คนในมาราปาตานีอธิบายเหตุและผลที่คนปาตานีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปัดให้คำตอบวินาศกรรมภาคใต้

สองผู้เห็นต่างจากขบวนการมลายูปาตานี ให้คำอธิบายเหตุใดคนชายแดนใต้/ปาตานีส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ‘อาบูฮาฟิซ’ ชี้เพราะคนปฏิเสธรัฐบาลทหาร รวมประเด็นศาสนา การศึกษาและการแก้ไขความขัดแย้ง “หากไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนก็มักจะโดนปฏิเสธเสมอ”แต่ปฏิเสธให้คำตอบเหตุวินาศกรรมภาคใต้ตอนบน ส่วน ‘ดร.มุคตาร์’ ฟันธงหลังเลือกตั้งทหารยังมีอำนาจต่อไปและยังกุมอนาคตการพูดคุยสันติภาพ

ดร.มุคตาร์ อารีฟ-อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม

อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม แกนนำกลุ่มบีไอพีพี หรือ Barisan Islam Pembehbasan Patani (BIPP) และ ดร.มุคตาร์ อารีฟ จากกลุ่มพูโล-เอ็มเคพี (PULO-MKP) ได้ให้ความเห็นในประเด็นผลการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่รับรวมทั้งเหตุก่อวินาศกรรมในหลายจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนบนช่วงวันที่ 11 -12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งสองคนเป็นสมาชิกของมาราปาตานี (MARA Patani) ที่เป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานีเพื่อเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาล

อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม : การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมักถูกปฏิเสธเสมอ

อาบูฮาฟิซ อัลฮากิมแกนนำกลุ่มบีไอพีพี (Barisan Islam Pembehbasan Patani -BIPP) กล่าวว่า มุมมองและความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับผลการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559ของคนปาตานี เมื่อเร็ว ๆ นี้มี 4 ประการ ดังนี้

1.ปฏิเสธรัฐบาลทหาร กล่าวคือ เสียงส่วนใหญ่ของชาวปาตานีโดยทั่วไปปฏิเสธรัฐบาลทหารที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยและใช้วิธีการแบบเผด็จการ เสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้น สิทธิของประชาชนถูกลิดรอน และไม่สนใจหรือไม่เคารพกฎหมายของประเทศ และภายใต้รัฐบาลทหารหรือแม้แต่รัฐบาลพลเรือนเองก็ตาม ประชาชนปาตานีได้รับความเดือดร้อนมานานจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายทหาร

2.ประเด็นศาสนาอิสลาม กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ได้รับประกันว่าศาสนาอิสลามที่เป็นศาสนาที่ชาวมลายูปาตานีนับถือจะได้รับการปกป้อง ระบุเพียงแค่ศาสนาพุทธเท่านั้น ทำให้ชาวมุสลิมกังวลและสงสัยต่อเนื้อหาในส่วนนี้ จนทำให้พวกเขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

3.ประเด็นการศึกษา กล่าวคือ กระทบความช่วยเหลือแก่นักเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมทั้งของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมากในภาคใต้ จะทำให้คุณภาพการศึกษายิ่งแย่ลง และจะทำให้คนที่มีรายได้น้อยขาดโอกาสในการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

4.ความขัดแย้งทางการเมืองในภาคใต้ กล่าวคือ รัฐบาลไม่ได้ระบุว่าการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้จริงจังและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่ภาคใต้ด้วยสันติวิธี ทำให้รัฐบาลถูกมองว่าเลือกที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงและการเผชิญหน้าในการแก้ไขปัญหา และวิธีการนี้ก็ถูกปฏิเสธโดยคนปาตานี

“การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี เป็นสัญญาณที่ชัดเจนจากประชาชนว่า ทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก็มักจะโดนปฏิเสธเสมอ” อาบูฮาฟิซ กล่าว

ส่วนเหตุก่อวินาศกรรมในหลายจังหวัดภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวช่วงวันที่ 11 -12 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากการไม่รับร่างประชามติของคนใน 3 จังหวัดด้วยหรือ อาบูฮาฟิสไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ เพียงแต่ระบุสั้น ๆ ว่ามาราปาตานีเป็นการรวมกลุ่มของขบวนการต่าง ๆ เพื่อมาทำงานทางการเมือง จึงไม่ลงมือก่อเหตุรุนแรงส่วนกลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่นั้น ต้องไปถามแต่ละกลุ่มเอาเองว่า พวกเขามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด

มุคตาร์อารีฟ: ทหารยังมีอำนาจต่อไปแม้หลังเลือกตั้งไปแล้ว

ดร.มุคตาร์ อารีฟ จากกลุ่มพูโล-เอ็มเคพี (PULO-MKP) มองว่าผลประชามติที่ออกมาดังกล่าวจะส่งผล 3 ประการ คือ 1.ในฐานะที่ตนเป็นคนปาตานี คิดว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อมุสลิมทั่วประเทศไม่ใช่กระทบเฉพาะชาวมลายูมุสลิมปาตานีเท่านั้น

2.อำนาจของฝ่ายทหารในทางการเมืองการปกครองในอนาคตจะยังคงมีต่อไปแม้ในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดในอนาคตก็ตาม และ 3. กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพปาตานีเป็นที่ชัดเจนว่าทหารจะเป็นฝ่ายกำหนดอนาคตการพูดคุยต่อ แม้จะเป็นช่วงหลังเลือกตั้งทั่วไปแล้วก็ตาม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห่วงรัฐธรรมนูญใหม่ยิ่งเป็นเงื่อนไขขัดแย้ง ย้ำยิ่งต้องสร้างความมั่นใจในกระบวนการสันติภาพ

มุมมองต่อชายแดนใต้ “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญ ศาสนาและการศึกษาเป็นเงื่อนไขหลัก รัฐต้องรีบแก้ไฟใต้

รวมประเด็นข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับผลประชามติ 59 กับพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท