“อดอาหารประท้วง” ไม่ใช่ “ฆ่าตัวตาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ดูเหมือนคนไทยใจร้อนจำนวนมาก จะยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการอดอาหารประท้วงซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางขัดขืนอย่างสันติวิธี

ไม่แปลกใจที่กรมราชทัณฑ์รีบออกแถลงการณ์เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า เด็กหนุ่มชื่อจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ถูกจับเข้าคุกเพียงเพราะแจกเอกสารแสดงความเห็นเรื่องประชามติ จนต้องประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงความอยุติธรรมนั้น สุขสบายดี แข็งแรง กินน้ำ กินนม กินขนมได้ ไม่ทุกข์ยากทรมานอะไรเลย

ทำให้คนไทยใจร้อนปากร้อนกลุ่มหนึ่ง รีบส่งเสียงเยาะเย้ยสำทับว่า โธ่เอ๋ย พวกอยากดัง ทำเป็นประกาศอดอาหารประท้วง ไม่แน่จริงนี่นา ถ้าอดจริงจะกินน้ำ กินนม กินขนมทำไมล่ะ

พ่อแม่ของไผ่บอกว่า การอดอาหารทำให้ไผ่ล้มป่วย แพทย์ผู้รักษาได้ขอให้ไผ่กินน้ำ นมและขนมปังเล็กน้อยเพื่อป้องกันกระเพาะอาหารก่อนจะรักษาด้วยยา

มิได้เป็นการกินน้ำ กินนม กินขนม เพื่อความอิ่มอร่อย

หลายคนเป็นห่วงไผ่ และไม่อยากเห็นไผ่อดอาหารประท้วง แต่เคารพการตัดสินใจของเขา

การอดอาหารประท้วงของไผ่ เป็นหนึ่งในวิธีต่อสู้ทางการเมืองที่ใช้กันทั่วโลก

เพื่อกดดันคู่กรณีให้ตระหนักหรือสำนึกในความไม่เป็นธรรมที่คู่กรณีกระทำต่ออีกฝ่าย หรือเพื่อกดดันคู่กรณีให้รู้สึกผิดบาปกับการกระทำนั้นๆ จนต้องยอมเปลี่ยนแปลงการกระทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง

ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ประมาณ 400 ถึง 750 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีบันทึกเรื่องคนยากจนซึ่งนั่งอดอาหารอยู่หน้าประตูบ้านของเศรษฐีคู่กรณีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ถูกข่มขู่รังแกหรือถูกบีบบังคับเรื่องหนี้สิน เรียกกันว่า “ทุรนา (dharna)”  การกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ กระทั่งถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลอังกฤษในยุคอาณานิคมเมื่อปี 1861

ในจักรวรรดิโรมันโบราณ มีบันทึกว่าไทเบอร์ริอุส บุตรบุญธรรมและบุตรเขยของเอากุสตุส ปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอดอาหารประท้วงปฐมจักรพรรดิที่ห้ามเขาเดินทางไปเกาะโรดส์ นอกจากนั้น ประมาณคริสต์ศักราชที่ 25 ยังมีหลักฐานว่านักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อ เครมูติอุส คอร์ดุส ยอมอดอาหารประท้วงจนตายเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการพูด

ไอร์แลนด์ในยุคก่อนรับศาสนาคริสต์หรือประมาณก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 9  มีธรรมเนียมปฏิบัติที่เรียกกันว่า “ทรอสกัด (Troscadh) หมายถึง “การอดอาหารประท้วงบุคคล” หรือแคลาคัน (Cealachan) หมายถึง “การบรรลุความยุติธรรมด้วยการอดอาหาร”  ซึ่งระบุไว้ในกฎเบรฮอน (Brehon Law) ว่าประชาชนสามารถกระทำได้เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมหรือการกระทำอันอยุติธรรมที่เกิดจากคู่กรณี 

เช่นเดียวกับการนั่งทุรนาในอินเดียโบราณ ผู้กระทำทรอสกัดจะไปนั่งอดอาหารอยู่หน้าประตูบ้านของคู่กรณีเพื่อประท้วงที่ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกล่าวหา/กลั่นแกล้งรังแกอย่างไม่เป็นธรรม หากคู่กรณีปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงจนตายหน้าประตูบ้าน คู่กรณีจะกลายเป็นคนไร้เกียรติทันที และต้องรับผิดชอบความตายนั้นรวมถึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวของผู้ตาย

ส่วนใหญ่แล้ว การอดอาหารประท้วงมักเริ่มตั้งแต่ตะวันตกดินไปจนถึงตะวันรุ่งหรืออาจเป็นตะวันตกดินของอีกวัน

คนสมัยโบราณอาจมีความเชื่อว่ามนุษย์จะยังคงเกียรติยศของมนุษย์ก็เมื่อไม่เพิกเฉยต่อความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงไม่สามารถยินยอมให้คนตายต่อหน้าต่อตา โดยไม่ยื่นมือไปให้ความช่วยเหลือ

แต่คนสมัยใหม่อาจคิดอีกอย่าง

สำหรับประวัติศาสตร์ยุคใหม่ มหาตมา คานธี มีชื่อเสียงจากการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากอังกฤษหลายครั้งระหว่างช่วงปี 1919 – 1947 เช่นเดียวกับชาวไอร์แลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงจากการอดอาหารประท้วงตั้งแต่ปี 1916 เพื่อต่อต้านอังกฤษที่เข้าครอบครองดินแดนบ้านเกิดนับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันทำให้โลกตระหนักถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวไอร์แลนด์

ในช่วงศตวรรษที่ 20 การอดอาหารประท้วงเป็นวิธีต่อสู้ทางการเมืองที่แพร่หลายในโลกตะวันตก รวมถึงอังกฤษและอเมริกา ประเด็นในการเรียกร้องนั้นยังรวมถึงเรื่องสิทธิสตรีด้วย แต่การต่อสู้ครั้งสำคัญโดยยุทธวิธีนี้เกิดขึ้นในปี 1981 เมื่อนักโทษกองกำลังกู้ชาติไอริชในเรือนจำของไอร์แลนด์เหนือที่ถูกจับกุมในข้อหาก่อความไม่สงบเพราะชุมนุมเรียกร้องให้ไอร์แลนด์แยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ อดอาหารประท้วงจนตายไป 10 ราย รวมถึงบ็อบบี้ แซนด์ส สมาชิกรัฐสภาอังกฤษคนดัง

ครั้งนั้น รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนางมาร์กาเร็ต  แท็ตเชอร์ ถูกประณามว่าใจดำ เพราะปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อจนมีผู้ประท้วงเสียชีวิต

ก่อนหน้าและในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 การอดอาหารประท้วงเป็นเครื่องมือต่อสู้ความอยุติธรรมที่ผู้ใช้มักประสบความสำเร็จ แต่ในยุคสหัศวรรษใหม่ รัฐต่างๆ มักรับมือการอดอาหารประท้วงด้วยการบังคับผู้อดอาหารให้บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ทางแพทยสมาคมโลก ( World Medical Association) เคยให้ความเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้ประท้วง แต่แพทย์สามารถให้อาหารเหลวและให้การรักษาผู้อดอาหารประท้วงที่อยู่ในอาการโคม่าได้

สิ่งที่คนไทยจำนวนหนึ่งต้องทำความเข้าใจก็คือ การอดอาหารประท้วงมิได้หมายถึงการฆ่าตัวตายและมิใช่คำประกาศฆ่าตัวตาย แม้ร่างกายผู้ประท้วงบางรายอาจอ่อนไหวจนถึงขั้นตายก่อนแพทย์จะช่วยได้ทัน แต่ในแง่ของการต่อสู้ซึ่งสืบเจตนารมณ์ดั้งเดิม นี่คือการทรมานตัวเองของผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้อง “มนุษยธรรม” จากคู่กรณีให้หันมาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำอันอยุติธรรมของคู่กรณีต่อผู้ประท้วง

ในโลกยุคปัจจุบัน ถือกันว่าการอดอาหารประท้วง ทำได้ตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปีหรือมากกว่านั้น โดยผู้ประท้วงอาจงดทั้งอาหารแข็ง (solid foods) และอาหารเหลว (liquids) ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วกลับมายอมรับอาหารเหลวในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะงดอาหารเหลวในอีกช่วงเวลาหนึ่งแล้วกลับมารับอาหารเหลวใหม่ หรืองดอาหารแข็งและอาหารเหลวตลอดไป แต่ยินยอมให้แพทย์รักษาด้วยอาหารเหลวเมื่อร่างกายเข้าขั้นโคม่า เพื่อร่างกายจะสามารถดำรงลมหายใจต่อไปได้ ตราบที่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาหารเหลวที่ร่างกายรับในช่วงของการประท้วงอดอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นโดยคำสั่งแพทย์เพื่อรักษาชีวิตผู้ประท้วง เป็นการรับสารอาหารในระดับต่ำกว่าปกติที่ร่างกายต้องการ และส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ประท้วงในระยะยาวอย่างแน่นอน

การอดอาหารประท้วงของผู้ประท้วง ไม่ใช่เรื่องถ้าแน่จริงอย่าดื่มนมดื่มน้ำสิ และไม่ใช่เรื่องที่เราจะร้องบอกผู้ประท้วงว่าหยุดกระทำโง่ๆ เสียเถิด แต่เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ จากนั้น จึงร่วมกันเรียกร้องผู้สร้างความไม่เป็นธรรม ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม

ในกรณีของไผ่ มีใครคิดว่าเข้าคุกเพราะแจกใบปลิวแสดงความเห็นต่างจากรัฐ เป็นเรื่องยุติธรรมบ้างหรือ?

0000

หมายเหตุผู้เขียน: ปรับปรุงจากต้นฉบับที่เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท