บทสังเคราะห์จากเวทีวิชาการ: ถกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 59 กับปัญหาชายแดนภาคใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทรายงานเดิม
บทสังเคราะห์เนื้อหาจากเวทีเสวนาวิชาการ
“ถกรัฐธรรมนูญ ก่อนลงประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับปัญหาชายแดนภาคใต้

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีงานเสวนาวิชาการ  “ถกรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในงานนอกจากจะมีการวิเคราะห์สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ยังมีการเสวนาในหัวข้อที่ว่าด้วยความเกี่ยวข้องกันระหว่างสถานการณ์และปัญหาชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการสร้างสันติภาพ การกระจายอำนาจ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ทรัพยากร/สิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน กับร่างรัฐธรรมนูญ 59 และการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 วิทยากรในงานมาหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็น คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ ดร.มูฮำหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช คุณกฤษดา ขุนณรงค์ (มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม) คุณอับดุลฮาฟิซ หิเล (นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และคุณเรืองรวี พิชัยกุล (ผู้ประสานงานโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย) ทั้งนี้ ในช่วงท้ายงานได้มีการสังเคราะห์เนื้อหาที่วิทยาการทุกท่านนำเสนอโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

000

ก่อนอื่น ในฐานะหนึ่งในผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ผมต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเป็นอย่างยิ่งที่กรุณาเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ และสองคือขอขอบคุณเพื่อนนักวิชาการ มอ. ปัตตานี รวมไปถึงที่หาดใหญ่ ตลอดจนกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันมากๆ จนงานวันนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี รวมไปถึงขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วม ผมจะขอเวลาไม่เกิน 15 นาที ทำการเชื่อมโยงและสรุปประเด็น รวมไปถึงให้ความหมายในสิ่งที่เราได้พูดคุยกันมาในวันนี้

เมื่อเช้าได้ยินอาจารย์ไกรศักดิ์พูดว่าใจจริงไม่ได้อยากพูดเรื่องรัฐธรรมนัก  เพราะที่ผ่านมาต่อให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ถ้าเช่นนั้นจะมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญกันทำไมให้เสียเวลาเสียพลังงาน แต่ผมคิดว่าก็เพราะสภาพการณ์อย่างนั้นแหละครับที่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราต้องพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ อะไรล่ะครับที่ทำให้รัฐธรรมนูญมีสภาพเช่นนั้น อะไรล่ะครับที่ทำให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอยู่ตลอดเวลา ส่วนเหตุผลอีกข้อที่เราต้องพูดเรื่องรัฐธรรมนูญก็คือว่ารัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกับกติกาสูงสุดของสังคม เป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือระหว่างรัฐกับประชาชนรวมไปถึงชุมชน 

แต่ด้วยความที่สังคมไทยมันมีลักษณะเฉพาะมากๆ คือ แทนที่จะเป็นตัวรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวที่กำกับความสัมพันธ์ของผู้คนโดยเฉพาะระหว่างรัฐกับประชาชนรวมไปถึงชุมชน มันกลับกลายเป็นว่ามีอำนาจอื่นแทรกเข้ามา เราจึงมีคำจำพวกรัฐเหนือรัฐ รัฐซ้อนรัฐ และล่าสุดก็คือรัฐพันลึก หรือ Deep Sate ที่กำลังเป็นที่นิยมและกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในตอนนี้ ทั้งที่เราก็อยู่กับมันมาโดยตลอด แต่ว่าความสำคัญของมันในตอนนี้มีอยู่สองประการด้วยกัน คือ ต่อให้คุณเป็นรัฐพันลึก หรือรัฐซ้อนรัฐ รัฐเหนือรัฐขนาดไหน คุณก็ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการบริหารอำนาจอย่างเป็นทางการหรือในระดับฉากหน้า กับอันที่สอง ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเป็นหนึ่งในสมรภูมิของมหากาพย์การช่วงชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยที่สืบเนื่องมายาวนาน และตัวของมันก็ชี้ให้เห็นถึงการลุกขึ้นมาอีกครั้งของเครือข่ายอำนาจเก่า มันชี้ให้เห็นว่ารัฐพันลึกที่ก่อนหน้าไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็นอย่างเด่นชัด ตอนนี้มันลุกขึ้นมาและเผยให้เราเห็นอย่างล่อนจ้อนหรืออุจาดด้วยซ้ำไป และเดี๋ยวผมจะชี้ให้เห็นว่ารัฐพันลึกที่ตอนนี้มันอยู่ไม่ลึกและไม่แอบอยู่ข้างหลังมันโผล่ขึ้นมาให้เราเห็นอย่างไรผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  

กลับมาตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดในสังคม หรือเป็นกลไกในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกับประชาชนและชุมชน ผมคิดว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีการจัดหรือปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งใหญ่ คือรัฐได้กลายเป็นหัวใจของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งนี้ ผ่านสิ่งที่ไม่เคยพูดอย่างนี้มาก่อนในรัฐธรรมนูญ ความมั่นคงของรัฐคือหัวใจของการจัดความสัมพันธ์ชุดนี้ กระทบกระเทือนไม่ได้ เป็นอันตรายไม่ได้ และสิ่งนี้ผกผันกับสิทธิและอำนาจของประชาชน ฉะนั้นต่อให้คุณเขียนว่าคุณมีสิทธิอะไร คุณมีอำนาจขนาดไหน แต่หากไปกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งรัฐเมื่อไหร่ สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ก็จะถูกจำกัดหรือหายไปโดยปริยาย เหมือนที่วิทยากรหลายท่านได้แจกแจงให้เราเห็นในหลายมาตราที่เขียนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพสามารถที่จะถูกจำกัดได้ทันที เมื่อไรก็ตามแต่ที่มันไปกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ 

อันที่สองก็คือว่า นอกเหนือไปจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนภายใต้ความมั่นคงของรัฐซึ่งเป็นหัวใจของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งนี้แล้ว อีกอันก็คือรัฐตัวนี้มันมีลักษณะพลิกพริ้วและลื่นไหลผ่านการเปลี่ยนจากสิทธิของประชาชนให้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ที่จำเพาะเจาะจงหรือเป็นข้อผูกมัด แต่เป็นหน้าที่ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ผ่านการใช้คำจำพวกอาจจะ พึงจะ พึงต้อง ซึ่งที่สุดแล้วก็บังคับเคี่ยวเข็ญเอากับรัฐไม่ได้ มันเป็นการเคลื่อนย้ายสิทธิของประชาชนและชุมชนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่มันก็เป็นหน้าที่ที่พลิกพริ้วและลื่นไหล จับยึดอะไรไม่ได้ มันเป็นเรื่องของการที่รัฐพึงจะ อาจจะ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เราจะเห็นการปรับความสัมพันธ์ของอำนาจครั้งใหญ่ เอารัฐเป็นหัวใจหรือเป็นตัวตั้ง กระทบไม่ได้ เป็นอันตรายไม่ได้ ควบคู่ไปกับการพรากสิทธิของประชาชนและชุมชนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ก็เป็นหน้าที่ที่พลิกพริ้วและลื่นไหล จับยึดไม่ได้ บังคับไม่ได้  

แล้วทีนี้สิทธิของประชาชนคืออะไร เมื่อเช้าอาจารย์หลายท่าน เช่น อาจารย์เดชรัต ชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วสิทธิก็จะกลายเป็นเพียงแค่ในเรื่องของการเร่งรัดติดตามให้รัฐทำหน้าที่ที่ต้องทำ เช่น การทำ EIA การทำ EHIA การทำประชาพิจารณ์ กรณีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ถ้ารัฐไม่ทำเราก็ต้องไปติดตามทวงถาม แล้วถึงจะทำกระบวนการเหล่านี้ไปแล้ว แต่มันก็เป็นเพียงแค่ข้อมูลประกอบการพิจารณาเท่านั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติใดๆ ว่าให้เอาเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เหมือนที่เคยทำมา นี่ก็เป็นด้านหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความพลิกพริ้วและลื่นไหลของรัฐที่แย่งสิทธิประชาชนไปเป็นหน้าที่ของตน 

นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตัดสิทธิด้านต่างๆ ของผู้คนเต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม สิทธิด้านการศึกษา ทั้งที่เป็นการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับและการจัดการศึกษาที่เป็นทางเลือกของตัวเอง สิทธิในด้านการนับถือศาสนาที่บางวรรคหายไปแต่กลับไปเพิ่มบางส่วนที่มีความจำเพาะเจาะจง คือระบุว่าสนับสนุนพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะก่อนหน้าไม่เคยมีอย่างนี้ ขณะที่สิทธิในการรักษาพยาบาล เดิมทีทุกคนเข้าถึงเหมือนกันหมด ร่างฉบับนี้ก็เจาะจงเฉพาะบุคคลผู้ยากไร้ 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตรงนี้คืออะไร มันเปลี่ยนแปลงไปจากสถานะของพลเมืองผู้ทรงสิทธิ หรือองค์ประธานผู้ทรงสิทธิ กลายมาเป็นผู้รับการสงเคราะห์ที่น่าอนาถา สถานะของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คุณไม่ได้เป็นองค์ประธานผู้ทรงสิทธิอีกต่อไป แต่คุณเป็นคล้ายๆ คนอนาถาที่รอการสงเคราะห์ ถ้าใช้คำของอาจารย์เดชรัตก็คือว่าเพื่อคงไว้ซึ่งความเมตตาปราณีจอมปลอม คุณก็ต้องคงโครงสร้างอันอยุติธรรมเอาไว้ เพื่อว่าคนจะได้เรียกร้องความเมตตาปราณีอยู่ร่ำไป  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเปลี่ยนไป ประชาชนไม่ได้เป็นพลเมืองผู้ทรงสิทธิ์หรือองค์ประธานผู้ทรงสิทธิ์ แต่มีสถานะเป็นราษฎรที่รอการสงเคราะห์อย่างน่าอนาถา อันนี้คือเรื่องของสิทธิที่เปลี่ยนไป 

อันที่สองคือเรื่องอำนาจในการจัดการตัวเองก็เปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นในแง่ของการกระจายอำนาจ ซึ่งอาจารย์ศรีสมภพและอาจารย์เอกพันธ์ก็ได้พูดไปค่อนข้างจะเยอะนะครับว่าการกระจายอำนาจนั้นเปลี่ยนแปลงยังไง ถูกบิดเบือนไปอย่างไร องค์กรที่มีอยู่เดิมจะหายหรือเปลี่ยนไปอย่างไร นอกจากนี้ อำนาจในการจัดการทรัพยากรก็หายไป ซึ่งวิทยากรหลายท่านได้พูดไว้ชัดแล้ว แต่ที่ผมอยากจะเน้นเป็นพิเศษตรงนี้คืออำนาจอธิปไตย ซึ่งเมื่อเช้าอาจารย์สุทธิชัยชี้ให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนต้องประกอบด้วยสองส่วน หนึ่งก็คืออำนาจที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะเห็นว่าถูกริดรอนและบิดเบือนอย่างไร ประชาชนสามารถเลือกได้แต่ สส. เขต ซึ่งผกผันกับจำนวน สส. ในบัญชีรายชื่อ แล้วขณะเดียวกันก็ถูกแทรกแซงโดยสว. ที่ คสช. คัดเลือกเข้ามาอีกทีหนึ่ง ส่วนอำนาจอธิปไตยของประชาชนอีกอันคืออำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ที่เลือกเข้าไป เมื่อก่อนเรามีช่องทางมีกลไกในการเข้าไปกำกับตรวจสอบ ก็กลายเป็นว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เราไม่มีส่วนร่วมเข้าไปปราบโกงเลยนะครับ เขาจะปราบยังไง จะปราบคนไหนหรือไม่ปราบคนไหน ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่มีส่วน ไม่มีสิทธิ 

อำนาจอธิปไตยสองส่วนที่สำคัญที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญคือการเลือกคนเป็นตัวแทนไปใช้อำนาจของเรา  กับการกำกับควบคุมตรวจสอบคนที่เราเลือกเข้าไปมันถูกริดรอนและแทรกแซง มันหายไป แล้วมันหายไปผ่านอะไร มันหายไปผ่านกลไกจำพวก สว. อันหนึ่ง ซึ่งวิทยากรหลายท่านโดยเฉพาะอาจารย์สิริพรรณได้พูดแล้ว อีกอันหนึ่งก็คือหายผ่านองค์กรอิสระจำพวกศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมากในการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร รัฐบาลกว่าจะตั้งขึ้นมาได้ก็ยากแล้ว แล้วพอตั้งขึ้นมาได้จะดำเนินนโยบายอะไรก็ติดขัดไปหมด ถ้ามีนโยบายที่ขัดแย้งกับหน้าที่ที่เขียนไว้ในร่างฉบับนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้ามาแทรกแซงทันที รวมไปถึงในส่วนที่อาจารย์สุทธิชัยได้พูดในเมื่อเช้าว่า ต่อไปนี้ถ้าไม่พอใจอะไรขึ้นมา ก็ไม่จำเป็นต้องเข็นรถถังออกมาทำรัฐประหาร คุณก็ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกรัฐบาลและฝ่ายต่างๆ มาคุยและจัดการเลย อันนี้จึงเป็นกลไกที่แทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่สำคัญ  

ผมคิดว่า สว. ก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือองค์กรอิสระจำพวก ปปช. ก็ดี เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าสิ่งที่อยู่เหนือรัฐ สิ่งที่อยู่ซ้อนรัฐ หรือสิ่งที่อยู่พันลึก ซึ่งนอกเหนือไปจากที่ปรากฏผ่านตัวแทนจำพวก สว.และองค์กรอิสระแล้ว อีกอันหนึ่งที่มันปรากฏผ่านก็คือ คสช. ซึ่ง คสช. โดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นด้วยตนเอง มันไม่ได้มีประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่เป็นประดิษฐกรรมบางอย่าง เป็นหมากบางตัวที่ถูกกำหนดขึ้นมาให้เล่นตรงนี้โดยสิ่งที่อยู่ข้างหลังรัฐ หรือเหนือรัฐ หรือซ้อนรัฐ และต่อมาตัวมันก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งสิ่งที่ว่านี้ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า คสช. ปรากฏอยู่เยอะเลยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แทรกอยู่เต็มไปหมด แล้วยังมีในบทเฉพาะกาลอีก ถ้าภาษาของอาจารย์สิริพรรณก็คือว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะมีอำนาจคู่ขนานกันไป อันหนึ่งคุณมีรัฐธรรมนูญที่ผ่าน อันหนึ่งคุณก็มี คสช. ไปจนกว่าคุณจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ แต่เท่านั้นไม่พอ หลังจากคุณมีรัฐบาลใหม่แล้ว ส่วนที่อยู่ซ้อนรัฐ เหนือรัฐ หรือลึกจากรัฐไป ก็ยังอยู่ในรูปของ คสช. เช่น สว. ที่ คสช. เป็นคนคัด แล้วในบทเฉพาะกาลยังระบุเพิ่มเติมอีกว่าคนที่เคยอยู่ในชุดนี้ก็สามารถเป็น สว. ได้แบบเฉพาะอีก หรือกรณียุทธศาสตร์ 20 ปี คสช. ก็เขียนกำกับไว้แทบจะแก้อะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกำหนดบทนิรโทษกรรมตนเองทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คสช. ในฐานะที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่เราเรียกว่าอยู่ข้างหลังรัฐ เหนือรัฐ ซ้อนรัฐ มันดำรงอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มไปหมด แล้วบางทีก็อยู่แอบๆ อยู่ใต้เครื่องหมายดอกจัน หรือที่อาจารย์เดชรัตเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกจัน คือ ปิดบังอำพรางไม่ให้เราเห็น  

นอกจากจะปิดบังอำพรางแล้ว สิ่งที่เราต้องประสบอีกอันก็คือมันมีคล้ายกับตัวหลอก มีการสับขาหลอกเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ซึ่งก็คือเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์เดชรัตเรียกว่าลิงหลอกเจ้า คือร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้เท่านี้ แต่เอกสารเผยแพร่ไปเขียนเพิ่มเติมเยอะแยะไปหมด ชวนให้เข้าใจผิดในหลายกรณี  

