รายงานพิเศษ: ‘Hate Crime’ ทอม-เหยื่อแห่งความเกลียดชัง ในสังคมนิยมความเป็นชาย

ทอมเป้าอาชญากรรมจากความเกลียดชัง 10 ปีเกิดการฆาตกรรมทอมอย่างรุนแรง 11 ราย เชื่อยังมีการทำร้ายอีกมากที่ถูกปกปิด นักวิชาการชี้อคติและความเกลียดชังเป็นผลจากการนิยมความเป็นชายในสังคม มองทอมเป็นการคุกคามความเป็นชาย

ภาพจาก http://doublethink.us.com/paala/2012/11/27/hate-crime-in-alabama-stand-up-for-love/

คดีข่มขืนอุกฉกรรจ์อย่างคดี ‘น้องแก้ม’ จนถึงกรณี ‘ครูอิ๋ว’ สร้างความสะเทือนใจและความโกรธแค้นต่อสังคมโดยรวม เกิดกระแส ‘ข่มขืน=ประหาร’ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ภายใต้เงามืดของความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงนั้น จำนวนมากถูกซ่อนเร้นจากการรับรู้ การข่มขืนที่ปรากฏเป็นข่าวก็แค่ยอดภูเขาน้ำแข็งยอดเล็กๆ ที่ตัวภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาถูกปกปิดด้วยผิวน้ำจากความพิกลพิการในสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิง

และเมื่อยิ่งเป็นผู้ที่มีเพศภาวะเป็นหญิง แต่มีอัตลักษณ์และเพศวิถีเป็น ‘ทอม’ ด้วยแล้ว ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืน ก็ดูเหมือนถูกปิดทับและไร้เสียงหนักข้อขึ้นไปอีก ไม่เพียงเท่านั้น ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อทอมกลับได้รับเสียงเชียร์หรือเห็นด้วยจากผู้ชาย

ในมุมมองของกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ ‘ทอม’ ก็คืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) รูปแบบหนึ่ง

จาก http://hatecrime.osce.org/what-hate-crime ให้ความหมายของ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังว่า เป็นอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากอคติ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อปัจเจกบุคคล รวมถึงชุมชนและสังคม มี 2 เงื่อนไขที่จะเข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคือ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎอาญา และสอง-ต้องเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจจากอคติ แรงจูงใจที่เกิดจากอคติมาจากการตีตรา การขาดขันติธรรม หรือจากความเกลียดชังโดยตรงที่มีต่อกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะร่วมกัน เช่น เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา เพศวิถี หรือแม้แต่คนพิการก็อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมจากความเกลียดชังได้

“พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ”

สถิติคดีอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2556-2557 เฉพาะที่ผู้หญิงถูกทำร้าย พบว่า มีการรับแจ้งเหตุผู้หญิงถูกทำร้าย 28,714 ราย ในจำนวนนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีเพียง 12,245 ราย หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่รับแจ้งทั้งหมด และมีการจับกุมได้เพียง 3,673.5 ราย ส่วนที่หลบหนีและเคลียร์คดีมีอยู่ 2,081.65 ราย ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงมีการจับกุมได้ร้อยละ 13 เท่านั้น

กฤตยา อธิบายว่า ข้อเท็จจริงทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้หญิง ซึ่งรวมถึงทอมถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนมากจะไม่แจ้งความ อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่มีการเก็บสถิติที่เกิดกับทอม แต่เมื่อผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจะทำและรู้สึกคือเงียบ รู้สึกละอาย และรู้สึกว่าเป็นบาปกรรมของตน

“เพศภาวะทอมเป็นเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย ทั้งที่โดยตัวทอมแต่ละคน ไม่ได้ไปคุกคามใคร แต่ความเป็นทอม ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคามความเป็นชายที่อยู่ในวิธีคิดของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วผู้หญิงก็เชื่อแบบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพ่อแม่ที่จ้างคนมาข่มขืนลูกหรอก”

จากการรวบรวมของกฤตยา ยังพบว่า มีข่าวอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดกับทอม 11 ราย ตั้งแต่สิงหาคม 2549-เมษายน 2559 ซึ่งสภาพการก่อคดีมีความรุนแรง เช่น การข่มขืนและรัดคอจนเสียชีวิต การเผาทั้งเป็น การใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและฟันด้วยมีด เป็นต้น

อคติและความเกลียดชังยังเผยให้เห็นได้ตามโลกโซเชียล มิเดีย อย่างกรณีข่าวเสก โลโซ ทำร้ายทอม ในเฟซบุ๊กของข่าวสด จะพบว่าความคิดเห็นท้ายข่าวจำนวนหนึ่งแสดงออกชัดเจนถึงอคติและความเกลียดชัง เช่น “ทอมมักแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ชาย แต่พอสู้ไม่ได้ก็อ้างว่าตนเองเป็นผู้หญิงใช้ปะ” “กูเคยคบกับทอมคนหนึ่งมันชอบโชว์เก๋า ใช้คำพูดห้าวๆ แบบไม่สนใจใคร ทำอะไรเหมือนผู้ชาย วันนั้นมันชวนผมกินเหล้าที่บ้าน พอมันเมาหลับ ผมเลยจัดไปสองดอก เช้ามาเรียกผัวจ๋าซื้อข้าวให้เมียหน่อย ยุติความเป็นทอมตั้งแต่วันนั้น” หรือ “จากที่อ่านดู พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ น่ะ ถ้าเทียบกับผู้ชายแท้ๆ ผมเป็นเสกผมก็จัดเหมือนกัน” เป็นต้น

ความเป็นชายที่ถูกคุกคาม

เหตุใดความเป็น ‘ทอม’ จึงถูก ‘หมั่นไส้’ ถูก ‘เกลียดชัง’ ได้รุนแรงเพียงนี้ คำอธิบายหนึ่งที่ถูกพูดถึงก็คือ ทอมเป็นการคุกคามความเป็นชายของผู้ชาย

“เพศภาวะทอมเป็นเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย ทั้งที่โดยตัวทอมแต่ละคน ไม่ได้ไปคุกคามใคร แต่ความเป็นทอม ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคามความเป็นชายที่อยู่ในวิธีคิดของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วผู้หญิงก็เชื่อแบบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพ่อแม่ที่จ้างคนมาข่มขืนลูกหรอก” กฤตยา กล่าว

ในบทความ ‘“ทอมไทยและเทศ” บนจอและแผ่นกระดาษ: การวิพากษ์แนวคิดอัตลักษณ์ความเป็นชายขอบ (Marginality) ของ “ทอม” ในงานวรรณกรรมและภาพยนตร์ยอดนิยมของไทยและตะวันตก’ โดยวริตตา ศรีรัตนา อักษรศาสตร์บัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า

‘…จะเห็นได้ว่าคำนิยามที่ยกมานั้นเต็มไปด้วยทัศนคติตายตัวทั่วไป (stereotypes) ต่างๆ เช่น ทอม เป็นผู้ที่หยาบโลน สำส่อน อันส่อนัยยะว่าการเป็นทอมเป็นเรื่องที่ผิดบาปดังกล่าว เป็นการคิดตามแบบแผนของ “เพศเดียว” (one-sex model) อันค้ำจุนปิตาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะการตีตราทอมว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนั้นแสดงให้เห็นว่าความเป็นชายในตัวของผู้หญิงได้ถูกมองว่าเป็นเศษเดนของความเป็นชายกระแสหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความเป็นชายของผู้ชายนั้นเป็นสิ่งแท้แน่นอน

‘“ทอม” ถูกหยามว่าเป็นการลอกเลียนแบบ (imitation) บทบาทและเพศสภาวะความเป็นชาย (masculinity) อันไร้ค่าและไร้รสนิยม และถูกกำราบด้วยความเชื่อที่ว่า “ทอม” จะหายเป็น “ทอม” ก็ต่อเมื่อได้ “ลองของจริง” กับผู้ชาย’

ความรู้สึกไม่มั่นคง ถูกคุกคาม ความเชื่ออันบิดเบี้ยว เป็นบ่อเกิดความรุนแรงที่กระทำต่อทอม ผ่านถ้อยคำจำพวกแก้ทอมหรือเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ เป็นต้น

แก้ทอม ซ่อมดี้ ความรุนแรงจากถ้อยคำสู่กายภาพ

เกิดเป็นวาทกรรมประเภทแก้ทอม ซ่อมดี้, เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ, โครงการคืนสตรีแก่สังคม หรือนิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ ซึ่งล้วนแต่แฝงเร้นความรุนแรงไว้ในถ้อยคำและวิธีคิดที่สะท้อนออกมาทั้งสิ้น

เอกสารของสมาคมเพศวิถีศึกษาจากงานเสวนาสาธารณะ ‘แก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นความรุนแรง #เลิกเหอะ’ ระบุว่า ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในชุมชนและจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ พบว่า ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่หรือในพื้นที่ที่เข้าไปทำงาน มักพบปรากฏการณ์ทอมถูกข่มขืนในหลายพื้นที่ แต่ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะยอมความ หรือบางครั้งอาจไม่สามารถจะระบุตัวผู้กระทำได้ เพราะถูกล่วงละเมิดในขณะที่มึนเมา บางรายตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลที่ตามมานอกจากพวกเธอจะต้องเผชิญกับความอับอาย การถูกประทับตราจากสังคมว่าเป็นผู้ที่มีมลทินทางเพศเช่นเดียวกับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว พวกเธอยังต้องเผชิญกับความรู้สึกถูกลดทอนคุณค่าในศักดิ์ศรีและความเป็นบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างของตัวเอง เนื่องจากความไม่เข้าใจ อคติ และความเกลียดชังบุคคลรักเพศเดียวกันทั้งจากบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

อาทิตยา อาษา นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องวาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ ในสื่อออนไลน์ อธิบายว่า วาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นวาทกรรมที่ใช้ควบคุม กำกับ บุคคลที่มีเพศสรีระเป็นผู้หญิงไม่มีให้มีพฤติกรรมที่เกินกว่าผู้หญิง หรือไม่เหมาะสมกับความเป็นหญิง เช่น ทอมหรือดี้ที่มีพฤติกรรมออกนอกลู่นองทางจากความเป็นหญิง โดยวิธีการควบคุมคือการสร้างความหวาดกลัวในเรื่องเพศด้วยการใช้อวัยวะเพศชายเป็นแกนหลักในการควบคุม เช่น เจอของจริงแล้วจะหาย แก้ทอม ซ่อมดี หมายถึงว่าทอมกับดี้เป็นของเสียที่สามารถซ่อมและแก้ไขให้เป็นปกติได้ โดยการแก้ไขนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องชี้ให้เห็นรสชาติของความเป็นชาย

“คนที่ซ่อมก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ผดุงความถูกต้องในเรื่องเพศ ทำให้ทอมหรือดี้กลับไปเป็นผู้หญิงได้ เป็นข้อความที่พบได้ในอินเตอร์เน็ต”

ทอม เหยื่อความรุนแรงจากความเกลียดชัง

วาทกรรมข้างต้นแปรรูปเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพกับทอมจริงๆ ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เล่าว่า กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเกิดเหตุกับทอมสามราย หนึ่งในสามถูกฆาตกรรม แต่ก่อนถูกฆาตกรรมถูกข่มขืนก่อนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เพียงเพราะไม่ชอบพฤติกรรมของทอมที่มาตามจีบผู้หญิงที่ตนชอบ ส่วนอีกสองรายถูกรุมโทรม ซึ่งก็ไม่มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแต่อย่างใด

วี ทอมคนหนึ่งในภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า รู้ตัวว่าชอบผู้หญิงตอน ม.4 หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการแสดงออกของตนเป็นผู้ชาย ตอนนั้นเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่ขอวีจะยอมรับ แต่หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยทางครอบครัวก็ให้ความยอมรับกับตัวตนของวีมากขึ้น ในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน วีบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จะมีก็การถูกเลือกปฏิบัติในการสมัครงานครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ว่าหมายความว่าวีจะรอดพ้นจากการถูกคุกคามทางวาจาและร่างกาย

“คนที่ซ่อมก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ผดุงความถูกต้องในเรื่องเพศ ทำให้ทอมหรือดี้กลับไปเป็นผู้หญิงได้ เป็นข้อความที่พบได้ในอินเตอร์เน็ต”

“ก็มีบ้างจากผู้ชาย เวลาไปเที่ยว โดนตีตรา บอกว่าทอมยังไงก็เป็นผู้หญิง ข่มขู่ คือไม่รู้จักกัน ก็มาพูดว่ามีดีตรงไหน มีแค่นิ้ว จะเจอแบบนี้บ่อยมาก เราไม่ได้ตอบโต้ เพราะเราไม่ได้รู้จักเขาก็เฉยๆ ไว้ แต่สามสี่เดือนที่ผ่านมา โดนทหารกระทืบ ก็ไม่เข้าใจว่าเขาหมั่นไส้เราหรือเห็นเราเป็นผู้ชายหรือเปล่า เราไปเที่ยวกับเพื่อน เป็นทอมหมดเลย ผับปิด กำลังจะกลับ เขาเมา เขาตีกันอยู่กับผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งอยู่แล้ว สักพักก็ลากพี่คนหนึ่งที่เป็นทอมเหมือนกันเข้าไปต่อย ไปกระทืบ เราเข้าไปช่วยก็เลยโดนลูกหลงไปด้วย ส่วนพี่คนนั้นก็หูฉีกไป มีการแจ้งความที่โรงพัก ผลปรากฏว่าก็เงียบไป เขาไม่ยอมมาแสดงตัวรับผิดชอบ เพราะเขาก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”

ด้าน ศรัทธารา หัตถีรัตน์ ผู้ประสานงาน ILGA Asia และนักกิจกรรม LGBT กล่าวถึงงานศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อ LBT ในเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ของ OutRight ที่ได้ข้อสรุปเหมือนกันว่าความรุนแรงต่อ LBT พบได้ทั่วไป และลักษณะที่เห็นได้ชัดคือความรุนแรงทางจิตใจ โดยผู้ที่กระทำหลักคือครอบครัวและแวดวงคนรู้จักของ LBT เอง ขณะที่ในไทยนั้นยังไม่มีงานศึกษาที่ชี้ชัดในประเด็นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ตรงกันข้าม มันอาจเป็นความรุนแรงที่หลบซ่อนจากสายตาของสังคม

“แต่สิ่งที่นักกิจกรรมมาคุยกัน เรามีความรู้สึกว่าความรุนแรงต่อทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล บนฐานของความเป็นผู้หญิง มันจะมีความจำเพาะ คือมันอาจจะถูกปิดซ่อน มองไม่เห็น เพราะว่าผู้หญิงจะไม่เอ่ยออกมาเวลาถูกกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ อีกอย่างก็คืออาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากความรุนแรงต่อผู้ชายหรือคนที่สังคมมองว่าเป็นเพศชาย เช่น กะเทย ความรุนแรงรูปแบบอื่นที่เราระดมสมองกัน เช่น ไม่ให้เลี้ยงลูก ไม่เป็นแม่ที่ดี มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ถูกตัดออกจากลูก

“ถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือท้องโดยไม่พร้อมก็จะมีการกดทับอีกชั้นหนึ่งว่า เธอไม่ควรทำแท้งเพราะเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ และเธอเป็นทอม เธอควรจะเป็นคนดี เธอไม่ควรทำนี่นั่น ระดับการกดทับในสังคมก็จะมาก เป็นความรุนแรงทางจิตใจ”

อคติและการเลือกปฏิบัติ

จากการแสดงออกที่ดูล้นเกินจากความเป็นชาย ก่อให้เกิดความ ‘หมั่นไส้’ หรืออคติต่อทอม เกิดเป็นมุมมองที่ชวนคิดเช่นกันว่า ทอมเองก็ติดกับดักของความเป็นเพศชาย และเมื่อตนเองไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นชายจึงจำเป็นต้องแสดงความเป็นชายออกมาให้มากเข้าไว้ เพื่อให้อัตลักษณ์ความเป็นชายของตนในที่สาธารณะมีความชัดเจน จนสร้างความไม่พอใจให้กับทุกเพศ ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มทอมด้วยกันเอง ศรัทธารา แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า

"วัฒนธรรมของนิยมชาย ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ชายทุกคนจะมีวัฒนธรรมนี้ แต่หมายถึงว่าวัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาอยู่ในตัวตนของเราทุกคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก คิดคล้ายกัน ก็คือคิดว่าเรื่องบางอย่างผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้ ผู้หญิงซึ่งเกิดมาเป็นทอมก็ควรจะต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าซ่าเกินไปก็ต้องโดน"

“ถ้าเป็นมุมมองเรา เชื่อว่ามันเป็นความผิดของระบบการศึกษาในสังคมที่ตัดสินกันผ่านการแสดงออกทางเพศ พอถูกตัดสินในทุกๆ ชั้น ตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน และทุกๆ ที่ สมมติว่าเกิดมามีจิ๋ม แต่เขาไม่ได้อยากเป็นผู้หญิงหรืออยากจะเป็นเพศที่ตนเองกำหนดเอง หรืออยากจะเป็นผู้ชาย ถ้าเขาพูดแตกต่างจากความเป็นผู้หญิง แล้วไม่มีใครฟังเขาเลย แน่นอนว่าเขาก็ต้องพยายามแสดงออกให้คนยอมรับ เพราะเขาต้องเอาตัวรอดในวันนี้และวันนี้ผู้คนตัดสินเขา ซึ่งมันรุนแรงต่อจิตใจ เขาจึงต้องแสดงออกให้มากที่สุดกับสิ่งที่เขาคิดว่าเชื่อมโยงกับความเป็นเพศในใจเขา”

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาราตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ไม่ว่าทอมจะทำท่าทีที่เรียกว่ากร่างมากแค่ไหน แต่ให้ลองคิดเปรียบเทียบว่า ถ้าผู้ชายทำท่ากร่าง ผู้คนก็จะหมั่นไส้เหมือนกัน แต่โอกาสที่จะหมั่นไส้จนพูดว่าน่าจะถูกจับไปข่มขืน ถูกทำร้าย หรือฆ่า จะน้อยกว่าสิ่งที่พูดกับทอมหรือเข้าไปทำร้ายน้อยกว่า เหมือนกับว่าสังคมยอมรับได้มากกว่าที่ผู้ชายจะ ‘กร่าง’ แต่รับไม่ได้หากทอมจะ ‘กร่าง’ บ้าง นี่จึงเป็นอคติและการเลือกปฏิบัติที่มีต่อทอม

“แต่ไม่ว่าเขาจะทำท่ากร่างแค่ไหน ก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่นำมาตัดสินความเป็นเพศและต้องถูกกระทำรุนแรง”

 

ความรุนแรงต่อผู้หญิง ในวัฒนธรรมนิยมความเป็นชาย

กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดกับทอมนั้น ลึกๆ แล้วก็คือความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมนิยมความเป็นชาย

“วัฒนธรรมแก้ทอมซ่อมดี้ จริงๆ แล้วมันเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิง เส้นทางความรุนแรงต่อผู้หญิง มันลึก ผู้ชายที่เป็นเกย์จะไม่มีลักษณะที่ถูกกระทำรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคดีทางเพศอย่างที่ผู้หญิงที่เป็นทอมโดน ความรุนแรงจะมีอยู่สามชุด ชุดที่ลึกที่สุดคือความรุนแรงทางวัฒนธรรม น่ากลัวที่สุด เพราะมันส่งผ่านความเชื่อของเราเองและไม่มากก็น้อยเราทำความรุนแรงนี้ทุกวัน ความรุนแรงที่สองคือเชิงโครงสร้าง ซึ่งเพศสภาพเกือบทุกเพศสภาพก็ต้องเผชิญคล้ายๆ กัน สุดท้ายคือความรุนแรงทางตรง อันนี้ชัดเจน ทำกับเรา เห็นกับตา โจ่งแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะพูดก่อนว่า มันอยู่บนวัฒนธรรมของการนิยมชาย

“วัฒนธรรมของนิยมชาย ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ชายทุกคนจะมีวัฒนธรรมนี้ แต่หมายถึงว่าวัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาอยู่ในตัวตนของเราทุกคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก คิดคล้ายกัน ก็คือคิดว่าเรื่องบางอย่างผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้ ผู้หญิงซึ่งเกิดมาเป็นทอมก็ควรจะต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าซ่าเกินไปก็ต้องโดน เอกสารในต่างประเทศพูดเหมือนกับบ้านเราว่า การที่เขาจะข่มขืนหรือพยายามจะมีเพศสัมพันธ์กับทอม เพราะเขาคิดว่าทอมต้องเจอของจริง ซึ่งของจริงแปลว่าอวัยวะเพศผู้ชาย แล้วผู้หญิงที่เป็นทอมจะหาย การที่คิดว่าอวัยวะเพศผู้ชายจะแก้ตรงนี้ได้มาจากไหน มันมาจากความเชื่อเชิงวัฒนธรรมว่ามันเป็นความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นตัวนี้คือตัวที่ใหญ่ที่สุด

“ทีนี้พอคนที่เป็นทอม ไม่มากก็น้อยก็ไปสมาทานศีลความเป็นชายเข้ามา คนเป็นทอมจำนวนหนึ่งก็จะกินเหล้าสูบบุหรี่ ผู้ชายที่ไปนั่งกินเหล้าสูบบุหรี่กับผู้หญิงซึ่งอยู่ในเพศสภาวะทอม เขาก็มีความรู้สึกว่า บางที เขาจะทำอะไรกับคนคนนี้ก็ได้ สิ่งที่ดิฉันเจอในการทำงาน ดิฉันเจอผู้หญิงซึ่งอยู่เพศสภาวะทอมถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ แล้วท้อง มีทั้งท้องจนต้องไปทำแท้ง ท้องคลอดลูกออกมา ดิฉันเจอกรณีหนึ่ง ทอมที่ต่างจังหวัด ซึ่งเขาถูกผู้ชายละเมิดสองครั้ง ในสถานการณ์เดียวกันคือไปกินเหล้ากับเพื่อนผู้ชาย คนกระทำก็มีความรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ในขณะที่คนที่ถูกกระทำ ไม่มากก็น้อย ก็เหมือนผู้หญิงทั่วไปคือโทษตัวเอง คือมันมีลักษณะแบบนี้ แล้วมันมีลักษณะที่เห็นว่าเป็นทอมแล้วหมั่นไส้ แล้วก็ละเมิดทางเพศก็มี

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจะมีอยู่ 3 อย่างคือ เงียบ รู้สึกละอาย และรู้สึกว่าเป็นบาปกรรมของตัวเอง จะเห็นได้ว่าสามตัวนี้ มันทำร้ายผู้หญิง กดผู้หญิงให้ไม่พูด จริงๆ มันเหมือนกับเราถูกละเมิดจากวัฒนธรรมแบบแผนที่ผู้หญิงดี เพราะฉะนั้นเราจึงลงโทษตัวเราเองก่อน โดยที่เราไม่พูดอะไร”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท