Skip to main content
sharethis

รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ใกล้ถึงวันประชามติ เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง: อัพเดตสถานการณ์การละเมิดสิทธิช่วงประชามติ ยังไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

16 กรกฎาคม 2559 ที่หน่วยลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โรงเรียนวชิรสารศึกษา จ.กำแพงเพชร เกิดเหตุบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนถูกฉีกขาด ตำรวจท้องที่จึงเข้าตรวจสอบ ภายหลังตำรวจพบว่าเกิดจากเด็กหญิง 2 คน อายุเพียง 8 ขวบ ไปวิ่งเล่นกันที่หน่วยลงคะแนน ซึ่งเป็นสถานที่เล่นประจำของทั้งสอง เมื่อเห็นบัญชีรายชื่อก็พยายามกระโดดคว้าทำให้ฉีกขาดลงมา ตำรวจเห็นว่ายังเป็นเด็กและทำไปโดยไม่มีเจตนา แม้จะมีความผิด แต่เด็กอายุไม่ถึง 10ขวบ จึงไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย[1] ภายหลังเหตุการณ์ไม่กี่วันผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรขาณุวรลักษบุรี ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิมหรือที่เรียกกันว่า “เก็บเข้ากรุ” จากสาเหตุที่ไม่รายงานเหตุดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา[2]

หลังจากนั้นมาเพียงแค่บัญชีรายชื่อของบางหน่วยลงคะแนนต้องลมฝนจนปลิวหาย ถูกสุนัขหรือลิงฉีกทำลาย หรือเด็กวัยรุ่นนำมาจุดไฟไล่ยุง ก็ล้วนปรากฏเป็นข่าวใหญ่ว่า เจ้าหน้าที่ต้องล้อมจับหรือรุดเข้าตรวจสอบ[3] หรือแม้แต่ธงโฆษณากาแฟผสมเห็ดหลินจื่อยี่ห้อ “กาโน” ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ยึด เพราะถูกเข้าใจว่าเป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ[4] ทำให้กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาอยู่ช่วงหนึ่ง (แม้คนที่โดนคงไม่ขำด้วย) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์ในช่วงใกล้ถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่ร่างขึ้นภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสะท้อนความกังวลของ คสช. ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ ได้เป็นอย่างดี

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีการจับกุมและคุกคามผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพออกมารณรงค์อย่างกว้างขวาง โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม2559มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากถึง 111 คน[5] และหากนับจนถึงวันที่ 5สิงหาคม 2559 มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วทั้งหมดอย่างน้อย 195 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 84 คน ในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึงหนึ่งเดือน ดูได้จากตารางและอินโฟกราฟิกท้ายรายงานที่แสดงจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีแยกตามข้อหา และเหตุการณ์หรือลักษณะกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี

 

ขี่ช้างจับตั๊กแตน

ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ปรากฏรายงานข่าวกรณีบุคคลฉีก-ทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ติดบนกระดานภายในหน่วยลงคะแนนในหลายจังหวัด ภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมบุคคลเหล่านั้น พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชนรวมแล้วมีอย่างน้อย 9 คน ทั้งจากกรณีแรกที่ จ.กำแพงเพชรตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จำนวน 2 คน กรณีที่สอง วัยรุ่นอายุ 15 ปี ฉีกมาจุดไล่ยุงระหว่างหลบฝนที่ จ.ขอนแก่น กรณีที่สาม เด็กมัธยมต้น 4 คน นำมาฉีกเล่นเพราะคิดว่าเป็นเอกสารเก่า กรณีที่สี่ เด็ก 9 ขวบ ดึงลงมาขยำปาเล่นที่ จ.ร้อยเอ็ด และกรณีสุดท้ายวัยรุ่น 15ปี นำบัญชีรายชื่อที่หล่นจากกระดานมาจุดไฟเล่นที่ จ.สตูล[6]

แม้ว่าบางกรณีตำรวจเพียงแค่จับกุมและตักเตือน แต่มีบางกรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีตามมาด้วย มีจำนวนทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ กรณีคือวัยรุ่นอายุ 15 ปี ที่ จ.ขอนแก่น ถูกแจ้งข้อกล่าวหา กระทำความผิดตามมาตรา 57 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฐานขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ และเข้าข่ายความผิดมาตรา 188 และ 360 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย และกรณีเด็กมัธยมต้น 2 ใน 4คนที่ จ.ระยอง ถูกนำตัวส่งฟ้องศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดข้อกล่าวหาในรายงานข่าว โดยมีการระบุว่าตำรวจและนายอำเภอห้ามชาวบ้านไม่ให้ให้ข่าว[7]

แม้ว่าบางกรณีตำรวจเพียงแค่จับกุมและตักเตือน แต่มีบางกรณีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีตามมาด้วย มีจำนวนทั้งหมด 2 ราย ได้แก่ กรณีคือวัยรุ่นอายุ 16 ปีที่ขอนแก่นถูกแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดตามมาตรา 57 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฐานขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ และเข้าข่ายความผิดมาตรา 188 และ 360 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานทำให้ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย และกรณีเด็กมัธยมต้น 2 ใน 4 คนที่ระยอง ถูกนำตัวส่งฟ้องศาลเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดข้อกล่าวหาในรายงานข่าว โดยมีการระบุว่าตำรวจและนายอำเภอห้ามชาวบ้านไม่ให้ให้ข่าว[8] ส่วนกรณีเด็ก9ขวบที่ร้อยเอ็ดถูกแจ้งข้อหาทำลายเอกสารซี่งเป็นทรัพย์มีไว้ใช้เพื่อสาธารณะ แต่ด้วยเหตุที่อายุของเด็กยังไม่เกิน10ปี ซึ่งตามกฎหมายแล้วแม้ว่าจะมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายตามมาตรา73ประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับกรณีของเด็ก8ขวบทั้ง2คนที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมว่ากระบวนการอยู่ในขั้นตอนใด[9]

จากพฤติการณ์ของเหตุการณ์ทั้งหมดพบว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ทราบว่าเอกสารบัญชีรายชื่อเหล่านี้คืออะไร ไม่ได้รู้ว่ากำลังทำลายเอกสารและสำคัญอย่างไร หรือกระทั่งเอกสารได้หลุดหล่นลงมาเอง จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดซึ่งไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรค3 และนอกจากนั้นตามกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแล้วการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการสถานพินิจ ซึ่งการดำเนินคดีทางอาญาต่อกรณีเหล่านี้ก็ไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อสังคมแต่อย่างใดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นและผลกระทบตามมา เช่น ในกรณีของเด็ก 9 ขวบที่ร้อยเอ็ด ขณะนี้แม่ของเด็กเกรงจะถูกดำเนินคดีจึงได้พาลูกย้ายออกจากพื้นที่ไปและไม่ได้กลับเข้าเรียนอีกหรือไม่

 

ไม่เข้าอบรม คดีไม่จบ

สืบเนื่องจากกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.) เมื่อวันที่ 19มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่ง คสช. และเจ้าหน้าที่ทหารในแต่ละพื้นที่ได้เข้าปิดกั้น ขัดขวางการจัดกิจกรรม และมีการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ12เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่5คนขึ้นไป ตามมาในภายหลังเป็นจำนวนอย่างน้อย 142 คน

ทั้งนี้ บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้เงื่อนไขตามวรรค 2ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เสนอให้บุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหารับสารภาพ และเข้ารับ “การอบรม” พร้อมทั้งยอมรับเงื่อนไขให้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง แทนการถูกส่งฟ้องต่อศาล ทำให้คดีของบุคคลนั้นยุติลง แต่ถ้าบุคคลใดยืนยันให้การปฏิเสธ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำ คดีก็จะขึ้นสู่ชั้นศาล โดยจนถึงปัจจุบันมีบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการอบรมนี้แล้วอย่างน้อย 56คน ใน 4จังหวัด ได้แก่

ภาคอีสาน ที่จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 12 คน เป็นกรณีแรกที่ใช้วิธีการนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 59[10]ต่อมาที่จังหวัดอุดรธานี ผู้ต้องหาจำนวน 19 คน ยินยอมเข้ารับการอบรมที่สถานีตำรวจ หลังจากเพิ่งได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาก่อนหน้าการอบรมจะเริ่มขึ้น คงเหลือผู้ต้องหา 4 คน ยืนยันจะสู้คดีโดยปฏิเสธข้อกล่าวหา[11]

กรณีที่จังหวัดสกลนคร ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 22 คน ซึ่งนอกจากถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 แล้ว 7ใน 23 คน ยังถูกดำเนินคดีข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ จากการฉีกบันทึกคำให้การฉบับเดิมของตนเองที่ให้การรับสารภาพ หลังจากเข้าให้การใหม่เป็นปฏิเสธ ทั้งนี้ 2 ใน 7 คนนี้ ท้ายที่สุดยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหาและยอมเข้ารับการอบรมในค่ายทหาร โดยเข้าใจว่าคดีทั้งหมดจะยุติ เอาเข้าจริง มีเพียงคดีชุมนุมเท่านั้นที่ถือว่าเลิกกันหลังทั้งสองเข้าอบรม แต่คดีทำลายทรัพย์ไม่ยุติไปด้วย

ภาคเหนือที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มีผู้ถูกแจ้งข้อหาถึงปัจจุบันจำนวน 23คน โดยมีการเรียกตัวมารับทราบข้อหาหลายรอบ[12] เบื้องต้นทั้งหมดยอมรับเข้าการอบรม โดยมี 5 ราย ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นชุดแรก ได้เข้ารับการอบรมในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วันเสร็จสิ้นไปแล้ว กระทั่งวันที่ 4 ส.ค. แม้เหตุการณ์เปิดศูนย์ปราบโกงจะผ่านมาเดือนเศษแล้ว ก็ยังมีการออกหมายเรียกให้บุคคลมารับทราบข้อกล่าวหาอีก 6 ราย

อีกกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ แต่ก็ถูกเรียกเข้าอบรมเช่นเดียวกัน คือกรณีที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ มีบุคคลถูกเรียกเข้าอบรมจำนวน 5ราย จากการที่มีรูปถ่ายสวมเสื้อโหวตโนเผยในเฟซบุ๊กของ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” หรือนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมเสื้อแดง ในวันที่ 19 ก.ค. โดยเป็นรูปถ่ายตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจใดในการให้เข้ารับการอบรม ทั้งที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา[13]

แม้ว่ากระบวนการเรียกเข้าอบรมจะทำให้คดีสิ้นสุดในชั้นตำรวจ ไม่เป็นภาระให้ต้องไปขึ้นศาลทหาร แต่การเลือกเข้ารับการอบรม ก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ต้องจำยอมรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ตนมีและได้รับการรับรองเอาไว้ แม้กระทั่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. เป็นผู้ประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ก็ตาม ไม่ได้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด

รูปแบบการเรียกอบรมดังกล่าว จึงไม่ต่างกับอะไรกับกระบวนการ “เรียกรายงานตัว” ของ คสช.ตลอดหลังการรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะมีลักษณะการบังคับ มิหนำซ้ำยังหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เนื่องจากถูกดำเนินคดีแล้ว ยังต้องเลือกว่าจะเข้าค่ายอบรมกับทางเจ้าหน้าที่ หรือจะไปต่อสู้คดีในศาล ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และใช้เวลานานเพียงใด ทางเลือกทั้งสองทางจึงไม่ใช่ทางเลือกที่บุคคลสามารถเลือกได้อย่างอิสระ แต่ถูกบังคับให้ต้องเลือก

 

จดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคม ยังเกิดเหตุการณ์การส่งจดหมายไม่ระบุทั้งชื่อผู้รับและผู้ส่ง จำนวนมาก รวมแล้วมากกว่าหนึ่งหมื่นฉบับ ตามตู้ไปรษณีย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดทางภาคเหนือ โดยภายในจดหมายเป็นบทวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะมีการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่มีปฏิบัติการในการติดตามหาตัวผู้ส่งจดหมายดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ติดตามบุกค้นบ้านที่ลำปางจำนวนอย่างน้อย2ราย และเชียงใหม่ 2 ราย แต่ก็ไม่พบหลักฐานใด จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม จนถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ดำเนินการจับกุม ควบคุมตัว และมีการดำเนินคดี อันเนื่องจากจดหมายดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 17 ราย โดยกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเชียงใหม่จำนวน 13 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ควบคุมตัวอยู่ภายในมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 7 วัน ขณะที่อีก 4 ราย ที่จังหวัดลำปาง ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อนได้รับการประกันตัว แต่กรณีสุดท้ายนี้ยังไม่ทราบชื่อและรายละเอียดทั้งหมด[14]

กรณีกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นและพนักงานองค์กรท้องถิ่นในเชียงใหม่ 13คน ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร มี 10 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, เป็นอั้งยี่ (มาตรา 209),เป็นซ่องโจร (มาตรา 210)และความผิดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61ซึ่งในวันที่4 ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้ง 10คน ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ส่วนอีก 3 คน ภายหลังมีรายงานว่า มี 1 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันนี้เพิ่มอีก อีก 1 คน ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และยังถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ มีคนซึ่งถูกออกหมายจับอีกหนึ่งรายในกรณีนี้ ได้ขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว[15]

นอกจากการจับกุมดำเนินคดีที่กล่าวไปแล้วเจ้าหน้าที่ยังได้เข้าค้นบ้านของนายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 29 ก.ค.59 เพื่อค้นหาจดหมายโต้แย้งร่างรัฐธรรมนูญ แต่พบเพียงร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 300 ชุด และคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 600 เล่ม บรรจุภายในกล่องกระดาษ ที่นำมาเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชน[16]

การจับกุมดำเนินคดีจากกรณีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ในช่วงแรกไม่มีใครทราบเนื้อหาของจดหมายว่าเป็นอย่างไร มีเพียงการกล่าวถึงในลักษณะว่ามีเนื้อหา “บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ภายหลังได้มีการเปิดเผยภาพของจดหมายดังกล่าวพบว่าเป็นบทความชื่อ “จริงหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน” กล่าวถึงความหมายของการลงประชามติ และวันที่จะมีการออกเสียงประชามติ จากนั้นเป็นเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการตีความของผู้เขียน และสุดท้ายเป็นการสรุปประเด็นของคำถามพ่วง โดยที่ลักษณะการใช้ภาษาในบทความดังกล่าว ก็เป็นแบบที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ตามหนังสือพิมพ์ ไม่ปรากฏถ้อยคำรุนแรงหยาบคายแต่อย่างใด

การตีความและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ซึ่งย่อมมีความเห็นแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป ทั้งเป็นสิ่งที่พึงส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะแม้แต่งการสรุปตีความในจุลสารการออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังพบการตีความที่คลาดเคลื่อน หรือมีเนื้อหาส่วนที่ไม่ได้ระบุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ[17] การจำกัดเสรีภาพในการตีความ และการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ด้วยจับการกุมบุคคลไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร และตามมาด้วยการดำเนินคดีความมั่นคง นำขึ้นสู่ศาลทหาร และใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ในกรณีที่เป็นการกระทำของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่รุนแรง และปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กับเพียงแค่การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่จะกำหนดอนาคตของคน ซึ่งจะต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกหลายสิบปี

                       

โพสต์เฟซบุ๊ก แปะใบปลิว และโนโหวตรายแรก

นอกจากเรื่องที่เป็นกระแสข่าวแล้ว ช่วงระยะเวลาเดียวกันยังเกิดการดำเนินคดีตามมาตรา 61ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ กับบุคคลอีกอย่างน้อย 6คน โดย 1ใน 6 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงด้วย ได้แก่

คดีที่สืบเนื่องจากมีการโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีแรก กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดอุบลราชธานี เข้าแจ้งความดำเนินคดีนายกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จากการที่นายกฤษกรโพสต์แถลงการณ์สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และภาพลงเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. [18]

กรณีต่อมา ศาลจังหวัดสงขลายังได้ออกหมายจับนายอุสมาน ลูกหยี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ความดีที่ต้อง แชร์”[19] เผยแพร่คลิปเสียงที่มีการวิจารณ์มาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพทางศาสนา[20] ส่วนอีกกรณีนายจำรัส เวียงสงค์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกผู้ช่วยนายทหารสืบสวนสอบสวน สังกัดมณฑลทหารบกที่ 26 แจ้งความดำเนินคดีในความผิดตาม มาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ เช่นเดียวกัน จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและใส่เสื้อมีข้อความที่มีใจความว่า “ไม่เอาหรอก” ในภาษาเขมร[21] และตำรวจได้ออกหมายเรียกนายจำรัสแล้ว[22] ซึ่งกรณีหลังนี้ เป็นการใช้กฎหมายอย่างไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ต้องให้กรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น

ส่วนกรณีใบปลิว ได้แก่ นายสามารถ ขวัญชัย อายุ 63 ปี ตกต้องสงสัยเป็นผู้เสียบใบปลิวโหวตโน พร้อมข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว บริเวณที่จอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ เขาถูกจับกุมและนำตัวไปฝากขังอยู่ในเรือนจำถึง 9 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว[23] อีกกรณีคือนายคำหล้า หรือวีระ ทาสี ถูกจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ต้นไม้คณะราษจง จอดำ เจริญ (ประชาชน 3.0)"ที่ศาลากลางหมู่บ้านบุพราหมณ์ จังหวัดปราจีนบุรี[24]

ส่วนกรณีโนโหวตรายแรกที่ถูกดำเนินคดีคือนายวิชาญ ภูวิหาร อายุ 47ปี สมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้กล่าวหานายวิชาญว่ายืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปลงประชามติ ปัจจุบัน นายวิชาญถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวน ที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี[25]

นอกจากการดำเนินคดีแล้ว ยังมีอีกสองกรณีที่ถูกตำรวจควบคุมตัวและเรียกพบด้วย คือกรณีนายอติเทพ อิ่มวุฒิ ถูกทหารยึดเสื้อโหวตโน ขณะสวมเสื้อดังกล่าวขี่จักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งถูกตำรวจเรียกสอบปากคำและค้นบ้าน[26] และกรณีของนายวศิน ไวยนิยา ที่ขีดฆ่าชื่อตัวเองและเขียนข้อความ “ไม่มีสิทธิ์ร่างจึงไม่ขอมีสิทธิ์ร่วม” บนบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงประชามติ จากนั้นตอนค่ำเขาถูกตำรวจเรียกพบเพื่อลงบันทึกประจำวัน[27] โดยยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

 

ห้ามเสวนาประชามติ

นอกจากกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่มักจะจบลงด้วยการที่ผู้ร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดีแล้ว ยังเกิดการการปิดกั้นงานเสวนาที่มีประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นติดต่อกัน 3งาน ระหว่างวันที่ 31กรกฎาคม – 1 สิงหาคม ได้แก่

กรณีแรก กิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโดย กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) นอกจากการพยายามเข้ายุติกิจกรรม ยึดเอกสารและรื้อป้ายเวทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแล้ว กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นยังเข้าแจ้งความ กล่าวหากลุ่มผู้จัดงานกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ อีกทั้ง สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นยังได้ตั้งข้อหา ผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หลังการลงประชามติ จะมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา[28] ส่วนกรณีงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี[29] และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[30] กิจกรรมต้องถูกยกเลิกไป

ทั้งสามกรณีนอกจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายปกครองจะพยายามทำให้กิจกรรมต้องยุติลงแล้ว มหาวิทยาลัยเองกลับมีบทบาทในการปิดกั้นเสรีภาพเสียเองด้วย ทั้งที่สถาบันการศึกษามีหน้าที่ให้การศึกษาและเปิดพื้นที่แก่การแสดงออก ถกเถียง เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญา

จากกรณีที่ได้กล่าวไปทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แค่ช่วงระยะเวลาตั้งแต่มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันออกเสียงประชามติ เมื่อวันที่ 20 เมษายน เป็นต้นมา จนถึง ณ วันนี้เป็นเวลา 3 เดือนเศษ สถานการณ์การปิดกั้นการแสดงออก และการเปิดให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด อยู่ในสภาวะย่ำแย่อย่างมาก ยิ่งใกล้วันลงประชามติ ภาวะที่บรรยากาศของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังคงไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางที่ดีขึ้น กลับยิ่งมีการคุกคามด้วยวิธีการต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นกว่า 80 คน ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน

แม้ว่าการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครั้งนี้จะมีมากถึงเพียงนี้ แต่ฝ่ายรัฐกลับออกมากล่าวอ้างว่า มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ นี้ มีเพื่อรับรองสิทธิของชนชาวไทย ในการแสดงความคิดเห็นโดยการออกเสียงประชามติ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต ไม่ได้มุ่งหมายใช้กับกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการดำเนินคดีด้วยมาตรา 61 นี้ก็เป็นบางส่วน แต่อีกบางส่วนก็เป็นข้อหาอื่น[31]

จากข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ได้นำเสนอในรายงานก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม และในรายงานนี้ เมื่อดูจากพฤติการณ์ของคดีที่เกิดขึ้น ได้บ่งชี้ว่าการดำเนินคดีเกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แสดงออกในลักษณะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียงฝ่ายเดียว โดยอ้างว่าเป็นการทำให้เกิด “ความวุ่นวาย” และเป็นการ “บิดเบือน” เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีลักษณะการใช้ข้อ “กฎหมาย” หลายข้อหา เข้ามาจำกัดควบคุมการแสดงออก นอกจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ แล้ว ยังมีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช., ข้อหาความมั่นคงตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สภาวะเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นให้เกิดขึ้นในสังคม ก่อให้เกิดบรรยากาศของการลงประชามติที่ทั้งไม่เปิดกว้าง ไม่เสรี และไม่เป็นธรรม ตลอดหลายเดือนก่อนหน้าการลงประชามติ

 

จำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด (แบ่งตามช่วงเวลา)

 

 

แบ่งตามข้อหา

 

 

 

 

 

แบ่งตามเหตุการณ์

 

 

ข้อหา/

เหตุการณ์

มาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติฯ

คำสั่ง หน. คสช. 3/58

.61 + 3/58

.61 +อั้งยี่(ม.209)+ซ่องโจร

(ม.210)

+ม.116

. 57 พ.ร.บ.ประชามติ+ม.188+ม.360

.61+ พรบ.คอมฯ

.360

ไม่ทราบ

หมายเหตุ

ศูนย์ปราบโกงฯ

 

142

 

 

 

 

 

 

9 คน ถูกดำเนินคดี 2คดี คนแรกแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกงฯและเปิดศูนย์ปราบโกงฯ สกลนครข้อหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 คนที่สองในคดีศูนย์ปราบโกงฯ ราชบุรีข้อหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และคดีที่สองครอบครองเอกสารรณรงค์ ราชบุรีข้อหาตามม.61 ส่วนอีก 7 คนถูกดำเนินคดีที่2ด้วยข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ

NDMแจกเอกสารประชามติ สมุทรปราการ

 

 

13

 

 

 

 

 

1 คน ถูกดำเนินคดี 2 คดี คือมีข้อหาครอบครองเอกสารรณรงค์ ที่จังหวัดราชบุรี

24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย

 

7

 

 

 

 

 

 

 

ครอบครองเอกสารรณรงค์ ราชบุรี

5

 

 

 

 

 

 

 

2 ใน 5 ราย ถูกดำเนินคดีอื่นในตารางร่วมด้วย

จดหมายวิจารณ์ร่าง รธน.

4

 

 

13

 

 

 

 

 

โพสต์ FB

3

 

 

 

 

1

 

 

 

อื่นๆ *

3

 

 

 

1

 

1

4

 

 

* ข้อหาตามม.61จากกรณีใบปลิว 2 ราย ชวนโนโหวต 1 ราย ข้อหาตามม. 57 พ.ร.บ.ประชามติ ม.188และม.360ในกรณีเผาไล่ยุง 1 ราย ข้อหาตามม.360เด็กฉีกบัญชีรายชื่อมาเล่น 1 ราย ส่วนกรณีฉีกบัญชีรายชื่อเล่นอีก 4 ราย ไม่ทราบข้อหา

หมายเหตุ- จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีของแต่ละเหตุการณ์เป็นจำนวนทั้งหมดของคดีนั้นๆ ซึ่งบุคคลบางรายถูกดำเนินคดี 2คดีจาก 2เหตุการณ์




[5]          เนื่องจากตรวจสอบพบภายหลังว่ามีบุคคลเดียวกันที่ถูกดำเนินคดี 2คดี ในต่างพื้นที่ 2 คน ได้แก่ นายศักดิ์รพี พรหมชาติ จากกรณีแถลงข่าวศูนย์ปราบโกงฯ วันที่ 5มิ.ย. และเปิดศูนย์ปราบโกงฯ สกลนคร วันที่ 19มิ.ย. และอีกรายคือ อนันต์ โลเกตุ ที่ถูกดำเนินคดีจากการแจกเอกสารที่สมุทรปราการ และกรณีเยี่ยมผู้ต้องคดีศูนย์ปราบโกงฯ ราชบุรี ส่วนรายละเอียดการละเมิดสิทธิช่วงประชามติอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=1089

[9]              http://www.matichon.co.th/news/227042

[12]        บุคคลที่ถูกเรียกรอบแรกวันที่ 4กรกฎาคมhttp://www.tlhr2014.com/th/?p=862และ บุคคลที่ถูกเรียกรอบสองเมื่อวันที่26กรกฎาคมhttp://www.tlhr2014.com/th/?p=1287

[22]                    http://www.dailynews.co.th/politics/512617

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net