Skip to main content
sharethis

2 ส.ค. 2559 บริษัท ป่าสาละ จำกัด จัดงานเสวนา “มองอนาคตพลังงานไทย เราควรถกกันเรื่องอะไร ?” ณ โรงแรม คราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี พาร์ค วิทยากรประกอบด้วย  ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

ปิยะสวัสดิ์ เปิดเวทีการเสวนาด้วยประเด็นเรื่องบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย โดยมองว่าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของภาคพลังงานไทย เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้ประกอบการภาคเอกชน

“ผมต้องการให้กลับไปสู่แนวทางการแข่งขันที่ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นและลดบทบาทของภาครัฐ ในอนาคตควรมีการเปิดให้การซื้อขายไฟฟ้าเสรีมากขึ้น ส่วนหน้าที่ของภาครัฐคือการกำหนดนโยบาย ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอิสระ เพื่อให้ทุกคนแข่งขันบนกฎกติกาเดียวกัน พร้อมกับการกำหนดค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพลังงานหมุนเวียนโดยอัตโนมัติ” ปิยะสวัสดิ์ กล่าว

ด้าน เดชรัต มองว่าในอนาคตเราต้องถกเถียงเรื่องโครงสร้างกันมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นที่ยึดโยงกัน คือ ‘เทคโนโลยี’ ทั้งที่พัฒนาจากต่างประเทศและเกิดขึ้นภายในประเทศ ‘คุณค่า’ คือมุมมองต่อประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ‘อำนาจ’ ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดนโยบายในอนาคต ทั้ง 3 เรื่องต้องได้รับความสนใจจาก ‘ผู้ประกอบการ’ ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

“พลังของผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่เราพูดคุยกันน้อยเกินไป แต่ผู้ประกอบการอาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ แต่รวมถึงชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อย ถ้าเราพูดถึงเทคโนโลยีที่พลิกโครงสร้างทางธุรกิจ (disruptive technology) เช่นรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับโครงสร้างทั้งสิ้น ตรงนี้ล่ะที่เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะคุยกันว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า และใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์” เดชรัต แสดงความเห็น

ขณะที่ ชื่นชม กล่าวว่า ประเด็นที่ควรถกเถียงก็คือโครงสร้างพลังงานไทยเช่นเดียวกัน โดยหยิบยกปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทมหาชนผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงการใช้เกณฑ์ผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invested Capital) เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดค่าไฟฟ้า ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีแรงจูงใจในการลงทุนในโครงการมูลค่าสูง และมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เกินความจำเป็น

นอกจากการพูดคุยเพื่อตอบคำถามว่าเราควรถกเถียงประเด็นด้านพลังงานใดในอนาคต สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้แนะนำหนังสือ “มายาคติพลังงาน” โดยผู้เขียน 3 ท่านคือ สฤณี อาชวานันทกุล ณัฐเมธี สัยเวช และสุณีย์ ม่วงเจริญ สนับสนุนทุนจัดพิมพ์โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich Ebert Stiftung - FES) หนังสือเล่มดังกล่าวรวบรวมคำถาม-คำตอบในรูปแบบที่เข้าใจง่ายจำนวน 30 ข้อ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ เช่น ไฟฟ้าจากถ่านหินถูกจริงหรือไม่ เราจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจริงหรือไม่ และพลังงานหมุนเวียนไม่มีทางทดแทนพลังงานหลักได้จริงหรือไม่ ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ ผ่านลายเส้นสบายของนักวาดการ์ตูนชื่อดังอย่างแชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

สำหรับผู้สนใจหนังสือ “มายาคติพลังงาน” สามารถติดต่อขอรับหนังสือหรือดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.salforest.com หรือสอบถามข้อมูลที่อีเมล info@salforest.com หรือโทร. 02 258 7383

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net