รายงาน: ถอดบทเรียน BBC ปรับทัพสื่อรับยุค New Media สะท้อนอะไรต่อสื่อไทย

ย้อนรอยดูการปรับตัวของ BBC ในครึ่งปีแรกของปี 2559 ที่ผ่านมา สิขเรศชี้เมื่อภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไป BBC ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมตั้งข้อสังเกต “สื่อทั่วโลกหลอมรวม สื่อไทยขยายออก”

ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา หากสังเกตข่าวในเว็บไซต์ต่างประเทศ ข่าวหนึ่งที่เป็นประเด็นในวงการสื่อของสหราชอาณาจักร หรือ UK ในหลายๆ สำนักข่าว คงหนีไม่พ้นการปรับตัวของสื่อใหญ่อย่าง BBC ที่มีความเคลื่อนไหว มีการปรับเปลี่ยนองค์กรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปูพื้นทำความรู้จักกับสื่อระดับโลกอย่าง BBC [1]

BBC เกิดขึ้นภายใต้พระราชกฤษฎีกา (Royal Charter) ในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 5 เมื่อปี 2463 เพื่อจัดตั้งองค์การกระจายเสียงเพื่อสาธารณะที่มีชื่อเต็มๆ ว่า British Broadcasting Corporation มีสถานะพิเศษอยู่ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีความเป็นอิสระปลอดจากอำนาจทางการเมือง มีอธิปไตยสูงสุดทั้งในฐานะองค์กรกระจายเสียง (Broadcaster) และเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเองด้วย (Regulator) โดยมีทั้งคณะกรรมการนโยบาย (BBC Trust) และคณะกรรมการบริการ (BBC Executive) ตรวจสอบถ่วงดุลกันอยู่

BBC ยังขึ้นตรงต่อกฎหมายอีก 2 ฉบับคือ Wireless Telegraphy ACT 1949 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้สัมปทานคลื่นวิทยุแก่ผู้ประกอบการทุกรายรวมทั้ง BBC รวมถึงการควบคุมทางเทคนิค เช่น กำลังส่ง, ที่ตั้ง, คุณภาพสัญญาณ ฯลฯ และอีกฉบับหนึ่งคือ License and Agreement ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง BBC กับรัฐสภาในทางปฏิบัติ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องของการเงิน การบริหารและการควบคุมเนื้อหารายการ

BBC มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการรับชมจากครัวเรือน บริษัท และองค์กรทุกแห่งในสหราชอาณาจักร ที่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ก็ตามในการรับชมการแพร่ภาพโทรทัศน์เพียงทางเดียว แต่ค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ได้ตกแก่ BBC โดยอัตโนมัติ จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาก่อนเป็นรายปี

เมื่อดูสถานการณ์สื่อสาธารณะทั้งในสหราชอาณาจักรและยุโรปในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ต่างประสบปัญหาต่างๆ นานา เพราะต้องต่อสู้กับสื่อเอกชนหรือสื่อใหม่ (New Media) ที่เกิดขึ้นมามากมาย ทำให้ปัจจุบันสื่อสาธารณะในความหมายดั้งเดิมและรูปแบบเดิมแทบจะไม่เหลือเค้าให้เห็นแล้ว ยกเว้นกรณี BBC ของสหราชอาณาจักร กับ NHK ของญี่ปุ่นที่ยืนหยัดรักษาสถานะของสื่อที่มีรายได้จากประชาชนเช่นเดิม แต่ก็ต้องยอมประนีประนอม ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติบางอย่างเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ

แต่สำหรับกรณีที่เราพูดถึงอย่าง BBC นั้น อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อความอยู่รอดอีกรอบ...

ส่องอาณาจักรสื่อ BBC

ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.bbc.co.uk/aboutthebbc/insidethebbc/whatwedo ทำให้เราสามารถแบ่งหมวดหมู่บริการที่ BBC ดำเนินการกิจการอยู่ได้หลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือ ทีวี, วิทยุ และสื่อออนไลน์

ในส่วนของทีวีแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) ทีวีระดับชาติ ได้แก่ ช่อง BBC One, BBC Two, BBC Four, BBC News, CBBC, CBeebies, BBC Parliament, BBC Alba, S4C, 2) ทีวีระดับภูมิภาค ได้แก่ BBC One และ BBC Two ในไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์, 3) ทีวีระดับท้องถิ่น อีก 12 สถานี และ 4) ทีวีระดับสากล ในการดำเนินการของ BBC Worldwide และความร่วมมือกับบริษัททั่วโลก เช่นบริษัทในอเมริกา แคนาดา เอเชีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น เพื่ออกอากาศรายการจาก BBC

นอกจากนี้ BBC ยังมีบริการ BBC Red Button+ เพื่อให้บริการ Interactive TV ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์ได้

ทางฝั่งวิทยุแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) วิทยุระดับชาติ แบ่งเป็นสองส่วน คือวิทยุระบบ FM ได้แก่ BBC Radio 1, 2, 3, 4 และวิทยุระบบ AM, ระบบดิจิทัล และ Online ได้แก่ BBC Radio 1 Xtra, 4 Xtra, 5 Live, 5 Live Sport Extra, 6 Music, Asian Network และ World Service 2) วิทยุระดับภูมิภาค ได้แก่ Radio Wales, Ulster, Foyle, Scotland, Nan Gàidheal และ 3) วิทยุระดับท้องถิ่น อีก 40 สถานี

สื่อออนไลน์มีมากมายหลายเว็บไซต์ แต่ส่วนหลักๆ ที่เห็นได้ชัด จะเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกใน BBC.com มี BBC Britain ซึ่งแตกออกเป็น section ย่อยๆ อย่าง Capital, Autos, Earth, Future, Travel และ Culture ส่วนที่สอง BBC.co.uk แตกอออกเป็นมากมายหลาย section เช่น News, Sport, Weather, Arts, Food, Music, CBBC, CBeebies เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการ iPlayer ที่สามารถดูทีวี-ฟังวิทยุได้แบบสดๆ และย้อนหลังได้อีกด้วย รวมไปถึงการให้บริการใน Social Media อย่าง Facebook, Twitter, Instagram และ YouTube อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่นๆ อีกอย่างเช่น BBC News, BBC Music, BBC Learning, BBC Genome Project, BBC Big Screen, BBC Monitoring เป็นต้น

ย้อนรอยการปรับตัวของ BBC ในรอบปี 2559

16 กุมภาพันธ์ 2559
BBC ประกาศหยุดออกอากาศ BBC Three ที่เป็นช่องรายการที่มีเนื้อหาเจาะกลุ่มเด็กและครอบครัว และออกบริการผ่านระบบออนไลน์ในชื่อ BBC iPlayer อย่างเดียว ซึ่ง BBC ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทประหยัดงบได้ถึง 30 ล้านปอนด์ [2]

12 พฤษภาคม 2559
John Whittingdale รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของสหราชอาณาจักร เปิดเผยรายละเอียดแผนร่าง (White Paper) ของพระราชกฤษฎีกา (Royal Charter) ฉบับใหม่สำหรับ BBC โดยมีรายละเอียดสำคัญๆ อย่างเช่น

1) ไม่มีใครจะสามารถดูรายการออนไลน์ของ BBC โดยไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเครื่องรับโทรทัศน์ โดยจะปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ไม่ให้ชมรายการได้ฟรีอีกต่อไป

2) ในแง่การผลิตเนื้อหา BBC จะมีหน้าที่ใหม่ คือผลิตเนื้อหาที่มีลักษณะเฉพาะ (Distinctive Content) มากกว่าทำเพื่อวิ่งตามเรทติ้ง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถของบริษัทที่จะซื้อรายการยอดนิยมจากต่างประเทศอย่างเดอะวอยซ์ (ซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศฮอลแลนด์ --ผู้เขียน)

3) BBC จะมีหน้าที่ใหม่ คือ ส่งเสริมความหลากหลาย โดย 15% ของตัวนำในบทละคร จะต้องเป็นคนดำ หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์/ชนกลุ่มน้อย ภายในปี 2563 และ 50% ของตัวนำในบทละครจะเป็นผู้หญิง

4) เปิดโอกาสให้บริษัทผลิตเนื้อหาจากภายนอกเข้ามาประมูลเพื่อผลิตเนื้อหารายการใน BBC ได้ทั้งหมดเป็นครั้งแรก ครอบคลุมไปถึงส่วนที่เคยถูกกันไว้อย่างรายการข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน

5) รายได้ของดาราทุกคนที่มากกว่า 450,000 ปอนด์ ต้องถูกเปิดเผย ในขณะที่การเงินของ BBC จะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (National Audit Office) ของสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก

6) มีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลองค์กร (Unitary Board) ขึ้นมาใหม่ แทนที่คณะกรรมการนโยบาย (BBC Trust) และคณะกรรมการบริการ (BBC Executive) เดิม

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงกับรัฐบาล BBC จะระดมนักข่าวท้องถิ่น 150 คน โดยจะทำข่าวจากศาลและการประชุมสภาในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้อนเนื้อหาให้กับหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก สามารถอ่านรายละเอียดแผนร่างโดยสรุปได้ที่ http://www.bbc.com/news/uk-36276570

ด้าน Maria Eagle รัฐมนตรีเงากระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬากล่าวว่าข้อเสนอของ Whittingdale ส่วนใหญ่ เป็นข้อเสนอแบบกว้างๆ ที่อาจทำให้ BBC อ่อนแอลง นอกจากนี้เธอบอกให้เขาหยุดการแทรกแซงอันเกิดจากแรงขับเชิงอุดมการณ์ และปล่อยให้ BBC ทำงานต่อไป [3]

17 พฤษภาคม 2559
BBC ประกาศปิดและยุบรวมหลายๆ ส่วนงาน เริ่มจาก News Magazine นิตยสารยอดนิยมของ BBC ที่เน้นข่าวและไลฟ์สไตล์ จะถูกปิดตัวลง และกิจกรรมโซเชียลมีเดียของ Digital Radio และเนื้อหารายการอื่นๆ ที่ไม่ใช่แกนหลักจะถูกลดขนาดลง

ส่วนเว็บไซต์ iWonder เว็บไซต์ตอบข้อสงสัยตามหัวข้อที่มี ก็จะถูกปิด เช่นเดียวกับเว็บไซต์ Newsbeat ของ BBC Radio One จะถูกรวมเข้ากับ BBC News Online รวมไปถึงในส่วนของข่าวท่องเที่ยวก็จะปิดตัวลง และแอปพลิเคชัน BBC Travel ก็จะหยุดการพัฒนาลงด้วย

และสุดท้ายเว็บไซต์ BBC Food จะถูกปิดและยุบรวมไปอยู่กับ BBC News แต่เมนูบนเว็บไซต์ก็ยังเข้าถึงได้ผ่านเสิร์ชเอนจินต่างๆ อย่างกูเกิล เป็นต้น ส่วน BBC Good Food ยังเปิดให้บริการตามปกติ แต่หากต้องการดูบางเมนูจะต้องเสียค่าบริการ

BBC กล่าวว่าแผนดังกล่าวจะช่วยให้ BBC ประหยัดงบประมาณได้ถึง 15 ล้านปอนด์ [4]

ในวันเดียวกัน แหล่งข่าวจาก BBC กล่าวว่า BBC กำลังจะตัดสินใจรวม 2 ช่องข่าวอย่าง BBC News และ BBC World News ให้กลายเป็นช่องข่าว 24 ชั่วโมงเพียงอย่างเดียว

โดย BBC คาดการณ์ว่าแผนดังกล่าวจะช่วยประหยัดงบประมาณถึง 80 ล้านปอนด์ ซึ่งบริษัทมองว่าราวปี 2563-2564 จะประหยัดงบประมาณได้ถึง 800 ล้านปอนด์ ตามที่ได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการจัดหาเงินทุนกับรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว [5]

มิถุนายน 2559
หลายฝ่ายก็แสดงความกังวลต่อ BBC ที่กำลังจะรวมช่องข่าว 2 ช่อง อย่าง BBC News และ BBC World News อย่าง Halen Goodman ส.ส.พรรค Labour และประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนประจำรัฐสภาสหราชอาณาจักรยื่นญัตติเรียกร้องให้ BBC เร่งตีกลับแผนดังกล่าว โดยมองว่าจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างเก็บค่าธรรมเนียมจากเครื่องรับโทรทัศน์และการทำกำไรจะไม่ชัดเจน เพราะว่าช่อง BBC News มีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเครื่องรับโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร ส่วนช่อง BBC World News ก็มีรายได้ในเชิงพาณิชย์และออกอากาศให้ผู้ชมทีวีนอกสหราชอาณาจักรด้วย นอกจากนี้ญัตติดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก Chris Matheson ส.ส.พรรค Labour และคณะกรรมาธิการกลั่นกรองด้านวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา อีกด้วย [6]

ส่วน Roger Mosey อดีตผู้บริหาร BBC News ก็ออกมาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนเลยว่าเป็นการยุบรวม 2 ช่องนี้อาจเป็นการแสดงออกว่า BBC ตั้งใจทำร้ายองค์กรตัวเอง เพราะการยุบรวม 2 ช่องนี้จะสร้างความเสี่ยงให้ผู้ชมทีวีในสหราชอาณาจักรพลาดเรื่องราวในประเทศที่สำคัญไป และเป็นการลดคุณภาพของบริการด้านข่าวที่ BBC เคยทำได้ดีอีกด้วย [7]

กรกฎาคม 2559
ในที่สุด BBC ก็ตัดสินใจปฏิเสธแผนยุบรวม 2 ช่องข่าว อย่าง BBC News และ BBC World News ไป ซึ่งยืนยันจาก Tony Hall ผู้อำนวยการใหญ่ BBC ผ่านการตอบคำถามนักข่าวว่า “ใช่ ช่องข่าวจะยังคงอยู่ พวกเราทั้งหมดรับรู้ถึงความสำคัญของการทำให้ทีวีได้รับการยอมรับ และทำให้มองเห็นสิ่งที่เราเผยแพร่ออกมา”

แต่ข้อมูลจากพนักงาน BBC ระบุถึง James Harding ผู้บริหาร BBC ได้กล่าว 2 ช่องข่าวถูกคาดหวังว่าจะทำให้การประหยัดงบประมาณขึ้น 10% เป็นรูปธรรม และคาดว่าจะถูกชดเชยจากงบประมาณของบรรณาธิการ

และโฆษก BBC ออกมาระบุว่าการคง 2 ช่องข่าวไว้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ชมใน สหราชอาณาจักรและต่างประเทศว่าจะได้รับบริการที่ตรงตามความต้องการของผู้ชมได้มากที่สุด แต่ก็ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายประหยัดงบไปด้วย โดยตั้งเป้าให้ประหยัดได้ 10% สำหรับทั้ง 2 ช่อง

นอกจากนี้ BBC สรุปค่าใช้จ่ายของทีวีที่มีอยู่ตอนนี้อยู่ที่ 62.3 ล้านปอนด์ และรวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสูงเกินกว่า 110 ล้านปอนด์ แต่งบประมาณที่ใช้ไปส่วนใหญ่ก็ไปอยู่ในส่วนฝ่ายข่าว ถ้าหากฝ่ายข่าวถูกปิดจริงๆ ฝ่ายข่าวจะถูกโอนย้ายไปยังแผนกต่างๆ ใน BBC [8]

 

สิขเรศชี้สองสาเหตุที่ BBC ต้องปรับตัว


ภาพจากเพจ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับ BBC และมีผลสะท้อนมายังสื่อสาธารณะ หรือสื่ออื่นๆ ในไทยอย่างไร ทางประชาไทได้สอบถามข้อมูลจาก สิขเรศ สิรกานต์ นักวิชาการด้านทีวีดิจิทัล ผู้ทำวิทยานิพนธ์ Digital TV in Thailand ได้ให้ข้อสังเกตว่าหากมองปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อย่างเข้าใจ จะพบว่ามี 2 สาเหตุสำคัญด้วยกัน

ข้อแรก โครงสร้างที่กำกับดูแลด้านบน (Regulator) มีการดำเนินการเพื่อต่อพระราชกฤษฎีกา (Royal Charter) ในเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อทำให้ BBC ดำเนินการต่อไป เปรียบเทียบได้กับ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ของ ThaiPBS ฉะนั้นการต่อพระราชกฤษฎีกา จึงเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมจากเครื่องรับโทรทัศน์มาจุนเจือบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้นการเพิ่มจำนวนเงินหรือลดจำนวนเงินในปีนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ฉะนั้นภายในองค์กรหรือผู้บริหารเองก็ต้องมีการบริหารจัดการในเงินตรงส่วนนี้

ข้อที่สอง สิขเรศ อธิบายว่าเรื่องภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป BBC คงไม่สามารถมีองค์กรที่ใหญ่โต มีสายการบริหารงานที่ใหญ่และกว้าง โดยไม่มีการปรับสภาวะภูมิภาวะของสื่อให้เท่าทันโลกยุคปัจจุบัน เพราะตอนนี้มีสื่อใหม่ๆ ที่ท้าทายสื่อยุคเก่า ยกตัวอย่างทีวีออนไลน์ ทีวีที่ชมจากสมาร์ทโฟนหรือแอปพลิเคชัน หรืออื่นๆ อีกอย่างหนึ่งคือ BBC มีวิทยุจำนวนเยอะมากในปัจจุบัน ฉะนั้นการปรับภูมิทัศน์สื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“สื่อทั้งโลกใบนี้ต้องปรับหมด และ ถ้าจะมองในเชิงเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดเราก็เห็นแล้วว่าการรับทีวีภาคพื้นดิน ประเทศไทยมันเปิดช้าไปประมาณ 5-12 ปี อย่างที่ผมเคยบอกแล้ว มันคือช่วงรอยต่อของทีวีดิจิทัลในรูปแบบอื่นๆ อาจจะเป็นรูปแบบการดูย้อนหลังผ่านแอปพลิเคชัน หรืออะไรก็แล้วแต่” สิขเรศกล่าว

“ผมพูดในมุมกว้างๆ ว่าทีวีสาธารณะในประเทศเราก็มีประมาณ 4 ช่อง (ช่อง ททบ.5, NBT, ทีวีรัฐสภา และ ThaiPBS) ที่มีลักษณะคล้ายกับ BBC ก็ต้องไปย้อนคิดว่าถ้าเราเอาสหราชอาณาจักรเป็นกรณีศึกษางบประมาณ สื่อที่ได้รับเงินทุนจากสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากรัฐบาล หรืองบประมาณจากแผ่นดิน ทางตรง ทางอ้อม อะไรก็แล้วแต่ที่ชี้วัดประโยชน์ที่นำไปใช้ในทางสังคมด้วย เพราะว่าใช้เงินภาษีในระดับหนึ่งอยู่เหมือนกัน ผมย้ำว่าความจำเป็นของทีวีสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นช่องไหนหรือรูปแบบไหน ก็ยังคงมีอยู่ เราก็ต้องปรับให้สมดุล โดยให้สอดคล้องสภาพสังคมและสภาพปัจจุบัน” สิขเรศกล่าว

สิขเรศยังยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์นั้นมีผลผูกพันกันทั้งหมดในแง่ของการจัดการบริหารสื่อ โดยยกตัวอย่างช่อง BBC Three ที่ย้ายไปอยู่แฟลตพอร์มออนไลน์โดยเฉพาะ ฉะนั้นช่อง BBC Three จึงเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 18 ปี ถึง 20 ปีปลายๆ ซึ่ง BBC เล็งเห็นว่าการรับชมโทรทัศน์ในวิถีเดิมๆ จะไม่มีอิทธิพลมากเหมือนแต่ก่อน และ BBC ได้รับการใช้เงินจำนวนมากในการทำสื่อสาธารณะแบบนี้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ BBC ปรับในหลายๆ ส่วน และกรณีของช่อง BBC Three ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า BBC ก็กลับมาสู่โลกออนไลน์และสื่อใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่ออกอากาศทางภาคพื้นดินอีกต่อไป

ตั้งข้อสังเกตทีวีเมืองไทย เอาทีวีพาณิชย์นำทีวีสาธารณะ

สิขเรศยังตั้งข้อสังเกต ผ่านการมองประวัติศาสตร์ของทีวีดิจิทัลของสหราชอาณาจักร โดยยกตัวอย่างกรณีเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีการล้มหายตายจากของทีวีดิจิทัล แล้ว BBC ก็ร่วมมือกับทีวีบริการสาธารณะและทีวีพาณิชย์ ช่วยกันกอบกู้ขึ้นมา เพราะต้องยอมรับว่าอย่างน้อยๆ 1 ใน 4 ของผู้ผลิตเนื้อหารายการ (Content Provider) หลักของทีวีดิจิทัลในสหราชอาณาจักร คือ BBC เมื่อดูผลสำรวจทุกสำนักจะพบว่า BBC ยังครองใจผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าจะถูกติชมมามากแค่ไหนก็ตาม

สิขเรศยังกล่าวถึงกรณีศึกษาของทีวีดิจิทัลเมืองไทย มีข้อสังเกตว่าอาจจะเสียสมดุลอยู่เล็กน้อย เนื่องจากเอาทีวีพาณิชย์มานำ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการสร้างสมดุลที่ว่าทีวีบริการสาธารณะที่ใช้เงินรัฐอยู่ เราจะทำอย่างไรให้ content ดึงดูดใจ แล้วก็สามารถนำพาทีวีดิจิทัลเมืองไทยให้เดินไปต่อได้

“เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในโครงสร้าง ไม่ว่าโครงสร้างของช่อง ททบ.5, NBT, ทีวีรัฐสภา และ ThaiPBS ก็ตาม ผมคิดว่ามีโครงสร้างที่ดี ไม่ต้องมีค่าลงทุนจากคนอื่นเขา ค่าประมูล ค่างวด ก็ไม่ต้องจ่าย คนอื่นเขาจ่ายกันทุกงวดในจำนวนเยอะมาก 50,000 กว่าล้าน อันนี้ทีวีบริการสาธารณะก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า เมื่อคุณไม่ได้จ่ายในส่วนนี้ คุณจะทำยังไงให้ตอบโจทย์ทีวีดิจิทัลได้” สิขเรศกล่าว

สื่อทั่วโลกหลอมรวม สื่อไทยขยายออก

สิขเรศยังมองว่าทีวีเมืองไทยมีโมเดลที่ย้อนแย้งกับโลกในปัจจุบัน โดยกรณีอย่าง BBC แผนกต่างๆ แทบจะโดนยุบเกือบทั้งหมด เนื่องจากต้องการให้เกิดการผสมผสาน (integrate) เข้าด้วยทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานข้ามพรมแดนสื่อ ข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งหมายถึงการผสมผสานระหว่าง วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อใหม่ (New Media) ให้เป็นส่วนเดียวกันอีกด้วย รวมเน้นย้ำให้สื่อสาธารณะ สื่อภาครัฐ หรือสื่อที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้วย

“แต่ทีวีของประเทศเราพยายามบานออก ทำให้คนมากยิ่งขึ้น วันนี้ก็ประจักษ์แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยของเรากำลังจะบานออก เป็นฟองสบู่ทีวีดิจิทัล แต่ประเทศอื่นๆ เขากำลังรัดเข็มขัด บูรณาการให้สื่อดิจิตอลให้มันไปในทางทศวรรษใหม่หรือภายใน 10 ปีใหม่ได้” สิขเรศกล่าว

นอกจากนี้สิขเรศยังกล่าวว่าเมื่อพฤติกรรมคนดูเปลี่ยน เทคโนโลยีก็ถูกเปลี่ยน ถึงเวลาที่ทีวีดิจิทัลควรมาดูว่าอันไหนที่ควรปรับปรุงคุณภาพ อันไหนที่ควรปรับโครงสร้าง อันไหนที่ควรปรับแนวคิดเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถโทษผู้ประกอบการได้อย่างเดียว เมื่อดูในระดับนโยบายของไทย ไม่มีโรดแมป ไม่มีพันธกิจร่วมกัน ไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าจะบูรณาการสื่อตรงนี้อย่างไร

 

ข้อมูลประกอบจาก
[1]  http://www.oknation.net/blog/adisak/2007/03/21/entry-1
http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=842
https://en.wikipedia.org/wiki/BBC

[2]  https://www.blognone.com/node/75251
http://www.bbc.com/news/entertainment-arts-35578867

[3]  http://www.bbc.com/news/uk-36276570
http://www.independent.co.uk/news/media/tv-radio/bbc-reforms-is-the-new-royal-charter-ideologically-driven-meddling-or-a-clear-pathway-for-the-future-a7026781.html

[4]  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1463486788
http://www.bbc.com/news/uk-36308976
http://www.independent.co.uk/news/media/bbc-confirms-online-closures-in-bid-to-save-15-million-a7033566.html#gallery
http://www.independent.co.uk/news/media/thousands-of-recipes-to-be-removed-from-bbc-website-a7033146.html#gallery

[5]  http://www.theguardian.com/media/2016/may/17/bbc-news-channel-bbc-world
[6]  http://www.theguardian.com/media/2016/jun/07/bbc-urged-to-reject-proposal-to-merge-news-operations
[7]  http://www.theguardian.com/media/2016/jun/21/bbc-news-merger-needless-act-self-harm-roger-mosey
[8]  https://www.theguardian.com/media/2016/jul/14/bbc-news-channel-world-news-cuts-merger

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท