Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


บางคนคิดว่าประชามติ 7 สิงหาคมนี้คือทางออก เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งและเดินหน้าต่อ แต่หลายคนก็มองว่านั่นคือทางตัน เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดให้มี สว.ที่มาจากความเห็นชอบของ คสช.จำนวน 250 คน เป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ สว.ก็มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ฉะนั้นกลไกนี้จึงมีอำนาจกำหนดตัวนายกฯ อย่างน้อย 2 สมัย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คสช.ก็ยังอยู่ มาตรา 44 ก็ยังอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และยังมีกลไกอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญที่บังคับให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องเดินตามแนวทางที่ คสช.กำหนดไว้ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยากอย่างยิ่งหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านคือทางออก ก็คงเป็นทางออกสำหรับ คสช.และกลุ่มคนที่สนับสนุน ขณะที่อีกฝ่ายอาจมองว่าเป็นทางตัน หรือเป็นทางที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยยากลำบากมากขึ้น

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช.ก็ยังอยู่ต่อและเล่นเกมร่างรัฐธรรมนูญหรือทำอย่างอื่นเพื่อยื้อเวลาต่อไป การประกาศว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะไม่รับผิดชอบใดๆและไม่ลาออก ทำให้เกิดการตีความกันว่า ถ้าเสียงข้างมากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีความหมายว่าประชาชนไม่เอา คสช.เสมอไป แต่อาจเป็นไปได้ที่ประชาชนอยากให้ คสช.อยู่ยาว

ปัญหาของการตีความที่ลักลั่นลื่นไหลได้เช่นนั้น เกิดจากกระบวนการลงประชามติไม่เป็นไปตามกติกาที่เสรีและเป็นธรรมอย่างสากล เพราะไม่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีอิสระรณรงค์รับ ไม่รับด้วยการแสดงเหตุผลต่างๆได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการลงประชามติที่ประชาชนไม่มีทางเลือก เช่น รับ ไม่รับ คสช.ก็ยังอยู่ต่อ หรือถ้าร่างฯนี้ไม่ผ่านก็ไม่บอกประชาชนว่าจะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนกลับมาใช้แทน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปได้

สภาวะที่ประชาชนถูก “มัดมือชก” ดังกล่าว อยู่ภายใต้สภาวะที่ คสช.ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่เหตุผลหลักของ คสช.คือการยึดอำนาจรัฐเพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งผลงานที่จะบ่งบอกถึงรูปธรรมของการปฏิรูปก็คือร่างรัฐธรรมนูญ แต่จากร่างฯทั้งสองฉบับที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนเห็นหน้าตาของประชาธิปไตยที่ดีขึ้นแต่อย่างใด

กระนั้น การที่ประเทศต้องเสียทั้งเวลา โอกาส และงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการปฏิรูปผ่านการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ กลับเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถหาอำนาจรัฐและกลไกอำนาจใดๆในกระบวนการปฏิรูปภายใต้รัฐบาล คสช.แสดงความรับผิดชอบได้เลย

ขณะที่รัฐบาล คสช.และกลไกอำนาจอื่นๆในกระบวนการปฏิรูปไม่ต้องรัฐผิดชอบต่อการสูญเสียดังกล่าว กลับมีการเอาจริงเอาจังกับข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำความเสียหายต่อรัฐของกลุ่มบุคคลอื่นๆ เพื่อแสดง “ผลงาน” ทั้งๆที่ผลงานที่ต้องแสดงให้ประจักษ์คือ ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกลับไม่ปรากฏ

กลายเป็นว่า เรื่องที่ควรแสดงผลงานกลับไม่ปรากฏผลงาน แต่เรื่องที่ควรปล่อยให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเข้ามาจัดการ เช่นนโยบายสาธารณะต่างๆที่ใช้งบประมาณมหาศาล คสช.กลับเร่งรัดดำเนินการภายใต้ระบบที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบในสภาและภาคประชาชนไม่มีเสรีภาพในการตรวจสอบ

นี่คือปัญหาของระบบใช้อำนาจเด็ดขาด (despotism) ซึ่งอำนาจสูงสุดมาจากผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดเอง ถ้ามองอย่างเปรียบเทียบจะเห็นว่า ความยุติธรรมภายใต้ระบบใช้อำนาจเด็ดขาดในสังคมประเพณีโบราณขึ้นอยู่กับ “ลิขิตสวรรค์” หรือ “อำนาจของพระเจ้า” และการอ้างคุณธรรมผู้ปกครองตามความเชื่อทางศาสนา แต่ถึงที่สุดแล้วระบบเช่นนี้ก็เป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการพิชิตอำนาจ (ทำลายล้างอำนาจเก่าและกลุ่มอื่นที่เป็น “เสี้ยนหนาม”) ตั้งอยู่บนความหวาดระแวง ความกลัว และมักลงเอยด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ส่วนเผด็จการสมัยใหม่อย่างมุสโสลินี ฮิตเลอร์ และเผด็จการทหารในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายก็บริหารอำนาจบนความหวาดระแวง ความกลัว และลงเอยด้วยการใช้อำนาจตามอำเภอใจเช่นกัน เพียงแต่พวกเขามีเครื่องมือในการใช้อำนาจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น กฎหมาย กลไกระบบราชการสมัยใหม่ สื่อ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า 

แต่ในขณะเดียวกัน การใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารอำนาจของเผด็จการสมัยใหม่ ก็ไม่ใช่หลักประกันความยั่งยืนของอำนาจของพวกเขาได้ เพราะประชาชนในโลกสมัยใหม่ก็มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในระดับเดียวกันหรือมากกว่าในการตั้งคำถาม เปิดโปงด้านตรงกันข้ามกับสิ่งที่อำนาจเผด็จการสมัยใหม่โฆษณาชวนเชื่อ

ฉะนั้น ความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ กระทั่งความรุนแรงในการโค่นอำนาจเผด็จการเพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยจึงยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ อย่างน้อยๆประวัติศาสตร์สังคมโลกและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ผ่านๆมา ก็บอกเราเช่นนี้

คำถามสำคัญคือ เราจะฝ่าทางตันหลังประชามติเพื่อไปสู่การวางกติกาประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันโดยไม่เกิดความรุนแรงได้อย่างไร ผมเองยังมองไม่เห็นคำตอบในเรื่องนี้ กว่าสองปีที่ผ่านมา คสช.ก็ไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายมี “ความเห็นร่วมกัน” ได้ และไม่สามารถวางกติกาใดๆที่เสรีและเป็นธรรมอันจะเป็นทางไปสู่การมีความเห็นร่วมของคนในสังคม

เมื่อสังคมเราสามารถจะมีความเป็นร่วมกันในเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญกำหนด “รูปแบบประชาธิปไตย” ให้ชัดเจน และใช้รูปแบบนี้เป็นฐานในการปฏิรูปสถาบันต่างๆ เช่นสถาบันศาสนา กองทัพ ศาล และอื่นๆให้ถูกกำกับควบคุมตรวจสอบภายใต้กติกาที่อธิบายได้ว่าตอบสนองต่ออำนาจ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมด้านต่างๆมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อนั้นเราจึงจะพบทางออกร่วมกัน

จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ เราเลิกหวังว่าจะมี “อำนาจพิเศษ” มาแก้ปัญหาการเมืองในระบบประชาธิปไตยได้ และเชื่อมั่นว่าระบบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆของตัวมันเองได้ โดยเฉพาะชนชั้นกลาง สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชนอาวุโสทั้งหลายที่เคยถูกเชิดชูเป็น “เสาหลัก” ทางความคิดและจริยธรรมของสังคม ควรเปลี่ยนทัศนคติที่ชอบชี้นิ้วว่าปัญหาประชาธิปไตยมาจากชาวบ้านต่างจังหวัดโง่ ไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นผู้ลงคะแนนที่ด้อยคุณภาพ โดยไม่ยอมรับความจริงที่เป็นปัญหาสำคัญกว่าคือ การที่บรรดาชนชั้นกลางในเมือง สื่อ นักวิชาการ ปัญญาชนอาวุโสทั้งหลายยอมรับอำนาจรัฐประหาร เข้าไปผลักดันวาระทางการเมืองของพวกตนผ่านอำนาจรัฐประหาร กระทั่งเอาอะไรต่ออะไรที่กลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ของพวกตนต้องการไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจว่าสิ่งเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญชอบธรรมหรือไม่

หากฝ่ายที่สร้างปัญหากับประชาธิปไตยมากกว่า เกิดการเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงและนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาไตร่ตรองอย่างจริงจัง เราอาจพบทางออกอย่างสันติจากทางตันหลังประชามติ

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net