7 สิงหา ประชา ไม่ มติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 
นับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน  ก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม  ซึ่งเป็นวันลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  ผลของการลงคะแนนในครั้งนี้จะชี้ชะตาการเมืองไทย  รวมทั้งกำหนดโครงสร้างทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตด้วย  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกคนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือคนยากจน  และไม่มีใครสามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย  จะมีทางออกให้สังคมไทยได้หรือไม่  เพื่อที่จะหนีจากการจมปลักของผลพวงของรัฐประหาร พ.ศ. 2549  และนี่คงเป็นคำถามในใจของใครหลายคนตั้งแต่ประชาชนคนชั้นล่างสุดจนถึงเหล่าคนดีชั้นบนสุดในโครงสร้างสังคมศักดินาย้อนยุคแห่งนี้

สิ่งที่ผิดสังเกตและผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น  ก็คือ  ร่างกฎหมายสูงสุดที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนเช่นนี้  แต่เหตุใดเล่า  ประชาชนกลับไม่มีส่วนร่วมในการนำเสนอเนื้อหา  หรือวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในส่วนข้อดีและข้อเสียเลย  เสมือนหนึ่งเป็นการลงประชามติท่ามกลางความเงียบสงัด  ท่ามกลางความหวาดกลัวและการควบคุมจากมือที่มองไม่เห็นที่มีอาวุธครบมือ  ประชาชนถูกมัดมือมัดปาก  ถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาอย่างแปลกประหลาดมากมาย  ห้ามแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่ขัดแย้งกับผู้ปกครอง  ทำได้แค่เพียงเดินเข้าหน้าคูหาเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมฉบับนี้เท่านั้น  หรือนี่จะเป็นเพียงพิธีกรรมในการต่อทอดอำนาจของเหล่าผู้ปกครองจากยุคอนาล็อกที่เข้ามีอำนาจในยุคดิจิทัล  ซึ่งสังคมไทยอาจจะมีทางเลือกเหลือเพียง 2 ทางที่จะเป็นไปได้  คือ

1. ถ้าประชามติ  ผ่าน  หมายถึง  อำนาจการตัดสินใจซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยคนส่วนใหญ่  จะถูกถ่ายโอนหรือโยกย้ายเปลี่ยนมือกลับไปยังกลุ่มผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือเดียว  เสียงประชาชนจะกลายเป็นเสียงนกเสียงกาหรือเป็นเพียงเสียงกระซิบจากสายลมที่พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  หรืออาจเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ยกตัวอย่างเช่น  สิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับตั้งแต่กำเนิดในฐานะคนไทยคนหนึ่ง  สิทธิที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันทุกชนชั้น  อาจจะเหลือเพียงสิทธิเพื่อขอรับการช่วยเหลือแบบอนาถาหรือรอรับความเมตตาปรานีจากสังคมชนชั้นสูงต่อไป  หรือสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาที่จะเหลือเพียง 12 ปี  ถ้าต้องการจะเรียนต่อก็ต้องขวนขวายหาเงินเรียนเอง  หาไม่แล้ว  อนาคตของชาติก็คงต้องเดินหน้ากลายเป็นลูกจ้าง  คนงานหรือแรงงานไร้ฝีมือในโรงงานอุตสาหกรรมของต่างชาติต่อไป

2. ถ้าประชามติ  ไม่ผ่าน  หมายถึง  ประชาชนถูกหลอกให้หลงกลตามเกมของผู้มีอำนาจอีกเช่นเคย  เป็นลิเกโรงใหญ่เพื่อยืดระยะเวลาในการสืบทอดและอยู่ในอำนาจต่อไป  และจะเกิดกระบวนการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญรอบที่ 3  ย้อนเวลากลับมาเริ่มต้น ณ จุดเดิม  ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  เพื่อรอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ก่อน  หรืออาจจะเปลี่ยนไม่ผ่านเลยก็เป็นได้  นั่นเท่ากับว่า  การลงประชามติเป็นเพียงละครฉากใหญ่ฉากหนึ่งมาคั่นกลาง  สลับฉากเปลี่ยนอารมณ์  เปรียบเหมือนมีโฆษณามาคั่นเวลาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมไปทางอื่นเท่านั้น

หรือสังคมไทยจะมีทางเลือกที่ 3 หรือไม่  อย่างไร  ท่ามกลางพายุในฤดูวัสสานะ  จะมีใครเล่ากล้าจุดไฟกลางสายฝน  และยืนหยัดเพื่อชี้นำทางออกให้สังคม  ใครเล่าจะมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะร้องตะโกนบอกกับสังคมและเตือนสติผู้มีอำนาจว่า  หนทางที่ท่านกำลังนำพาองคาพยพนี้ไปข้างหน้านั้นมีแต่ความมืดบอดและตีบตัน  ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด  และหาได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อมวลชนคนส่วนใหญ่ไม่  แล้วเหตุใดเล่า  จึงมุ่งหน้าไปยังหุบเหวแห่งนั้นอย่างไม่ลดละด้วยความภาคภูมิใจ  เกิดอะไรขึ้นกันแน่  ท่านเหล่านั้นกำลังหนีอะไร  หรือกลัวอะไรมาไล่ล่า  แน่ใจหรือไม่ว่า  นั่นคืออนาคตสำหรับลูกหลานของเรา  นั่นคือจุดหมายปลายทางสำหรับไทยทั้งผองใช่หรือไม่  ยังคงเป็นคำถามจากคนรุ่นใหม่ฝากไปยังคนวัยเกษียณที่ยึดกุมอำนาจอยู่ในขณะนี้  หากท่านกลัวอนาคตไล่ล่าแล้ว  ใยไม่ปล่อยให้คนรุ่นต่อไปได้เข้ามากุมบังเหียนและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกทางเดินอนาคตด้วยตัวของพวกเขาเอง

การสร้างความกลัว  สร้างภาพว่า  หากไม่เลือกหนทางเลือกที่ 1 แล้ว  ทางเลือกที่ 2 จะเป็นทางเลือกที่ไม่มีอนาคตและเป็นทางตัน  หากต้องการหลุดพ้นจากความอึดอัดในขณะนี้  ประชาชนต้องลงมติให้รัฐธรรมนูญผ่านเท่านั้น  เพื่อจะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่าย  กลับไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้าให้เร็วที่สุด  ภาพเสือตัวใหญ่อาจดูน่าเกรงกลัวเมื่อประชาชนหลับตานึกจินตนาการ  แต่หากลืมตาขึ้นแล้วมองเสือตัวนั้น  เสือในกระดาษก็เป็นเพียงจินตนาการหรือนิทานหลอกเด็กที่ผู้ปกครองสร้างภาพความหวาดกลัวมาหลายทศวรรษ  เช่น  นักการเมืองซื้อเสียงเข้ามาโกงกิน  ทหารและผู้ดีจอมปลอมในชนชั้นปกครองเท่านั้นที่มีความซื่อสัตย์สุจริต  มีความจริงใจ  มีความรักชาติ  จึงต้องเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลและองค์การอิสระเพื่อนำพาสังคมไทยที่ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้าด้วยระบอบศักดินาอนุรักษ์นิยม  เป็นต้น  ดังนั้นเหล่าคนดีที่ถูกเลือกจากผู้มีอำนาจเสียงข้างน้อยหรือจากประชาชนที่กล่าวอ้างว่า  ตัวเองคือเสียงที่มีคุณภาพ  กำลังจะนำพาสังคมไทยย้อนกลับไปยังยุคแห่งการว่านอนสอนง่าย  เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด  อาบน้ำร้อนมาก่อน 

กลับไปยังยุคแห่งการหมอบกราบ  คลานเข่า  กราบไหว้  และอ้อนวอนขอความเมตตาจากฟากฟ้าเบื้องบน  เพื่อร้องขอสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะมีตั้งแต่เกิด  หรือการอยู่ดีมีสุขนั้นเกิดจากการโปรยทานของผู้ปกครองที่รักชาติรักแผ่นดิน  ความแตกต่างทางความคิดใดๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมศักดินา  หากมีคนยืนขึ้นในขณะที่คนอื่นยังคงหมอบกราบนั้น  การยืนตัวตรงก็เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจแห่งรัฐ  หาใช่เป็นมติแห่งมหาชนไม่  เพราะคนอื่นๆ ยังคงหมอบกราบด้วยความปลื้มปิติและความภักดี  มติแห่งรัฐจะถือเป็นกฎเกณฑ์ให้คนในสังคมต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้เสมอสำหรับชนชั้นนำและผู้ปกครอง  รวมถึงเหล่าคนดีที่มีเสียงคุณภาพซึ่งจะอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติดังกล่าว  นอกเหนือจากความดีความชั่วหรือบาปบุญคุณโทษที่เป็นแบบอย่างสามัญในความเข้าใจของคนทั่วไป  สิ่งเหล่านี้ไม่อาจนำมาอธิบายกับคนดีเหล่านี้ได้  เพราะเป็นการละไว้  ในฐานที่เข้าใจกัน

สังคมที่เดินหน้าไม่ได้เพราะมองไม่เห็นอนาคต  ถอยหลังกลับไปหาวันวานในอดีตก็ไม่ได้  จึงติดอยู่กับที่  ติดอยู่กับปัจจุบันที่มองไม่เห็นหนทาง  จะก้าวขาก็เดินไม่ออก  ประชาชนส่วนใหญ่ได้แต่นั่งเหม่อลอย  แต่ไม่มีใครกล้าปริปาก  ประชาชนส่วนน้อยยังคงสำเริงสำราญในวิมานแว่นแคว้นของประเทศกรุงเทพ  แล้วประชา ไม่ มติ  จะมีความหมายอย่างใดเล่า

ณ อีกมุมหนึ่งของโลก  เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับการต่อต้านรัฐประหารที่ตุรกี  เหตุใดประชาชนจึงออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร  และเหตุใดพรรคฝ่ายค้านจึงออกมาต่อต้านกับประชาชนในครั้งนี้ด้วย  สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดกับสังคมไทยในขณะนี้แน่นอน  บริบทของปัญหาและที่มาอาจจะแตกต่างกัน  แต่เนื้อหาหลักก็คือ  ชาวตุรกีได้ลงมติแห่งมหาชนในการต่อต้านรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรมที่จะมาล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองและขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย  ถือเป็นความพร้อมเพรียง  ความร่วมแรงร่วมใจกันในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งเสรีภาพ  ความเสมอภาคและภราดรภาพ  เขาเหล่านั้นต้องการกำหนดชะตาชีวิตและอนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้งอย่างอิสระเสรี  จึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย  นี่คือสังคมที่มีความเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ประชาชนมีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์แล้ว  หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับระบอบเผด็จการทหารมานานกว่า 30 ปี  เมื่อใดก็ตามที่ได้ลิ้มรสอิสรภาพทางความคิดและการแสดงออกแล้ว  ก็ไม่มีใครต้องการกลับไปหาวันวานในอดีต  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  มวลมหาประชาชนชาวตุรกีจึงตัดสินใจมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า  มองหาอนาคตร่วมกัน  ไม่มีใครต้องการเดินหลงทาง  วนเวียนจนหาทางออกไม่เจอดั่งเช่นบางประเทศในอุษาคเนย์

มติแห่งรัฐโดยผู้มีอำนาจ  หรือ  มติแห่งมหาชนโดยประชาชนผู้ต้องการกำหนดอนาคตด้วยตนเอง  อย่างใดเล่าจะมีความหมายควรค่าแก่การลงประชามติมากกว่ากัน  นี่คงเป็นคำถามที่ยังต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป  ในจิตใจและความคิดของสามัญชนคนทั่วไป  หากท่านต้องการขีดเขียนอนาคตสำหรับตัวท่านและคนรุ่นต่อไปแล้ว  ขอจงออกไปใช้สิทธิ์เพื่อบอกกล่าวกับผู้มีอำนาจว่า  ระบอบประชาธิปไตยนั้นพร้อมแล้วสำหรับประชาชนชาวไทย  หากแต่ยังไม่พร้อมสำหรับเหล่าคนดีทั้งหลาย  คนดีที่ยังยึดติดกับอดีตที่หอมหวน  อดีตที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้  อนาคตที่กำลังไล่ล่าอย่างรวดเร็วและทำให้สถานภาพทางสังคมและความมั่งคั่งของพวกท่านเริ่มอ่อนไหว  สั่นคลอน  จนรู้สึกวิตกจริตถึงความไม่มั่นคงต่างหากที่ทำให้ท่านไม่อาจยอมรับความจริงได้  นั่นก็เป็นเพราะการไม่รู้จักปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน  หรือเป็นความเคยชินในการได้ประโยชน์จากการกดขี่ชนชั้นล่าง  ตรงกันข้าม  สามัญชนได้ปรับเปลี่ยนและยอมรับสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านแล้ว  และนี่ต่างหากคือความหวังของสยามประเทศ  สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้  เกิดขึ้นและผ่านไปได้ด้วยความสามัคคีปรองดอง  ความเป็นปึกแผ่นของชาติ  และมุ่งหน้าสู่อนาคตเพื่อการแข่งขันกับนานาอารยประเทศต่อไป  ทั้งนี้เพื่อนำพาความผาสุกและความเจริญก้าวหน้ากลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง  และนี่ต่างหากคือ  สิ่งที่มหาประชาชนได้ลงมติไว้เรียบร้อยแล้ว

      
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท