Skip to main content
sharethis

องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องหยุดจับกุมคุมขัง ชี้สร้างความสับสน เสนอให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาล เร่งรีบให้ข้อมูลข่าวสารลงสู่ระดับล่างอย่างถูกต้อง รอบด้าน เปิดเสรีการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ 

28 ก.ค. 2559 องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า อาสาสมัครองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ในหลายจังหวัดของภาคต่างๆ มีความห่วงใยสถานการณ์การออกเสียงประชามติก่อนวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และกังวลใจที่ประชาชนยังไม่รับทราบถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทราบกฎระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ ที่ควรพึงปฏิบัติตามสิทธิของผู้มีสิทธิออกเสียง ทำให้เกิดเหตุการทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวในบางจังหวัด

องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ระบุว่า จากการสอบถามประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทราบว่าเกือบทุกคนที่ถูกถาม นอกจากจะไม่เคยเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หลายคนไม่ให้ความสนใจแม้แต่จะไปออกเสียงในครั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ที่จะไปหย่อนบัตรออกเสียงประชามติ ทราบว่าจะไปด้วยความฉาบฉวย ไม่ได้พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่สื่อต่างๆ เริ่มนำเสนอ แต่กลับใช้การออกเสียงประชามติเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองมากกว่า

องค์กรกลางฯ ระบุว่า ความเข้าใจของ กกต. คสช. และ กรธ. ว่าเอกสารร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งล้านฉบับจะเป็นหนทางสำคัญที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนเกือบ 50 ล้านคนได้เข้าถึง ได้อ่านอย่างทั่วถึง โดยเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์อ่านรัฐธรรมนูญนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทไม่ได้เข้าถึงสื่อออนไลน์ และยังต้องใช้เวลามากเพื่อศึกษา พูดคุย ทำความเข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ถึง 279 มาตรา (ใน 16 หมวด กับ 1 บทเฉพาะกาล) คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจเนื้อหาหลักๆ อีกทั้งข้อมูลการวางขั้นตอนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ไม่มีการสรุปสาระสำคัญเพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อออกเสียง “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ไปแล้วจะมีผลอย่างไรกับชีวิตของตนเอง

การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในบรรยากาศที่มีข้อจำกัดทางการเมือง ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรทำได้ หรือทำไม่ได้ ทำให้การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีข้อจำกัดไม่มีอิสระเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ขณะเดียวกันสื่อมวลชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความสับสน ไม่มีความมั่นใจในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการออกเสียงประชามติในช่วงก่อนหน้านี้ ความพยายามของสื่อบางแขนงที่พยายามช่วยสร้างบรรยากาศให้ประชาชนหันมาสนใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสองสัปดาห์ก่อนวันลงประชามตินั้น ถือเป็นความล่าช้า เสียโอกาสเวลาที่ผ่านมาอย่างน่าเสียดาย

"การจับกุมคุมขังเช่นที่เป็นมาตลอดสองเดือนก่อนหน้านี้ควรยุติโดยสิ้นเชิง การจับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ ทำให้เกิดความสับสนอย่างยิ่ง และขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรวมถึงรัฐบาล เร่งรีบให้ข้อมูลข่าวสารลงสู่ระดับล่างอย่างถูกต้อง รอบด้านปราศจากอคติในทุกมิติโดยเร็ว เพื่อให้บรรยากาศก่อนการออกเสียงประชามติ วันออกเสียงประชามติ และช่วงเวลาหลังวันออกเสียงประชามติ เป็นไปโดยธรรมชาติ มีอิสระในการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแสดงออก ถกเถียง ถ่วงดุลกันเอง ยิ่งมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากเท่าไร ประชาชนจะสนใจและเข้าร่วมในการมาออกเสียงมากเท่านั้น" องค์กรกลางฯ ระบุ

นอกจากนี้ องค์กรกลางฯ ยังเรียกร้องให้ประชาชนมาใช้สิทธิในการออกเสียง วันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยทั่วกัน และร่วมกันสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติในเขต หรือที่หน่วยออกเสียงของตน ก่อนเวลาเปิดหน่วย 8.00 น. ไปจนถึงหลังปิดหน่วย 16.00 น และนับคะแนนเสร็จ เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความโปร่งใส ไร้ข้อกังขา และเป็นที่ยอมรับได้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net