ถอดบทเรียนจากประชามติ: สามัคคีเชิงกดขี่ กับ สามัคคีเชิงสันติวิธี (จบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ตอนท้าย : สามัคคีเชิงสันติวิธี

ความสามัคคีเชิงสันติวิธี (nonviolent unity)   เป็นแนวคิดที่อยู่ในวรรณกรรมที่ศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมานานแล้ว หลักการที่สำคัญที่สุดของความสามัคคีเชิงสันติวิธี คือ การหาจุดร่วมขั้นต่ำ (minimum common ground) ให้ได้ และพยายามต่อยอดความร่วมมือระหว่างแนวร่วมต่าง ๆ โดยเริ่มจากจุดร่วมขั้นต่ำดังกล่าว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก่อนหน้านี้ คือ เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา เป้าหมายหลักได้แก่ ไม่ยอมรับความรุนแรงและการรัฐประหาร และสนับสนุนการเลือกตั้งและการปฏิรูป แม้จะเห็นต่างกันบ้าง แต่หากความต่างไม่ได้ลึกซึ้งถึงระดับหลักการ ผู้ที่นิยมในประชาธิปไตยและสังคมที่ดีก็สามารถแสวงจุดร่วม และสงวนจุดต่างเพื่อต่อสู้ไปร่วมกันได้[1]

แนวคิดเรื่องความสามัคคีเชิงสันติวิธีวางอยู่บนฐานคิดว่าด้วยเรื่อง “เสรีภาพเชิงบวก (Positive Liberty)” กล่าวคือ เป็นเสรีภาพที่ปัจเจกบุคคลยังไม่ตระหนักถึงหรือสามารถบรรลุได้ด้วยตัวคนเดียว และสามารถได้รับการส่งเสริมได้จากรัฐและปัจเจกบุคคลอื่น ๆ[2] เมื่อวางแนวคิดเรื่องเสรีภาพเชิงบวกเอาไว้ในบริบทของการต่อสู้สันติวิธี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การพยายามพูดคุยหาแนวร่วมเพื่อสร้างขบวนการที่เข้มแข็งและสามารถต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นเป้าหมายที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลทุกคนสามารถบรรลุเสรีภาพมากขึ้นได้ และเป็นเป้าหมายที่ปัจเจกบุคคลไม่สามารถตระหนักถึงหรือกระทำได้ด้วยตัวคนเดียว เสรีภาพเชิงบวกจึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลได้รับเสรีภาพเชิงลบมากขึ้นด้วยไปพร้อม ๆ กัน

คุณลักษณะของเสรีภาพเชิงบวกอยู่บนฐานของการรวมตัว (aggregation) และการกระทำการร่วมกันเป็นกลุ่ม (act in concert) ที่มุ่งสร้างทางเลือกใหม่ขึ้น ตรงกันข้ามกับเสรีภาพเชิงลบซึ่งอยู่บนฐานของความอดทนอดกลั้น (tolerance) ของปัจเจกบุคคลที่คนอื่นไม่ควรจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจการส่วนตัวของกันและกัน เสรีภาพทั้งสองประเภทเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่เสรีภาพเชิงบวกกลับยังไม่ได้รับการส่งเสริมมากเท่าที่ควรในขบวนการประชาธิปไตยของบ้านเรา เพื่อให้เกิดเสรีภาพเชิงบวกขึ้น เราสามารถกระทำได้ด้วยการนำแนวคิดเรื่องความสามัคคีเชิงสันติวิธีมาปรับใช้

แนวคิดความสามัคคีเชิงสันติวิธีที่ว่านี้จะส่งเสริมเสรีภาพเชิงบวก ด้วยการก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความหลากหลายเชิงสร้างสรรค์ (constructive diversity)” ขึ้น เพราะการแสวงจุดร่วมสามารถทำให้เราสามารถยอมรับจุดต่างของแต่ละฝ่ายได้มากขึ้น ดังนั้น ความสามัคคีจึงไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การละเมิดหลักการเสรีภาพ และความหลากหลายเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมหลักการดังกล่าวเหล่านี้ได้เช่นกัน ตรงกันข้ามกับความสามัคคีเชิงกดขี่ที่บั่นทอนความหลากหลายและเสี่ยงก่อให้เกิดการละเมิดหลักการว่าด้วยเสรีภาพ เมื่อคิดตามตรรกะของสันติวิธีแล้ว ความสามัคคีเชิงสันติวิธีจึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ความหลากหลายของทุกคนได้รับการเชิดชู และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้รับการเคารพอย่างยินยอมพร้อมใจมากกว่าที่จะดูแคลนจุดยืนของกันและกัน และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิของกันและกันได้