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังประสบก็คือการฟื้นคืนชีพหรือการลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งของเครือข่ายอำนาจเก่าที่เป็นเสมือนอยู่หลังรัฐ ซ้อนรัฐ เหนือรัฐ หรือล่างรัฐ ซึ่งในด้านหนึ่งก็เผยโฉมอย่างล่อนจ้อน ในอีกด้านก็ปิดบังอำพราง ถ้าขุดไปก็จะเห็น มันซ่อนอยู่ข้างในผ่านกลไกและวิธีการต่างๆ 

แล้วทีนี้ประเด็นก็คือว่าในระดับพื้นที่มันจะมีประเด็นอะไรบ้างที่เราต้องพิจารณา มันมีการใช้กลยุทธ์และมีการหมกเม็ดอะไรไว้ ประเด็นอย่างเช่นศาสนาก็มีการพูดกันไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว อาจารย์อิลยาสบอกว่าในแง่ศาสนามันไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน คือเดิมทีมันก็ระบุไว้ว่าส่งเสริมพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ครั้งนี้มันตัดส่วนนี้ไป แต่ไปเขียนว่าส่งเสริมพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาในสามจังหวัด เพราะก่อนหน้านี้ก็มีกระแสที่จะทำให้พุทธศาสนาในสามจังหวัดมีลักษณะเป็นกองกำลังติดอาวุธ ดังที่งานเขียนของนักวิชาการต่างชาติบางคนเสนอ ฉะนั้น ถ้าร่างนี้ผ่านโดยมีมาตรานี้ก็จะยิ่งเกื้อหนุนให้มันมีลักษณะของการเป็นกองกำลังของศาสนาพุทธในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันก็อย่างที่อาจารย์ฮาฟิซว่าไว้ในแง่ที่ว่าหากไม่ระบุว่ามีการสนับสนุนศาสนาอื่นในลักษณะที่เท่ากัน แล้วผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดอื่นนอกเขตสามจังหวัดและบางอำเภอในจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ได้รับเงินตอบแทนจะเป็นอย่างไร หรือกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าชาวมลายูมีข้อเรียกร้องเชิงอัตลักษณ์และชาติพันธุ์แล้วถูกมองว่ากระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐแล้วจะทำอย่างไร 

ส่วนประเด็นสำคัญอย่างกระบวนการสันติภาพรวมถึงประเด็นสิทธิหรืออำนาจในการกำหนดตัวเอง เราจะเห็นได้ว่านอกเหนือไม่ระบุกลไกที่จะทำหน้าที่โดยตรงแล้ว การที่ให้ความมั่นคงให้เป็นพระเอกหรือหัวใจของการจัดการความสัมพันธ์ชุดนี้ รวมไปถึงประเด็นในเรื่องของการกระจายอำนาจและการปกครองตนเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เกื้อกูลการสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่แต่อย่างใด อันนี้ไม่รวมถึงโครงการด้านพลังงานหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่มันขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน และตอนนี้ใช้คำสั่ง คสช. ซึ่งก้าวข้ามและก่อให้เกิดปัญหามากมายในองค์กรรัฐ 

ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่าเป็นความจำเป็นที่คนในพื้นที่อย่างเราที่มีปัญหาเฉพาะที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งที่ก่อนหน้าทีจะมีรัฐประหาร เราผ่านกระบวนการรัฐประหาร เราก็ตระหนักดีแล้วนะครับว่า มันก่อให้เกิดอะไรภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของผู้นำ รวมไปการเอาความมั่นคงของรัฐเป็นตัวตั้ง และการมีคติหรือการมีจินตนาการแห่งชาติที่คับแคบและตายตัวเป็นตัวตั้งมันนำมาซึ่งอะไร และสิ่งเหล่านั้นที่อยู่ภายใต้รัฐซ้อนรัฐ รัฐพันลึก ตอนนี้มันทั้งเผยโฉมและอำพรางอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะมีการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ต่อไป ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องตัดสินใจวันที่ 7 สิงหา เดินไปออกเสียงประชามติว่า เราคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท