Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ข้อมูลการละเมิดสิทธิในตุรกี หลังรัฐบาลตุรกีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเผยว่า มีการทารุณกรรมผู้ต้องขัง ล่วงละเมิดทางเพศ และไม่ยอมให้ทนายหรือครอบครัวเข้าเยี่ยม ชี้เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายข้อ

26 ก.ค. 2559 องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า พวกเขาได้รับหลักฐานที่น่าเชื่อถือทำให้ทราบว่าผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมหลังจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีถูกทุบตี ทารุณกรรม รวมถึงถูกข่มขืน ในสถานที่คุมขังทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แอมเนสตี้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองอังการาและอิสตันบูลสั่งให้ผู้ต้องขังอยู่ในท่าผิดปกติหรืออยู่ในท่าเดิม (stress position) เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ไม่ยอมให้น้ำ อาหาร และการรักษาพยาบาล รวมถึงมีการใช้วาจาด่าทอและข่มขู่คุกคามพวกเขา ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือถูกทุบตี ทารุณกรรมและข่มขืน จอห์น ดาลฮุยเซน ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ยุโรปกล่าวว่าเขาได้รับภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในที่คุมขังจริงและถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกเมื่อพิจารณาจากจำนวนการคุมขังผู้คนเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

"มันเป็นเรื่องด่วนที่สุดที่รัฐบาลตุรกีจะต้องหยุดยั้งการกระทำที่น่ารังเกียจเหล่านี้และยอมให้นานาชาติเข้าไปตรวจสอบเยี่ยมเยียนผู้ต้องขังเหล่านี้ในสถานที่ที่พวกเขาถูกควบคุมตัวไว้" ดาลฮุยเซนกล่าว

แอมเนสตี้ระบุอีกว่ามีการกักขังตามอำเภอใจรวมถึงนำไปขังไว้ในที่ๆ ไม่เป็นทางการ ผู้ต้องขังถูกปฏิเสธไม่ให้ทนายความหรือครอบครัวเข้าพบและไม่มีการแจ้งข้อหาในการจับกุมอย่างเหมาะสมจนถือเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทางการตุรกีก็ทำให้ประธานาธิบดี เรเซป ไทยิป แอร์โดอัน สามารถคุมขังผู้คนโดยไม่แจ้งข้อหาได้เพิ่มขึ้นจาก 4 วันเป็น 30 วัน เพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติอย่างทารุณมากขึ้น

ทางแอมเนสตี้ยังได้พูดคุยกับทนายความ แพทย์ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำเกี่ยวกับสภาพของผู้ต้องขังซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัยทำให้ทราบถึงเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขังตามที่ระบุถึงซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในสนามกีฬาและสนามม้าของศูนย์บัญชาการตำรวจกรุงอังการา และมีอีกหลายกรณีที่ถูกนำไปคุมขังในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำอย่างเป็นทางการเช่นนี้

ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่คุมขังเปิดเผยอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์แม้ว่าผู้ต้องขังจะอยู่ในสภาพแทบยืนไม่ได้ ตาเลื่อนลอย จนถึงขั้นหมดสติ มีแพทย์ตำรวจรายหนึ่งบอกกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำว่าให้เขาปล่อยผู้ต้องขังให้ตายไปแล้วค่อยบอกกับคนอื่นว่าพบตัวผู้ต้องขังรายนี้เสียชีวิตไปตั้งแต่แรกแล้ว นอกจากนี้ในหมู่ผู้ต้องขังราว 650-800 รายในศูนย์บัญชาการตำรวจอังการา มีอย่างน้อย 300 รายที่มีร่องรอยถูกทุบตีทำร้าย บางคนมีบาดแผลของมีคม รอยช้ำ และกระดูกหัก ราว 40 ราย บาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถเดินได้ มีสองรายที่ถึงขั้นยืนไม่ขึ้น มีผู้ต้องขังรายหนึ่งเป็นผู้หญิงมีรอยช้ำที่ใบหน้าและลำตัว ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าเขาได้ยินตำรวจพูดกันว่าที่พวกเขาถูกทุบตีเพื่อให้ "เปิดปากพูด"

มีการเปิดเผยต่อไปว่าผู้ต้องขังถูกมัดมือและถูกบังคับให้คุกเข่าเป็นเวลานานหลายชั่วโมง บางครั้งมีการรัดที่มัดมือแน่นจนเกิดแผล ทนายความบอกว่าผู้ต้องขังบางคนถูกนำตัวมาโดยที่เสื้อผ้าเปื้อนเลือด ไม่ยอมให้น้ำและอาหารแก่ผู้ต้องขัง 2-3 วัน นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังอยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ มีคนหนึ่งพยายามกระโดดจากหน้าต่างชั้น 6 ของอาคาร อีกคนหนึ่งเอาหัวโขกกำแพงซ้ำๆ

ดาลฮุยเซนกล่าวว่า ถึงแม้จะมีภาพและวิดีโอการทารุณกรรมเผยแพร่ไปทั่วประเทศตุรกี แต่รัฐบาลก็ยังเงียบเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเงียบเฉยในสภาพการณ์เช่นนี้ถือเป็นปล่อยปละละเลยให้การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้น ดาลฮุยเซน ยังกล่าวอีกว่าเขาเข้าใจว่าสภาพการณ์ในตุรกีชวนให้มีความเป็นห่วงด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนหลังเกิดกรณีการพยายามก่อรัฐประหารเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่ก็ไม่ควรจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการทารุณกรรม ปฏิบัติเลวร้ายต่อผู้ต้องขัง รวมถึงการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ เพราะลิดรอนสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมถือเป็นการละเมิดกฎหมายตุรกีเองและกฎหมายระหว่างประเทศ

"บรรยากาศการเมืองของตุรกีในตอนนี้อยู่ในสภาพของความหวาดกลัวและตื่นตระหนก รัฐบาลควรเบนเข็มให้ประเทศเข้าสู่หนทางของการเคารพสิทธิและกฎหมาย ไม่ใช่การแก้แค้น" ดาลฮุยเซนกล่าว

แอมเนสตี้เรียกร้องให้คณะกรรมการยุโรปเพื่อการป้องกันการทารุณกรรม (CPT) เข้าตรวจสอบสภาพผู้ต้องขังในตุรกีโดยด่วน และในฐานะที่ตุรกีเป็นสมาชิกสภายุโรปรัฐบาลตุรกีมีพันธกรณีในการต้องให้ความร่วมมือกับ CPT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการเข้าถึงสถานที่คุมขังได้จากที่ก่อนหน้านี้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตุรกีถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมสถานที่คุมขัง แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้หน่วยงานทางการของตุรกีร่วมกันประณามการทารุณกรรมและการปฏิบัติเลวร้ายต่อผู้ต้องขัง รวมถึงต่อต้านและนำตัวผู้ทำการทารุณกรรมออกมาแสดงความรับผิดชอบ อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยม แจ้งเรื่องการคุมขังต่อสมาคมทนายความและครอบครัวผู้ต้องขังโดยทันที

"ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เรียกร้องให้ทางการตุรกีปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและไม่ฉวยโอกาสใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการย่ำยีสิทธิผู้ต้องขัง" ดาลฮุยเซนกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Turkey: Independent monitors must be allowed to access detainees amid torture allegations, Amnesty International, 24-07-2016
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2016/07/turkey-independent-monitors-must-be-allowed-to-access-detainees-amid-torture-allegations/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net