เมื่อจุดยืนของทุกฝ่ายได้รับการเคารพด้วยความยินยอมพร้อมใจมากขึ้น ขบวนการก็จะพร้อมที่จะรวมเอาผู้คนที่มีปูมหลังต่างกันมาร่วมกันได้มากขึ้น ขบวนการที่มีสมาชิกมากขึ้นก็จะเป็นขบวนการที่ขนาดใหญ่ขึ้นและปราบปรามได้ยากขึ้นตามไปด้วย และเนื่องจากขบวนการสามารถแสวงหาจุดร่วมขั้นต่ำกับกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ได้ ขบวนการจึงดำเนินไปในลักษณะที่เป็นเอกภาพและมีพลวัตที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ แนวคิดความสามัคคีเชิงสันติวิธียังช่วยให้แนวร่วมเป็น ขบวนการแนวระนาบ (horizontal movement) ด้วยในเชิงโครงสร้างองค์กร เพราะกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นจากความสามัคคีเชิงสันติวิธีเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมและถกเถียงอภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผลมากกว่า เมื่อโดนเจ้าหน้าที่รัฐเข้าปราบปรามด้วยการ “เก็บหัวหน้า” ตามตรรกะของสงครามเย็น คนอื่น ๆ ก็สามารถขึ้นมาทำงานต่อได้ด้วยการฝึกให้ทำงานสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันในโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ควรเน้นย้ำว่า ขบวนการแนวระนาบ เป็นคนละเรื่องกับสภาวะไร้การบริหารจัดการภายในองค์กร เพราะขบวนการแนวระนาบสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และทนทานขืนต้านการปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สภาวะไร้การบริหารจัดการนอกจากไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเผด็จการแล้ว ยังเสี่ยงต่อการครอบงำและกดขี่จากคนในองค์กรเดียวกันเองได้ง่ายด้วย (โปรดดูตารางที่ 2 เพื่อมองภาพรวม)

ตารางที่ 2 ความสามัคคีกดขี่ / เสรีภาพเชิงลบ vs. ความสามัคคีเชิงสันติวิธี / เสรีภาพเชิงบวก

ประเด็น

ความสามัคคีเชิงกดขี่ /
เสรีภาพเชิงลบ

ความสามัคคีเชิงสันติวิธี /
เสรีภาพเชิงบวก

เสรีภาพ

เสี่ยงต่อการถูกละเมิด

ได้รับการส่งเสริม

ความหลากหลาย

เชิงบ่อนทำลาย

เชิงสร้างสรรค์

ความสัมพันธ์ของขบวนการต่อเผด็จการ

อ่อนแอ และเป็นอนู

เข็มแข็ง และเป็นเอกภาพ

ลักษณะขบวนการ

ลดหลั่น

แนวระนาบ

เพื่อให้เกิดความสามัคคิเชิงสันติวิธีขึ้น นักกิจกรรมจะต้องปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายในเชิงปฏิบัติทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่ (1.) ต้องกำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ของขบวนการให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าอะไรที่หลักการพื้นฐานของตน (2.) มีเวทีในการพูดคุยเพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรองกัน และ (3.) พัฒนาทักษะในการเจรจา เพื่อฝึกหาจุดร่วมขั้นต่ำและสร้างแนวร่วมให้ได้ เมื่อหลุดออกจากวิธีคิดของเผด็จการด้วยการชำแหละวาทกรรมความสามัคคีเชิงกดขี่ได้เรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่าขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังมีหวังที่จะต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

กรณีศึกษาประชามติ

เพื่อทำให้เห็นภาพเป็นรูปธรรมขึ้น เราอาจจะปรับใช้แนวคิดความสามัคคีเชิงสันติวิธี เข้าไปแทนที่ความสามัคคีเชิงกดขี่ได้ ด้วยการคิดในเชิง “แย้งข้อเท็จจริง” (counterfactual) กล่าวคือ เราอาจลองย้อนกลับไปไตร่ตรองดูใหม่ว่าเหตุการณ์ช่วงการลงประชามติครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขอะไร และถ้าเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด การคิดในเชิงแย้งข้อเท็จจริงที่ว่านี้เป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการถอดบทเรียนเพื่อชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

ในกรณีนี้ เราจะมาทดลองศึกษากันดูว่าความขัดแย้งที่ร้าวลึกระหว่างฝ่ายที่โนโหวต กับ ฝ่ายโหวตโน เกิดขึ้นจากอะไร และถ้าไม่เกิดเงื่อนไขดังกล่าวขึ้น เหตุการณ์จะดำเนินไปในทิศทางใด เพื่อตอบคำถามที่ว่านี้ เราจะตั้งสมมติฐานกันว่า ความขัดแย้งของขบวนการประชาธิปไตยในเหตุการณ์ประชามติครั้งนี้ เป็นผลมาจากความสามัคคีเชิงกดขี่ และความขัดแย้งที่ว่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากอยู่ในเงื่อนไขความสามัคคีเชิงสันติวิธี

บทข้อเท็จจริง (factual): ความสามัคคีเชิงกดขี่เป็นแนวคิดที่แพร่หลายอยู่ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นักกิจกรรมและผู้นิยมประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลเผด็จการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและจัดให้มีการประชามติ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่โหวตโนและโนโหวตก็เริ่มบานปลายขึ้น และเนื่องจากลึก ๆ แล้วเชื่อว่าความสามัคคีเชิงกดขี่ที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อเป็นวาทกรรมจอมปลอมเพื่อให้เผด็จการสถาปนาอำนาจ ขบวนการประชาธิปไตยจึงส่งเสริมหลักการเสรีภาพและความหลากหลายมากกว่า รวมไปถึง หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงเรื่องความสามัคคีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขาดความสามัคคีเชิงสันติวิธี และเสรีภาพเชิงลบแบบต่างคนต่างอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างฐานของขบวนการประชาธิปไตยที่เข็มแข็งได้ เมื่อฝ่ายหนึ่งรณรงค์โหวตโน และอีกฝ่ายหนึ่งรณรงค์ให้ไปฉีกบัตรหรือคว่ำบาตรไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการประชามติ ต่างฝ่ายจึงต่างเริ่มดูถูกจุดยืนของกันและกัน แทนที่จะคุยกันด้วยเหตุผล กลายเป็นความหลากหลายเชิงบ่อนทำลายที่หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ความอดทนอดกลั้นก็จะหมดลงและนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพ ซึ่งเริ่มเห็นได้แล้วจากการที่คนไปฉีกบัตรเลือกตั้งถูกสมาชิกของฝ่ายโหวตโนท่านหนึ่งดูแคลนว่าละเมิดสิทธิ์การเลือกตั้งของคนอื่นและทำลายภาษีประชาชน ทั้งที่ข้อกล่าวหาไม่เป็นความจริงเลย

ครั้นจะพยายามเรียกร้องให้สามัคคีกัน แนวคิดเรื่องความสามัคคีที่ขบวนการใช้ก็ยังหนีไม่พ้นจากวิธีคิดของเผด็จการ ดังนั้น ขบวนการที่รณรงค์จึงมีลักษณะรวมศูนย์และลดหลั่น เมื่อเดินแจกใบปลิวก็โดนเจ้าหน้าที่ปราบปรามด้วยการจับกุมหัวหน้าตัวใหญ่ ๆ ของขบวนการไปได้อย่างง่ายดาย ทำให้การประสานงานและการทำงานในขบวนการก็ดำเนินไปอย่างยากลำบาก เมื่อผลออกมาแล้วฝ่ายที่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่รณรงค์โหวตโน กับฝ่ายที่รณรงค์โนโหวตก็ยังทะเลาะและเย้ยหยันกันไม่เลิก ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าตนแพ้ เพราะอีกฝ่ายไม่ยอมมาลงคะแนน อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าที่อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้เป็นเรื่องสมควรแล้ว และไม่ควรจะไปเข้าร่วมกับการลงคะแนนประชามติตั้งแต่แรก ความบาดหมางที่ว่านี้จึงร้าวลึกก่อให้เกิดความไร้เอกภาพภายในขบวนการ ทำให้ขบวนการประสบกับความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ไม่สามารถวางแผนเพื่อผลักดันประเด็นใหม่ได้อย่างทันท่วงที

บทแย้งข้อเท็จจริง (counterfactual):   ความสามัคคีเชิงกดขี่เป็นแนวคิดที่แพร่หลายอยู่ในสังคม แต่นักกิจกรรมและผู้นิยมประชาธิปไตยคิดให้ลึกซึ้งขึ้นในประเด็นดังกล่าว เมื่ออ่านวรรณกรรมเกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมากเข้า จึงพบว่า ความสามัคคีเชิงสันติวิธีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งภายในขบวนการ และนำไปสู่การบรรลุเสรีภาพมากขึ้นได้อีกทอดหนึ่งด้วยการส่งเสริมเสรีภาพเชิงบวก เมื่อรัฐบาลเผด็จการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและจัดให้มีการลงประชามติ ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่รณรงค์โหวตโน กับ ฝ่ายที่รณรงค์โนโหวต เมื่อเริ่มเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าความสามัคคีเชิงสันติวิธีเป็นเรื่องสำคัญ จึงเริ่มจัดเวทีพูดคุยอภิปรายเพื่อหาจุดยืนขั้นต่ำร่วมกัน และสงวนจุดต่างของกันและกันไว้

แม้ว่าการถกเถียงกันจะเป็นไปอย่างเจ็บปวดและยากลำบากเพราะทักษะในการเจรจาต่อรองเพื่อหาจุดยืนต่ำร่วมกันยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เต็มที่ในช่วงแรก แต่ในที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มฉุกคิดได้ว่าตนมีจุดร่วมขั้นต่ำเหมือนกับฝ่ายตรงข้าม คือ เห็นว่าเผด็จการไม่ชอบธรรมเหมือนกัน และไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกัน หลังจากตระหนักถึงจุดร่วมที่ว่านี้ได้แล้ว นักกิจกรรมก็เริ่มฉุกคิดถึงยุทธศาสตร์ร่วมกันจากมุมมองเชิงคณิตศาสตร์ได้ว่า ถ้าสมมติประเทศมีประชากรทั้งหมด 200 คน ประกอบด้วยคนที่โนโหวตไปเสีย 100 คน งานของฝ่ายที่รณรงค์โหวตโนก็จะน้อยลงเพราะจำนวนที่ต้องได้มาเพื่อให้ชนะเสียงข้างมากเหลืออยู่แค่ 51 คนจาก 100 คนเท่านั้น

เมื่อคิดได้เช่นนี้ฝ่ายที่รณรงค์โหวตโน กับ ฝ่ายที่รณรงค์โนโหวต จึงวางแผนกันว่าจะให้ความสำคัญไปที่การโน้มน้าวคนที่ลงคะแนนเห็นชอบให้เปลี่ยนใจไปลงคะแนนไม่เห็นชอบ หรือ ไม่ไปลงคะแนนแทน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เวลาที่นักกิจกรรมเหล่านี้ซักถามถึงจุดยืนของกันและกัน จึงเริ่มทราบว่า แต่ละคนในขบวนการตัดสินใจเพราะจุดยืนที่ต่างกันไป บางคนต่อรองกับญาติที่จะลงคะแนนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้เล่น ๆ ว่า ถ้าญาติในบ้านทุกคนโนโหวต ตนจะโนโหวตด้วยเหมือนกันแทนที่จะโหวตโน แล้วดันต่อรองประสบผลสำเร็จเสียด้วย แต่บางคนก็โหวตโนเพราะคูหาใกล้บ้าน และเห็นว่าเวทีลงคะแนนเสียงที่รัฐบาลเป็นผู้จัดอุตส่าห์ช่วยลดต้นทุนในการแสดงออกให้แล้ว ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ต้องเปลืองกับการสร้างเวทีแสดงจุดยืนของตนเอง ดังนั้น คนโหวตโนจึงเห็นควรว่าให้ไปลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่ากระบวนการด้วยตัวมันเองจะไม่ชอบธรรมแต่แรกก็ตาม เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ทุกคนจึงไม่ดูแคลนจุดยืนของกันและกัน และปกป้องคนที่ไปฉีกบัตรว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการอารยะขัดขืนที่ชอบธรรมตามหลักเสรีภาพทุกประการ 

เมื่อทั้งสองฝ่ายปฏิบัติการไปในทิศทางเดียวกันและเป็นเอกภาพขึ้น ขบวนการจึงมีความชอบธรรมมากขึ้นและทำให้เผด็จการปราบปรามจับกุมได้ยากขึ้น เนื่องจากขนาดของขบวนการขยายใหญ่และเป็นแนวระนาบมากขึ้น นอกจากนี้ ความสามัคคีเชิงสันติวิธียังทำให้ภายในขบวนการมีการปรึกษาหารือกันด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น แบ่งงานกันทำและสลับตำแหน่งงานกันบ่อย ๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น แถมยังพึ่งพาผู้นำน้อยลงด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถึงเวลาที่ผู้นำถูกจับ ขบวนการก็สามารถรับมือเพื่อเจรจาต่อรองให้ผู้นำออกมาได้รวดเร็วขึ้น และทำให้การรณรงค์ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดตอนระหว่างที่ผู้นำโดนจับไป

เมื่อถึงเวลาที่ผลออกมา ฝ่ายที่ลงมติเห็นชอบอาจจะยังเป็นเสียงข้างมากอยู่ เพราะทั้งฝ่ายที่โหวตโน และฝ่ายที่โนโหวตพยายามแล้วที่จะโน้มน้าวคนที่ลงคะแนนเห็นชอบซึ่งเป็นคนหัวแข็งอย่างยิ่งให้กลับใจ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุด ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบและไม่ได้ไปลงคะแนนต่างก็ตีความไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญ ที่ คสช. เป็นคนจัดไม่มีความชอบธรรม และรวมคะแนนเสียงกันเพื่อแสดงตนว่าเป็นเสียงข้างมากของประเทศ พวกเขายังชี้ให้เห็นด้วยว่าความสามัคคีเชิงกดขี่ที่เผด็จการกล่าวอ้างว่าเป็นความหมายที่อยู่ในผลคะแนนประชามติครั้งนี้ เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็อาจจะรวมมือกันคิดถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างสถาบันคู่ขนาน (parallel institution) และท้าทายเผด็จการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึง บรรลุเสรีภาพที่แท้จริงให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

สรุป

ข้อสังเกตที่อยากฝากทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ ในส่วนของบทแย้งข้อเท็จจริงที่เขียนอยู่ข้างต้นนั้น หลาย ๆ อย่างเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในขบวนการประชาธิปไตยเรื่องที่นักวิชาการท่านหนึ่งสามารถโน้มน้าวให้ญาติที่ลงคะแนนเห็นชอบหันมาอยู่ข้างโนโหวตกับตนได้สำเร็จ และเรื่องนักกิจกรรมท่านหนึ่งไปฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นข้อเท็จจริง นอกจากนี้ นักกิจกรรมและผู้นิยมประชาธิปไตยที่เห็นอกเห็นใจจุดยืนโหวตโนและโนโหวตของกันและกันก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ความขัดแย้งภายในขบวนการจึงยังเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขและเอาชนะได้ไม่ยากนัก อีกด้านหนึ่ง เผด็จการก็ไม่ใช่สิ่งที่จะอยู่ค้ำฟ้าตลอดไป อีกทั้งเป็นสิ่งที่สามารถท้าทายและโค่นล้มได้ อย่างน้อยที่สุด หากความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะไม่เกิดขึ้นในสมัยที่เรายังมีชีวิตหรืออยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว บทเรียนของการต่อสู้ด้วยความสามัคคีเชิงสันติวิธีที่ว่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไป อย่างที่เกษียร เตชะพีระได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องสังคมพันลึก (deep society) ซึ่งเราหลาย ๆ คนจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ว่านี้ในอีกไม่ช้า

0000

 

เชิงอรรถ

[1] มีข้อควรระวังว่า หากความขัดแย้งเป็นปัญหาระดับหลักการ เช่น เวลาอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องต่อรองกับเผด็จการแล้ว การประนีประนอมเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง โปรดดู Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy : A Conceptual Framework For Liberation (Boston : Albert Einstein Institution, 2010), pp. 9-14

[2] โปรดดู “ถอดบทเรียนจากประชามติ : สามัคคีเชิงกดขี่ กับ สามัคคีเชิงสันติวิธี (ตอนกลาง)” ในส่วนที่อ้างถึงเสรีภาพเชิงลบ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท