Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

2: สามัคคีเชิงกดขี่ และเสรีภาพเชิงลบ

เป็นความจริงที่ว่า ความสามัคคีที่เผด็จการกล่าวอ้างถึงเป็นความสามัคคีประเภทที่ไม่ควรนำมาใช้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะความสามัคคีประเภทนี้ คือ ความสามัคคีเชิงกดขี่ (oppressive unity) แนวคิดที่ว่านี้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1.) เป็นความสามัคคีที่รัฐบาลเอาไว้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปิดกั้นเสรีภาพ ความหลากหลาย และความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ (2.) เป็นความสามัคคีที่เอาไว้ปิดกั้นความขัดแย้งที่อาจสั่นคลอนฐานอำนาจนิยมของเผด็จการได้ (3.) เอาไว้สร้างภาพลักษณ์เชิงลบต่อขบวนการประชาธิปไตยว่าเป็นบ่อเกิดของสิ่งเลวร้ายในสังคม ดังนั้น สิ่งที่นักกิจกรรมและผู้นิยมประชาธิปไตยเชื่อกันจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านกลับของความเชื่อที่ถูกต้องนี้กลับส่งผลด้านลบต่อฝ่ายประชาธิปไตยอย่างน่าประหลาด เพราะฝ่ายประชาธิปไตยยอมรับเอาความหมายของความสามัคคีที่เผด็จการหยิบยื่นให้ไปเชื่อเอาเองว่านี่คือ ธาตุแท้ของความสามัคคีที่ไม่มีวันเปลี่ยนได้ ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจึงไม่ได้รื้อความเข้าใจเกี่ยวกับความสามัคคีเสียใหม่ ทั้งที่วรรณกรรมของวิชาปฏิบัติการสันติวิธีได้ศึกษาเรื่องนี้ และเสนอทางออกที่เรียกว่า ความสามัคคีเชิงสันติวิธี (nonviolent unity) เอาไว้แล้ว อันจะกล่าวถึงในส่วนต่อไป

เมื่อไม่ได้รื้อความเข้าใจเกี่ยวกับความสามัคคีเสียใหม่ และรับเอาความเชื่อของเผด็จการมา ผลร้ายจึงเกิดกับขบวนการประชาธิปไตยเองในหลายด้าน ด้านแรก คือ ขบวนการประชาธิปไตยขาดทักษะในการสร้างแนวร่วมระหว่างพวกเดียวกันเอง และก่อให้เกิดความไร้เอกภาพในขบวนการ เมื่อขับเคลื่อนประเด็นใดก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดพลวัตได้เต็มที่ ทั้งที่รู้เช่นนี้ ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะคนในขบวนการเชื่อไปแล้วว่าธาตุแท้ของความสามัคคี คือ การกดขี่และปิดกั้นเสรีภาพ ผลที่ตามมา คือ รัฐสามารถปราบปรามและอยู่ในอำนาจได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยแตกกันเองได้ โดยยังไม่ต้องลงไม้ลงมืออะไรด้วยซ้ำ กระบวนการที่ว่านี้ ในทางทฤษฎีเรียกว่า การทำให้เป็นอณู (atomization) กล่าวคือ ทำให้ประชาชนอ่อนแอและแตกกันเป็นฝักฝ่าย[1]

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งยิ่งเลวร้ายกว่าเสียอีก เมื่อไม่สามารถหลุดออกจากตรรกะความคิดของความสามัคคีเชิงกดขี่ได้ เวลาที่คนในขบวนการเรียกร้องให้เกิดความสามัคคี ความสามัคคีที่เรียกร้องกันอยู่ในขบวนการจึงไม่แตกต่างจากความสามัคคีประเภทที่เผด็จการเรียกร้องอยู่เลย พอขบวนการสร้างขึ้นจากความสามัคคีประเภทนี้ โครงสร้างองค์กรจึงมีลำดับชั้นต่ำสูงและเสี่ยงต่อการปราบปรามได้ง่าย ซึ่งเรียกว่า ขบวนการที่ลดหลั่น (hierarchical movement) เวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐ “เก็บหัวหน้า” ของขบวนการซึ่งเป็นศูนย์รวมของการประสานงานและการตัดสินใจไป ขบวนการก็จะอยู่ในลักษณะอัมพาตและไม่สามารถปฏิบัติภารกิจต่อได้ 

มิพักต้องกล่าวว่า เมื่อต้องปะทะจัดการกับความขัดแย้งภายในหมู่คณะก็ไม่สามารถแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่างได้ เพราะเชื่อว่าการหา “จุดร่วม” จะเป็นการปิดกั้นความหลากหลาย พอปราศจากจุดร่วม ความไม่พึงพอใจก็จะทวีขึ้นนำไปสู่การดูแคลนจุดยืนของกันและกัน อย่างที่เห็นกันในความขัดแย้งจากการรณรงค์ประชามติครั้งนี้ สภาพที่ว่านี้เป็นความหลากหลายที่ไม่น่าสบายใจ เพราะเป็น “ความหลากหลายเชิงบ่อนทำลาย (destructive diversity)” ซึ่งอาจนำไปสู่สภาพขบวนการที่ลดหลั่นได้ ไม่ใช่ “ความหลากหลายเชิงสร้างสรรค์ (constructive diversity)” อันเป็นสภาวะซึ่งจุดยืนและอัตลักษณ์ของผู้คนในขบวนการได้รับการเคารพและเป็นหัวข้อของการอภิปรายกันด้วยเหตุและผล

อ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ตั้งข้อสังเกตุว่า ความเชื่อเกี่ยวกับความสามัคคีเชิงกดขี่ที่ว่านี้มีหัวใจอยู่ที่ “ความสงบ” ซึ่งเป็น “วาทกรรมอำนาจนำ” (discourse hegemony) ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายอยู่ในสังคม[2] ความเชื่อที่ว่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่คนลงคะแนนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ส่งผลกระทบด้านกลับต่อฝ่ายประชาธิปไตยด้วย การต่อสู้กับวาทกรรมอำนาจนำที่ว่านี้ต้องใช้การต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมเป็นเวลานาน และเป็นพันธกิจที่เราไม่สามารถหวังพึ่งกับใครได้นอกจากต้องเริ่มด้วยตัวเองกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ อีกไม่นานเราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “สังคมพันลึก” (deep society) ที่จะต้องส่งทอด “ทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อการต่อต้าน (cultural resource of resistance)” ให้แก่คนรุ่นต่อไปในอนาคต อย่างที่ อ.เกษียร เตชะพีระ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้[3] เพื่อสืบทอดการสนับสนุนทางวัฒนธรรมของการต่อต้านขัดขืนที่ว่านี้แก่รุ่นต่อไป และทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการต่อสู้ระยะยาว จึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องถอดบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลังและตัวเราเอง

อย่างไรก็ตาม ขบวนการก็ยังประสบปัญหากับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดที่ว่านี้ ไม่ใช่เพราะไม่สามารถหลุดออกจากตรรกะวิธีคิดเกี่ยวกับความสามัคคีที่เผด็จการเป็นผู้กำหนดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับความเข้าใจเสรีภาพที่มีลักษณะจำเพาะของคนในขบวนการ ซึ่งเรียกว่า “เสรีภาพเชิงลบ (negative liberty)” ด้วย เสรีภาพที่ว่านี้ คือ เสรีภาพที่ปัจเจกบุคคลตระหนักรู้ว่าตนมีอยู่ และสามารถเลือกที่จะบรรลุได้ด้วยตัวคนเดียว[4] ดังนั้น รัฐและปัจเจกบุคคลอื่น ๆ จึงไม่ควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อละเมิดเสรีภาพดังกล่าว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของเสรีภาพประเภทนี้ คือ การจำกัดอำนาจของรัฐและการอดทนอดกลั้น (tolerance) ต่อความแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคล               

เสรีภาพเชิงลบที่ว่านี้เป็นฐานสำคัญของขบวนการมาระยะหนึ่งแล้ว กล่าวคือ ทุกคนตัดสินใจในฐานะของปัจเจกบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องข้องเกี่ยวกัน ในกรณีของประชามติ เสรีภาพเชิงลบสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน กล่าวคือ ใครอยากโหวตโนก็โหวตโน ใครอยากโนโหวตก็โนโหวต ไม่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ดูแคลนกันอย่างไรก็ต้องอดทนอดกลั้นกันให้ได้ ความขัดแย้งภายในขบวนการที่ว่านี้สอดคล้องกับหลักการเสรีภาพขั้นต่ำทุกประการ และเป็นหลักการที่สำคัญต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แข็งแรงด้วย               

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพที่ว่านี้ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญหลายด้าน ด้านหนึ่ง คือ เสรีภาพที่ว่านี้ไม่เพียงพอต่อการสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่เข็มแข็งได้ เนื่องจากทำให้การตัดสินใจอยู่บนฐานของปัจเจกบุคคลเพียงถ่ายเดียว เมื่ออยู่ในบริบทของการต่อสู้กับเผด็จการ เสรีภาพเชิงลบจึงทำให้ขบวนการตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบและถูกปราบปรามได้ง่าย เพราะทำให้ขบวนการไม่เป็นเอกภาพและถูกลดทอนลงเหลือเป็นเพียงปัจเจกบุคคล เมื่อผนวกกับความเข้าใจเกี่ยวกับความสามัคคีที่ยังไม่พ้นไปจากวาทกรรมของเผด็จการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ขบวนการที่มีลักษณะลดหลั่นและวางอยู่บนฐานของปัจเจกบุคคลเพียงถ่ายเดียวจึงยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก               

อีกด้านหนึ่ง ขบวนการที่ปฏิบัติการอยู่บนฐานของเสรีภาพเชิงลบยังอยู่บนในบริบทที่ขาดความเข้าใจเรื่องความสามัคคีเชิงสันติวิธีดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นด้วย กล่าวคือ ไม่สามารถหาจุดร่วมขั้นต่ำได้ จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อกันมากขึ้น อีกไม่นาน ความพึงพอใจก็ทวีคูณขึ้นนำไปสู่การดูถูกดูแคลนจุดยืนของกันและกันมากกว่าที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผล และเป็นตัวกัดเซาะความอดทนอดกลั้นของมนุษย์ให้หมดไป นำไปสู่การละเมิดเสรีภาพเชิงลบต่อกันในที่สุด การละเมิดสิทธิ์ที่ว่านี้เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว จากการที่อดีตผู้ซึ่งรณรงค์สนับสนุนให้โหวตโนท่านหนึ่ง ประณามนักกิจกรรมอีกท่านหนึ่งที่ออกไปฉีกบัตรเลือกตั้งว่า เป็นสิ่งที่ “เกินไป” ทั้งที่การกระทำดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอารยะขัดขืนและสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลทุกประการ อีกทั้งยังไม่ได้เป็นการไปทำลายภาษีประชาชนหรือละเมิดสิทธิในการลงคะแนนของผู้อื่นแต่อย่างใด               

คงพอจะเห็นแล้วว่า การปฏิเสธความสามัคคีด้วยการหันไปส่งเสริมความหลากหลาย และเสรีภาพเชิงลบเพียงถ่ายเดียวจะกลับกลายเป็นการทำลายเสรีภาพเชิงลบและความหลากหลายเสียเอง เพื่อทำลายข้อจำกัดที่ว่านี้ และส่งทอดทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อการต่อต้านขัดขืนที่ดีให้แก่คนรุ่นต่อไป

ผู้นิยมประชาธิปไตยและนักกิจกรรมในขบวนการจะต้องหลุดออกจากกรอบความเข้าใจเรื่องความสามัคคีและเสรีภาพแบบเดิม และขยายความเข้าใจเกี่ยวเรื่องนี้ให้กว้างขวางขึ้น ด้วยการคิดถึงการรื้อถอนวาทกรรมความสามัคคีเชิงกดขี่ออกไปอย่างสิ้นเชิง และแทนที่วาทกรรมดังกล่าวด้วยแนวคิดเกี่ยวกับความสามัคคีเชิงสันติวิธี ซึ่งวางอยู่บนของเสรีภาพเชิงบวก

0000`

 

เชิงอรรถ

[1] Gene Sharp, From Dictatorship to Democracy : A Conceptual Framework For Liberation (Boston : Albert Einstein Institution, 2010), p.3

[2] อ้างจากสเตตัสเฟสบุ๊คของอาจารย์จันจิรา สมบัติพูนศิริ ตามลิ้งค์นี้ https://www.facebook.com/jsombatpoonsiri/posts/10154363515079501

[3] อ้างจากบทความเรื่อง “รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” โดย อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นบทความทั้งหมด 3 ตอน สามารถเข้าถึงได้ตามลิ้งค์นี้

ตอนที่ 1 : http://www.matichon.co.th/news/156510

ตอนที่ 2 : http://www.matichon.co.th/news/167127

ตอนที่ 3 : http://www.matichon.co.th/news/176780

[4] แนวคิดเรื่องเสรีภาพเชิงลบและเสรีภาพเชิงบวก เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงโดยผู้ที่ศึกษาความคิดทางการเมืองหลากหลายคน นักคิดที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้มากที่สุด ได้แก่ Isaliah Berlin ซึ่งมีงานเขียนที่สำคัญได้แก่บทความเรื่อง Two Concepts of Liberty ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1958 ต้องขอขอบคุณพี่ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี รุ่นพี่ที่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่ช่วยให้ชี้แนะให้เข้าใจเนื้อหาในตัวบทนี้ได้ดีขึ้น และทำให้สามารถตกผลึกประเด็นนี้ที่ผมเองเข้าไปสำรวจได้ในที่สุด  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net