Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1.

น้องที่เป็นอดีตช่างภาพคนหนึ่ง ลาออกจากงานไปช่วยพ่อแม่ทำร้านอาหารอยู่ที่ตัวเมืองตรังโทรมาคุยกับผม เขาเล่าว่า ตั้งแต่มีเหตุระเบิดเมื่อวาน เช้านี้เมืองตรังแทบร้าง เขาบอกว่าเปิดอยู่เพียงครึ่งเช้ามีลูกค้ามากินแค่คนเดียว จึงตัดสินใจปิดร้าน

พ่อของเขาเดินออกไปนั่งร้านกาแฟหัวมุมถนน นั่งอยู่ชั่วโมงเศษอาแปะก็บอกว่าขอปิดร้านดีกว่า กลัวไม่ปลอดภัย พ่อกลับบ้านมาก็เล่าเสียงเครียดว่า "พวกแพ้ประชามติมันทำ..." พ่อพูดถึงชื่อคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูล น้องบอกว่า คนๆ นั้นเป็นทีมงานของ ส.จ.และเป็นหัวคะแนนพรรคการเมืองดังของเมืองตรัง และพ่อยังเอ่ยชื่อคนเสื้อแดงในตัวเมืองตรังขึ้นมาด้วยความเคียดแค้น หนึ่งในนั้นเป็นชื่อของ "โก..." ที่น้องบอกว่าหมดสภาพไปนานแล้วหลังรัฐประหารล่าสุด เขาไม่เชื่อว่า "โก..."คนนั้นจะมีศักยภาพก่อเหตุใดๆ เป็นเพียงคนเสื้อแดงที่คนเมืองตรังมองว่าเป็นพวก "ไข้" เพียงเท่านั้น แต่ข้อมูลจากสภากาแฟของอาแปะหัวมุมถนนก็แพร่สะพัดไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า คนตรังเคียดแค้น


2.

9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. นายปรีดีรีบเดินทางจากทำเนียบท่าช้างไปยังที่เกิดเหตุทันที แต่เมื่อไปถึงก็ถูกขอให้คอยอยู่ชั้นล่าง จนกระทั่งเวลา 12.00 น. จึงได้เข้าถวายบังคมพระบรมศพซึ่งถูกเคลื่อนย้ายและได้รับการตกแต่งบาดแผล แล้วโดยมิได้มีการชันสูตรพระบรมศพตามกฎหมายแต่อย่างใด

ในคืนนั้นมี การประชุมสภาเป็นการด่วน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อสภาฯ ว่าผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ควรได้แก่ สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว นายปรีดีได้กล่าวว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้วและบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัย ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ” และนายปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้สวรรคตเสียแล้ว

หลัง จากนั้นเป็นต้นมา ศัตรูทางการเมืองซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารที่สูญเสียอำนาจและพรรคการเมือง ฝ่ายค้าน ก็สบโอกาสในการเริ่มแผนโค่นล้มฝ่ายประชาธิปไตย บดขยี้ทำลายนายปรีดีให้ย่อยยับ โดยการกระจายข่าวไปตามร้านกาแฟและสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนตามหน้าหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

หลังจากนั้นปรีดีต้องระเห็จออกจากแผ่นดินแม่ และไม่มีโอกาสแม้จะสามารถกลับมาตายใต้แผ่นดินเกิดที่เขาเคยทำประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ไว้


3.

"พวกคอมมิวนิสต์อยากล้มสถาบัน" พวกมันขุดอุโมงค์และซ่องสุมอาวุธไว้ใต้ธรรมศาสตร์" และ "พวกมันเล่นละครแขวนคอพระโอรส" นี่คือเหตุผลที่ทำให้เกิดฉากโศกนาฎกรรมสะเทือนขวัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยและเป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาที่น่าหดหู่ครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก วลี "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" จากปากของพระภิกษุอย่าง "กิตติวุฑฺโฒภิกขุ" ซึ่งต่อมาถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพล กลุ่มกระทิงแดง ในสมัยนั้นนำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519


4.

"พวกเผาบ้านเผาเมือง" วลีนี้คงได้ยินจนคุ้นหู มันเกิดขึ้นตั้งแต่ 19 พฤษภา 2553 โดยฉากสำคัญคือเหตุการณ์เผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่เป็นดั่งแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ ทำให้ไฟพวยพุ่งขึ้นเหนือเมืองหลวง และกลายเปนภาพจำผ่านหน้าสื่อของสังคมไทยขณะนั้น กระทั่งปัจจุบันคำๆ นี้ก็ยังถูกใช้เพื่อแพร่ความเกลียดชังอยู่สม่ำเสมอ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 2 หนุ่ม นปช.ไปแล้วเพราะหลักฐานไม่เพียงพอตั้งแต่ 4 กันยายน 2557 แต่ทว่า คนเสื้อแดงก็ยังเป็นเหยื่อแห่งความเกลียดชัง ตกเป็นจำเลยของการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และถูกจับกุมคุมขังครั้งแล้วครั้งเล่า


5.

"อิสลามเป็นพวกก่อการร้าย"

"พวกมลายูแบ่งแยกดินแดน"

"โจรใต้"

ฯลฯ

นี่คือวาทกรรมที่ทำให้โฉมหน้าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และดูเหมือนยากที่จะแก้ไขให้กลับมาสมานฉันท์ได้ดุจเดิม แม้รัฐจะทุ่มงบประมาณไปแล้วนับล้านล้านบาทในห้วงระยะเวลาเพียงแค่ 12 ปี


6.

มันง่ายแค่ไหนที่เราจะชี้นิ้วว่า คนๆ หนึ่งเลวกว่าเรา

และง่ายกว่านั้นถ้าเราจะกระซิบให้คนอื่นฟังว่า คนอีกคนเป็นคนสร้างสถานการณ์ระเบิดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์

ไม่ต้องพูดถึงข้อเท็จจริง เพราะสังคมเราไม่ค่อยลงทุนด้านนี้

เชื่อเอาง่ายกว่า

และยิ่งเชื่อง่ายกว่านั้น ถ้าลึกๆ ในใจเรามีความเกลียดชังคนที่เขาเอ่ยถึงว่าเป็นผู้กระทำอยู่แล้ว

ในฐานะที่อยู่ตรงกลางของประวัติศาสตร์และบาดแผลแห่งความขัดแย้งชิงชัง ซึ่งพรากเอาชีวิตของบุคคลผู้เป็นที่รักของครอบครัว บุคคลผู้มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และบุคคลผู้ซึ่งมีคุณูปการต่อสังคมไปอย่างมากมาย ทั้งยังทำให้สังคมไทยติดหล่มไม่ได้พัฒนาไปไหนมานานเกือบครึ่งศตวรรษ เพียงเพราะบาง "วาทกรรม" ซึ่งเป็นอาวุธที่มีชีวิตของคนบางกลุ่มที่เห็นมนุษย์เป็นเพียงเหยื่อและเครื่องมือ คนที่ใช้มันหวังผลอะไรบางอย่างจากการใช้อาวุธชนิดนี้ และมันก็ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ซึ่งเราจะเลือกเอาอย่างใด ระหว่าง -อยู่ในฐานะผู้เผยแพร่ต่อวิธีการเช่นนั้น หรือ -หยุด และคิดถึงผลของมัน

ว่ากันว่า ก่อนสงครามจะเกิด สิ่งที่ถูกทำลายก่อนคือความจริง

หยุดเฮดสปีชทำลายเพื่อนร่วมชาติ อย่าให้เรากลายเป็นเหยื่อซ้ำซาก.

0000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net