ภาคประชาสังคมถกเนื้อหาร่าง รธน. ตอบโจทย์-ไม่ตอบโจทย์?

ถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญก่อน 7 ส.ค. ใกล้ลงประชามติ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ร่างรธน.บังคับเผยการทำงานราชการ วางบทลงโทษ เพิ่มระบบคุณธรรมการทำงาน ด้านเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมย้ำประชาชนไร้กระบวนการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการรัฐ นักวิชาการสาธารณสุข-ผู้บริโภค มีโหวตโน ชี้ร่าง รธน.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของสังคม รัฐผลักภาระให้ชุมชนจัดสวัสดิการเองแต่ในความเป็นจริงชุมนุมทำไม่รอด

23 ก.ค. 2559 นักวิชาการและเครือข่ายพลเมืองในนามกลุ่ม Citizen Forum จัดเวที “บ่องตง ประชามติ เท ไม่เท” ที่ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ในช่วงเช้า เป็นการพูดคุยถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย มานะ นิมิตรมงคล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) , ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดย ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และอัมรินทร์ สายจันทร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค โดยสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

มานะชี้ร่างรธน.วางบทลงโทษนักการเมืองรุนแรง เน้นระบบคุณธรรม 
มานะ นิมิตรมงคล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติได้พูดถึงการป้องกันคอร์รัปชันในภาคราชการไว้ในเรื่องการใช้งบประมาณ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งที่ผ่านมานั้นนักการเมืองมักใช้งบประมาณกับเรื่องที่ตนเองอยากทำ หรือที่หาเสียงเอาไว้แต่ไม่ได้สนใจเชื่อมโยงกับเรื่องในเวลานั้นๆ มีการห้ามโยก ดึงงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อตนเอง พรรคการเมืองและพวกพ้อง ทั้งนี้ได้มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง และมีการให้ความสำคัญกับระบบคุณธรรม

สำหรับการป้องกันคอร์รัปชันในภาคพรรคการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มานะ กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่มีการคัดกรองคนที่จะเข้ามีบทบาททางการเมือง สิทธิคนที่จะเข้ามาลงสมัครเลือกตั้งจนถึงการสิ้นสภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีการบังคับให้เปิดเผยการทำงาน งบประมาณ ผลการทำงาน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนดำเนินการตรวจสอบได้ ให้มีการให้องค์กรอิสระและศาลร่วมกันเขียนคู่มือจริยธรรมขึ้นมา นอกจากนี้ให้ข้อมูลทางคดีหรือผลการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารคดีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ช.ช.) เพราะที่ผ่านมา สตง.ใช้เวลา 2 ถึง 3 ปีในการสอบสวนคดีแต่เมื่อเรื่องถึง ป.ช.ช. ยังต้องมีการสอบสวนคดีใหม่ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันล่าช้า

สำหรับการป้องกันคอร์รัปชันในภาคประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มานะ กล่าวว่า มีการกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้กับประชาชน เพราะการแก้ไขคอร์รัปชันจะไม่ก้าวหน้าเลย ถ้าประชาชนอยู่ในการควบคุม และไม่มีเสรีภาพในการทำหน้าที่ของตนเอง

ศุภกิจชี้ปชช.ไร้กระบวนการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการรัฐ ร่างรธน.ยกเป็นหน้าที่รัฐแทนที่ควรเป็นสิทธิประชาชน
ด้าน ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านทรัพยากรธรรมชาติหายไปจำนวนมากในร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ หนึ่งในนั้นที่สำคัญ คือ สิทธิของบุคคลที่จะร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองเพียงคำว่าชุมชน ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการรองรับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย
ตอนหนึ่ง ศุภกิจ กล่าวว่า สิ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญจะมีการลงประชามตินี้ด้วย คือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การเวนคืน อสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดผลประโยชน์ในการใช้ที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียของประชาชน โดยทั้งหมดนี้อาจเรียกว่าระบบยุทธศาสตร์ ซึ่งศุภกิจมองว่าเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ คือ มาดูกันทีละโครงการ เช่น โครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดูภาพใหญ่ของจิ๊กซอว์ “ทรัพยากรธรรมชาติ” นี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะจะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น

“ทางฝ่ายที่ร่างรัฐธรรมนูญพยายามจะบอกว่าบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ให้รัฐทำเลยถ้าเป็นเรื่องที่ดีขึ้น แต่ผมอยากจะชวนคิดและให้ทุกคนตอบคำถามด้วยตัวเองว่ากรณีผู้ป่วยที่แม่เมาะ การทำเกษตรขนาดใหญ่จนภูขาหัวโล้น มาบตาพุดและเรื่องอื่นๆ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบ ท่านคิดว่าหน่วยงานรัฐจะยืนยันว่าได้ทำหน้าที่แล้วหรือไม่” ศุภกิจกล่าวถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้เป็นหน้าที่ของรัฐเพื่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนต่างจากรัฐธรรมนูญก่อนๆ ที่บัญญัติให้เป็นสิทธิ

EnLAW แจงสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีหายไปจากรธน.
อัมรินทร์ สายจันทร์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อเกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตหายไปจากร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ

ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงก่อนอนุญาตโครงการที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่ รวมถึงประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการพยายามนำมาตรา 67 กับ 57 เดิมมารวมกันไว้และกลายเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐจะอนุญาตหรือให้มีการประเมินการใดๆ นั้นจะต้องเป็นโครงการที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ซึ่งคำถามของอัมรินทร์คืออะไรคือรุนแรง และต้องรุนแรงแค่ไหน

เสรีภาพชุมนุมหายเพราะคสช. ส่งผลปชช.ไม่มีเครื่องมือในการส่งเสียง
อัมรินทร์ กล่าวต่อถึงการชุมนุมว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการส่งเสียงถึงปัญหา ข้อกังวลของตัวเอง เพราะบางครั้งรัฐอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไปยื่นหนังสือ ที่ไปกันคนสองคน โดยตามเดิมนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดว่า สามารถชุมนุมได้โดยปราศจากอาวุธแต่สามารถจำกัดได้เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ใช้พื้นที่สาธารณะหรืออยู่ภาวะพิเศษ แต่สำหรับมาตรา 44 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติมีการขยายกรอบการจำกัดการชุมนุม เช่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของรัฐ ความสงบ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนให้มีการตรากฎหมายที่ทำให้ชุมนุมได้ยากขึ้น

“จริงๆ ปัจจุบันเรามีกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติการชุมชนสาธารณะ ปี 2558 เป็นขั้นตอน รูปแบบการชุมชนที่ทำได้หรือทำไม่ได้ก่อนร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ แต่มีอีกอันหนึ่งอย่างคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 ที่ควบคุมการชุมชนซึ่งเป็นกรอบห้ามชุมนุม ตั้งแต่ 5 คนขึ้น เรียกว่าไม่มีกรอบดีกว่า เพราะที่ผ่านมามีการตีความค่อนข้างมาก มีการใช้บังคับซับซ้อนกัน” อัมรินทร์ กล่าวและว่าจากการทำงาน พบว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีคำสั่ง หรือประกาศคสช. ออกตามมาตรา 44 โดยให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ไม่มีใครตรวจสอบได้ แล้วส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คำสั่งคสช.ที่ 4 / 2559 เรื่องการยกเว้นการใช้ผังเมืองกับโครงการบางประเภทเรื่องโรงไฟฟ้า การกำจัดขยะต่างๆ หรือคำสั่ง คสช.ที่ 9 /2559 ที่ให้มีการประมูลผู้รับเหมาในขณะที่มีจัดทำรายงานการประเมินรายงานสิ่งแวดล้อม

อัมรินทร์ ตั้งคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติว่าความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนยังหนักแน่น และสิทธิเสรีภาพประชาชนผูกผันกับการใช้อำนาจของ คสช.หรือไม่ ทั้งนี้ยังมีบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ คสช. หรือมาตรา 44 ยังอยู่ต่อ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแจงชุมชนจัดสวัสดิการเองตามร่าง รธน.เขียนไม่ไหว
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้วนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายที่หวือหวาและส่งผลมาถึงปัจจุบันนี้ เพราะได้กลายเป็นสวัสดิการ เป็นการออกฎหมายมารับรองสวัสดิการของประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องจัดการโดยรัฐ ตอนนี้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ตาม กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะยังอยู่ การจัดระบบสุขภาพยังอยู่ ระบบบัตรทองยังอยู่ ยังไม่ล้มแน่นอนซึ่งก็ชัดเจนว่ามันยังอยู่ได้ยกเว้นจะมีการแก้กฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านไม่ผ่าน คสช. ก็ยังอยู่กับเราไปอีกหนึ่งปี จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เราจะกระพริบตาไม่ได้เลยว่าจะมีคนพยายามแก้กฎหมายต่างๆ หรือไม่ กฎหมายหลักประกันสุขภาพก็ต้องเฝ้าจับตาดู” สุรีรัตน์ กล่าว

สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ ระบุว่า ให้ชุมชนมีสิทธิจัดสวัสดิการได้ ซึ่งเหมือนจะดูดีแต่กลับผลักภาระการจัดสวัสดิการไปให้ชุมชน ทั้งนี้โดยเฉพาะการศึกษา สุขภาพ บำนาญไปไม่สามารถรอดได้ เพราะสวัสดิการชุมชนจะบำนาญให้ประชาชนด้วยกันเองไปตลอดชีวิตไม่ได้ หรือจะจัดการศึกษาให้ทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คสช.ยังอยู่ต่อ สุรีรัตน์และเครือข่ายพร้อมโหวตโน
สุรีรัตน์ กล่าวด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ค่อยตอบสนองบริบทของสภาพความเป็นจริงที่ปัจจุบันมีการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าซึ่งเป็นการถ่ายโอนจากระบบประชานิยม ทั้งนี้มองว่าหน้าที่ของรัฐต้องไปเอาความมั่งคั่งในรูปแบบภาษีกลับมาแล้วคืนภาษีนั้นกลับไปให้กับทุกคนในรูปแบบสวัสดิการแล้วไม่ต้องแยกแยะว่าสวัสดิการนั้นให้เฉพาะคนจนหรือคนรวย

“ถามว่าควรจะไปลงประชามติอย่างไร ดิฉันและเครือข่ายตัดสินใจแล้ว ประชามติแบบเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คสช.จะอยู่กับเราต่อไป เพราะฉะนั้นเรามีศักดิ์ศรีเราควรจะโหวตโน” สุรีรัตน์ กล่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำ รธน.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของสังคม
สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 67 ระบุว่าสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องให้มีองค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และได้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นนี้มีการเถียงกัน 10 ปีว่าองค์กรอิสระอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้หรือไม่จนกระทั่งรัฐประหาร ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่าให้องค์กรอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ในกรณีเดียวกันนี้สารีมองว่าไม่เกี่ยวว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนสั้นหรือยาวเพียงควรทำทุกอย่างให้ชัดเจน

“บุคคลมีสิทธิร่วมตัวกันจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองสิทธิและพิทักษ์ผู้บริโภค บอกเลยว่าพวกเรารวมตัวกันมา 30 ปี แล้ว (สมาคมผู้บริโภค 30 ปี) ไม่ต้องมาบอกให้เราร่วมตัว เพราะเราร่วมตัวกันอยู่แล้ว”สารี กล่าวและต่อด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติระบุว่าไว้ว่าให้เป็นตัวแทน ซึ่งคือทำหน้าที่อย่างอื่นไม่ได้ ในขณะในรัฐธรรมนูญก่อนๆ ให้ทำหน้าที่แสดงความคิดเห็นด้วย

สารี กล่าวว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในด้านต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐก็คิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของสังคม ไม่ได้อยู่กับสภาพปัญหาของรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท