สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ก.ค. 2559

 
พนักงานเหมืองทองฯ บุก สสจ.พิจิตรท้าเปิดข้อเท็จจริงผลของมลพิษที่เกิดจากเหมืองฯ
 
วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา นายยุทธ ศรีทองสุข ซึ่งเป็นแกนนำและเป็นตัวแทนของพนักงานเหมืองแร่ทองคำ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และพนักงานจากบ้านโลตัสฮอล วิศวกรรมเหมืองแร่และการก่อสร้าง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กว่า 20 คน ได้รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่อยู่รอบเหมืองทอง เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดเผยข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่น รวมถึงผลการตรวจสารหนูและโลหะมีพิษ มีการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งผู้ไม่มีหน้าที่กลับเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนผู้ที่มีหน้าที่กลับเพิกเฉยจนเป็นเหตุให้สังคมเข้าใจผิดว่าเหมืองทองอัคราเป็นผู้สร้างมลพิษ
 
ดังนั้น การมายื่นหนังสือในวันนี้จึงต้องการขอให้ สนง.สสจ.พิจิตร ที่มีข้อมูลเร่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถ้าพบว่าเหมืองทองอัคราผิดจริงก็พร้อมที่จะน้อมรับการลงโทษจากสังคมหรือรัฐบาล แต่ถ้าพิสูจน์แล้วเหมืองทองอัคราพิจิตรทำถูกต้องก็ควรได้รับความเป็นธรรม
 
โดยการมายื่นหนังสือของตัวแทนเหมืองแร่ทองคำอัครารีซอร์สเซส จำกัด ในครั้งนี้ได้มีนายมานพ ชมพู รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ด้านบริหาร เป็นผู้มารับคำร้องทุกข์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้เปิดเผยว่าจะเร่งส่งคำร้องทุกข์ดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำร้องขอต่อไป
 
 
สหภาพฯ กสท ประสานเสียงทีโอทีไม่เอาบริษัทลูก
 
จากการที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า คนร. ได้รับทราบการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของทีโอที และ กสท ได้แก่ 1.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) 2.บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และ 3.บริษัทศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDC CO) โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กำกับให้ทีโอที และ กสท จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจต่อพนักงานของทีโอที และ กสท ต่อไป
 
โดยที่ในช่วงเช้าของวันที่ 11ก.ค.ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 บริษัท คือ ทีโอที และ กสท ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปรับโครงสร้างรูปแบบดังกล่าว โดย นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า พนักงานไม่เห็นด้วยต่อการนำทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัทมาตั้งเป็นบริษัทลูก เนื่องจากทั้งคู่ต่างมีธุรกิจที่ต้องประกอบกิจการ และถือว่าเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของประเทศ ถามว่าทั้ง 2 บริษัทมีการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะ กสท โทรคมนาคม มีเคเบิลใต้น้ำ ขณะที่ ทีโอที ไม่มี หรือจะบอกว่ามีโครงข่ายแบ็กโบนเหมือนกันก็ต้องบอกว่าทั้งคู่ก็มีลูกค้าที่ต้องให้บริการ เพราะทั้งคู่ก็คือผู้ประกอบการ แต่หากรัฐบาลจะกำหนดถึงโครงข่ายที่สร้างใหม่ ไม่นำทรัพย์สินที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตนเองยอมรับได้
 
ทั้งนี้ พนักงานจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการนำไปสู่การตั้งบริษัทลูกนั้นจะไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วนำทรัพย์สินไปให้เอกชน พนักงานจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ระยะยาวบริษัทลูกจะไปรอดหรือเปล่า ซึ่งตนเองทราบมาว่า การตั้งบริษัทลูกจะเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจก่อน 3 ปี จากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ ซึ่งหากมาร่วมลงทุนในสัดส่วน 51% เท่ากับเป็นการขายทรัพย์สินของชาติให้เอกชน
 
“ผมว่าผู้ใหญ่ที่ดูเรื่องนี้ไม่เข้าใจโครงสร้างการทำงานของธุรกิจโทรคมนาคม ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 บริษัท การตั้งบริษัทลูกไม่ใช่การแก้ปัญหา ทำไมเขาไม่แก้ที่ปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอร์ดที่ไร้ประสิทธิภาพ การทำงานยังเป็นการทำงานแบบราชการ จะทำอะไรแต่ละอย่างก็มีขั้นตอนเยอะ ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก ทั้งๆ ที่เรามีแผน และมีความพร้อมในการเดินหน้าทำธุรกิจ ผลประกอบการเรามีกำไร และผมก็ไม่เข้าใจ นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ตอนที่เป็นบอร์ดซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงทำไมไม่มีความเห็นอะไร แต่พอได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที กลับเร่งทำเพื่อให้มีผลงานหรือไม่ คนในกระทรวงเองก็ไม่มีความเข้าใจในการแก้ปัญหา ตอนนี้บอกเลยว่าคนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาเรื่องนี้ในฐานะสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 6-7 คน คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันมีผลประโยชน์ทับซ้อน และใครจะได้ผลประโยชน์จากทรัพย์สินของเรา ขอเถอะครับอย่าเอารถยนต์ของเราไปชำแหละขายให้คนอื่นเลย”
 
นายสังวรณ์ กล่าวย้ำว่า พนักงานทั้งหมดยังรอให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาชี้แจง หากตอบคำถามไม่ได้ว่า มันไม่ได้นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พนักงานต้องไม่เดือดร้อน และบริษัทลูกในอนาคตอยู่รอดหรือไม่ ความชัดเจนในการบริหารงานเป็นรูปแบบไหน หากต้องมีบอร์ดจะมาจากที่ไหนบ้าง และแนวคิดการตั้งบริษัทลูกต้องไม่ใช่การนำทรัพย์สินไปขายให้เอกชน ไม่เช่นนั้นพนักงานทั้งหมดไม่ยอมแน่นอน
 
“ถ้ารูปแบบการได้มาของบอร์ดยังเป็นเหมือนเดิมมันก็ไม่รอด เห็นได้ชัดที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ตั้งบริษัทลูกเกี่ยวกับลอจิสติกส์ ก็ยังไปไม่รอดเลย นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม ก็เคยทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือร่วมกันแต่ก็ไม่รอด เพราะวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 ต่างกัน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความชัดเจน และเสนอให้แก้ปัญหาด้วยการสร้างศักยภาพให้แก่รัฐวิสาหกิจ เพราะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างโทรคมนาคมรัฐต้องเป็นผู้ลงทุน และดูแล ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนเอกชนต้องไม่ลงทุนซ้ำซ้อนกับรัฐ ควรสร้างเสริมจากโครงสร้างหลักที่รัฐลงทุนไปแล้ว ไม่ใช่พูดว่าแข่งกับเอกชนไม่ได้ก็ไม่ต้องแข่ง เพราะนั่นคือคำพูดที่นายทุนเขาพูดกัน”
 
นายสังวรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ คนร.จะประชุม และมีมติดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 สหภาพฯ ได้ออกแถลงการณ์ภายในเพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้มี นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงไม่กล้าตัดสินใจใดๆ เพราะทำหน้าที่เพียงรักษาการเท่านั้น
 
ขณะที่ นายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหภาพฯ ทีโอที กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพราะที่ผ่านมา ทีโอทีมีการปรับโครงสร้างรอบที่ 2 ตามที่ คนร.ได้แบ่งกลุ่มธุรกิจให้แล้ว แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าทีโอทีจะอยู่รอดได้อย่างไร พนักงานไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารทำ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2559 สหภาพฯ ได้ทำหนังสือขอนัดหมายกับ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที เพื่อขอความชัดเจนในการขับเคลื่อนทีโอที ตามการปรับโครงสร้างใหม่ รวมถึงเรื่องแผนธุรกิจต่างๆ ที่บอกว่าจะทำแต่ก็ไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นพันธมิตรกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับคลื่น 2100 MHz หรือแม้แต่ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการถ่ายรูปเช่าสัญญาณกันกับเอไอเอสก็ไม่ชัดเจนว่ารายได้ที่ได้มาสมเหตุสมผลหรือไม่ ตลอดจนเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ของเอไอเอสมีความคืบหน้าอย่างไร โดยขณะนี้วันเวลาที่นัดคุยกันตั้งแต่แรกคือ วันที่ 7 ก.ค.นั้นทั้ง 2 ฝ่ายยังว่างไม่ตรงกัน จึงขอนัดคุยกันในวันที่ 14 ก.ค. ที่จะถึงนี้
 
 
ก.แรงงาน เผย Action Plan เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลิกจ้าง
 
ก.แรงงาน เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การเลิกจ้าง จัดทำ Action Plan เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือปิดกิจการของสถานประกอบกิจการ
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การเลิกจ้าง พร้อมด้วยสำนักตรวจและประเมินผล สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ประสงค์ฯ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (13 ก.ค.59) จากกรณีการเกิดเหตุการณ์ลูกจ้างประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวง ปุณฑริกสมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายวรานนท์ ปีติวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะประกอบไปด้วย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และผู้แทนทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559
 
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้จัดทำข้อมูลประกอบ โดยเชิญทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานประชุมเพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และมาตรการการช่วยเหลือกรณีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือปิดกิจการของสถานประกอบกิจการ โดยแผนดังกล่าว ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนกลาง รายงานผู้บริหารและผู้ตรวจราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อประชุมทีมเฉพาะกิจประเมินสถานการณ์เตรียมลงพื้นที่และให้ทุกหน่วยงานส่วนกลางประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ 2) ส่วนภูมิภาค รายงานผู้บริหารและผู้ตรวจราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ประสานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบุคคลของ สปก. เพื่อประสานขอเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนลูกจ้าง การจ่ายค่าจ้าง และขอความร่วมมือในการจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และชี้แจงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดหาตำแหน่งงานว่างภายในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจากระบบ Smart Job Center โดยการ Matching ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน พร้อมให้บริการแนะแนวอาชีพและแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพ ชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงานและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมให้บริการรับแบบขึ้นทะเบียนคนว่างงานและชราภาพ ประชาสัมพันธ์หลักสูตร/สาขาวิชาชีพที่ให้บริการฝึกอบรมเพื่อประกอบอาชีพอิสระ และเตรียมความพร้อมในการฝึกอาชีพ รวมถึงการประสานอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยการดำเนินการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 5 วัน
 
 
กยศ.คาดปี 60 ร่างพ.ร.บ.ใหม่ให้นายจ้างหักเงินเดือน-ค่าจ้างเพื่อชำระคืนกองทุนจะมีผลบังคับใช้ หลังผ่านครม.เมื่อมี.ค.ที่ผ่านมา
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรได้ ทำให้กองทุนต้องพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมากในการจัดสรรให้กู้ยืม เป็นผลให้กองทุนต้องยกร่าง พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้กู้ยืม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้
 
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้การสนับสนุนในการผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ โดยได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ให้มีการกู้และการนำส่งคืนเงินอย่างรัดกุม เหมาะสม รวมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการกู้ยืม และให้บรรจุกฎหมายใหม่ของกองทุนเป็นกฎหมายเร่งด่วนตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559
 
"กฎหมายใหม่ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจ้างนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ หรือต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560"น.ส.ฑิตติมากล่าว
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จนมีผู้กู้ยืมนำเงินมาชำระหนี้ในวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อันส่งผลให้กองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. สามารถที่จะพึ่งพางบประมาณแผ่นดินน้อยลงมากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
 
 
“โตโยต้า” แจงเลิกจ้างแรงงานชั่วคราว เหตุยอดส่งออกลด ปัดใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน
 
(14 ก.ค.) นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย “แถลงข่าวกรณีการเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรง โครงการจากกันด้วยใจ” โดยนายสุเมธ กล่าวว่า บริษัท โตโยต้า ยืนยันว่า การจัดโครงการให้พนักงานแสดงความจำนงขอลาออกเองนั้น ไม่ได้เกิดจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เกิดจากจำนวนยอดส่งออกลดลงจาก 3.7 แสนคัน เหลือเพียง 3.1 แสนคัน เนื่องจากประเทศในตะวันออกกลางลดการสั่งซื้อและราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าลดพนักงานรับเหมาค่าแรง หรือ ซับคอนแทรก เพียง 900 คน แต่ล่าสุด มีพนักงานยื่นความจำนง 1,200 คน ไม่ใช่ 4,000 - 5,000 ตามที่มีกระแสข่าว โดยจะส่งข้อมูลพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดให้กระทรวงทราบภายใน 15 ก.ค. นี้
 
“บริษัท โตโยต้า ยังยืนยันว่า ไม่ได้ปลดคนเพื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ทำให้กระทรวงรู้สึกไม่กังวลใจแล้ว แต่ขณะนี้ได้เตรียมงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 58 อัตรา ฉะเชิงเทรา 60 อัตรา ชลบุรี 1,111 อัตรา และ ระยอง 930 อัตรา รวมทั้งได้เตรียมอาชีพอิสระไว้รองรับหากต้องการ” นายสุเมธ กล่าวและว่า ขณะนี้ รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานทำแผนปฏิบัติการร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงาน เช่น อุบัติภัย การเลิกจ้าง ก็จะหางานใหม่ให้ตรงความต้องการของแรงงาน โดยเป็นงานใกล้เคียงกับงานเดิมให้มากที่สุด และยืนยันว่า สถานการณ์การเลิกจ้างในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 2.4 แสนอัตราทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่างฝีมือที่ยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก
 
ด้านนายฉัตรชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้จ่ายเงินค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานทั้งหมดแล้ว รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท และขอยืนยันบริษัทไม่มีนโยบายนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนพนักงาน ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ดีขึ้น ก็พร้อมรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดิม รวมทั้งนับอายุงานต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขณะนี้บริษัทมีซับคอนแทรกที่ยังทำงานอยู่ด้วยกว่า 4,000 คน
 
 
"แรงงานโคราช" สุดบูมห้างแห่เปิด ตำแหน่งงานว่างเยอะ 3,000 อัตรา
 
แรงงานจังหวัดโคราชเผยไม่มีแววโละคนงาน แถมความต้องการจ้างงานพุ่งกว่า 3,000 อัตรา ปัจจัยบวกจากศูนย์การค้าแห่เปิดใหม่ "เทอร์มินอล 21-เมกาโฮมเซ็นเตอร์-ฟู้ดแลนด์" ผนวกการขยายสาขาของกลุ่มโมเดิร์นเทรด แม็คโคร โลตัส เดอะมอลล์ คลังพลาซ่า
 
นางสาวกันยา ศรีขาว แรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์แรงงานในจังหวัดนครราชสีมายังคงปกติ ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีการยกเลิกการจ้างแรงงาน หลังจากที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และประเภทอื่น ๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการเป็นปกติ ซึ่งได้เข้าไปแนะนำเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์แรงงานตลอดเวลาและอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาพรวมอัตราการว่างงานของแรงงานมีไม่ถึง 1%
 
ขณะที่ความต้องการแรงงานในจังหวัดนครราชสีมานั้นพบว่า ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ประเภทกิจการที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค คิดเป็นร้อยละ 47.95 ซึ่งตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับสมัครนั้น เพื่อรองรับศูนย์การค้าที่กำลังจะเปิดใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2560-2561 ได้แก่ เทอร์มินอล 21, เมกาโฮมเซ็นเตอร์, ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงรองรับการปรับโครงสร้างและเพิ่มสาขาศูนย์การค้าต่าง ๆ ได้แก่ แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, เดอะมอลล์นครราชสีมา และคลังพลาซ่า
 
สำหรับกิจการที่มีความต้องการรองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 40.43 ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานประกอบการที่มีการรับสมัครงานสูงสุด ได้แก่ บจก.แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) บจก.ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น บจก.ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต บจก.เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม และ บจก.เมกาโฮมเซ็นเตอร์ ตามลำดับ
 
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาได้จัดงานนัดพบแรงงาน ครั้งที่ 4 โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมรับสมัครงานโดยตรงกว่า 50 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างกว่า 3,000 อัตรา ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา และผู้พิการ
 
 
กระทรวงแรงงานเตรียม 1,100 ตำแหน่งใน 4 จังหวัดรองรับพนักงานเหมาช่วงโตโยต้า
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงาน แถลงข่าวกรณีพนักงานเหมาช่วงโตโยต้าเข้าร่วมโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออกว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยบริษัทหรือผู้ประกอบการจะมีปัญหาในการผลิต และพนักงานกลุ่มที่ถูกปรับลดจะมีปัญหารายได้ในการครองชีพ และการหาอาชีพใหม่ จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามถึงแนวทางและหามาตรการที่จะดำเนินการแก้ไขและลดปัญหาร่วมกัน และกรณีมีข่าวว่าบริษัทโตโยต้าปรับลดพนักงานลง 4,000 – 5,000 คนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีการปรับลดเพียง 900 คนเศษ ซึ่งเป็นพนักงานกลุ่มเหมาช่วงที่แสดงความจำนงขอเข้าโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ที่จากเดิมการปรับลดพนักงานของบริษัทโตโยต้ามีเป้าหมายในการปรับลดเพียง 900 คน แต่มาแสดงความจำนงถึง 1,200 คน อีกทั้งการออกจากงานครั้งนี้เป็นการออกจากงานเพียงชั่วคราว เนื่องจากบริษัทโตโยต้าได้ให้คำมั่นว่า หากการผลิตการส่งออกดีขึ้นตามเดิมก็พร้อมที่จะรับพนักงานกลุ่มนี้กลับเข้าทำงาน โดยมีเงื่อนไขให้เข้าทำงานตำแหน่งเดิม นับอายุงานต่อเนื่องจากที่เคยทำงานอยู่ และค่าจ้างสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเดิม ทำให้พนักงานเห็นว่าคุ้มค่าที่จะออกไปชั่วคราวจึงทำให้มีผู้สมัครเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้
 
บริษัทโตโยต้าได้ยืนยันกับทางกระทรวงแรงงาน ถึงกรณีที่บริษัทปรับลดพนักงานไม่ใช่ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่มีปัญหาอยู่ที่การส่งออก ซึ่งยอดการส่งออกจากเดิมอยู่ที่ 370,000 คัน ลดลงเหลือ 310,000 คัน เนื่องจากปัญหากลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันของตลาดโลกที่ลดต่ำลง ทำให้การนำเข้ารถยนต์ลดลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันฟื้นขึ้น ทางบริษัทเชื่อมั่นว่ายอดการส่งออกจะฟื้นกับมาและสูงขึ้นได้ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ทางบริษัทจะเรียกกลับเข้าทำงานตามเดิม อีกทั้งบริษัทโตโยต้าได้ยืนยันว่าไม่มีการนำเอาระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่การผลิตโดยสิ้นเชิง ทางบริษัทโตโยต้ายังคงใช้แรงงานของไทย โดยเชื่อมั่นว่าพนักงานที่ทำอยู่กับบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพนักงานลูกจ้างเดิมที่ทำอยู่ด้วยกัน สำหรับในส่วนของกระทรวงแรงงานมั่นใจว่าภาวะนี้เป็นภาวะชั่วคราว เป็นการสมัครใจของพนักงาน พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ และสิทธิในอนาคตที่ไม่น้อยกว่าเดิม
 
นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับทางบริษัทโตโยต้า เพื่อขอรายชื่อกลุ่มพนักงานที่สมัครใจปรับลด ทั้งชื่อ ที่อยู่ ตำแหน่งงานเดิม ซึ่งทางบริษัทโตโยต้าพร้อมส่งรายชื่อให้ในวันพรุ่งนี้ ทางกระทรวงแรงงานก็จะเริ่มดำเนินการโดยให้กรมการจัดหางานประสานงานกับพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อทราบความประสงค์ความต้องการทำงาน หากประสงค์ให้กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือเรื่องของตำแหน่งงานใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ และหางานใหม่ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ได้เตรียมตำแหน่งงานในกลุ่มของยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไว้ 1,100 ตำแหน่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไว้รองรับ ทั้งโรงงานสำโรง สมุทรปราการ โรงงานนิคมเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา และโรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระ การฝึกเพื่อเพิ่มฝีมือแรงงานหรือการฝึกเพื่อเปลี่ยนสายงาน และการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ
 
นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ทุกกรมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อทำงานเชิงบูรณาการโดยให้ทุกกรมมีแผนงานร่วมในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานเผชิญเหตุสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติภัย อันตรายเนื่องจากการทำงาน การเลิกจ้าง และเรื่องต่างๆ ที่คนงานจะได้รับผลกระทบ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยในกระทรวงแรงงานเข้าดำเนินการพร้อมกันและร่วมกัน โดยยึดหลักทันเหตุการณ์ ตรงกับความต้องการของลูกจ้าง และหาตำแหน่งงานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีลักษณะงานคล้ายคลึงกับงานเดิม มีรายได้ใกล้เคียงกับรายได้เดิมมากที่สุด
 
นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหาร สายงานการวางแผนกลยุทธ์องค์กร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก มีพนักงานเหมาช่วงสมัครใจลาออก 900 คนเศษ มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกกับค่าจ้างสองเดือน และโบนัสเดือนธันวาคมที่เป็นการจ่ายบางส่วนเป็นการล่วงหน้าไปก่อน และยืนยันไม่มีการนำเอาระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ รวมถึงไม่มีแผนปรับโครงการรอบสอง ตลอดจนไม่มีแผนย้ายฐานการผลิต และการปรับลดพนักงานครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
 
 
สหภาพ-พนักงาน กสท ลุกฮือ! ค้านจัดตั้งบริษัทลูก หวั่นโดนแปรรูป
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้จัดเวทีย่อยภายในหน่วยงาน เพื่อชุมนุมปราศรัยพนักงาน กรณีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ให้ปรับโครงสร้างของ กสท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และบริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต ซึ่งทั้ง 3 บริษัทถือหุ้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กสท และทีโอที โดยมีผู้บริหารของ กสท เดินทางมาตอบคำถามพนักงาน และมีพนักงานเข้าร่วมฟังและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวกว่า 300 คน
 
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ เป็นการนำเสนอของกระทรวงไอซีที และบริษัท ดีลอยท์ ที่ถูกจัดจ้างขึ้นมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการพิจารณาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้กระทั่งคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานของ กสท ให้ทราบถึงรายละเอียด จึงมีลักษณะคล้ายกับเผด็จการทางความคิด ส่งผลให้พนักงาน กสท เกิดข้อสงสัยว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอลง โดยเฉพาะการเอาโครงสร้างหลักของประเทศ เช่น สายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (เคเบิลซัพมารีน) ของ กสท ออกไปอยู่กับบริษัทที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่มีความมั่นใจว่าบริษัทนั้นๆ จะสามารถแข่งขันกับเอกชน และจะอยู่รอดได้หรือไม่
 
“ที่ผ่านมาไอซีทีไม่มีความชัดเจนการปรับโครงสร้างอะไรสักอย่าง ตอนนี้จึงไม่รู้ว่าพนักงานของ กสท ใครต้องโดนไปอยู่กับบริษัทใหม่บ้าง ไปแล้วจะมีความมั่นคงหรือไม่ สภาพการจ้างงานและสวัสดิการที่เคยได้รับจะเหมือนเดิมหรือไม่ เราจึงขอแสดงจุดยืนคัดค้านการร่วมหน่วยธุรกิจ ถ้าปรับแล้วไม่ดีกว่าก็ไม่เอา และ กสท ก็ไม่ควรร่วมกับทีโอที ซึ่งหากไอซีทีอยากช่วย กสท จริง ควรเริ่มจากการแก้ไขกฎระเบียบให้ทำงานคล่องตัวขึ้น และเอาบอร์ดที่มีความสามารถมาให้เรา” นายสังวรณ์กล่าว
 
นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดการตั้งบริษัทลูกตามมติของ คนร. เบื้องต้นทาง กสท เองยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างที่ละเอียดชัดเจน ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามไปคร่าวๆ พบว่าการปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้นกว่าการอยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจ ส่วนเรื่องสถานภาพของพนักงานยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม รวมถึงใครที่จะไปอยู่กับบริษัทใหม่จะมีการสอบถามตามความสมัครใจ ด้านความประสงค์ของสหภาพฯ ส่วนตัวเห็นว่าไม่สามารถคัดค้านได้ แต่จะนำความเห็นแจ้งยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
 
“การแยกพนักงานบางส่วนออกไปอยู่กับบริษัทใหม่ จะดีขึ้นหรือแย่ลง ผมยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่การแยกบริษัทออกไปเชื่อได้ว่าไม่น่าจะใช่การทำลายล้างรัฐวิสาหกิจหรือขายสมบัติของชาติอย่างแน่นอน ไม่น่าใช่เหตุผลในการจัดตั้งบริษัทใหม่อย่างแน่นอน” นายสุรพันธ์กล่าว และว่า กรอบการทำงานตั้งบริษัทใหม่ บริษัท เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ทาง กสท จะใช้เวลา 3 เดือน ในการตั้งหรือจัดจ้างที่ปรึกษาขึ้นมาพิจารณา เริ่มการจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใน 6 เดือน และโอนทรัพย์สินภายใน 1 ปี ส่วนบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ ให้จัดตั้งใน 16 เดือน และบริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตจัดตั้งใน 12 เดือน
 
 
เพิ่มสิทธิ “เอชไอวี” ประกันสังคม รับยาต้านทุกคนไม่สนค่าภูมิคุ้มกัน
 
(14 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ลงนามโดย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 โดยประกาศดังกล่าว ระบุว่า เพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนที่กำหนดแนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2556 และให้ใช้หลักเกณฑ์ และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามที่กำหนดแนบท้ายแห่งประกาศฉบับนี้แทน
 
สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนในแบับใหม่นี้
 
1. คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีจากสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย 1.1 ผู้ประกันตนซึ่งได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 1.2 ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในผู้ติดเชื้อทุกรายในทุกระดับ CD4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี CD4 น้อยกว่า 500 cells/mm3
2. สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ โดยการพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการเลือกสูตรยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามแนวทาง การตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยสถานพยาบาลสามารถเลือกใช้ยาต้านไวรัสได้ตามรายการที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ประกอบด้วย
2.1 กรณีพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 มากกว่า 500 cells/mm3 ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด ทั้งกรณีผู้ติดเชื้อที่จะเริ่มยาต้านไวรัสต้องเข้าใจถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการรักษา เข้าใจประเด็นความสำคัญของ adherence ยินดีที่จะเริ่มยาต้านไวรัสและมีความมุ่งมั่นตั้งใจรับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ
โดยผู้ติดเชื้อมีสิทธิเลือกที่จะยังไม่รับยาถ้ายังไม่พร้อมในการเริ่มยาต้านไวรัส ในกรณีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ ประโยชน์ต่อตัวผู้ติดเชื้อเองยังไม่ชัดเจน แต่มีประโยชน์ในด้านการสาธารณสุขเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อ ผู้ให้การดูแลรักษาควรพิจารณาเลื่อนการเริ่มยาไปก่อน หากพบมีปัญหาทางสภาพจิตใจหรือสังคมที่ไม่เหมาะต่อการกินยาต่อเนื่อง
2.2 เกณฑ์การใช้ยา Atazanavir ให้ใช้ในกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง
3. กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง
4. ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ข้อบ่งชี้ในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สูตรยาพื้นฐาน สูตรยาทางเลือก และสูตรดื้อยา ให้ปรับเปลี่ยนข้อ 1 และข้อ 2 เป็นตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขึ้นใหม่
5. หน้าที่และความรับผิดชอบของสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ประกอบด้วย
5.1 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข
5.2 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐานสูตรทางเลือก และสูตรดื้อยาให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามที่กำหนดไว้ใน 5.1 สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามสูตรพื้นฐาน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้งภายในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธินั้น หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้ส่งแบบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สำนักงานประกันสังคมเพื่อหารือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง และสำนักงานประกันสังคมจะส่งผลการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิฯ และให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทุกแห่งเก็บหลักฐานที่ได้อนุมัติไว้เพื่อการตรวจสอบ
5.3 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องยื่นแบบคำขอรับค่าบริการทางการแพทย์ตามแบบที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
5.4 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องบันทึกการให้บริการทางการแพทย์ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ให้ใช้การบริหารจัดการคลังยาต้านไวรัสเอชไอวี ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำความตกลงไว้กับหน่วยงานรัฐที่ผลิตยาหรือจัดหายาหลักเกณฑ์การจ่ายค่ายาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายาตามข้อตกลง ในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
หากไม่มีราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ราคาที่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่า ไม่สูงกว่าราคาที่หน่วยงานภาครัฐอื่นจัดซื้อ หากไม่มีให้ใช้ราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปี หากไม่มีราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุด ภายในระยะเวลา 2 ปี หรือมีแต่ราคาสูงกว่าให้ใช้ราคาซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่าไม่สูงกว่าราคาตลาด
อนึ่ง บัญชีรายชื่อยาต้านไวรัสเอชไอวีของสำนักงานประกันสังคม
 
(1) Zidovudine (2) GPO - vir S30 (3) GPO - vir Z250 (4) Lamivudine (5) Nevirapine (6) Stavudine (7) Zidovudine + Lamivudine (8) Efavirenz (9) Indinavir (10) Ritonavir (11) Didanosine (12) Lopinavir / Ritonavir (13) Atazanavir (14) Tenofovir (15) Abacavir (16) Rilpivirine (17) Tenofovir + Emtricitabine+ Efavirenz (18) Tenofovir + Emtricitabine (19) Abacavir + Lamivudine (20) ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรับรองทางวิชาการและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม
 
 
หวั่นนโยบาย "อุตสาหกรรม 4.0" ทำคนตกงานพุ่ง เสนอยกเลิกจ้างเหมาจ่าย
 
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานห่วง "อุตสากรรม 4.0" ทำคนตกงานเพียบ เรียกร้องยกเลิกจ้างเหมาจ่าย หามาตรการรองรับผลกระทบการเลิกจ้างแรงงาน หลังจากบริษัทโตโยต้าเลิกจ้างพนักงาน ชี้ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้แยกสิทธิลูกจ้างประจำ-ชั่วคราว
 
การปลดลูกจ้างเหมาค่าแรงประมาณ 900 คน ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ "จากกันด้วยใจ" โดยอ้างเหตุผลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก
 
นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง หากการปลดเกิดจากผลกระทบอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเทคโนโลยีมาทดแทนคน
 
ศ.พิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลิกจ้างของนายจ้างไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรให้ความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและสังคม กรณีดังกล่าวเห็นว่าบริษัทแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องนายจ้าง ทั้งที่การเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องเกิดขึ้นทุกระดับของนายจ้างและลูกจ้าง
 
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานยังตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทดังกล่าวติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีรายได้สูงสุดกว่า 400,000 ล้านบาท และผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 มากเกือบ 30,000 ล้านบาท จึงไม่สอดคล้องกับเหตุผลภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงทุกรูปแบบในทุกกระบวนการผลิต และหามาตรการรองรับผลกระทบการเลิกจ้างแรงงานจากอุตสาหกรรม 4.0 เพราะที่ผ่านมากฎหมาย ไม่ได้แยกสิทธิของลูกจ้างประจำกับลูกจ้างเหมาค่าแรงอย่างชัดเจน
 
 
แจง กม.แรงงานทางทะเลช่วยผู้ทำงานเรือได้รับสิทธิตามมาตรฐานสากล
 
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน อธิบายสาระสำคัญของพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่งานประจำเรือเดินทะเลได้รับประโยชน์ และได้รับการคุ้มครองกว่า 40,000 คน นอกจากนี้เจ้าของเรือที่มีขนาด 200 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการรับรองว่าการปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงาน (ไอแอลโอ) ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
 
สำหรับเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการดูแลคุ้มครองผู้ที่ทำงานประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้งานผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานประจำเรือ ต้องจัดให้ผู้ที่ทำงานมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด รวมถึงต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้าง ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุ ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากลอย่างชัดเจน
 
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอย่างใกล้ชิดทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าของเรือ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกิจการเดินเรือทะเล และทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามกฎหมายเพื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย
 
 
สปส. เห็นชอบเพิ่มวงเงินทำฟัน 900 บาทต่อปี เริ่ม 12 ส.ค.นี้ นำร่องสถานพยาบาล-คลินิก 30 จังหวัด
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล บอกว่าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์เสนอให้เพิ่มวงเงินกรณีค่าทันตกรรมเป็น 900 บาทต่อปี จากเดิม 600 บาทต่อปี โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2559เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่อยากให้เพิ่มวงเงิน 1,200 บาทต่อปี แต่การเพิ่มวงเงินต้องคำนึงถึงกรอบค่าใช้จ่ายหรือภาระที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย
 
ส่วนกรณีไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่าทำฟันไปก่อนนั้น ขณะนี้สปส.ได้เปิดรับสมัครสถานพยาบาลหรือคลินิกเข้าร่วมโครงการเพื่อให้บริการด้านทันตกรรม โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน ซึ่งจะนำร่องสถานพยาบาลและคลินิคใน 30 จังหวัด หลังจากนั้นก็จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดสปส. ยังได้พิจารณาเรื่องการให้บริการเรื่องทันตกรรม เช่น การอุดฟัน ขูดหินปูนและถอนฟัน โดยเห็นว่าไม่ใช่การรักษาโรคทางช่องปาก จึงไม่สามารถนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งสปส.จ่ายให้แก่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวต่อปี เพราะเป็นเรื่องของการทำฟันโดยเฉพาะ ส่วนการรักษาโรคในช่องปากนั้นสามารถนำไปรวมกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลระบบประกันสังคมได้
 
 
แรงงานฟาร์มไก่ ชาวเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาเพิ่ม หลังเดินทางเข้าร้องเรียน กสม. ช่วยเหลือ ถูกละเมิดสิทธิ์
 
จากกรณีเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) นำตัวแทนแรงงานข้ามชาติพม่าอดีตลูกจ้าง ฟาร์มไก่ ในจังหวัดลพบุรี จำนวน 14 คน เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานของฟาร์มดังกล่าว เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการแจ้งจับหนึ่งในแรงงานกลุ่มนี้ ข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง โดยทรัพย์ที่กล่าวถึงคือ บัตรตอกเวลา แต่จากการสอบถามพบว่า 1 ในคนงานพยายามจะนำบัตรตอกเวลาจากนายจ้าง เพื่อไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่ามีการละเมิดสิทธิในการทำงานจริง สุดท้ายกลับถูกนายจ้างแจ้งความจับ ซึ่งทางหน่วยงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้เข้าช่วยเหลือและใช้หลักประกันตัวจำนวน 75,000 บาท แล้ว และทางเจ้าหน้าที่ยังคงให้มารายงานตัวต่อเนื่อง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดให้เข้ารายงานตัววันที่ 29 ก.ค. นี้ พร้อมกับจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคือ "ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง" และจะมีหนังสือเป็นทางการเรียกแรงงานเมียนมาอีกคน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างหรือรับของโจรด้วย
 
ทั้งนี้ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ จะจัดให้มีทนายความเดินทางไปกับแรงงานเมียนมา และจะเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวไปด้วย โดยคาดว่าประมาณ 75,000 บาท
 
 
เลิกจ้าง!แรงงานมุ่งสู่ขายตรง'กิฟฟารีน'ประคองตัวขอโต3%
 
ชี้ปัญหาเลิกจ้างพนักงาน อาจมีผลให้คนเข้ามาสู่ธุรกิจขายตรง "กิฟฟารีน" เผยครึ่งปีหลังยังไม่เห็นสัญญาณบวกชัดเจน ด้านงบการตลาดอาจไม่ลงทุนเหมือนทุกปี หวังประคองยอดปีนี้โต 3-5%
 
นางนลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกาย ไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรมต้องลดการจ้างแรงงาน เพราะต้องการหันมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิตแทนนั้น มองว่าในเชิงของอุดมคติอาจทำให้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจขายตรงกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าบุคคลเหล่านี้อาจทำงานยากมากขึ้นสักหน่อย เนื่องจากธุรกิจเครือข่ายต้องพบปะผู้คนระดับหนึ่ง ซึ่งการไม่มีงานประจำอาจมีผลต่อการทำธุรกิจขายตรงบ้าง
 
สำหรับภาพรวมครึ่งปีหลัง ยังไม่เห็นสัญญาณว่า จะมีปัจจัยมาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัด เจนมากนัก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่แย่ลงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากในภาคของเกษตรกรรมสามารถปลูกพืชผลได้มากขึ้น เพราะมีฝนตกลงมาแล้ว ในส่วนของกรุงเทพฯ หากมีปริมาณของฝนมากเกินไปก็คงมีผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารให้ขายไม่ดี หรือแม้แต่ธุรกิจขายตรงเองก็อาจมีผลเช่นกัน
 
ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม และกำลังเข้ามาเป็นทางเลือก บริษัทเองก็มีบริการออนไลน์ที่ไม่ต้องให้ลูกค้าเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์บริการเหมือนกัน หลังจากเปิดตัวมาก็เติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
ส่วนงบประมาณทางการตลาดตอนนี้คงเน้นส่งเสริมภายในให้กับนักธุรกิจมากกว่า ซึ่งการโฆษณาและประชาสัมพันธ์คนไม่ มากเหมือนทุกปี ขณะเดียวกันจำ นวนช่องของทีวีดิจิตอลที่มีมากก็ทำให้ลงทุนลำบาก ตั้งใจว่าตลอดปี 2559 นี้ จะประคองยอดขายเติบโตให้ได้ 3-5% เพราะคงไม่สามารถไปคาดหวังให้เติบโตได้สองหลักเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท