Skip to main content
sharethis

เรื่องราวการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงานของมาเลเซียที่ผู้หญิงท้องมีโอกาสถูกกีดกันให้ไปทำงานปลีกย่อย ถูกลดตำแหน่ง ไม่ให้เพิ่มตำแหน่ง หรือถึงขั้นไล่ออก แต่กลับมีผู้หญิงร้องเรียนเรื่องนี้น้อยเพราะยังไม่รู้สิทธิของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีปัญหาของกฎหมายมาเลเซีย แต่ก็ยังมีผู้หญิงบางคนที่ยอมสู้คดีแม้ว่าผลออกมาอาจจะไม่ดีเท่าที่คิดแต่พวกเธอก็อยากส่งเสริมให้ผู้หญิงอื่นต่อสู้กับการกีดกันนี้ด้วย


ภาพจาก tipstimes.com/pregnancy (CC BY 2.0)
 

16 ส.ค. 2559 เว็บไซต์ Star 2 ซึ่งเป็นสื่อจากมาเลเซียรายงานเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงท้องถูกกีดกันจากที่ทำงาน โดยระบุว่าคนท้องมีโอกาสถูกไล่ออกมากกว่าคนอื่นๆ

มีกรณีของชีลา ออง (Sheila Ong) ผู้ที่เคยถูกสอบถามในการสัมภาษณ์งานเกี่ยวกับเรื่องแผนการที่เธอจะสร้างครอบครัว มันฟังดูเหมือนเป็นแค่การสนทนาพาทีเล็กๆ น้อยๆ แต่ 6 เดือนต่อมาเมื่อเธอบอกกับเจ้านายของเธอว่าเธอท้อง พวกเขาก็ทำเหมือนกับว่าเธอละเมิดข้อตกลงการจ้างงานแบบที่ไม่ได้มีการพูดถึงล่วงหน้า อองเล่าว่าเธอถูกเรียกตัวไปที่สำนักงานทรัพยากรบุคคลและผู้จัดการกล่าวหาว่าเธอหลอกพวกเขาในตอนให้สัมภาษณ์จากการที่เธอเคยบอกไว้ว่าไม่ได้มีแผนการจะมีลูกเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอลืมไปแล้วว่าเคยพูดไว้

อองเล่าอีกว่าพวกเจ้านายของเธอยังกล่าวในเชิงไม่เห็นด้วยกับการตั้งครรภ์ของเธอและเตือนให้เห็นว่าเธอมีเป้าหมายในชีวิตรวมถึงต่อว่าเธอเหมือนเธอทำอะไรผิด ในหลายเดือนถัดจากนั้นอองรู้สึกว่าเธอถูกใช้ให้ทำงานปลีกย่อยจำเจโดยอ้างว่า "สภาพของเธอ" ไม่เหมาะกับงานที่ยากกว่านี้ และเมื่อเธอกลับเข้าทำงานอีกครั้งหลังจากลาคลอด-ลาดูแลลูก อองก็ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งผู้บริหารดูแลลูกค้าไปเป็นฝ่ายจัดการสำนักงาน แม้จะไม่มีใครพูดตรงๆ ว่าเป็นเพราะเธอท้อง แต่อองก็รู้สึกว่าเธอถูกกีดกันเพราะเธอมีลูก เธอจึงลาออก

เมื่อไม่นานมานี้มีการสำรวจขององค์กรวีเมนเอด (Women’s Aid Organisation หรือ WAO) ระบุว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44 จากจำนวนทั้งหมด 222 คน บอกว่าพวกเธอออกจากงาน ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ถูกลดตำแหน่ง หรือถูกยืดระยะเวลาทดลองงานเพียงเพราะพวกเธอตั้งครรภ์ มีร้อยละ 49 ตอบว่าพวกเธอกลัวว่าจะต้องออกจากงานหรือถูกลดหน้าที่ไปเป็นการทำงานปลีกย่อยเพียงเพราะพวกเธอท้อง ขณะที่ร้อยละ 31 ระบุว่าพวกเธอเลื่อนแผนการตั้งครรภ์ออกไปเพราะกลัวว่าจะต้องออกจากงานหรือเสียโอกาสได้เลื่อนตำแหน่ง

ผลสำรวจระบุว่าวิธีการกีดกันผู้หญิงตั้งครรภ์ในที่ทำงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้ทำงานปลีกย่อยซ้ำซาก การปฏิเสธเลื่อนตำแหน่ง การยืดเวลาทดลองงานเป็นเวลานาน และการลดขั้น รวมถึงให้ออกจากงาน

สุมิตรา วิศวนาธาน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรวีเมนเอดระบุว่า มีการสั่งห้ามการกีดกันทางเพศทั้งในรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐของประเทศและในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ดังนั้น การที่ผู้จ้างงานลงโทษผู้หญิงจากการที่เธอมีลูกจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกมีครอบครัว สิทธิในการทำงาน สิทธิในการได้รับการประเมินค่าและการชดเชยอย่างเหมาะสม

"ผู้หญิงควรจะมีอิสระที่จะเลือกได้ว่าเธออยากจะมีลูกหรือไม่และอยากจะมีลูกเมื่อใด เธอไม่ควรต้องลัวสูญเสียงานเพราะเธอมีลูก" วิศวนาธานกล่าว

ในผลสำรวจยังระบุอีกว่านายจ้างจะถามคำถามในเชิงกีดกันเรื่องแผนการตั้งครรภ์กับผู้หญิงในช่วงการสมัครเข้าทำงานจากการที่ผู้หญิงเกือบร้อยละ 40 ถูกถามว่าพวกเธอกำลังตั้งครรภ์หรือมีแผนการตั้งครรภ์ในช่วงอีกไม่นานนี้หรือไม่ วิศวนาธานกล่าวว่าคำถามเกี่ยวกับแผนการตั้งครรภ์ สถานะการแต่งงาน อายุ หรือรสนิยมทางเพศถือเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติในกระบวนการจ้างงาน

แม้ว่าจะมีการเลือกปฏิบัติ แต่มีอยู่เพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ร้องทุกข์หรือปฏิบัติการบางอย่างกับนายจ้างของพวกเธอ วิศวนาธานบอกว่าในเรื่องนี้เป็นเพราะผู้หญิงส่วนมากไม่รู้ว่าพวกเธอมีสิทธิที่จะร้องเรียน หรือไม่รู้ว่าจะร้องเรียนที่ใด และต่อให้รู้เรื่องวิธีการร้องเรียน พวกเธอก็อาจจะกลัวถูกผลกระทบย้อนกลับและถูกคุกคามกลั่นแกล้ง ทั้งนี้ ในมาเลเซีย ผู้หญิงที่ถูกไล่ออกเพราะตั้งครรภ์สามารถยื่นคำร้องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทหรือกับสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในศาลแรงงาน

อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนเป็นมารดาและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของมาเลเซียเป็นกฎหมายตั้งแต่ 50-60 ปีที่แล้ว และมีการให้การคุ้มครองตามกฎหมายที่แย่มาก ยังไม่มีการออกกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันผู้หญิงในที่ทำงานโดยเฉพาะ ทำให้วิศวนาธานบอกว่ายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ มีกลุ่มสิทธิสตรีกำลังพยายามผลักดันกฎหมายความเสมอภาคทางเพศซึ่งจะคุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงาน วิศวนาธานกล่าวอีกว่าถึงแม้มาเลเซียจะลงนามรับอนุสัญญา CEDAW ตั้งแต่ปี 2538 แต่ก็ยังไม่มีการนำส่วนของอนุสัญญานี้มาร่างเป็นกฎหมายจึงไม่มีหนทางให้บังคับใช้ส่วนข้อกำหนดว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศตามมาตรา 8(2) ในรัฐธรรมนูญมาเลเซียได้

ก่อนหน้านี้ ในปี 2554 มีคดีของครูที่ชื่อ นูร์ฟาดิลลา อาห์หมัด ไซคิน ถูกรัฐบาลมาเลเซียถอดถอนการแต่งตั้งตำแหน่งครูชั่วคราวเพียงเพราะเธอตั้งครรภ์ เธอฟ้องร้องจนชนะคดีทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องจ่ายเงินค่าเสียหาย 300,000 ริงกิต (ราว 2,600,000 บาท) ให้เธอ ฐานละเมิดสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าชดเชยอีกหลายอย่างตั้งแต่ค่าชดเชยการขาดรายได้ ค่าชดเชยที่ทำให้เธอไม่ได้รับสิทธิจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายจากการสร้างบาดแผลและความทุกข์ยากให้กับเธอ อย่างไรก็ตามเมื่อปีนี้ศาลตัดสินใจลดจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเพราะกล่าวหาว่าเป็นค่าเสียหายที่มากเกินไปและบอกว่าไซคินเองก็ผิดส่วนหนึ่งที่ "ไม่ซื่อสัตย์อย่างเต็มที่" ในการพูดเรื่องการตั้งครรภ์ของตัวเอง

ไซคินบอกว่าเธออุทธรณ์ผลการตัดสินของศาลเพราะคำนึงถึงคดีอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เธอไม่อยากทำให้มีการขัดขวางการดำเนินการทางกฎหมายและการเรียกร้องความยุติธรรมของผู้หญิงอื่นๆ ที่ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ เธอยังตัดสินใจอุทธรณ์ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้พิพากษากล่าวหาเธอในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงอย่างการอ้างว่าเธอไม่ยอมประกาศว่าตั้งครรภ์ ซึ่งคดีของไซคินก็ทำให้ผู้หญิงในมาเลเซียกล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในตัวเองมากขึ้น

อีกคดีหนึ่งคือคดีของ แจ็คลิน ลิม ผู้ที่ฟ้องร้องศาลแรงงานหลังจากที่เธอถูกไล่ออกเพราะตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าในคดีนี้ศาลจะตัดสินไปในทำนองคัดค้านเธอ ทำให้ลิมต้องเสียค่าดำเนินคดีไป 15,000 ริงกิต (ราว 130,000 บาท) แต่เธอก็บอกว่าเธอรู้สึกดีที่ได้ทำอะไรบางอย่างเพราะเธอไม่สามารถนิ่งดูดายได้

ทั้งไซคินและลิมสนับสนุนให้ผู้หญิงคนอื่นๆออกมาพูดถึงการถูกกีดกันหรือถูกเลือกปฏิบัติของตนเอง พวกเธอบอกว่าการเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลบัญญัติกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้
 

เรียบเรียงจาก

In Malaysia, if you are pregnant, you’re more likely to get fired, Star 2, 15-08-2016
http://www.star2.com/people/2016/08/15/in-malaysia-if-youre-pregnant-youre-more-likely-to-get-fired/#DcmhZTmrdXLVbkTo.01

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net