มุมมองด้านศาสนาและอัตลักษณ์ชาติ กรณีฝรั่งเศสแบนชุดว่ายน้ำมุสลิม

ในฝรั่งเศสมีการแบนชุดว่ายน้ำสตรีชาวมุสลิม 'เบอร์กินี' ทำให้เกิดข้อวิเคราะห์วิจารณ์ไปหลายแง่มุม นอกจากประเด็นศาสนาแล้ว ยังมีนักวิชาการมองว่าฝรั่งเศสกำลังพยายามบีบเค้นให้ชาวมุสลิมในฝรั่งเศสยอมรับอัตลักษณ์ที่เหนือกว่า ซึ่งไม่เป็นผลดี ฝรั่งเศสควรเปิดให้ชาวมุสลิมมีส่วนร่วมในการกำหนดอัตลักษณ์ด้วย

หลังจากที่มีกระแสถกเถียงเรื่องการแต่งกายด้วยชุด 'เบอร์กินี' (Burkinis) กันในสังคมฝรั่งเศสช่วงไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา มานุแอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีจากพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสก็ประกาศว่าเขาสนับสนุนข้อเรียกร้องให้สังแบนเบอร์กินีโดยนายกเทศมนตรีในเมืองติดกับทะเล แต่จะไม่ถึงขั้นออกกฎหมายสั่งห้ามในระดับชาติ

การเมืองฝรั่งเศสมีปัญหากับเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงชาวมุสลิมมาโดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เช่น กรณีการสั่งห้ามผ้าคลุมศรีษะในโรงเรียนของรัฐ มีการทำให้ผ้าคลุมแบบปิดหน้าที่เรียกว่านิกอบเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสมัยของนิโกลาส์ ซาร์โกซี และล่าสุดก็มีกรณีชวนให้ถกเถียงหลังจากที่นายกเทศมนตรีในเมืองติดกับทะเลของฝรั่งเศสสั่งห้าม 'เบอร์กินี' ซึ่งเป็นชุดว่ายน้ำแบบที่ปกคลุมร่างกายสำหรับหญิงชาวมุสลิม การสั่งแบนนี้ถูกมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงกีดกันชาวมุสลิมอย่างมาก

ถึงแม้วาลส์จะปฏิเสธไม่ผ่านร่างกฎหมายเพื่อสั่งแบนทั่วประเทศแต่การที่เขาสนับสนุนเหล่านายกเทศมนตรีโดยอ้างว่าเบอร์กินี "เข้ากันไม่ได้กับค่านิยมของสาธารณรัฐฝรั่งเศส" และ "ท่ามกลางการถูกยั่วยุ ประเทศเราต้องปกป้องตนเอง" ก็ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพรรคสังคมนิยมด้วยกันเอง ขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาแสดงความยินดี

เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาในฝรั่งเศสมีการก่ออาชญากรรมสังหารนักบวชในโบสถ์ที่นอร์มังดีทำให้กลุ่มฝ่ายขวาฉวยโอกาสผลักดันวาระทางการเมืองของตนในการต่อต้านอิสลามในฝรั่งเศสได้อีก หนึ่งในนั้นคือการอ้างความสงบเรียบร้อยและแนวคิดแบบแยกศาสนากับรัฐออกจากกันของฝรั่งเศสในการสั่งห้ามเบอร์กินี จากที่ในช่วงยุคสมัยที่ซาร์โกซีสั่งห้ามนิกอบในปี 2554 นั้น ทั้งเบอร์กินีและนิกอบก็มีคนใส่น้อยมาก ไม่ค่อยได้เห็นกันโดยทั่วไปในฝรั่งเศส

แนวคิดรัฐโลกวิสัยที่ถูกบิดเบือน

เดอะการ์เดียนระบุว่าแนวคิดแยกรัฐจากศาสนาหรือโลกวิสัยในแบบฝรั่งเศสที่เรียกว่า "ลาอิซิเต" (laïcité) ถูกนำมาใช้อ้างการแบนเบอร์กินีนั้นอาจจะเป็นการบิดเบือนหลักการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง จากเดิมแล้วหลักการลาอิซิเตต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันของความเชื่อส่วนบุคคลที่แตกต่างกันทั้งหมด ในทางทฤษฎีแล้วนี่หมายความว่ารัฐต้องเป็นกลางต่อศาสนาและอนุญาตให้ทุกคนมีอิสรภาพในการปฏิบัติตามลักการศาสนาตราบใดที่ไม่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ แต่หลังจากเกิดกรณีการบุกยิงคนที่ทำงานในสำนักงานนิตยสารแนวเสียดสี "ชาร์ลี เอบโด" นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสก็เตือนว่านักการเมืองกำลังจงใจบิดเบือนหลักการลาอิซิเตเพื่อใช้เหมารวมตีตราอิสลาม

ฌอง เบาเบโรต์ นักประวัติศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องรัฐโลกวิสัยแบบฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ทางวิทยุฟรองซ์อินเตอร์ว่าการสั่งห้ามเบอร์กินีเป็น "สิ่งที่ไร้เหตุผลอย่างที่สุด" และถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบย้อนกลับจากการที่พวกเขาไปยุ่มย่ามกับผู้หญิงเหล่านี้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการก่อการร้าย และเป็นการเหมารวมตีตราคนทั้งกลุ่มว่าเป็นการก่อการร้ายทั้งๆ ที่ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเมืองนีซที่มีชายชาวตูนีเซียขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชน มีเหยื่อเป็นหญิงที่สวมผ้าคลุมหัวรวมอยู่ด้วย การตีความลาอิซิเตในความหมายของวาลส์จึงเป็นการนำอัตลักษณ์ของฝรั่งเศสไปใช้ในแบบอำนาจนิยม

อดีตรัฐมนตรีพรรคสังคมนิยม เบอร์นัวต์ อามอน กล่าวหาวาลส์ว่าทรยศต่อแนวทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายจากการสนับสนุนการห้ามเบอร์กินี เขาบอกว่าศาสนาอิสลามควรได้รัการปฏิบัติแบบเดียวกับศาสนาอื่นๆ การประกาศของวาลส์ในครั้งนี้ถือเป็นการกล่าวหาศาสนาอิสลามเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแบบผิดกาลเทศะ

กฎหมายห้ามปิดบังตัวตน

ในตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีกำสั่งห้ามเบอร์กินีโดยถาวรหรือไม่ เนื่องจากมาตรการจากเหล่านายกเทศมนตรีเป็นการห้ามโดยชั่วคราวโดยสอดคล้องกับกฎหมายของฝรั่งเศส ซึ่งเดอะการ์เดียนระบุว่า ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายเข้มงวดมากกับการแต่งกายด้วยผ้าคลุมศรีษะเช่นการแบนนิกอบซึ่งมีผ้าคลุมหน้าเปิดเผยแค่ดวงตาโดยระบุว่ามันเป็นการซ่อนตัวตนของผู้สวมใส่ไว้ อย่างไรก็ตามชุดเบอร์กินีซึ่งเป็นชุดวายน้ำที่เปิดเผยให้เห็นส่วนใบหน้าไม่ได้ละเมิดข้อบังคับเรื่องการปิดบังตัวตนจึงยังคงถูกกฎหมายฝรั่งเศสในปัจจุบัน

กลุ่มต่อต้านความหวาดกลัวอิสสลามอย่างไม่มีเหตุผลในฝรั่งเศส (CCIF) ร้องทุกข์เรื่องการสั่งแบนเบอร์กินีต่อศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสโดยหวังว่าจะมีคำตัดสินออกมาในไม่กี่วันนี้ มาร์วาน มูฮัมหมัด โฆษก CCIF กล่าวว่า การสั่งห้ามในคราวนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานและเป็นการกีดกันผู้หญิงมุสลิม

มีการประเมินว่าท่าทีของวาลส์ในครั้งนี้เป็นเพราะต้องการคะแนนเสียงโดยอ้างเรื่องอัตลักษณ์ของชาติในช่วงฤดูกาลการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งกำลังจะมีขึ้นในปีหน้า (2560) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาวาลส์ยังเคยเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามผ้าคลุมศรีษะชาวมุสลิมในมาวิทยาลัย แต่ฟรองชัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของเขา ฝ่ายขวานำโดยซาร์โกซีก็เคยเสนอในเรื่องเดียวกันรวมถึงเสนอให้มีการสั่งห้ามทางเลือกอาหารปราศจากเนื้อหมูในโรงอาหารของโรงเรียนชาวมุสลิมและชาวยิวด้วย

อัตลักษณ์ที่ยังไม่ยอมเปิดกว้าง

ถึงแม้ว่าการแบนเบอร์กินีจะถูกวิจารณ์ในมุมมองเกี่ยวข้องกับศาสนาอยู่มาก แต่ อแมนดา ทับ อดีตทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่ปัจจุบันเขียนบทความให้นิวยอร์กไทม์แสดงถึงมุมมองต่อเรื่องนี้ในทางเพศสภาพว่า การสั่งห้ามผู้หญิงใส่ชุดใดๆ ก็ตาม ไม่ได้ถือว่าเป็นการปกป้องผู้หญิงจากระบอบชายเป็นใหญ่แบบที่นักการเมืองฝรั่งเศสอ้างแต่อย่างใด ทับมองว่านักการเมืองฝรั่งเศสทำไปเพื่อปกป้องคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมจากการต้องเผชิญกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พวกเขาต้องเปิดกว้างเรื่องตัวตนอัตลักษณ์เพิ่มมากขึ้นในขณะที่คนจำนวนมากยังคงอยากคงอัตลักษณ์แบบเดิมไว้อยู่

มีผู้อธิบายว่าเหตุใดฝรั่งเศสถึงเน้นเรื่องการแต่งกายของชาวมุสลิมมากในการพยายามใช้อำนาจกำหนดว่าอะไร "เป็นฝรั่งเศส" หรือ "ไม่เป็นฝรั่งเศส" เรื่องนี้ศาตราจารย์ เทอร์เรนซ์ จี ปีเตอร์สัน จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาอินเตอร์เนชันแนลผู้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับผู้อพยพชาวมุสลิมกล่าวไว้ว่า ในช่วงล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสยึดครองพื้นที่ของชาวมุสลิมไว้จำนวนมากทำให้การปกคลุมหน้าถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ "ความล้าหลัง" ของมุสลิมเมื่อเทียบกับหญิงชาวฝรั่งเศสที่มีมาตรฐานการแต่งกายที่ยืดหยุ่นกว่าทำให้ฝรั่งเศสรู้สึกมีความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม มุมมองเช่นนี้ถูกนำมาให้ความชอบธรรมต่อลัทธิอาณานิคม

นักการเมืองฝรั่งเศสจึงนำเรื่องความชอบธรรมจากการทำให้วัฒนธรรมมุสลิมดูด้อยกว่ามาใช้เพื่อขับเน้นตัวตนแบบ "ประเพณีดั้งเดิม" ให้ยังคงเป็นไม่ใช่แค่เพียงอำนาจนำทางวัฒนธรรมแต่เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของสังคมฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากแทนที่จะมองว่าการสวมชุดสำหรับมุสลิมอย่างเบอร์กินีเป็นอัตลักษณ์ที่คงอยู่ร่วมกันได้กลับมองว่ามันเป็นสิ่งที่มาแข่งขันกับอัตลักษณ์เดิมของฝรั่งเศส

ในบทความของทับยังระบุถึงการที่ในฝรั่งเศสเริ่มใช้คำว่า "ชุมชนนิยม" (communitarianism) ในเชิงลบว่าการเติบโตของชุมชนนิยมเป็นวิกฤตแห่งชาติ โดยที่นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์กล่าวว่าฝรั่งเศสที่ผ่านมามีการสั่งห้ามการแต่งกายเช่นนี้โดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในระดับโลกและในระดับชาติมาโดยตลอด เช่น ช่วงหลังเหตุการณ์ 911 ช่วงเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพอัลจีเรีย รวมถึงช่วงหลังจากมีเหตุก่อการร้ายเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ประเด็นด้านความมั่นคงของชาติมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการหลอมรวมวัฒนธรรม

ทับระบุว่าสาเหตุที่ผ้าคลุมหน้ากลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความกังวลต่อการหลอมรวมเพราะว่าการแต่งกายเป็นทางเลือก วัฒนธรรมและค่านิยมฝรั่งเศสไม่ได้ตัดสินสิ่งที่เป็นลักษณะตายตัวอย่างเชื้อชาติหรือสีผิว การสั่งแบนเสื้อผ้าจึงเป็นการพยายามกดดันชาวมุสลิมในฝรั่งเศสให้ละทิ้งความรู้สึกร่วมในอัตลักษณ์ของชุมชนและยอมรับอัตลักษณ์ของฝรั่งเศสที่คับแคบ แต่ทว่าการบีบบังคับให้เกิดการหลอมรวมอาจจะส่งผลในทางตรงกันข้าม การที่ชาวฝรั่งเศสที่เป็นมุสลิมไม่สามารถยึดถืออัตลักษณ์ทั้งความเป็นฝรั่งเศสและความเป็นมุสลิมไว้ได้ทำให้พวกเขาถูกบีบให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงกลายเป็นการกีดกันพวกเขาออกจากอัตลักษณ์ของชาติแทนที่จะเชื้อชวนให้พวกเขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนออัตลักษณ์นั้นๆ

ทับเสนอว่าฝรั่งเศสยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการเปิดอัตลักษณ์ของชาติให้กว้างขึ้นโดยรองรับมุสลิมชาวฝรั่งเศสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย เรื่องนี้อาจจะฟังดูน่าหวาดกลัวสำหรับชาวฝรั่งเศสส่วนมากที่ต้องสละความรู้สึกคุ้นชินกับอัตลักษณ์แบบเดิมๆ เพื่อรองรับมิติใหม่ แต่ถ้าไม่มีการยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้และยังจะใช้วิธีเดิมๆ กดดันชาวมุสลิม มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าวิธีการเดิมมีความก้าวหน้าน้อยมากและมีแต่จะสร้างความตึงเครียดมากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

French PM supports local bans on burkinis, The Guardian, 18-08-2016

https://www.theguardian.com/world/2016/aug/17/french-pm-supports-local-bans-burkinis

France’s ‘Burkini’ Bans Are About More Than Religion or Clothing, Amanda Taub, New York Times, 18-08-2016

http://www.nytimes.com/2016/08/19/world/europe/frances-burkini-bans-are-about-more-than-religion-or-clothing.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท