Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเชื่อว่างานอนุรักษ์มันแยกกันไม่ขาดจากการเมือง นโยบายรัฐมีผลโดยตรงต่อการกำหนดชะตากรรมของทรัพยากร ดังนั้นการเคลื่อนไหวด้านนี้จำต้องต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองไปพร้อมกัน

เมื่อสองปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร ฝ่ายรัฐที่นำโดยข้าราชการประจำ ต่างชงเรื่องผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรออกมามากมาย เช่น เขื่อนแม่วงก์ , โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง , ท่าเทียบเรือน้ำลึก , เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น และท่าทีของรัฐบาลเองก็สนับสนุน มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ออกประกาศและคำสั่งมากมายมาส่งเสริม ดึงกลุ่มทุนเข้ามาจัดการกับทรัพยากร เช่น คำสั่งที่ 3/59 , 4/59 ที่ยกเลิกผังเมือง โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ จะตั้งที่ใดก็ได้

คำสั่งที่ 9/59 การข้ามขั้นตอนการทำ EIA ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราใช้ต่อสู้กับรัฐมาตลอด เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากร แต่กลับถูกคำสั่งดังกล่าวทำลายลง

คำสั่งที่ 17/57 เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน , เขตป่าไม้ถาวร , ที่ดิน สปก. ไปเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้กลุ่มทุนเช่าในราคาถูกและระยะยาว

ซ้ำร้ายกว่านั้น เราเคยรวมตัวออกมาต่อสู้กับทุกรัฐบาล เพื่อเรียกร้องแทนสัตว์ป่า เพื่อปกป้อง ทรัพยากรธรรมชาติ แต่วันนี้เราทำไม่ได้ มีการคุกคาม จับกุม แจ้งความดำเนินคดีกับคนที่ออกมาส่งเสียง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักศึกษานักกิจกรรม

เรายังคิดว่างานอนุรักษ์แยกขาดจากการเมืองอีกหรือ

พรุ่งนี้แล้ว (7 สค.) ที่จะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ คือการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

อยากฝากให้มองดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดอำนาจประชาชน สถาปนารัฐข้าราชการ การต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์ที่ผ่านมาจะพบว่า ระบบราราชการประจำหลายหน่วยงาน มีทัศนคติที่ไม่ดี และคนพวกนี้แหละที่ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อทรัพยากร

เราจะฝากความหวังกับคนพวกนี้ได้หรือ

2. หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คสช. และรัฐบาลนี้ จะแปลงรูปไปควบคุมกลไกคณะกรรมการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คุมสมาชิกวุฒิสภา(สว.) และองค์กรอิสระต่างๆ

เราจะฝากความหวังกับคนพวกนี้ได้หรือ เมื่อตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นคำสั่งและทัศนคติของคนพวกนี้ ว่าสวนทางกับการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนอย่างที่พวกเราต้องการ

3. ม.279 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ระบุให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. คงอยู่ต่อไป

เราจะทนอยู่กับบรรดาคำสั่งที่ทำลายทรัพยากรเช่นนี้หรือ

สุดท้าย ฝากถึงเพื่อน พี่ น้อง นักอนุรักษ์ ผมเชื่อเสมอว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม การตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคม การให้ชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นตัวเอง มิใช่การควบคุมจากรัฐส่วนกลางเท่านั้น

เรามิอาจฝากความหวังไว้ที่ใครได้

มาร่วมกันกำหนดอนาคตตัวเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net