Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



มีเวลาอีกเพียง 3-4 วันก็จะถึงวันลงประชามติรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่มีเงาของ คสช. ทาบอยู่เบื้องหลัง 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การลงประชามติครั้งนี้ เป็นการลงประชามติที่ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน สาเหตุสำคัญก็เพราะฝ่ายรัฐปิดกั้นการแสดงออกของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีการจับกุมคุมขังผู้รณรงค์โหวตโน ขณะเดียวกันคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็หลบเลี่ยงไม่ขึ้นเวทีดีเบต ทำให้ไม่ต้องถูกซักถามจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่สามารถใช้กลไกรัฐและสื่อโฆษณารัฐธรรมนูญอยู่ข้างเดียว

แม้จะมีเสียงคัดค้านและให้เหตุผลที่มีน้ำหนักต่อการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (โปรดดูแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร) แต่ กรธ. ก็ไม่ได้ชี้แจงหักล้างข้อวิจารณ์เหล่านี้ แต่ใช้วิธีการสร้างวาทกรรมชี้นำสังคมในสองประเด็นสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง กับ ความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ

ผู้เขียนจะวิเคราะห์ วาทกรรมสองประการข้างต้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีแนวโน้มที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาหรือจะพอกพูนปัญหามากกว่าเดิม  

ประเด็นแรก คือ กรธ.มักเรียกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นฉบับปราบโกง ซึ่งก็ย่อมมีคนจำนวนไม่น้อยคล้อยตาม กรธ.   แต่ปัญหาคือ กรธ. ไม่ได้มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า อะไรคือกลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะปราบทุจริตอย่างครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ สิ่งที่ใหม่จริงๆ ในร่างนี้ที่ กรธ.หลายคนพูดถึงก็คือ การกำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผิดจริยธรรมก็อาจถูกถอดถอนจากองค์กรอิสระได้ 

แต่ปัญหาที่ กรธ. ไม่ได้ตระหนัก จากบทเรียนในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็คือ องค์กรตรวจสอบนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องความเป็นกลาง ดังคำพูด “สองมาตรฐาน” ที่แพร่หลายอยู่ทั่วไป หากยังจะใช้องค์กรอิสระที่ไม่ได้มีที่มายึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบและปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งโดยง่าย ดังเช่น อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งนายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงษสวัสดิ์ และนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเคยโดนมาแล้ว ก็จะทำให้การเมืองไทยกลับไปสู่วังวนของปัญหา สองมาตรฐาน อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมา ประชาชนคลางแคลงใจว่า องค์กรอิสระนั้นเข้มงวดกับบางพรรค แต่ผ่อนปรนกับบางพวก เช่น เหตุใดการตรวจสอบการสร้างโรงพัก 396 แห่ง ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จึงล่าช้า ตรงข้ามกับการลงดาบกรณีการรับจำนำข้าว ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญที่บอกว่าจะปราบโกงนั้น จะเป็นการปราบโกงและป้องกันการทุจริตทุกฝ่ายอย่างไม่มีสองมาตรฐาน 

นอกจากนี้ หลักการของการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตที่สำคัญก็คือ การเปิดเผย โปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ในบางอาณาบริเวณดูเหมือนการตรวจสอบจะเข้าไปไม่ถึง เช่น ข้อสงสัยในกรณีอุทยานราชภักดิ์ หากจะตรวจสอบปราบโกงจริงๆ ทำไมจึงไม่มีการการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใสมากกว่าการตรวจสอบและรับรองกันเองว่าไม่มีการทุจริต และทำไมจึงต้องมีการจับกุมนักศึกษาประชาชน ที่แค่นั่งรถไฟไปอุทยาน ซึ่งเป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ทำไมการตั้งคำถามเกี่ยวกับการซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 ที่ต่างประเทศยืนยันแล้วว่า เป็นเรื่องหลอกลวง จึงทำให้ผู้นำคสช. ต้องโกรธจัด และสื่อมวลชนก็ไม่อาจขุดคุ้ยลงลึกติดตาม ได้เหมือนการตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 

จากบทเรียนที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญโดยตัวมันเอง ไม่ได้มีหลักประกันว่า จะปราบโกงได้ แต่ต้องอาศัยการตรวจสอบจากสาธารณะ สื่อมวลชน ประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยปราศจาการข่มขู่คุกคามจากผู้มีอำนาจ จึงจะทำให้การตรวจสอบการทุจริตมีประสิทธิภาพ ซึ่งประชาชนสามารถเปรียบเทียบได้ว่า ในสังคมที่ประชาชนและสื่อมวลชนมีสิทธิและเสรีภาพ กับ ในบรรยากาศที่สิทธิและเสรีภาพถูกจำกัด สังคมแบบไหนจะตรวจสอบคอร์รัปชั่นได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

ประเด็นที่สอง กรธ. ยอมรับ “คำขอ” ของ คสช.ว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องให้ คสช.คงถืออำนาจพิเศษไว้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการให้ คสช.มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน มากกว่านั้น ในคำถามพ่วงยังจะให้ ส.ว. มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เรียกว่าทำลายหลักการความเสมอภาคเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยเสียราบคาบ  อีกประการหนึ่ง ที่อ้างช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะกำหนดแผนประเทศล่วงหน้า 20 ปี และรัฐบาลชุดต่างๆ จะต้องทำตามแผนที่กำหนด ไม่อาจจะเสนอนโยบายหรืองบประมาณนอกกรอบของแผนยุทธศาสตร์ หากทำนอกกรอบที่กำหนดอาจถูกถอดถอนได้

คำถามก็คือ การอ้างว่า จำเป็นต้องเสียหลักการในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นฟังขึ้นหรือไม่ การให้คนไม่กี่คน มีสิทธิพิเศษ มากำหนดนโยบายให้คนทั้งประเทศต้องเดินตามนั้น ฟังขึ้นหรือไม่ การเปลี่ยนผ่านที่ว่านั้น จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะดีกว่า หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะที่แย่กว่า

วิธีการคาดการณ์แนวโน้มอนาคตในทางสังคมศาสตร์วิธีการหนึ่งก็คือ การทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา ในกรณีนี้ก็คือ พิจารณาการบริหารประเทศของ คสช. ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ คนที่เข้าสู่อำนาจด้วยการขอคะแนนเสียงจากประชาชน จำเป็นต้องแคร์เสียงและความรู้สึกของประชาชน แต่สิ่งเหล่านี้ เราแทบจะไม่เห็นจากผู้นำ คสช.ดังเช่นมีการจับกุมคุกคาม ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลและแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจ เช่น ผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถูกจับกุมดำนินคดีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ หัวใจของระบอบประชิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีพื้นที่มีเวทีในการเจรจาต่อรองเพื่อปกป้องและเกลี่ยผลประโยชน์กัน แต่ระบอบอำนาจนิยม ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ดังจะเห็นได้จาก การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและการควบคุมอาคารในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันเป็นการยกเว้นกฎหมายทั่วไป เพื่อเอื้อกับนายทุนนักลงทุน โดยไม่คำนึงว่า คนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น จะถูกคุกคามเอาเปรียบจากนายทุน  หรือเมื่อประชาชนเดือดร้อนจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลก็อ้างว่า ไม่มีงบประมาณที่จะอุดหนุน โดยที่รัฐบาลที่มีผู้นำเป็นทหารให้ความสำคัญกับกองทัพ เลือกที่จะใช้เงินถึง 30,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือดำน้ำ ทั้งๆ ที่ ภูมิประเทศของอ่าวไทย ไม่เหมาะที่จะใช้เรือดำน้ำ

จากการเปรียบเทียบบทเรียนข้างต้น จึงไม่อาจจะมีความเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไม่มีที่มายึดโยงกับประชาชน จะคำนึงถึงและเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

มากกว่านั้นการมียุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้ล่วงหน้า นอกจากนั้นยังเป็นการลดทอนความสำคัญของการแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมือง และจะทำให้สังคมการเมืองไทย ย้อนกลับไปสู่การเมืองยุคก่อนทักษิณ คือ นโยบายพรรคการเมืองไม่มีความหมาย เพราะไม่ว่าพรรคไหนจะชนะมาจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องบริหารประเทศตามกรอบที่สภาพัฒน์วางไว้แล้ว ซึ่งอาจทำให้นโยบายใหม่ ๆ ที่คิดนอกกรอบเพื่อคนระดับล่างอย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด 300 บาท ต่อวัน เกิดขึ้นได้ยาก

กล่าวโดยสรุป ในความเห็นของผู้เขียน ข้ออ้างของ กรธ.ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง ยังไม่มีน้ำหนักมากพอว่า จะทำได้จริง และการอ้างความจำเป็นของการรักษาอำนาจในมือ คสช. ก็ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะพาประเทศไปสู่ภาวะที่ดีกว่า ซ้ำร้ายอาจนำพาประเทศถอยหลังไปสู่ยุคข้าราชการเป็นใหญ่ 

ดังนั้น การลงประชามติครั้งนี้จึงมีความสำคัญว่า ประชาชนจะยินยอมให้การใช้อำนาจแบบ คสช. ดำเนินต่อไปด้วยการโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนจะส่งสัญญาณบอก คสช.ว่า ก้าวเดินต่อไปของสังคมไทย ต้องให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิและส่วนร่วมกำหนด ด้วยการโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะกำหนดทิศทางของสังคมการเมืองไทยในอนาคต ต้องมาจากการหารือ ประนีประนอม ต่อรองของคนทุกกลุ่ม ภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนมีเสรีภาพ

โดยที่ คสช. ถอยออกไปห่างๆ ไม่ใช่ยังถือปืนและเอาคุกตารางมาข่มขู่คุกคามประชาชนเหมือน ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยย้อนยุคฉบับนี้. 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net