอร์บาชอฟ รวมไปถึงเครื่องที่ใช้ควบคุมหัวรบนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตก็ถูกตัดอย่างฉับพลัน ขณะที่กอร์บาชอฟยังไม่ทันรู้ตัว หน่วยเคจีบีได้ล้อมรอบบ้านของเขา ในอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ตัวแทนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางมายังที่พักและเดินผ่านครอบครัวของกอร์บาชอฟมายังห้องทำงานของเขา กระเป๋าของพวกเขามีเอกสารชุดหนึ่งเพื่อให้ท่านผู้นำได้ลงนาม ตามฉากๆ หนึ่งที่วางไว้ เขาเพียงแต่จะประกาศภาวะฉุกเฉินและเข้าควบคุมสาธารณรัฐซึ่งพยายามแยกตัว และอีกฉากหนึ่งคือเขาจะมอบอำนาจให้กับรองของตนคือเกนนาดี ยาเนฟ โดยอ้างถึงปัญหาสุขภาพ
        
ด้วยความกริ้วสุดหัวใจต่อการทรยศของลูกน้อง ผู้นำโซเวียตได้ประณามพวกเขาว่าเป็น “พวกฉวยโอกาส” และปฏิเสธจะลงนามในเอกสารใดๆ แล้วยังกล่าวว่าเขาจะไม่ยอมให้มือของตนเปื้อนเลือดเป็นอันขาด  จากนั้นเขาก็ได้ไล่คนเหล่านั้นออกจากบ้านพร้อมคำด่าทอยาวเหยียด ซึ่งถูกระลึกถึงอย่างชัดเจนไปทั่วในบันทึกช่วยจำของพวกเขา โดยกอร์บาชอฟได้เรียกพวกผู้ก่อการว่าเป็น “กลุ่มไอ้งั่ง”
         
พวกผู้ก่อการต่างไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการพลิกผันของเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อกลับมารวมกลุ่มที่กรุงมอสโคว์อีกครั้ง พวกเขาก็นั่งมองไปยังพระราชกำหนดฉุกเฉินซึ่งไม่มีลายมือชื่อ และยังถกเถียงกัน โดยไม่มีใครกล้าลงนามของตัวเองลงในเอกสารที่มาจากเครื่องพิมพ์ดีดฉบับนี้ ภายหลังจากถกเถียงกันเป็นชั่วโมงๆ ทางกลุ่มจึงสามารถชักจูงยาเนฟ ในการลงนามเป็นคนแรกของกลุ่ม “แก๊งค์ 8 คน” จะเป็นที่รู้จักกันนาม “คณะกรรมการของรัฐต่อภาวะฉุกเฉิน  (GKChP)”
      
มีการออกคำสั่ง และในเช้าของวันที่ 19 สิงหาคม รถถังออกมาแล่นในกรุงมอสโคว์ ในขณะที่ข่าวนำเสนอว่าไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น และตรงจุดนี้ก็ไม่ใช่แล้ว คณะรัฐประหารได้ทำให้ดูราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างผิดปกติไปหมด  ไม่ใช่เฉพาะทหารออกมาอยู่บนท้องถนน แต่สถานีโทรทัศน์ทั้งหมดถูกระงับการถ่ายทอดรายการพร้อมกับเพลง “Swan Lake” ของไชคอฟสกี ถูกบรรเลงซ้ำไปซ้ำมา ในเวลา 4 โมงเย็น สื่อมวลชนนอกสังกัดของรัฐก็ถูกยุบโดยพระราชกำหนด
       
เยลต์ซิน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาธารณรัฐลูกของสหภาพโซเวียตได้มาถึงกรุงมอสโคว์ภายหลังจากการพูดคุยกับประธานาธิบดีคาซักสถาน ก่อนหน้านี้  แต่เมื่อลูกสาวปลุกเขาพร้อมกับข่าวถึงตารางการถ่ายทอดของโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่แปลกไป เขาก็รีบออกแขกโดยบึ่งรถยนต์ตรงไปยังใจกลางกรุงมอสโคว์ หน่วยพลรบพิเศษซึ่งผู้ก่อการสั่งให้ล้อมรอบดาชา (บ้านพักที่ชนบท) ของเขาได้รับคำสั่งไม่ให้ยิงหรือคุมขังเขาไว้(เป็นไปได้ว่าผู้เขียนหมายความว่าหน่วยทหารเหล่านั้นมาภายหลังจากเยลต์ซินตื่นนอน –ผู้แปล)
      
ผู้สนับสนุนเยลต์ซินในตอนแรกได้รวมตัวกันเพียงไม่กี่ร้อยหลา จากกำแพงของพระราชวังเครมลิน และก็ได้รับคำสั่งให้เดินผ่านตัวเมืองซึ่งว่างเปล่าไปยังอาคารของทำเนียบขาวซึ่งเป็นแหล่งของรัฐสภารัสเซียหัวขบถ ณ ที่นั่น ในช่วงเวลาอันสำคัญ ขณะที่ฝูงชน (ซึ่งเช้าตรู่อย่างนี้มีความเบาบางกว่าที่ตำนานเล่าขานกัน) ได้ตะโกนเรียกชื่อของเขาอย่างกึกก้อง เยลต์ซินปีนขึ้นไปบนรถถังซึ่งยึดคืนจากกองกำลังของรัฐบาลและประกาศพร้อมเสียงอันดังโดยปราศจากไมโครโฟน ในการประณามเหตุการณ์ในหลายชั่วโมงที่ผ่านมาว่าเป็น “การทำรัฐประหารของพวกปฏิกิริยา”
      
ในอีกหลายชั่วโมงต่อมา ประชาชนจากทั่วกรุงมอสโคว์ก็มาถึง ในขณะที่ฝูงชนเพิ่มจำนวนขึ้นไปถึง 70,000 คน โซ่มนุษย์ได้เข้าล้อมรอบตึกและอาสาสมัครเริ่มต้นสร้างเครื่องกีดขวางจากรถโดยสารไฟฟ้าและม้านั่งจากสวนสาธารณะใกล้ๆ  แม้จะดูเหมือนเป็นแค่สัญลักษณ์ ในไม่ช้าบุรุษในเครื่องแบบได้เริ่มแสดงความเป็นกลางโดยการเข้าไปปะปนตามใจชอบกับกลุ่มผู้ประท้วง ผู้บัญชาการกองกำลังพลร่มซึ่งสำคัญยิ่งคือพาเวล เกรชอฟได้เข้ามาสวามิภักดิ์กับเยลต์ซินในวันต่อมา และในภายหลังก็ได้รับรางวัลคือตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
      
“ช่วง 2 วันแรกนั้นน่ากลัวมากครับ พวกเราต่างระดมทีมยังจุดสำคัญรอบเมืองเพื่อสนับสนุนเยลต์ซิน แต่พวกเราก็ไม่รู้ว่ากองกำลังของฝ่ายรัฐประหารจะระดมยิงมาหรือไม่ บรรยากาศแห่งความรุนแรงกระจายไปทั่ว” เกรชอฟเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนนายกเทศมนตรีของกรุงมอสโคว์ คือ ยูรี ลุชคอฟ ก็ยังสนับสนุนเยลต์ซิน   
    
ด้วยการตระหนักว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนนั้นไม่ก่อให้เกิดผลเลย และพวกเขากำลังสูญเสียโอกาส พวกผู้ก่อการก็ได้เปลี่ยนไปสุดโต่งอีกด้านโดยจัดการพบปะกับสื่อมวลชนผ่านการถ่ายทอดสดอย่างเปิดเผย พวกเขานั่งเรียงแถวหน้ากระดาน เหล่าบุรุษหน้าซีดเผือดไร้นามทั้งหลายดูเป็นคณะยึดอำนาจกันทุกกระเบียดนิ้ว ในขณะที่ยาเนฟเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง  เขาไม่เคยเป็นมันสมองที่แท้จริงของการทำรัฐประหารซึ่งความจริงแล้วถูกวางแผนโดย วลาดิมีร์  ครียูชคอฟ หัวหน้าของหน่วยเคจีบี ผู้ซึ่งตามสัญชาติญาณแห่งการเป็นหน่วยข่าวกรองจะไม่ต้องการเป็นจุดศูนย์กลาง อนึ่งยาเนฟดูเหมือนไม่เหมาะจะเป็นรักษาการประธานาธิบดีเลย เสียงของเขาดูอ่อนล้าและขาดความเชื่อมั่น มือของเขาสั่น อันเป็นภาพอันตราตรึงอีกภาพหนึ่งของเหตุการณ์เดือนสิงหาคม ปี 1991
         
ภายหลังจากกลุ่มผู้นำใหม่ได้กล่าวคำปราศรัยไปแล้ว พวกเขาก็เปิดโอกาสให้บรรดาสื่อซึ่งแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์โดยพลันได้ซักถาม ซึ่งคนเหล่านั้นอ้างอิงคำพูดของเยลต์ซินอย่างเปิดเผยในการถ่ายทอดสดทั่วประเทศเพื่อกล่าวหาว่าพวกเขาโค่นล้มรัฐบาลตามทำนองคลองธรรม
       
จากการอ้างอิงถึงกอร์บาชอฟในฐานะ “เพื่อนของข้าพเจ้า มิคาอิล เซอร์กีอีวิช” ยาเนฟ ได้พูดเสียงเรียบๆ  ว่าประธานาธิบดีนั้น “กำลังพักผ่อนและอยู่ในช่วงวันหยุดที่แหลมไครเมีย เขาดูเหนื่อยล้าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาและต้องการเวลาในการพักฟื้นสุขภาพบ้าง”  พร้อมด้วยเหล่ารถถังอยู่ข้างนอก กระบวนการเช่นนี้ได้เสื่อมถอยไปเป็นตลกโง่ๆ ต่อหน้าคนทั้งประเทศ  จากการพบปะสื่ออันไม่ประสบความสำเร็จในการชักจูงผู้อยู่ภายนอกทำเนียบขาว  กลุ่มผู้ก่อการก็ได้ตัดสินใจในการใช้กำลังในเย็นของวันที่ 20 สิงหาคม
     
“พวกเราได้รับแจ้งโดยผู้แปรพักตร์ว่าหน่วยรบพิเศษหรือหน่วยอัลฟาซึ่งได้รับคำสั่งให้เข้ามาโจมตีในทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง พวกเขาก็ได้คุกคามพวกทหารว่าจะจับขึ้นศาลทหารและพบกับเรื่องเลวร้ายกว่านั้น   แต่ปฏิบัติการณ์ซึ่งจะเริ่มต้นในเวลา 6 โมงเย็นก็กลายเป็น 8 โมง แล้ว 10 โมง แล้วก็ตี 1 ตี 3 และพวกเขาก็รู้ว่ามันสายไปแล้ว” ปูตินได้กล่าวถึงภายหลังจากนั้นไม่นาน “มีคนมาชุมนุมมากเกินไป แต่แล้วก็มีคำสั่งมายังพวกทหารอีกว่าให้พวกเขา “กวาดล้าง” จริงๆ ต่อประชาชนซึ่งยืนล้อมรอบทำเนียบขาว
       
ขณะฝูงชนปฏิเสธจะไม่ละทิ้งทำนบข้างแม่น้ำนอกตึกซึ่งเยลต์ซินยึดครองอยู่ กลุ่มนักดนตรีเพลงร็อคก็ได้นำเครื่องแอมป์ขยายเสียงและลำโพงมาวางไว้บนรถบรรทุกและแห่ไปทั่วถนนเล็กๆ ของกรุงมอสโคว์ จากนั้นก็เปลี่ยนตึกซึ่งถูกยึดไว้เป็นเวทีคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่เปี่ยมด้วยความมันในอารมณ์
       
“พวกเราหวาดกลัวเกินกว่าจะเปิดเสียงดังเกินขนาด เพราะเราคิดว่าอาจกลบเสียงพวกหน่วยพิเศษที่กำลังบุกเข้ามาฆ่าพวกเรา แต่แล้วพวกเราก็สามารถทำเช่นนั้นจนได้” รุสลัน มิโรชนิก หนึ่งในผู้จัดงานดนตรีร็อคอันลือชื่อกล่าวถึงคอนเสิร์ตแห่งการปกป้องทำเนียบขาวครั้งนั้น
       
ผู้ก่อการได้สูญเสียการสนับสนุนอย่างรวดเร็วจากกองทัพ ในขณะที่ทหารหน่วยแล้วหน่วยเล่าปฏิเสธจะต่อสู้กับประชาชนของตัวเองและเข้าร่วมกับกลุ่มสนับสนุนเยลต์ซิน แต่ก็ยังมีความรุนแรงไปทั่วเมืองหลวงของโซเวียตซึ่งนำไปสู่ความตายของนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารคือ ดมิตรี โคมาร์, อิลยา คริเชฟซี และวลาดิมีร์   อูซอฟซึ่งทั้งหมดปราศจากอาวุธได้เสียชีวิตในขณะพยายามหยุดยั้งหน่วยยานเกราะไม่ให้เข้าไปถึงกองบัญชาการของเยลต์ซินในทำเนียบขาว
        
ไม่มีภาพชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น กองทัพบอกว่าความตายของคนเหล่านั้นบนทางรอดใต้อุโมงค์เป็นเรื่องอุบัติเหตุ แต่พยานอ้างว่ากองทัพตั้งใจยิงและขับรถชนผู้ประท้วง โคมาร์ อายุ 22 ปี คริเชฟซี อายุ 28 ปี และ อูซอฟ อายุ 37 ปี ได้กลายเป็นวีรชนของการปฏิวัติประชาธิปไตยซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานศพหลายพันคน  พวกเขาได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต” ซึ่งเป็นเกียรติสูงสุดของประเทศ
      
มาบัดนี้แล้วชะตากรรมของรัฐประหารได้ปรากฏอย่างชัดเจน อนึ่งในขณะเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นที่สุดในรัสเซียนับตั้งแต่ปี 1917 กำลังดำเนินไปในกรุงมอสโคว์ กอร์บาชอฟอยู่ที่บ้านพักตากอากาศเฝ้ามองข่าวจากโทรทัศน์พร้อมครอบครัว ในคืนแรกของการทำรัฐประหาร เขาภายใต้เสื้อสเวตเตอร์ถักได้บันทึกคำปราศรัยซึ่งฟังดูแปลกๆ ผ่านกล้องถ่ายวีดีโอแบบครอบครัว โดยกล่าวว่าเขากำลังถูกปลดจากตำแหน่ง
     
เขาไม่ได้ดูเหมือนจะพยายามนำวีดีโอออกจากเมืองโฟรอส และเมื่อมันถูกถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในอาทิตย์ต่อมา ก็นำไปสู่ปฏิกิริยาอันหลากหลายจากประชาชน ตั้งแต่ล้อเลียนจนไปถึงตั้งข้อสงสัยว่าเขาแอบสมคบคิดกับผู้ก่อการ หรืออย่างน้อยก็รอให้การแย่งชิงอำนาจในกรุงมอสโคว์จบสิ้นไป กอร์บาชอฟดูเหมือนจะไม่ใช่เช่นนั้นแต่เขาก็ไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นเหมือนเยลต์ซินซึ่งออกมากล่าวคำปราศรัยแก่ฝูงชนครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่กระสุนเพียงนัดเดียวจากพลแม่นปืนของรัฐบาลก็สามารถปลิดชีพเขาได้          
    
“มันเหมือนอยู่ในเกม” เยลต์ซินผู้เคยเป็นนักเล่นวอลเลย์บอลในวัยเยาว์กล่าวอธิบายว่าเขาและผู้ปกป้องทำเนียบขาวรู้สึกอย่างไรในช่วงเวลานั้น “ เพื่อให้ได้ชัยชนะ คุณต้องคิดว่าคุณจะสามารถเอาชนะได้อย่างไร  ไม่ใช่ว่าคุณจะสามารถหลีกเลี่ยงการแพ้อย่างไร”
     
ในเย็นวันที่ 21 สิงหาคม ขณะที่รัฐประหารแสดงท่าทีล้มเหลวอย่างชัดเจน เครื่องบิน 2 ลำออกบินจากกรุงมอสโคว์ไปยังแหลมไครเมียในเวลาเกือบจะพร้อมๆ กัน ลำแรกเป็นของทีมผู้ก่อการซึ่งกำลังซักซ้อมในการแสดงท่าทางสำนึกผิด  และอีกลำบรรทุกทีมงานของเยลต์ซิน พร้อมพลรบสวมชุดเกราะที่ไปช่วยเหลือกอร์บาชอฟ ผู้ซึ่งทั้งหมดเท่าที่พวกเขารู้ว่าอาจอยู่ในอันตราย เมื่อทีมผู้ก่อการมาถึงเมืองโฟรอส กอร์บาชอฟปฏิเสธจะต้อนรับพวกเขาและเรียกร้องให้ได้ช่องทางการสื่อสารกลับมา ต่อมาเขาจึงได้โทรศัพท์ไปยังกรุงมอสโคว์ กรุงวอชิงตัน และกรุงปารีส ในการประกาศให้พระราชกำหนดของทีมผู้ก่อการเป็นโมฆะและกล่าวย้ำประโยคเดิมๆ คือ “ผมได้ควบคุมสถานการณ์ไว้แล้ว”
      
แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น พฤติกรรมของกอร์บาชอฟในระยะเวลา 3 วันแห่งการทำรัฐประหารถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แทนบทบาทของเขาในการเมืองของรัสเซียเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถึงแม้ฝ่ายผู้ก่อการจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่การถ่ายอำนาจกลับมาก็ไม่เกิดขึ้น และกอร์บาชอฟก็ยังพ่ายแพ้อยู่ เป็นเวลา 3 วัน ไม่มีใครยอมปฏิบัติตามอำนาจอย่างเป็นทางการของเขาและโลกก็ไม่ได้ล่มสลาย ดังนั้นจึงไม่มีความต้องการการแก้ไขสถานการณ์อย่างยืดยาวของเขาอีกต่อไป
        
กอร์บาชอฟเดินลงตามบันไดจากเครื่องบินซึ่งลงจอดในกรุงมอสโคว์และกระพริบตาต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ทั้งหลาย เขากลายเป็นบุคคลซึ่งไม่มีบทบาทอะไรเหลือจะให้เล่นอีกแล้ว เขาได้นัดสื่อมวลชนเพื่อให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของพรรคคอมมิวนิสต์รวมไปถึงการโยกย้ายตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐบาลในอนาคต ทั้งหมดฟังดูไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเลย
        
2 วันต่อมา เยลต์ซินกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ เขาประกาศอย่างเป็นทางการในการจับกุมสมาชิกแก็งค์ 8 คนและสั่งห้ามกิจกรรมในสาธารณะของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการปรบมืออย่างดีใจจากประชาชน เขาไม่ต้องการให้กอร์บาชอฟดำเนินการต่อไปอย่างเงียบๆ ในการแสดงท่าทีความเหนือกว่า เยลต์ซินได้ข่มเขาโดยการยื่นแฟ้มเอกสารแสดงลายละเอียดการประชุมโดยรัฐบาลของเขาในเช้าวันทำรัฐประหารซึ่งกอร์บาชอฟยังไม่ทันได้เห็น และพูดย้ำประโยค “อ่านมันดังๆ!”  ผู้นำคนใหม่ได้กล่าวว่ากอร์บาชอฟนั้นมีความรับผิดชอบสำหรับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและต้องรับผิดชอบสำหรับการทุจริตคอรัปชั่นรวมไปถึงการทำรัฐประหารที่ล้มเหลว แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีอะไรถูกเขียนบนกระดาษเหล่านั้น เยลต์ซินกำลังกลั่นแกล้งเจ้านายของเขาบนเวที ซึ่งเป็นการเอาคืนอย่างแนบเนียนจากการที่เขาถูกเล่นงานต่อหน้าสาธารณชนโดยเจ้านายเมื่อก่อนหน้านี้ และกอร์บาชอฟผู้น่าสงสารก็ได้แต่เห็นด้วย
        
อีกหลายเดือนต่อมา การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองยังคุกรุ่นอยู่ ขณะที่กอร์บาชอฟพยายามจะยืนยันแผนของเขาในการสร้างสหภาพบางส่วนขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นหัวอนุรักษ์นิยมและบรรดาสาธารณรัฐซึ่งเฉื่อยชา   แต่นี่ได้เพียงแต่บีบให้เยลต์ซินและประธานาธิบดีจากยูเครนกับเบลารุสขอแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและในวันที่ 8 ธันวาคม พวกเขาประกาศการล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสาธารณรัฐอื่นๆ ในวันต่อมา กอร์บาชอฟได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่  25 ธันวาคม ปี 1991
      
ประเทศรัสเซียใหม่ได้อุบัติขึ้น แม้จนถึงบัดนี้กอร์บาชอฟยังคงยืนยันว่าสหภาพโซเวียตจะยังคงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน หากรัฐประหารไม่บังเกิดขึ้น มันก็ไม่ได้เปลี่ยนชะตากรรมของการล่มสลายของประเทศซึ่งมีท่าทีอย่างชัดเจนก่อนหน้านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี กระนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1991 ในความทะเยอทะยานอย่างสุดๆ เยลต์ซินก็ไม่อาจนึกฝันได้ว่าอีก 4 เดือนต่อมา เขาจะกลายเป็นผู้นำคนเดียวของประเทศใหม่แห่งนี้      
      
แต่แล้วเกียรติยศของการปฏิวัติก็ได้เริ่มจางหายไป ผู้ก่อการเดือนสิงหาคมได้ถูกปล่อยตัวไปเพียงแค่ไม่ถึง 18 เดือนต่อมา และการคร่ำครวญถึงความยิ่งใหญ่ของโซเวียตของพวกเขาได้ถูกถ่ายทอดอย่างเปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์เป็นจำนวนมาก ตอบรับกับความวิตกของชาวรัสเซียซึ่งหูตาสว่างเป็นล้านๆ  ตัวของเยลต์ซินเองในไม่ช้าก็พบกับการเสื่อมความนิยมในตัวเขาซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการปะทะกันที่มีทำเนียบขาวเป็นเวทีอีกครั้งหนึ่ง โดยเขายืนอยู่อีกฝ่ายหนึ่งในขณะที่รัฐสภาหัวขบถพยายามจะยึดอำนาจเขา (เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1993 ดังที่เรียกว่าวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ –ผู้แปล)
      
ไม่มีการระลึกถึงการป้องกันทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการในปัจจุบันนี้ แต่ไม่ว่าประชาชนจะมองประเทศรัสเซียใหม่อย่างไร ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของมันเริ่มต้นที่นั่นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ปี 1991 ที่ประชาชนกล้าท้าทายรถถัง          
.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net