Skip to main content
sharethis

<--break- />

สรุปความจากประชุมวิชาการ 100 ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในวงเสวนา “พาสังคมไทยไปให้ถึง: คุณภาพแห่งชีวิต” และ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: สุนทรีย์แห่งชีวิต” จัดโดยกลุ่มคณะสังคมศาสตร์และมานุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อ 28 ก.ค.2559

“พาสังคมไทยไปให้ถึง: สุนทรีย์แห่งชีวิต”

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ.เริ่มต้นด้วยการเอาปาฐกถาชิ้นโปรดเรื่องอุดมคติ ซึ่งป๋วยแสดงปาฐกถาครั้งแรกของมูลนิธิโกมล คีมทอง สรุปความได้ว่า  ความยั่วยวนมายาแห่งโลกเรานี้จึงทำให้จำเป็นต้องมีผู้เคร่งเป็นอย่างยิ่งที่จะบังคับให้โลกเดินตามตน ไม่ใช่ตนเดินตามโลก ฯลฯ ฟังแล้วสวยงาม แต่คนที่จะบำเพ็ญตนแบบที่ป๋วยแปลมาจากสุนทรพจน์ของ ราล์ฟ วอลโด เอ็มเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) เจ้าของปรัชญา transcendentalism ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่อเมริกาเริ่มก่อตั้งประเทศโดยมีแนวคิด nationalism และมี naturalism ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย เอ็มเมอร์สันคิดอย่างนี้เพราะอเมริกาก่อตั้งบนฐานความเป็นประชาธิปไตยของประชาชน ความเป็นปัจเจกชนนั้นเหนือสิ่งอื่นใด

ในที่นี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องปรัชญาของเอ็มเมอร์สันกับของอาจารย์ป๋วยว่าของใครถูกกว่า แต่สังเกตได้ว่าทั้งสองมีอุดมคติคล้ายๆ กัน มองชีวิต โลก มนุษย์ อยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจุบันมีศัพท์ไม่ค่อยได้ใช้คือคำว่า “มนุษยภาพ” เป็นบทความของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่พูดไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2473 เป็นความจริงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ ทั้งสามคนนี้และนักเขียนต่างๆ ได้รับอิทธิพลของ modernity ซึ่งแผ่กระจายไปทุกที่แล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าใครได้ความคิดพวกนั้นมาจากไหน ที่สำคัญคือ ความคิดเหล่านั้นเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือมันทำให้คนที่เป็นนักคิดต้องตอบคำถามนี้ตลอดเวลาว่า ความเป็นคนคืออะไร ชีวิตที่อยู่อย่างมีความหมายเป็นอย่างไร และเช่นกัน นี่คือโจทย์ที่อาจารย์ป๋วยถามตลอดเวลา

คำถามที่สอง เรามีท่าทีและปฏิบัติอย่างไรในการรักษาความเป็นมนุษย์ตามที่เราเข้าใจ ท่ามกลางภววิสัยทางการเมืองต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไป ความคิดอุดมคติของป๋วย ด้านหนึ่งเป็นความเชื่อในอุดมคติ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านซึ่งตอบคำถามที่สอง คือ ต้องลงมือทำและต้องทำให้เห็นจริงด้วย จะได้รู้ว่าได้หรือไม่ได้อย่างไร อาจารย์ป๋วยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้ยินคนพูดว่าอุดมคติกินไม่ได้ ท่านก็คันปากบอกว่าไม่ได้ให้กิน เขาไว้ให้คิด เป็นหลักคิด แล้วพยายามทำไป ได้เท่าไรก็พยายามไป นี่คือวิธีคิดวิธีทำงาน ท่านไม่แยกระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติ

กลับมาถึงสุนทรีย์แห่งชีวิต มันก็คือความงามของชีวิต ชีวิตธรรมชาติและมนุษย์ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความงามเมื่อมองมันก็ต้องรับรู้ในกรอบ การเกิด การเปลี่ยน การพัฒนาของมันด้วย ความงามคืออะไร นักสนุทรียศาสตร์บอกว่ามองได้ 3 ระดับ ระดับ perception ผ่านโสตทัศนะ ระดับที่สองจะมีการ organize หรือจัดหมวดหมู่การรับรู้ ทำให้มีรูปแบบที่ให้ความพึงพอใจที่ดีขึ้น มีแบบแผนที่แน่นอน สุนทรียศาสตร์ก็อยู่ตรงนี้เอง แต่ที่พูดกันไปมากกว่านั้น คือ สิ่งที่เป็น “ศิลปะ” คืออารมณ์ความรู้สึกที่มีการแสดงออก แล้วรูปแบบนี้ต้องสอดคล้องกับภาวะอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถย้อนกลับไปก่อนวันนี้ได้ มันสะท้อนกลับไปจนถึงกาลสมัยอื่นๆ ความงามที่เป็นศิลปะถึงดูดดื่ม มีพลังต่อคนรับรู้ ถ้าเราดูสถาปัตยกรรมของตะวันตก ศิลปะคลาสสิคจะเห็นชัดในความงามสามขั้น ถ้ามีแค่ความงาม โลกก็ง่าย แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าสร้างความรักขึ้นในหัวใจมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีความปรารถนาที่จะเข้าใจคนอื่นก็จะไม่เกิดความเห็นใจ ความโศกเศร้า ซึ่งเป็นบ่อเกิดของอารมณ์สุนทรีย์ เวลาที่เรารับรู้ศิลปะวรรณกรรม ช่วงที่จะรับรู้ความงามเป็นระบบได้ คือ ต้องผ่านอารมณ์ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง

“ผมว่าความเศร้ามีน้ำหนักมากกว่าความรัก ความเศร้าเป็นตัวที่ทำให้เราเกิดความรักความเห็นใจคนอื่น ผมว่าพลังของการสร้างความเศร้าให้เกิดความเห็นใจ ทำให้กระบวนการทำให้ความงามเกิดขึ้น”  

อยากพูดว่าจริงๆ สำหรับความสลดใจซึ่งเป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก เราจะพบว่ามีศัพท์ที่หายไปจากวรรณกรรมไทยเลยคือ คำว่า “สังเวช” และคนที่อธิบายได้ดีคือ ศรีบูรพา

“ผู้ใดขาดความสังเวชสลดใจ ผู้นั้นไม่ใช่มนุษย์ ความสังเวชเกิดจากความอ่อนโยน ละเอียดปราณีต เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความพยายามในการเห็นใจในกันและกัน และโลกจะขาดความราบรื่นร่มเย็น ขาดความสะอาดหมดจด”  

“ถ้าเราเอาความคิดนี้ไปฉายในภาพที่เห็นวันนี้ ประชามติ ห้ามพูด จับเข้าคุก มันไม่มีความสังเวชกัน เราไม่เชื่อเลยว่าการเมืองจะมีเมตตาธรรม จะมีความสังเวช แต่กุหลาบ ป๋วยเข้าสู่การเมืองเพราะความสังเวชในความเป็นจริงของมนุษย์”

ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ คณบดีคณะศิลปศาตร์ มธ.กล่าวว่า เราจะพาสังคมไทยไปถึงสุนทรีย์แห่งชีวิตได้อย่างไรนั้นเป็นโจทย์ยากและจะขอเพียงชวนคิดบางแง่มุม เรามักเห็นว่ามีข่าวร้ายเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วโลกก็เป็นอย่างนี้มาตลอด ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้น เพราะมนุษย์ก็จะมีอุดมคติ อุดมการณ์ตัวเองที่จะเอาไปตัดสินคนอื่นอยู่ร่ำไป มนุษย์เป็นเช่นนี้ แต่ชอบคำของอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่องความสังเวชใจ ในสายการละครสิ่งที่เป็นหัวใจหลักด้านการละครคือ ความสามารถที่จะเข้าไปนั่งในความรู้สึก ความคิด จิตใจของคนอื่น เพื่อเป็นตัวละครหรือเขียนบทนั้นๆ ดังนั้น นักแสดงชั้นเยี่ยมต้องเข้าใจตัวละครตัวนั้นทุกมิติ เพื่อสร้างการกระทำต่างๆ นานา แม้จะเป็นฮิตเลอร์ก็ต้องเข้าใจมูลเหตุจูงใจ คนละครจะเข้าใจคำสำคัญอย่างว่า empathy แต่ชอบคำว่าสังเวชใจเพราะมันเจือปนกับความเศร้าและเห็นอกเห็นใจ หากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาได้ ชายหนุ่มคนที่เอามีดไปแทงคนแก่คนพิการในญี่ปุ่นเขาก็น่าจะเกิดคำถาม มันเกี่ยวกับสุนทรีย์แห่งชีวิตแน่นอน สุนทรีย์เกิดจากความอย่ากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจโลก เข้าใจชีวต และยอมรับอย่างมันที่เป็นเพื่อที่จะถ้าทำได้จะทำให้มันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

คำของป๋วยที่อยากเอามาเริ่มต้นชวนคิดนั้นเป็นการกล่าวในวันที่ป๋วยเป็นรองประธานหอศิลป์ พีระศรี เมื่อปี 2517 ป๋วยกับศิลป์ พีระศรี และศิลปินจำนวนหนึ่งร่วมลงทุนก่อสร้างหอศิปละนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งพิเศษที่คนใฝ่หาสุนทรีย์แห่งชีวิตไปรวมกัน ... ประชาคมใดที่เพิกเฉยต่อความงานและศิลปะ ประชาคมนั้นจะเจริญนั้นเสียไม่ได้ ... ประชาคมใดทำนุบำรุงศิลปะ จะเจริญ ไม่ใช่เจริญในด้านศิลปะอย่างเดียว แต่จะเจริญในด้านความดี ความจริง อันเป็นองค์ประกอบแห่งสันติสุขในสังคมมนุษย์

ทำอย่างไรความใฝ่ฝันนี้จะยั่งยืน มิใช่ท่านไม่ได้เริ่มไว้ แต่อะไรเป็นเหตุให้มั่นยั่งยืน ความยั่งยืนเป็นปัญหาเสมอ คนจำนวนมากรู้ว่า ฝันอย่างเดียวไม่พอ ลงมือทำในกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่พอ เพราะไม่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดผลกระทบและสันติสุขในวงกว้าง ทำอย่างไรจะเป็น creative city หรือ nation เป็นความผาสุกที่มันกว้างไกล ดูตัวอย่าง เมืองในอเมริกาที่มีการทำเมืองให้น่าอยู่, ในสิงคโปร์ มี Center of Livable and Sustainable Society รากฐานของสิ่งนี้ทั้งหมดคือ Dynamic Urban Governance หน่วยงานที่บริหารทั้งระบบ หลากมิติ นำไปสู่การวางแผนและปฏิบัติการที่ยั่งยืน

National Endownment for the Art (NEA) ในอเมริกาแบ่งแขนงทางศิลปะโดยให้ทุนสนับสนุนเยอะมาก มีงบ 1,400 ล้านยูเอสดอลล่าร์เมื่อปีที่แล้ว ครอบคลุมไปถึงงานวิจัยด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ศิลปินผู้ประกอบการขอทุนได้ และ NEA เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างนโยบายทางกฎหมาย ให้คนทั่วไปสนับสนุนได้ แล้วเอาไปลดหย่อนภาษี แสดงว่า NEA มีนโยบายที่จะขับเคลื่อนในหลากมิติ ไม่ใช่ทำตัวแค่ให้ทุนเฉยๆ มีหลายช่องทางที่จะมีความยั่งยืน

“นโยบายทางวัฒนธรรมมีความหมายที่ครอบคลุมกว้างไกลกว่านโยบายทางศิลปะ”

ถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้าตามโจทย์ที่ได้รับ เราคงต้องคุยกันเรื่องนโยบายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีผลกระทบมาก ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องใหญ่มาก ไทยเรามีนโยบายด้านนี้เข้มข้นและจะเห็นผลลัพธ์ในวันนี้มากมาย

นี่เป็นข้อเสนอว่า คุณภาพชีวิตอันมีความงามจรรโลงจิตใจนั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรง ซึ่งอยู่บนหลักการว่า พลเมืองควรมีส่วนร่วมและมีสิทธิได้รับสวัสดิการที่จะมีชีวิตที่ดีโดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม และควรต้องสนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมที่อยู่บนวิถีประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็บแบบท็อปดาวน์ ควรต้องสนับสนุนส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันของพหุวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้พื้นที่กับศิลปะชั้นสูงพวกวิจิตรศิลป์ พวก fine art เพราะศิลปะเหล่านี้เกิดจากากรบ่มเพาะทางสติปัญญา ทักษะ จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความนึกคิด มาหลายร้อยหลายพันปี เราจะใช้ความสัมพันธ์ทางอำนาจมาตัดสินงานเหล่านี้ไม่ได้ มันมีคุณค่าด้านอื่นด้วยเช่นเดียวกัน แต่ต้องให้พื้นที่ให้คนทุกชนชั้นสามารถสัมผัสได้ พร้อมกับศิลปะประชานิย หรือ popular art ทั้งหลาย ถ้ายืนตามหลักเหล่านี้ได้ ถึงจะมีนโยบายเชิงวัฒนธรรมได้

พาสังคมไทยไปให้ถึง: คุณภาพแห่งชีวิต

ผู้อภิปรายได้แก่ จิตติ มงคลชัยอรัญญา วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ., พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ., ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ดำเนินรายการโดย พรพรรณ วีระปรียากูร

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวว่า ตนได้รู้จักรูปธรรมของอาจารย์ป๋วยจากการถ่ายทอดของ ใจลส์ อึ๊งภากรณ์ ตามคำบอกเล่าของ ใจลส์ ป๋วยไม่ใช่นักสังคมนิยมไม่ว่าจะรูปแบบไหน ป๋วยเป็นเศรษฐนิยมที่เชื่อว่าความพยายามของตนจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมได้

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ความคิดของป๋วยในฐานะปัจเจกชนถูกก่อร่างขึ้นภายใต้สภาพของคุณภาพชีวิตของคน ป๋วยเติบโตมาในยุคที่มีพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธมาเพื่อสังหารมนุษย์ อีกทั้งยังมีระบบทางสังคมที่พร้อมจะทำให้คนตายทั้งเป็น สิ่งเหล่านี้ตกตะกอนกลายเป็นความโหดร้ายและความสิ้นหวัง เป็นยุคสสมัยที่เต็มไปด้วยความหวังและความสิ้นหวังไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะกลายเป็นฐานคิดของป๋วยในการมองอนาคตของชาติ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่าสังคมไทยหลังบทความจากครรภ์มารดาฯ นั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีการสังหารประชาชนกลางเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวคือความสำเร็จของฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สถาบันจารีตทางสังคม รวมไปถึงความสัมพันธ์ของการเติบโตของระบบทุนนิยม ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นถึงปัจจุบัน กล่าวโดยง่ายคือฝ่ายขวาไทยไม่เคยพ่ายแพ้ โดยสะท้อนออกมากลายเป็นการทำรัฐประหารสองครั้งในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษมานี้ ซึ่งมาจากการสถาปนาอำนาจในเครือข่ายเศรษฐกิจการเมือง

ษัษฐรัมย์ เล่าถึงเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานเคเดอร์นำไปสู่การเสียชีวิตของคนงาน สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน เป็นการทำงานที่ไม่มีการคุ้มครองและนอกเหนือกฎหมายแรงงาน ต่อมาคือเหตุการณ์แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่เสียชีวิตจากการลักลอบเข้าเมือง ก่อนหน้านี้ความตายที่ปรากฏต่อสาธารณะ เป็นความตายที่เกิดจากสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การประท้วง ชุมนุม สงคราม ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป ความตายที่ปรากฏกลับเป็นความตายที่มาจากช่วงเวลาที่เป็นปกติ เกิดขึ้นจนสังคมชาชินต่อความสูญเสีย ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตเชิงปริมาณที่ดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตเชิงคุณภาพกลับต่ำลง ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองในระบบการเมืองน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพของชีวิตประชาชนแย่ลงไป

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ปรากฏในบทความจากครรภ์มารดาฯ น้อยมาก สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างแบบพีระมิด มีคนรวยตรงส่วนยอดที่เป็นกลุ่มคนที่กระจุกตัวอยู่ภายใน และมีคนจนเป็นกรรมกรแรงงานเป็นส่วนฐานที่มีความกว้างอย่างมาก สิ่งที่ป๋วยมองเห็นคือ ถ้าโครงสร้างพีระมิดฐานกว้างมากขึ้นจะทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีความเปราะบาง นำไปสู่ความเสี่ยง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ฉันทามติสังคมประชาธิปไตยของประเทศยุโรปตะวันตกซึ่งสภาพสังคมดังกล่าวจะก่อให้เกิดการผลักดันฉันทามตินำไปสู่แรงบันดาลใจของป๋วยในการนำเสนอบทความที่มีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์เสนอว่า ความเป็นรัฐสวัสดิการในไทย ต้องเกิดจากการคิดค้นผ่านฉันทามติของสังคม ปัจจุบันมีรูปแบบของรัฐสวัสดิการมากมายในโลกที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ แต่สังคมต้องมีฉันทามติเพื่อกำหนดทิศทางของสังคม

ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ กล่าวเกี่ยวกับมิติของคุณภาพการศึกษา เมื่อตีความจากบทความจากครรภ์มารดาฯ จะพบว่า ในด้านของคุณภาพชีวิตของปัจเจกชน ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง รัฐต้องไม่ละเลยผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มีความเป็นสากลและไม่กีดกันทางเพศ จากนั้น การศึกษาต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เอาไปประกอบอาชีพได้ แต่การศึกษาต้องมอบความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมในชีวิต การศึกษาจำเป็นต้องพัฒนานักเรียนให้เป็นพลเมืองที่ดี เป็นเป้าประสงค์ทางการศึกษาที่สำคัญกว่าความรู้ ลำดับต่อมาคือ การศึกษาต้องเป็นธรรม คือเท่าเทียมและทั่วถึงกันระหว่างเมืองและชนบท ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่เท่ากัน มิติสุดท้ายของการศึกษาคือ คุณภาพการศึกษาที่สูงเพื่อพัฒนาคุณภาพคน โดยให้โอกาสแก่ผู้ที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจซึ่งการขจัดความเหลื่อมล้ำนี้จะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในด้านการศึกษา

จิตติ มงคลชัยอรัญญา กล่าวว่า บริบทของปัจจุบันกับในอดีต ในช่วงเวลาที่ป๋วยเขียนบทความจากครรภ์มารดาฯ มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถนำเอาภาพในปัจจุบันไปเปรียบเทียบได้ โดยบทความดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณูปการอย่างมาก ลำดับแรกคือ การทำให้เกิดการตั้งเป้าหมาย ตั้งแต่ปัจเจกไปจนถึงประเทศชาติ คือการสร้างวิสัยทัศน์ที่ดี ลำดับต่อมาคือ บทความชิ้นนี้เป็นเครื่องมือในการผลักดันสวัสดิการสังคมของประเทศที่กล่าวไว้อย่างครอบคลุมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี

จิตติเสนอว่า การศึกษาบทความดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สามารถมองได้หลากหลายมุม เช่นในมุมของการเข้าถึงข้อมูล แม้ว่าในยุคสมัยที่เขียนบทความจะยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ป๋วยก็เขียนถึงการได้รับข่าวสารข้อมูลโดยไม่มีการรบกวนจากโฆษณาซึ่งเปรียบได้กับการแทรกแซงข้อมูลเพื่อสอดแทรกโฆษณาชวนเชื่อ ต่อมาคือเรื่องการเมือง แม้ป๋วยจะไม่ได้เขียนข้อความลงไปมากนัก แต่ก็สามารถสื่อได้ถึงความต้องการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ เป็นการเพิ่มบทบาทประชาชน และเมื่อพิจารณาจากท่อนข้อความเกี่ยวกับการจัดการร่างของป๋วย หลังจากเสียชีวิตที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมแวดล้อมของป๋วย  สื่อให้เห็นว่าป๋วยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่าประเพณี เช่นเดียวกันกับเจตนารมณ์ในการมอบทรัพย์สินมรดกให้แก่รัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

จิตติกล่าวว่า การศึกษา การใช้อินเทอร์เน็ต ของไทยน่าเป็นห่วง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วยังด้อยอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ การจัดสรรที่ดินและการจัดการงบประมาณที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่

พิภพ อุดร กล่าวว่า บทความดังกล่าวพูดถึงคุณภาพของชีวิตได้ครบทุกมิติ เทียบเท่ากับงานวิจัยล่าสุดที่พึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2015 แต่เมื่อมาดูคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ จะพบว่าไทยถูกจัดอันดับสุดท้ายในหลายด้าน คุณภาพชีวิตที่วัดจากรายได้ การครองชีพ การศึกษา แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาแต่ก็ไม่ส่งผล เช่นการศึกษาที่ยังเป็นปัญหาทั้งเนื้อหาที่เรียนและการสอบวัดผล ส่วนคุณภาพชีวิตที่วัดยังมีปัจจัยเรื่องสันทนาการที่เป็นทางเลือกให้พักผ่อน ด้านวัฒนธรรมจรรโลงจิตใจยังต่ำอยู่ ด้านคุณภาพเกี่ยวกับสุขภาพ ประเทศไทยสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่จ่ายไป ด้านสุดท้ายคือสิทธิเสรีภาพในไทยที่ค่อนข้างต่ำ และอาจจะไม่ดีขึ้นในเร็ววัน

พิภพเสนอว่า ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตต่างๆ เราอาจไม่ต้องพึ่งรัฐเพื่อยกระดับคุณภาพก็ได้ ปัจเจกหรือชุมชน แม้กระทั่งเอกชนก็สามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ คือแนวคิดที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคม (social enterprise ) คือแนวคิดที่พัฒนามาจาก CSR โดยเป็นแนวคิดที่เอกชนสร้างกิจการมาเพื่อพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม เช่น กิจการรองเท้ายี่ห้อหนึ่งที่เมื่อขายได้หนึ่งคู่ก็จะบริจาคให้ผู้ยากไร้หนึ่งคู่ แนวคิดนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระรัฐในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม

จิตติกล่าวว่า ทางออกของปัญหาด้านคุณภาพชีวิตต่างๆ อาจจะไม่ใช่การพึ่งพารัฐ แต่เป็นการรวมตัวกันในชุมชนและสร้างภาคีร่วมกันกับชุมชนอื่น ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับรัฐและเอกชนได้ แม้ว่าเอกชนจะมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะบดบังทรัพยากรต่างๆ ของชุมชนได้ ความเข้มแข็งของภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการตอบโต้เอกชน โดยใช้แนวทางแบบสันติประชาธรรมในแบบของป๋วย กองทุนตัวอย่างคือกองทุนวันละบาทที่เป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชน ในปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่าหมื่นล้านบาท

จิตติกล่าวว่า มหาวิทยาลัยสามารถมีบทบาทในการช่วยเหลือชาวบ้านได้ โดยการช่วยพัฒนาความรู้ในการพัฒนาต่างๆ ให้แก่ชาวบ้าน โดยมีจุดเด่นคือความมีอิสระในการช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชน การเรียนรู้ยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชนที่เพิ่มมากขึ้นอาจจะช่วยกดดันรัฐในการผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในอนาคตได้

ชัยยุทธ กล่าวว่า แม้รัฐจะใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงการศึกษา แต่การพัฒนาคุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้รัฐใช้งบประมาณในการเป็นค่าแรงให้กับครูเพื่อจูงใจในการเข้าทำงาน แต่จากมุมมองของชัยยุทธ การใช้จ่ายดังกล่าวอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ ทางเลือกของการศึกษาไทยยังมีฐานะมาเป็นส่วนตัดสินอนาคตของเด็ก เช่นเด็กที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีทุนทรัพย์จำกัด ทำให้ทางเลือกในการศึกษามีน้อย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเด็กที่ตกหล่นไป เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ทำให้การพัฒนาการศึกษายังไม่สามารถเข้าถึงเด็กทุกคนได้ โจทย์สำคัญของการศึกษาคือการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเท่าเทียมในการศึกษาของไทยรวมไปถึงรูปแบบในการจัดสรรงบประมาณ

ษัษฐรัมย์กล่าวปิดงานเสวนาว่า ตามแนวคิดของป๋วย การพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องเป็นไปในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งสองสิ่งต้องไปด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อผิดพลาดของป๋วย คือการละเลยส่วนของพรรคการเมืองไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net