Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ อุณโณ ถาม อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ตอบเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ชี้ไม่มีที่มาจากประชาชน อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนแท้จริง กลไกองค์กรอิสระและวุฒิสภาไม่ได้ยึดโยงประชาชน อยากแก้ปราบโกงเริ่มได้เลยที่ตัวใหญ่ไม่ใช่เล่นงานระดับเสมียน

24 ก.ค. 2559 บนเวที "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงสนทนา “ถกร่างรัฐธรรมนูญ” โดย อัษฎาค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชวนถกโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในรายงานของมติชนออนไลน์ ตอนหนึ่งอัษฎางค์กล่าวว่า ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่เรามีมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายกับวิทยานิพนธ์ คือหยิบยืมจากหลากหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาเราร่างโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองต่อผู้มีอำนาจ โดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ยึดโยงกับสังคม วัฒนธรรมของประเทศไทย ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีสักฉบับศึกษาปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญจะต้องสั้น ไม่เกิน 100 มาตรา และสาระสำคัญหรือรายละเอียดจะต้องใส่ไว้ในกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เวลาแก้ไขก็แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ควรมีที่มาจากประชาชน ประชาชนมีสิทธิเสียงทักท้วงได้ มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมและใช้เวลาร่างราวๆ ปีกว่านั่นคือหลักการ แต่สิ่งที่เห็นคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีมากถึง 279 มาตรา ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่กว่าทุกฉบับ ที่พูดนั้นไม่ได้เป็นการบิดเบือน เพราะหากไปไล่ดูโดยอ้างอิงหลักการประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยไม่ได้มีที่มาจากประชาชน แต่มาจากคนถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลเผด็จการ และอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

สิ่งที่เราเห็นอีก คือมีการให้อำนาจเพิ่มลงในองค์กรอิสระโดยองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระได้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่กลับไม่มีการเลือกตั้งทั้งทางตรง และทางอ้อม อีกประเด็นที่ส่วนตัวรับไม่ได้คือระบบเลือกตั้ง ความจริงแล้วเป็นระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนใช้อำนาจเลือกได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดคือหลักการ หากใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ ส.ว.ที่มีอำนาจมหาศาลกลับไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่อ้างถึงในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีกลไกที่ช่วยให้มีการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

ส่วนทางออกหลังจากการมีประชามติ คือสถานการณ์ในตอนนี้ สิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำอยู่เป็นการฝืนมติของประชาคมโลก ถ้าคุณรักประชาชนจริงก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าคนมีอำนาจเผด็จการจะเปลี่ยนใจทิ้งอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อสิ่งไม่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนจะต้องแสดงให้พวกเขาเห็น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

คำแนะนำที่มีต่อประชาชนในการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของประเทศที่ทำลายระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนในการอ่านให้ครบทั้งฉบับ เน้นไปตั้งแต่ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญและรายละเอียดในหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนมากที่พูดถึงแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงแต่เรื่องการปราบโกง ทั้งที่มีกฎหมายเอาไว้จัดการอยู่แล้ว และแก้ไขทุจริตต้องแก้ที่ตัวใหญ่ ถ้าที่ระดับเสมียนชาติหน้าก็แก้ไม่ได้ ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน สิ่งที่ต้องทำคือบอกต่อๆ กันไป แบบแตกหน่อแตกเซลล์ พูดต่อไป นี่คือวิธีการที่หลายๆ ประเทศใช้ดำเนินการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net