ภาคประชาชน-นักวิชาการ หวั่น พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ แปลง กสทช.เป็นสำนักงานใต้รัฐบาล

ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบาย สถาบันอิศราระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช. ฟากนักวิชาการชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน มากกว่าประชาชน ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองการลดกรรมการ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคได้ยากขึ้น เลขาฯ กสทช.ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ กรรมการ กสทช. เชื่ออ้างปรับปรุงให้ กสทช. เข้ากับสื่อยุคหลอมรวม เพื่อแก้เรื่องจัดสรรคลื่นความถี่มากกว่า


(แถวบน จากซ้าย) สุพจน์ เธียรวุฒิ - วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง - จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์
(แถวล่าง จากซ้าย) สุวรรณา จิตประภัสสร์ - สุปัน รักเชื้อ - วิชาญ อุ่นเอก - สุวรรณา สมบัติรักษาสุข

27 ก.ค. 2559 เวลา 9:00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ส่วนงานเลขานุการ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และส่วนงาน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จัดงานเสวนา NBTC Public Forum 2/2559 เรื่อง “มุมมองภาคประชาชนต่อแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กสทช.” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติองค์จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ.2553 เดิม

ทั้งนี้ในงานยังมีการเชิญชวนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พ.ร.บ. กสทช. ดังกล่าวได้ทางอีเมล nbtcrights@gmail.com เพื่อรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดส่งไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าวอีกด้วย โดยสามารถเสนอได้ถึงภายในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้ และอ่านร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า สนช. ได้ที่ http://nbtcrights.com/2016/07/6592

ในงานเสวนาดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. รวมถึงฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ตลอดจนภาคประชาสังคมมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. มาบันทึกความคิดเห็นในงานเสวนาอีกด้วย

โดย ประวิทย์ กล่าวว่าการพูดคุยเรื่องกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากร่างได้รับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กสทช. จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กฎหมายขึ้นใหม่เกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต้องยกร่างใหม่ทั้งหมด เนื่องจากบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไม่รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด

สุพจน์-วรพจน์เห็นตรงกัน ไม่ประมูลคลื่นความถี่ เสี่ยงเกิดปัญหา
สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยที่ร่างฉบับใหม่มีการแก้ไขมาตรา 45 โดยอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากการประมูลได้ ซึ่งการมอบคลื่นให้โดยไม่ผ่านการประมูลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงยืนยันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น

นอกจากนี้สุพจน์ยังเสนอว่า ไม่ต้องเยียวยาในกรณีที่ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้องใช่งบประมาณโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงมีการจำกัดการรูปแบบการใช้คลื่นให้ตรงกับตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อได้ตอนได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ทั้งนี้การจำกัดรูปแบบดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการใช้คลื่นดังกล่าว

สอดคล้องกับวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ระบุว่าปัญหากรณีคลื่น 1 ป.ณ. FM 98.5 เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าการใช้อำนาจของ กสทช. ที่พิจารณาตามดุลยพินิจให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเรียกคืนคลื่นวิทยุโดยเร่งด่วน ถ้าหาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ผ่าน การเรียกคืนคลื่นวิทยุอาจต้องยืดระยะเวลาไปด้วย

นอกจากนี้วรพจน์เสนอให้ล้มเลิกการร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่นี้ เพราะที่มาในการแก้ไขไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก โดยระบุว่ารัฐสามารถกำหนดนโยบายให้ กสทช. และ กสทช. ก็กำหนดวิธีในการบรรรลุเป้าหมายในแง่นโนบายได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อบังคับ

สุวรรณาระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช.
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ เปลี่ยนแนวคิดมุมมองของคลื่นความถี่ไป จากเดิมมองว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประชาชน แต่ต่อมากลับมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งคำว่า “ชาติ” นี้ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

นอกจากนี้ยังฝากข้อสังเกตไปถึงประชาชนทั่วไป ให้จับตาดูว่าเมื่อไรที่ร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับนี้ผ่านจนสามารถประกาศใช้บังคับได้ ให้ดูในประเด็นการสรรหา กสทช. และคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กสทช. ว่าขัดต่อหลักการในการกำหนดคุณสมบัติและมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และในท้ายที่สุดเมื่อดูในข้อกฎหมายในร่างฯ ดังกล่าวจะพบว่าร่างนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

“สุดท้ายนี้ดิฉันสรุปว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา วันนี้การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ที่เกิดขึ้น ก็มาจากการทำงานของ กสทช. ทั้ง 11 ท่านนั่นเอง ดิฉันถึงไม่เห็นความจำเป็นในการแก้ พ.ร.บ.กสทช. แต่ดิฉันเห็นว่าการแก้ปัญหาภายใน กสทช.เองน่าจะเป็นการดีกว่า” สุวรรณากล่าว

ชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน - คุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้
ส่วน จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รัฐใช้ข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช. ว่า เพราะโลกของเทคโนโลยีหรือภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่เจตนาที่แท้จริงคือรัฐต้องการลดอำนาจ กสทช.ให้เป็นสำนักงานภายใต้รัฐบาล และต้องการให้ กสทช. ทำงานในลักษณะแนวดิ่งเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูปสื่อในปี 2540 สะท้อนให้เห็นการแก้ปัญหาโดยยึดวิธีคิดแบบเก่ามาใช้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้จิรพรยังตั้งข้อสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ มีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน รวมไปถึงในร่างมีการกีดกันผู้แทนจากภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นได้ว่าการแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมีความโจ่งแจ้งเกินไป

สอดคล้องกับสุวรรณา จิตประภัสสร์ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน ซึ่งกรรมการที่ทำงานในด้านคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งส่วนที่ถูกลดไป จาก 2 คน 1 โดยระบุว่ากรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเดิมมี 2 คนก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน หากมีเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้หรือไม่ นอกจากนี้การแก้ร่างฯ นี้ยังทำให้การสรรหาคนที่ีมาเป็นกรรมการฝ่ายนี้ อาจได้คนที่ขาดความรู้และความเข้าใจในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะผู้สรรหาล้วนมาจากฝ่ายตุลาการไม่ว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย

“ยอมรับว่าภาคประชาชนอ่อนแอลงใน กสทช. ถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าถ้าเราเรียกร้อง รัฐอาจจะมองเห็นแต่ถ้าเราไม่ส่งเสียง ก็มีข้อกังวลว่าตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จะมอบอำนาจกระทรวงดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกระทรวงดังกล่าวอาจจะหยิบใครมาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง” สุวรรณากล่าว

วิชาญกังวลสื่อภาคประชาชนจะเกิดยากหลังร่าง พ.ร.บ. กสทช.ใหม่ผ่าน
ด้าน วิชาญ อุ่นอก จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์สื่อวิทยุชุมชุนที่ตนเองดูแลอยู่ว่า “สื่อภาคประชาชนตอนนี้ไม่ได้มองแค่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชน 20 เปอร์เซนต์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มองว่าเป็นแค่คลื่นที่ออกอากาศในชุมชนในระยะ 20-30 เมตร แต่เราคิดถึงการออกอากาศในระดับจังหวัดในระดับประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดออกมาที่ชัดเจนในร่างนี้เช่นกัน ภาคประชาชนก็เหนื่อย และหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว น่าเศร้าว่าการต่อสู้เรื่องคลื่นความถี่อันยาวนานตอนนี้แทบจะหมดหวังแล้ว”

วิชาญยังมองเหตุการณ์หลังร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ผ่านจะทำให้สื่อภาคประชาชนเกิดขึ้นได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่เน้นผูกติดอยู่กับภาครัฐอย่างชัดเจน และยังมองว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.จะขาดความเป็นอิสระไปโดยสิ้นเชิง

สุปันถามหากร่างนี้ผ่าน จะขัด รธน.หรือไม่
สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย การร่าง พ.ร.บ. กสทช. ใหม่นี้จะเป็นไปในลักษณะ “คนใช้ไม่ได้ร่าง คนร่างไม่ได้ใช้” ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติด้วย เมื่อมองผลกระทบของร่างฯ ที่มีต่อสื่อจะพบว่าเสรีภาพมีอย่างจำกัด เพราะต่อไปการได้ใบอนุญาต ก็ได้จากการพิจารณาของ กสทช. ไม่ใช่ได้จากการประมูลอีกต่อไป ซึ่งทำให้ช่องทางสื่อถูกจำกัดไปอีก ไม่ว่ามีเสรีภาพเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้สุปันยังตั้งคำถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ผ่านไปได้ และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติด้วยแล้ว พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“วันนี้เป็นเวทีที่ให้คนที่ศึกษาด้านสื่อ ด้าน กสทช.มาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เอกสารในงานถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งหมายรวมไปถึงเอกสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ สนช.อีกด้วย” สุปันกล่าว

ฐากร ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ - สุภิญญาเชื่อแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่
ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เล่าว่า ได้นำเสนอความเห็นต่อ สนช.เกี่ยวกับการปรับปรุงร่างฯ ในเรื่องงบประมาณของ กสทช. ว่าการอนุมัติไม่ควรอยู่ในอำนาจของ กสทช.ทั้งหมด ควรมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการคนกลางมาอนุมัติงบประมาณเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอยากเห็น กสทช.ยุคหน้ามาทุ่มเทการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าการมายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณต่างๆ

ส่วนประเด็นการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่เป็นเลขาธิการ กสทช. ด้านฐากรเสนอให้มีการถ่วงดุลอำนาจในการถอดถอนโดยให้เป็นอำนาจของทั้ง กสทช. และวุฒิสภาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนเรื่องการแก้ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ยอมรับว่ายังต้องมีการแก้อีกหลายจุดตามที่ภาคประชาชนให้ความเห็นไว้ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.จะมีการรวบรวมความคิดเห็นในงานเสวนาเพื่อนำไปเสนอต่อ สนช.ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าร่างดังกล่าวดังกล่าวจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน ส.ค. 2559

ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายงานเสวนา โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงใน กสทช. เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีการรีเซ็ตหลายอย่าง จนส่งให้ กสทช.เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สุภิญญาระบุว่า ข้อดีของการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ปัจจุบัน คืออย่างน้อยตนเองสามารถเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และนำความคิดความเห็นมาเปิดเผยสู่สาธารณะได้ สะท้อนถึงความเป็นอิสระในการทำงาน

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าหลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการ กสทช. อาจจะกลับทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กสทช.ต่อไปหากยังมีกำลังอยู่ และฝากให้ทุกคนคิดกันในการแก้ไขปัญหาระยะยาว 5 ปี 10 ปี ทั้งเรื่องปฏิรูปสื่อ สิทธิในการสื่อสาร รวมไปถึงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงฝากไปคิดต่อว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้ร่างกฎหมายอ้างเหตุแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพราะต้องการปรับปรุงการทำงานของ กสทช. ให้เข้ากับยุคสื่อหลอมรวม แต่เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งถ้าแก้ทั้งฉบับให้ดีเลยอาจจะเป็นการดีกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท