Skip to main content
sharethis

เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง ประกาศเจตนารมณ์ “ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง”โดยขอให้ผู้บริหารประเทศเคารพกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันในห้วงการเปลี่ยนผ่านของกติการ่วมของคนไทย บนฐานคิด “แบ่งปัน เท่าเทียม เป็นธรรม”

23 ก.ค. 2559 ที่ อ.เมือง จ.ตาก เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง” โดยมีตัวแทนจากทุกจังหวัดภาคเหนือตอนล่างร่วมกล่าวประกาศเจตนารมณ์ประมาณ 30 คน โดยรายละเอียดของคำประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง เป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนเป็นต้นทุนการผลิตที่พัฒนาเป็นเศรษฐกิจของชุมชนฐานรากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้เกิดแผนและนโยบาย ที่จะปรับเปลี่ยนหน้าที่ โครงสร้างของระบบนิเวศน์ภายในภาคเหนือตอนล่างที่มีหน้าที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตสู่การตอบสนองและเป็นต้นทุนการผลิตสู่การพัฒนาล้วนแล้วแต่ไม่ตอบสนองความต้องการของชุมชน การเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชุมชน ชุมชนกับรัฐ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง

ในห้วงเวลาของการกล่าวถึงการปฏิรูป และการพยายามกำหนดกติการ่วมกันของประเทศการเคารพสิทธิและการรับฟังเสียงประชาชนเปิดโอกาส ให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คือส่วนสาคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการกำหนดทิศทางและนโยบายพัฒนาเพื่อใหการดำเนินมาตรการใดๆ ของฝ่ายนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนคนในประเทศอย่างตรงจุด

การดำเนินการที่ผ่านมากระบวนภาคประชาชนพยายามสร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจ ในการกำหนดแผนพัฒนาที่เคารพสิทธิชุมชนและก่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงมาโดยตลอด ผ่านการระดมและประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไปสู่การพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนนโยบาย เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชนปี พ.ศ.2540, กฎหมายโฉนดชุมชนปี พ.ศ. 2548 กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ปี พ.ศ.2555 , พ.ร.บ.น้ำ และพ.ร.บ.แร่ฉบับภาคประชาชน รวมถึง นโยบายในการปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากรซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายนโยบายมาทุกยุคทุกสมัยมาโดยตลอด

จากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ที่เกิดขึ้นพบว่า การดำเนินนโยบายในหลายส่วนนำไปสู่ความกังวลของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและแผนการพัฒนาด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่64/2557และ66/2557,การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม,การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ,การขยาย พื้นที่สัมปทานเหมืองแร่และโรงโม่หิน,การพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ ความพยายามในการหาพื้นที่ป่ามาสร้างเขื่อน การปรับแก้ผังเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าการทางานบางส่วนขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่รอบด้าน และกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังข้อมูลจากชุมชน รวมถึงพื้นที่และกลไกที่ให้ชุมชนได้แสดงสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นยังเกิดขึ้นไม่มากนักก่อเกิดความกังวลของชุมชนถึงผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นมีเร่งรัดกระบวนการและขาดการทำความเข้าใจถึงแผนการดำเนินการและการจัดการผลกระทบที่ชัดเจน

ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจการกำหนดนโยบายในฐานะผู้บริหารประเทศที่รัฐบาลควรเคารพกระบวนมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานและสร้างธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันในห้วงการเปลี่ยนผ่านของกติการ่วมของคนไทยเพื่อให้ชุมชนมีความสุข มีความมั่นคงในวิถีชีวิต สู่การเข้าถึง จัดการทรัพยากร สิทธิชุมชน บนฐานคิด “แบ่งปัน เท่าเทียม เป็นธรรม” เพื่อความยั่งยืนต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net