วิเคราะห์ตุรกีโดย 3 นักวิชาการรุ่นใหม่ ‘ตุรกีจะเป็นโมเดลหนึ่งของโลกมุสลิม’

วงวิเคราะห์การเมืองตุรกีหลังรัฐประหารล้มเหลวโดย 3 นักวิชาการรุ่นใหม่ศิษย์เก่าตุรกี มองความเปลี่ยนแปลงจากระบอบสุลต่านออตโตมาน สู่รัฐประชาธิปไตยและรัฐประหารเผยความต่างกับสถานการณ์ในอียิปต์และการดำรงอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจเลี่ยงความขัดแย้งได้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ปลุกเร้าความรู้สึกร่วมของประชาติอิสลาม คือสิ่งที่คนไทยควรเรียนรู้เพราะตุรกีจะโมเดลหนึ่งของโลกมุสลิม

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา WAQAF TV ได้ตั้งโต๊ะจัดถ่ายทอดสดวงเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองตุรกีหลังเหตุการณ์ก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในประเทศตุรกี ณ มัสยิดอัต-ตะอาวุน ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยมีนายแพทย์มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ เป็นผู้ดำเนินรายการและมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านตุรกีศึกษา3 คนร่วมเสวนา

คนแรกคือ นายอับดุลเอาวัล สิดี อดีตรองประธานนักศึกษาไทยในตุรกี ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาโทคณะปรัชญาอิสลาม มหาวิทยาลัยมาร์มารา ประเทศตุรกี ซึ่งอับดุลเอาวัลศึกษาที่ประเทศตุรกีตั้งแต่เด็กจนปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว

คนที่สองคือ นางสาวยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ประเทศตุรกีปัจจุบันอยู่ในช่วงลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความช่วยเหลือของตุรกีในพื้นที่ความขัดแย้งปาตานี อารกันและมินดาเนา

คนสุดท้ายคือ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นลูกศิษย์ของ ศ.ดร.ดาวุด โอก์ลูว์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศตุรกีที่เพิ่งลาออกไปไม่นาน

อับดุลเอาวัล สิดี : จากระบอบสุลต่านสู่ประชาธิปไตยและรัฐประหาร

อับดุลเอาวัล สิดี อดีตรองประธานนักศึกษาไทยในตุรกี

อับดุลเอาวัลเริ่มต้นด้วยการปูพื้นความเข้าใจการเมืองตุรกีที่เป็นสาเหตุมาสู่การรัฐประหารครั้งนี้ว่าประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับปัจจุบันมากที่สุด หากนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี จากเดิมอยู่ภายใต้ระบอบสุลต่านเป็นผู้นำประเทศ ภายใต้จักรวรรดิออตโตมาน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเชิงประชาธิปไตยของตุรกีเริ่มมาตั้งแต่ตอนปลายของออตโตมัน สมัยสุลต่านอับดุลฮามิดที่สอง

เมื่อเข้าสู่ช่วงการปกครองแบบสาธารณรัฐก็เข้าสู่ระบบรัฐสภาแบบพรรคเดียวภายใต้มุสตาฟาเคมาลอะตาเติร์ก ซึ่งมาจากลุ่มทหารนายพลหัวสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยออตโตมานตอนปลาย เมื่อต้องการให้รัฐเป็นสมัยใหม่เทียบเท่าตะวันตก ก็เริ่มปรับให้เข้าสู่การเป็นระบบหลายพรรค ในปี 1952 ตุรกีก็เริ่มเข้าสู่ระบบรัฐบาลหลายพรรค ในช่วงปี 1960 สมัยนายกรัฐมนตรีอัดนาน แมนเดอเรส ที่เข้าสู่อำนาจได้ไม่กี่ปีก็โดนปฏิวัติและถูกแขวนคอ หลังจากนั้น ความพยายามของทหารในการปฏิวัติรัฐประหารก็มีอย่างต่อเนื่อง

3 พรรคการเมืองและกลุ่มที่มีผลต่อการเมืองตุรกีปัจจุบัน

อับดุลเอาวัล กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่มีผลต่อการเมืองตุรกีปัจจุบัน มี3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย กลุ่มพรรคยุติธรรมและพัฒนาหรือ AK Party ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง พรรคสาธารณรัฐและประชาชน หรือ CHP ซึ่งเป็นพรรคที่เกี่ยวข้องกับฐานอำนาจเดิมตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐ อีกพรรคคือพรรคชาตินิยมตุรกี หรือ MHP ซึ่งให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของความเป็นตุรกี และกลุ่มของชาวเคิร์ด หรือ HDP

สำหรับกลุ่มกุลเลนเป็นกลุ่มที่เชื่อมกับนักเทศน์ที่มีแฟนคลับเยอะมากในตุรกี ซึ่งหลายปีมานี้ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ สำหรับความเป็นไปได้ที่กลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับความพยายามในการรัฐประหารในครั้งนี้ อับดุลเอาวัล มองว่า การที่แอร์โดอาน(ประธานาธิบดีของตุรกี)พูดถึงกลุ่มนี้ ก็หมายถึงส่วนที่สนับสนุนการตั้งรัฐซ้อนรัฐขึ้น เป็นรัฐลึกที่อยู่ในระบอบราชการและส่วนต่างๆ ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

แอร์โดอานให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของประชาชน

ส่วนการส่งข้อความจากแอร์โดอานต่อประชาชน ซึ่งประชาชนขานรับและออกมาต่อต้านรัฐประหารนั้น อับดุลเอาวัลมองว่า ถ้ามองถึงนโยบายที่แอร์โดอานใช้มาตลอดคือ การเน้นที่การตัดสินใจของประชาชน เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ก็ต้องกลับไปหาการตัดสินใจของประชาชนอีกเช่นกัน เช่น การเลือกตั้งล่าสุดที่ผ่านมา เสียงของพรรคอัคได้น้อยลง แอร์โดอานบอกว่าเคารพเสียงประชาชน แต่เมื่อบริหารประเทศเกิดปัญหา แอร์โดอานก็ผลักดันให้เลือกตั้งใหม่ โดยครั้งใหม่เสียงของพรรคก็เพิ่มขึ้นมา เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ถูกสร้างในการเมืองของตุรกี

อับดุลเอาวัล กล่าวอีกว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ยังคงมีการจับกุมทหารระดับแกนนำต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งโยงใยถึงที่ปรึกษาของผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด แม้ว่าควบคุมสถานการณ์ได้แล้วก็ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ การที่แอร์โดอานให้อำนาจแก่กองทัพในการจัดการกับชาวเคิร์ด ก็อาจเป็นช่องว่างให้กองทัพอาศัยจังหวะนี้ในการรัฐประหารก็เป็นได้

สำหรับทิศทางในประเทศ อับดุลเอาวัลมองว่า หลังจากนี้อาจมีการปฏิรูปกองทัพ แต่ก็ยากเนื่องจากคนตุรกีเชื่อว่าทหารตุรกีที่รับมรดกจากสุลต่านมูฮัมมัดฟาติฮฺ คนทั่วไปมักจะยอมให้กับกองทัพ รัฐบาลเองแม้จะพยายามมาหลายครั้งในการปฏิรูปแต่ก็ยังยากอยู่

ความแตกต่างระหว่างรัฐประหารในอียิปต์กับตุรกี

ในเรื่องความแตกต่างระหว่างกรณีอียิปต์กับตุรกีนั้น อับดุลเอาวัล กล่าวว่า สถานการณ์อียิปต์ตอนนี้ไม่ต่างจากตุรกีในอดีต ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมที่เหมาะสมในอียิปต์ แต่สำหรับตุรกีแล้ว ค้นพบวิถีที่เหมาะสมกับตุรกีและค่อยๆ ปรับไป

การเปลี่ยนแปลงของตุรกีที่ผ่านมา เป็นการที่คนตุรกีอดทนและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในประเทศ แล้วพัฒนาตัวเองในหลายๆด้าน แต่สำหรับอียิปต์แล้วมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ยังไม่ทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากผลงานของรัฐบาล ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนอิควานและกลุ่มที่สนับสนุนนายพลอัลซีซี(ประธานาธิบดีอียิปต์)อาจจะเป็นช่องว่างที่กว้าง ต่างกับตุรกีที่มีคนหลายกลุ่มที่ทำงานร่วมกันได้ คนที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้มาจากทุกภาคส่วน และประกอบด้วยคนที่มีแนวคิดทุกรูปแบบตั้งแต่เสรีนิยมไปจนถึงยึดในแนวทางศาสนานิยมแบบจารีต

ยาสมินซัตตาร์: ตุรกีอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

นางสาวยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล

ยาสมินซัตตาร์มองว่า เนื่องจากตุรกีอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับความขัดแย้งที่จะไหลเข้ามาในประเทศได้ เพราะประเทศรอบข้างล้วนมีปัญหา หนึ่งในปัญหาสำคัญคือปัญหาซีเรีย ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาเหตุการณ์ความรุนแรงหลายๆครั้งในตุรกีก็มีความเกี่ยวเนื่องกับส่วนนี้ นอกจากนั้นการเข้ามาของผู้อพยพชาวซีเรียจำนวนมาก ตลอดจนการที่รัฐบาลออกมาระบุว่าจะให้สัญชาติกับชาวซีเรียก็ส่งผลให้กลุ่มชาตินิยมเกิดความไม่พอใจ

อีกปัจจัยสำคัญในมิติระหว่างประเทศคือ การปรับความสัมพันธ์ล่าสุดต่อรัสเซียของตุรกีเองก็อาจส่งผลต่อการเดินเกมตอบโต้บางประการจากสหรัฐอเมริกาที่อาจไม่พอใจ ก็มีส่วนที่จะมองได้เช่นกัน

รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ไม่เอื้อต่อบริบทปัจจุบัน

ยาสมิน ระบุว่าจากข้อมูลของนักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่น่าสนใจคือ การมองถึงปัจจัยรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันของตุรกีเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติครั้งสุดท้ายในช่วงปี 1980

แน่นอนว่าการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็อาจนำมาซึ่งการตั้งข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของทหารและจะเอื้อให้รัฐบาลที่กำลังรณรงค์เรียกร้องให้ปรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่เอื้อต่อบริบทปัจจุบัน และจะวางไปสู่การเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบประธานาธิบดี ก็เป็นอีกหนึ่งสมมุติฐานที่ไม่อาจละทิ้งไปได้ในภาวะที่ข้อมูลยังไม่มีความชัดเจน

การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมปลุกความรู้สึกร่วมของชนชาติอื่น

สำหรับในไทยแล้ว ยาสมิน มองว่า ข่าวและโซเชี่ยลมีเดียเริ่มมีการพูดถึงตุรกีมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้ามาด้วยการทำกิจกรรมเชิงบวกของตุรกีเอง เช่น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีโรงเรียนเด็กกำพร้าหลายแห่งและโรงเรียนอีกหนึ่งแห่งที่ตุรกีให้การสนับสนุน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รับรู้ถึงการมีอยู่ของตุรกีในสังคมไทยมากขึ้น

นอกจากนั้นการให้ทุนการศึกษาต่อเด็กนักเรียนไทยเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความตระหนักรู้ต่อตุรกีมีมากขึ้น และสามารถมีการขยายออกสู่สังคมได้

เป็นผลจากการใช้อำนาจอ่อน (Soft Power)

ยาสมิน เสริมว่า วิธีการแบบนี้อาจจะไม่เห็นผลเชิงรูปธรรมมากนัก แต่จะส่งผลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนที่มองในเชิงบวกต่อตุรกี ซึ่งเป็นผลจากการใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) นั่นเอง หากพิจารณาในมุมนี้ก็ต้องอ้างถึงแนวคิดยุทธศาสตร์เชิงลึกของดาวุดโอก์ลูที่มองว่าตุรกีควรใช้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนการเมืองระหว่างประเทศของตุรกีเอง

หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนออกมาจากการดำเนินนโยบายแบบนี้ คือการสร้างวาทกรรมการเป็นผู้นำของอุมมะห์หรือประชาชาติ ซึ่งเข้าไปสู่มุสลิมในสังคมไทยเองด้วยเช่นกัน

เมื่อผูกกับวาทกรรมของความเป็นอุมมะห์แล้ว จึงส่งผลต่อความกังวลของมุสลิมในไทยเองด้วย ยิ่งมีภาพที่มีเสียงอาซานและเสียงตักบีร (กล่าวสรรเสริญพระเจ้า) ออกมาผ่านสื่อ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เห็นว่าตุรกีมีการใช้แนวทางอิสลามจึงทำให้มีความรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์ได้

สุกรี หลังปูเต๊ะ: อาจเป็นความต้องการปฏิรูปบางอย่างในกองทัพ

 

ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

ผศ.ดร.สุกรี ให้ความเห็นว่า สิ่งที่อาจต้องมองมี 4 ปัจจัย คือ ตัวแสดง (Actor) ซึ่งมีทั้งตัวแสดงภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกองทัพ กลุ่มกุลเลนหรือสหรัฐฯและรัสเซีย ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ ผู้ถูกกระทำ (Acted)คือ ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ตัวแปรที่เพิ่มขึ้นมา เป้าอาจจะเป็นได้ทั้งกองทัพเองหรือรัฐบาลเอง

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่เล็งไปยังประธานาธิบดีแต่เป็นความต้องการปฏิรูปบางอย่างในกองทัพก็เป็นได้ การแสดงออก (Action) ในส่วนนี้หากมองว่ากองทัพที่ออกมาในปริมาณที่น้อยก็มีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน

ครั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือประชาชนอยู่กับรัฐบาลและออกมาแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐบาล เช่น การอาซาน และสถานที่หรือจุดหมาย(Venue)ว่าสิ่งที่เกิดในตุรกีก็อาจมีความน่าสนใจที่ตุรกีเริ่มกลับเข้ามามีส่วนในเวทีโลกและประชาชาติอิสลาม ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจต้องมีการวิเคราะห์พร้อมๆกันไปเพื่อให้เห็นภาพ

คนไทยอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตุรกีมากขึ้น

ในมิติระหว่างประเทศ ผศ.ดร.สุกรี มองว่า ผลกระทบอาจจะเห็นหลังจากนี้ 2 ปี ในขณะที่มีปัญหามากมาย แต่ก็พยายามที่จะครองหัวใจผู้คนทั่วโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจจะมีการเดินสายของผู้นำระดับสูงไปยังประเทศต่างๆ

สิ่งที่ตุรกีกำลังทำคือการขยับเพื่อให้มุสลิมในประเทศตุรกีเป็นมุสลิมที่ดีหรือเป็นคนที่ดีขึ้น และสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับศาสนิกอื่นได้ด้วย

ต่อไปคนไทยอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตุรกีมากขึ้น ปัจจุบันก็มีศูนย์ตุรกีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ WİSAP ของตุรกี สำนักงานประเทศไทยในมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและคาดว่าจะมีการเปิดศูนย์วิจัยออตโตมานกับโลกมลายู ในมหาวิทยาลัยฟาฏอนีในอนาคตอันใกล้นี้

ตุรกีเป็นอีกโมเดลหนึ่งของโลกมุสลิม

ผศ.ดร.สุกรี มองว่าตุรกีเองเป็นอีกโมเดลหนึ่งของโลกมุสลิม แต่มีความต่างกับหลายประเทศซึ่งปฏิเสธความเป็นสมัยใหม่ แต่ตุรกีพยายามขยับให้คนที่มีแนวคิดอิสลามทันต่อความเป็นสมัยใหม่ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับประเทศเคยถูกแบนจากความเป็นอิสลาม ถึงวันนี้ประเทศเปลี่ยนไปมาก

การปฏิรูปของประเทศตุรกีไม่ใช่การกลับไปสู่การเป็นออตโตมาน แต่ให้ไปพร้อมกับบริบทปัจจุบัน ภายใต้บริบทแบบนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือพลังของประชาชน การทำความเข้าใจตุรกีจึงควรมองจากทั้งองค์ความรู้จากอิสลามและตะวันตกพร้อมๆกัน

ผศ.ดร.สุกรี ทิ้งท้ายว่า ตุรกีจะเป็นตัวเสริมสำหรับโลกอาหรับ ที่จะเป็นพี่ที่ยื่นมือมา แม้ว่าตุรกีจะถูกกีดกันไม่ให้แสดงบทบาทมากนักในตะวันออกกลาง เนื่องจากถ้าแสดงบทบาทออกมาก็จะลดบทบาทของตัวแสดงมหาอำนาจที่มีอยู่เดิมไป

 

ชมคลิปย้อนหลัง (เริ่มนาทีที่ 8) https://www.facebook.com/WAQAF.TV/videos/899532116818181/?pnref=story

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มนุษยธรรมคือ soft power” แบบอย่างจากตุรกีสู่การเป็นผู้นำโลกมุสลิมในอนาคต

ปาฐกถา ศ.ดร.จรัญมะลูลีม ชี้ตุรกีใช้ Soft Power พัฒนาประเทศและสร้างสันติภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท