Skip to main content
sharethis

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการจำนวนมากแต่ก็ยังไม่เป็นผลนัก แม้จะมี พ.ร.บ. หรืออนุสัญญาต่างๆ หลายฉบับ แต่การบังคับใช้กลับไม่เป็นผล พิจารณาการทำงาน-ทำความเข้าใจงานด้านคนพิการให้มากขึ้นผ่านเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ


เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

ภาพจาก http://dep.go.th/sites/default/files/images/event/DSC_7250.jpg

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย สตรีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนพิการ ผู้มีบทบาททั้งเป็นนายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการและผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนพิการอาเซียน เธอไม่เพียงพยายามที่จะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเท่านั้น งานของเธอยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนกลไก ปกป้องและคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่คนพิการพึงได้รับอีกด้วย

สิบกว่าปีแล้ว ที่เสาวลักษณ์เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า หลังรวมกลุ่มฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ซึ่งประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ทั้งเรื่องลิฟต์ ป้ายไฟ ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้งานขับเคลื่อนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมีความก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน

อะไรทำให้สนใจทำงานด้านคนพิการ

เพราะความพิการ ตอนไม่พิการ เราได้ทุกอย่างมาอย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องพยายามอะไร อยากเรียนก็ได้เรียน อยากทำงานก็มีงานทำ จะไปไหนก็กระโดดขึ้นรถ พออยู่กับความพิการ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนไทยเหมือนเดิม มีสิทธิที่จะทำงาน มีสิทธิที่จะสมัครงานที่ไหนก็ได้ และใช่ ถึงแม้สิทธิที่ว่าจะไม่ได้หายไปไหนเมื่อคุณเป็นคนพิการ คุณก็ยังสามารถสมัครงาน สมัครเรียนได้มากแห่งเท่าที่คุณต้องการ แต่กลับไม่มีใครเรียกเข้าไปสัมภาษณ์แม้แต่คนเดียว นั่นทำให้เริ่มคิดว่า แค่เปลี่ยนจากเดินมานั่งรถเข็น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นไปไกลกว่ามาก

หากมีบริษัทเรียกเข้าสัมภาษณ์ คนพิการก็ต้องแสดงความพยายามอย่างแรงกล้า เพื่อให้นายจ้างรับเข้าทำงาน นี่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ช่องว่างของคนคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถเท่าเดิม แต่ต้องนั่งรถเข็น กลับกลายเป็นภาระทางความคิดของคนในสังคมทันที สายตาที่มองก็เปลี่ยนไปเป็นสงสารเวทนา ทั้งๆ ที่เราต้องใช้เงินมากขึ้น ใช้ความพยายามมากขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเข้ามาหาคำตอบและทำงานในแวดวงคนพิการ เพื่อตอบตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้นในสังคม

ได้เรียนรู้อะไรบ้าง จากการเข้ามาทำงานในด้านนี้

อันดับแรกคือทัศนคติของสังคมที่ผลักให้ ‘ฉันเป็นอื่น’ สังคมไม่ได้เห็นเราเป็นคนเดิม ทั้งที่เราเป็นคนเดิม มีความเชี่ยวชาญแบบเดิม มีประวัติการทำงานเหมือนเดิม และเราก็มั่นใจมากว่าทำงานได้ดี สังคมเลือกที่จะตัดสินแล้วว่าเราทำไม่ได้ จากที่เคยชื่นชมเราเพราะทำงานเก่ง กลายเป็นความน่าสงสาร ทั้งที่เรายังรู้สึกว่าเรายังเก่งเหมือนเดิม

สอง เราจึงต้องพยายามมากขึ้นที่จะแก้ไขชุดความคิดเหล่านั้นและยืนยันความเป็นตัวของตัวเรา ยืนยันความต้องการของเรา และค่อยๆ ทำงานขยับขยายไปจากเรื่องทัศนคติ จนไปถึงเรื่องสิทธิ ผ่านการซึมซับเรื่องความหลากหลาย

“คนพิการก็ต้องแสดงความพยายามอย่างแรงกล้า เพื่อให้นายจ้างรับเข้าทำงาน นี่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ช่องว่างของคนคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถเท่าเดิม แต่ต้องนั่งรถเข็น จะกลายเป็นภาระทางความคิดของคนในสังคมทันที”

อะไรทำให้นโยบายด้านคนพิการในไทยยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ

โดยทั่วไป การแก้ไขเชิงนโยบายจะต้องแบ่งกลุ่มการทำงานเป็น 4 ด้าน กลุ่มแรก มุ่งเรื่องการสร้างทัศนคติเชิงบวก หากมีระบบบวกกับกฎหมายที่ดี จะทำให้คนสามารถดำเนินงานตามที่กฎหมายเขียนได้ จำเป็นต้องทำให้คนเข้าใจว่าประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้มีอะไรบ้าง ต้องปรับทัศนคติคนหลายๆ กลุ่ม

กลุ่มที่สอง ต้องขับเคลื่อนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านกายภาพ เช่น ลิฟต์ ทางลาด อย่างกรณีรถโดยสารนั้นก็ไม่ได้มีแค่เรื่องลิฟต์หรือทางลาด เราควรต้องมองไปถึงเรื่องทางเดินเท้า ที่จอดรถ เวลา และการทำให้คนสามารถเข้าถึงรถได้มากที่สุด

กลุ่มที่สาม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในคนพิการทางสายตา หากรถมาถึงที่จอด คนตาบอดหรือคนหูหนวกจะรับรู้และเข้าถึงได้อย่างไร ในต่างประเทศสถานีรถประจำทางต่างๆ มีป้ายไฟวิ่ง เสียงเตือน เสียงพูด ฯลฯ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่มีครบทุกอย่าง ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ไม่ได้อำนวยความสะดวกเฉพาะคนพิการ แต่เอื้อสำหรับทุกคน เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่คนทุกคนที่จะคุ้นชินกับการเดินทางทุกเส้นทาง หากเราต้องเดินทางครั้งแรก

กลุ่มที่สี่ คือด้านทฤษฎี บ้านเรามีกฎหมายจำนวนมาก  รวมทั้งมีกฎหมายเก่าๆ ที่ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้เข้ากับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการหรือซีอาร์พีดีอยู่หลายตัว บางตัวออกมาแล้วก็ยังใช้งานไม่ได้จริง เนื่องจากคนออกกฎหมายไม่ได้เป็นผู้ที่ประสบปัญหาและใช้งานจริง ไม่เห็นปัญหาและไม่ได้มีความรู้เรื่องคนที่มีความหลากหลายในสังคม อีกทั้งไม่ครอบคลุมสำหรับคนทุกประเภท

พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ไทยมียังบกพร่องในเรื่องอะไรบ้าง

พ.ร.บ.นี้ยังบกพร่องในเรื่องสิทธิผู้หญิงและเด็กพิการ ถึงแม้จะกล่าวถึงเรื่องสิทธิที่คนพิการพึงได้รับไว้อย่างกว้างๆ แต่เมื่อเป็นเด็กพิการ สิทธิเหล่านั้นกลับตกเป็นของผู้แล ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจแทนโดยไม่ระบุถึงผลประโยชน์ของเด็ก และไม่มีการให้อำนาจกับเด็กหรือสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจของเด็ก เพื่อให้เด็กตัดสินใจได้อย่างถูกต้องตามความสนใจของตัวเอง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Best interests of the child ซึ่งประโยคนี้ถูกระบุอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ แต่กลับไม่ได้ถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ของไทย จึงอาจต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่การเริ่มออกกฎหมายว่า คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนั้นมีความหลากหลายทั้งชายและหญิงแล้วหรือยัง

ประเด็นเหล่านี้เป็นนโยบายสาธารณะที่ควรทำควบคู่กันไปทั้ง 4 ด้านและไม่ควรมองว่าเป็นประเด็นเรื่องคนพิการเท่านั้น แต่ต้องมองให้กว้างว่า นี่คือประเด็นสาธารณะที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ล้วนแต่เป็นนโยบายสาธารณะทั้งสิ้น การพัฒนานโยบายสาธารณะจึงจะทำให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น การจะสื่อให้สารประเด็นเหล่านี้ออกไปสู่สังคม จำเป็นจะต้องมีความหลากหลายในตัวสาร ไม่ควรมีด้านเดียว ซึ่งคนพิการจะต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้ออก

ที่ผ่านมาเห็นความพยายามของคนพิการในการออกมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ปัญหาหลักอะไรที่ทำให้การสื่อสารไม่สัมฤทธิ์ผล

เรายังไม่มีความสามารถในการสื่อสาร ไม่สามารถส่งสารสู่สังคมในเชิงสาธารณะ สิ่งที่คนพิการทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถเมล์ รถไฟ เครื่องบิน หรือการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ฝึกอาชีพ การจ้างงาน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายสาธารณะที่มีความต้องการจำเพาะที่แตกต่างกัน เกิดจากความแตกต่างของคน เช่น ความต้องการของคนที่มีความพิการก็ยังแบ่งแยกย่อยได้อีกอย่างความพิการของชนกลุ่มน้อย ความพิการของคนเป็นเอชไอวี ความพิการของคนไร้บ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ Differences of social status รวมทั้งยังมีความแตกต่างเรื่องเพศ อายุ ฯลฯ หากคนพิการนำเสนอในประเด็นของตัวเองมาก สังคมก็อาจมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากและห่างไกลตัวเอง จึงทำให้การขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นกลายเป็นการขับเคลื่อนเพื่อคนเฉพาะกลุ่มมากกว่าการขับเคลื่อนเพื่อระบบสาธารณะ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เริ่มคิดถึงความคุ้มค่า จำนวนคนที่ได้ประโยชน์ ความคุ้มทุน และอัตราการใช้งานของคนเป็นธรรมดา

แสดงว่าการออกกฎหมายลูกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ นั้นก็มีความจำเป็นในบริบทประเทศไทย

ในบริบทของประเทศไทยหรือในหลายๆ ประเทศ การออกกฎหมายยิบย่อยยังมีความจำเป็น เพราะกระบวนการแก้ที่ตัวกฎหมายนั้นกินเวลานานและทำได้ยาก อีกทั้งเพราะรัฐธรรมนูญของเรานั้นพูดไว้ในภาพค่อนข้างกว้างในประเด็นคนพิการ จนอาจทำให้สิทธิที่คนพิการพึงได้รับนั้นถูกเขียนอย่างหลวมๆ การออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้จึงมีความจำเป็นมาก ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ก็พูดแต่เรื่องที่กว้าง เราจึงจำเป็นจะต้องมีการพูดเรื่องย่อยๆ เพื่อให้ลงลึก เช่น ในมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติก็ไม่ได้กล่าวถึงขั้นตอน การบังคับใช้และบทลงโทษ นอกจากนี้อาจต้องเพิ่มขั้นตอนการเยียวยากลุ่มคนที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วย

แนวทางการปฏิบัติมีได้ตั้งแต่ในระดับของไกด์ไลน์ หรือหากต้องการมิติของผลบังคับใช้ที่มากขึ้น อาจออกมาเป็น พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ฉะนั้นสาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ต้องการน้ำหนักในการปกป้องคุ้มครองแค่ไหน หากต้องการการปกป้องคุ้มครองที่สูง กฎหมายก็ต้องออกมาในระดับเดียวกัน ทั้งนี้การออก พ.ร.บ. ทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกัน ตั้งแต่กฎหมายลูกไปจนถึงรัฐธรรมนูญ และยังต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ไปให้สัตยาบันไว้อย่างซีอาร์พีดีอีกด้วย

การให้สัตยาบันในกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ไทยต้องระมัดระวังอะไรบ้าง

คงต้องย้อนมองตั้งแต่คนร่างและการออกกฎหมายว่า มีความเข้าใจและศึกษาเนื้อหาของตัวอนุสัญญาแค่ไหน คนที่จัดทำควรต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสาระ และรู้ว่าอนุสัญญาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับอะไรบ้าง สนใจในประเด็นร่วมและเข้าใจในหลักที่ว่า ไม่ใช่เพียงการออก พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการเท่านั้นที่ต้องจัดทำให้สอดคล้องกับซีอาร์พีดี แต่การออก พ.ร.บ. อื่นๆ เช่น พ.ร.บ.เกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง แรงงาน ฯลฯ ก็ต้องคำนึงและมีความสอดคล้องกันด้วย เพราะหากเมื่อไหร่ที่มีความไม่สอดคล้อง ก็อาจถูกคณะกรรมการสากลนั้นส่งข้อเสนอแนะแก้ไข

การได้รับข้อเสนอแนะแก้ไขส่งผลอย่างไร

ข้อแก้ไขของคณะกรรมการไม่มีบทลงโทษ แต่สิ่งที่จะทำให้ประเทศแต่ละประเทศปรับปรุงตามข้อเสนอแนะนั้นอยู่ที่เครดิตของประเทศ หากมีข้อเสนอแนะ แล้วคุณไม่ทำก็จะเสียเครดิต ประเทศที่คำนึงถึงภาพลักษณ์ตัวเองจึงมักทำตามข้อเสนอแนะทุกข้อเสนออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ข้อเสนอแนะไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนาระบบ ระเบียบของกฎหมายในประเทศ

“ถามว่าการหายไปของสิทธิคนพิการในร่างรัฐธรรมนูญนี้จะก่อให้เกิดปัญหาไหม แน่นอนว่าต้องเกิด การเขียนหรือไม่เขียนในบริบทตอนนี้ของประเทศไทยนั้นไม่ค่อยสำคัญแล้ว ปัญหานั้นยังมีอยู่เหมือนเดิม เราต้องกลับมาดูที่การขับเคลื่อนงานที่ต้องขับเคลื่อนแบบมียุทธศาสตร์”

พอเป็นบริบทประเทศไทยซึ่งไม่แคร์ภาพลักษณ์ของตัวเองมาก จึงต้องวนกลับมาพึ่งพลังของเจ้าของปัญหาเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง อีกทั้งเพื่อสร้างให้เกิดวาระสำคัญร่วมกัน เข้าใจประเด็นสำคัญให้ตรงกันเพื่อขับเคลื่อน เพราะภาคประชาสังคมเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงตรง และถูกต้อง

ในร่างรัฐธรรมนูญ สิทธิคนพิการถูกเปลี่ยนเป็นหน้าที่รัฐ จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่

หากถามว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนมีเรื่องสิทธิคนพิการไหม คำตอบคือมี แต่ปัญหาของคนพิการก็ยังมีอยู่ ฉะนั้น ถ้าถามว่าการหายไปของสิทธิคนพิการในร่างรัฐธรรมนูญนี้จะก่อให้เกิดปัญหาไหม แน่นอนว่าต้องเกิด การเขียนหรือไม่เขียนในบริบทตอนนี้ของประเทศไทยนั้นไม่ค่อยสำคัญแล้ว ปัญหานั้นยังมีอยู่เหมือนเดิม เราต้องกลับมาดูที่การขับเคลื่อนงานที่ต้องขับเคลื่อนแบบมียุทธศาสตร์ ให้สิ่งที่มีแม้จะเป็นส่วนที่น้อยนิดนั้นทำได้จริงและผลักดันให้มีผลปฏิบัติจริง

หากเราขับเคลื่อนแบบไม่มียุทธศาสตร์ เราก็ไม่สามารถส่งสารให้กับสังคม นักการเมือง หรือนักกฎหมายเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เราพยายามผลักดันนั้นเป็นเรื่องที่คน 70 ล้านคนทั่วประเทศจะได้รับผลประโยชน์อย่างไรบ้าง

ทำไมการต่อสู่เรื่องคนพิการในต่างประเทศ คนไม่พิการถึงเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างมาก

หนึ่ง ในต่างประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปนั้นมีความเป็นตัวบุคคลสูง คำว่าสิทธิมนุษยชนนั้นอยู่ในธรรมชาติของเขา เพราะเขาอยู่ในประเทศที่เป็นแบบนั้น

สอง แต่ละคนมีความแตกต่างและเข้าใจถึงความแตกต่างนั้น ทุกคนมีเอกลักษณและอัตลักษณ์ของตนเองสูง สามารถโชว์ได้ว่ามีความแตกต่าง เขาถึงไม่มองว่าความแตกต่างอย่างความพิการเป็นเรื่องแปลก และตระหนักว่าเรื่องของคนพิการก็เป็นเรื่องของเขาด้วยเช่นกัน ส่วนมากอาสาสมัครต่างชาติจึงจะไม่ลังเลที่จะเข้ามาทำเรื่องประเด็นคนพิการ

ในต่างประเทศไม่มีเรื่องบาปบุญ คาแรคเตอร์ของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเชื่อเรื่องศาสนา บาป-บุญ รุ่นพี่-รุ่นน้อง เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ทำความดี คำสอนพวกนี้ถูกถ่ายทอดมานาน เป็นเสมือนหลักจิตวิทยาและกุศโลบายที่สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนทำแบบนั้น พอทำบ่อยเข้าก็ส่งผลต่ออิทธิพลทางความคิด กลายเป็นว่า ถ้าต้องการกระตุ้นให้คนทำบุญเยอะๆ ก็ต้องหาสิ่งมาจูงใจ อีกเรื่องที่สำคัญคือการนอบน้อมถ่อมตนและเคารพผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องแยกออกจากกระบวนการทำงานทุกชนิดไม่งั้นแนวคิดและการพัฒนาจะไม่เกิดขึ้น เพราะความคิดของผู้น้อยเหล่านั้นมักไม่ได้ถูกเปิดเผย

เมื่อเราเอาองค์ความรู้จากต่างประเทศมาใช้ในไทย มักต้องปรับเปลี่ยนพอสมควร ต้องใช้วิธีการพูดที่อ่อนนุ่มมากขึ้น คนไทยชอบการพูดอ้อมๆ บ้านเราละเลยเรื่องการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เราพยายามที่จะใช้กฎหมายมาบังคับ คนก็อยู่ภายใต้กฎหมายด้วยความเก็บกฎและมีทัศนคติไม่ดี ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว

ควรใช้วิธีไหน ในการทำงานกับทัศนคติ

การทำงานกับทัศนคตินั้นค่อนข้างยาก แต่ต้องทำและสามารถทำควบคู่กันได้กับทุกเรื่อง ถ้ามีความละเอียดอ่อนพอ ไม่ต้องอาศัยการเปิดคอร์สปรับทัศนคติ หลักสำคัญในการทำงานคือเราต้องทำให้ประเด็นต่างๆ กลายเป็นประเด็นสาธารณะ ยกความพิการออกไปก่อน ตัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งและละลายทัศนคติเก่าออกไปก่อน พยายามดึงคนพิการหลากหลายประเภทเข้ามาร่วม และเปิดโอกาสให้คนได้แสดงทักษะความเป็นผู้นำและมีส่วนร่วม

ข้อเสียของนักเคลื่อนไหวกลุ่มคนพิการคือ เมื่อทำอะไรก็จะมุ่งในประเด็นเดียว ซึ่งนี่จะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ แต่เกิดเพียงการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้า เรียกร้องมา ได้มา โดยไม่มีการพัฒนาเชิงระบบที่ยั่งยืน และไม่มีการยกระดับงานที่ได้มานั้นอย่างเป็นระบบ

แสดงว่าเราก็ต้องทำให้สถานประกอบการณ์ต่างๆ เห็นว่าเขาได้ประโยชน์จากการทำงานกับคนพิการ

แน่นอน ธุรกิจต้องมีแรงขับเคลื่อน ถ้าเขามีทางลาด มีทางขึ้น ลิฟต์ ป้ายที่สวยงาม มันก็ช่วยให้ธุรกิจเขามีคนใช้งานมากขึ้น

เมื่อมีคนพิการใช้งานบีทีเอส คนกลุ่มแรกที่โดนผลักภาระไปให้ก็คือกลุ่ม รปภ. เมื่อเขาเจอคนพิการ รปภ. ก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรเพราะไม่ได้ถูกอบรมเรื่องการดูแลคนพิการมาก่อน มันไม่ใช่หน้าที่เขา แต่ระบบกลับผลักให้พวกเขาต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อพบเจอผู้โดยสารใช้วีลแชร์และไม่มีทางลาด รปภ. ก็ต้องยก แบก หาม ตามแต่จะถนัดเพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นไปได้ หลายสถานีที่ไปทดลองใช้ก็ต้องใช้ระบบ รปภ. ยกเพราะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก รปภ. ก็เกิดความกังวลเพราะเขาต้องมารับผิดชอบชีวิตคนๆ หนึ่ง ยกขึ้นยกลง เหนื่อย หนัก ถ้าหากทำเราตกก็จะถูกไล่ออก ทำบ่อยๆ เข้าก็เกิดความเครียดและต่อต้านผู้โดยสาร ทั้งหมดเป็นเพราะระบบนั้นไม่ได้เอื้อให้คนทำงานแบบสมาร์ท สง่า และภาคภูมิใจในหน้าที่ของตัวเอง

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ปัจจุบันมีคนทำงานในหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ แต่ประสบการณ์เหล่านั้นควรถูกเอามาแชร์กัน โดยไม่แบ่งแยกพื้นที่ เพื่อให้ไอเดียต่างๆ ที่มีได้เอามาพัฒนาต่อ ซึ่งนี่เป็นเรื่องทัศนคติที่คนพิการจะต้องพัฒนาตัวเองหากคุณต้องการที่จะเป็นนักพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net