5 องค์กรวิชาชีพสื่อแถลงจี้ทบทวนคำสั่ง คสช.ปิดสื่อ

5 องค์กรสื่อ "ไม่สบายใจ" คำสั่ง คสช. ให้อำนาจ กสทช.ปิดสื่อโดยไม่ต้องรับผิด หวั่นเกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขต ด้านอังคณา นีละไพจิตร ชี้คำสั่งทำลายหลักตรวจสอบถ่วงดุล

15 ก.ค. 2559 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. ทบทวนการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจนเกินขอบเขตต่อสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายและจริยธรรม โดยชี้ว่าหากมีสื่อมวลชนใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ กสทช.ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 5 ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวอาจทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนอาจส่งผลให้การลงประชามติไม่ชอบธรรมและไม่ได้รับยอมรับจากประชาชนและนานาอารยประเทศ

"องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กรมีความไม่สบายใจต่อการใช้อำนาจออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอในการนำเสนอข่าวสารดังกล่าว เพราะขณะนี้สัญญาณว่า มีความพยายามที่จะออกกฎหมายอื่นๆ ที่มีลักษณะในการแทรกแซงและจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ" แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า ตามปกติ กลไกการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุล แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะออกมา การฟ้องร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของหน่วยงานที่มีอำนาจจากคำสั่งดังกล่าวไม่สามารถทำได้ อำนาจของหน่วยงานดังกล่าวจะกลายเป็นอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการทำงาน

อังคณากล่าวอีกว่า ในช่วงต่อจากตอนนี้ไปจนถึงวันลงประชามติ จะมีการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการแสดงออกต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประชามติ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความคิดเห็นอย่างมีสมดุล 

อังคณา กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวจะเป็นการปิดกั้นสื่อ ทำให้มีผลกระทบต่อการทำข่าว สิทธิเสรีภาพต่างๆ รวมทั้งเป็นการกดดันไม่ให้มีการแสดงออก ยิ่งในปัจจุบันที่มีการไม่อนุญาตให้มีการทำกิจกรรม ทำให้พื้นที่ในการแสดงออกมีน้อยลง สื่อไม่สามารถนำความเห็นต่างๆ มาสื่อสารนำเสนอกับประชาชน เนื่องจากต้องทำงานภายใต้แรงกดดันที่ว่านี้

ส่วนท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อังคณากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมพูดคุยถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
 

แถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนโดยประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาในการขยายอำนาจตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 รวมทั้งคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช.ตามประกาศดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กรประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ประชุมหารือกันแล้ว มีความเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 ออกมาในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเดินหน้าตามแผนกลับสู่ประชาธิปไตยด้วยการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยอาจทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนอาจส่งผลให้การลงประชามติไม่ชอบธรรมและไม่ได้รับยอมรับจากประชาชนและนานาอารยประเทศ

2) การขยายอำนาจตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ดังกล่าว ถือเป็นการขยายอำนาจในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนจนเกินขอบเขต โดยใช้ กสทช.เป็นเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารด้วยความหวาดกลัว และส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน

3) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 5 องค์กรข้างต้นจึงขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทบทวนการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจนเกินขอบเขตต่อสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายและจริยธรรม ส่วนสื่อมวลชนใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ กสทช.ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายได้อยู่แล้ว

4) ในระหว่างที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้ กสทช.ใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังตามเจตนารมณ์ของการเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองใดๆ แม้ว่าจะมีการออกคำสั่งให้ กสทช.ใช้อำนาจโดยได้รับการคุ้มครองว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัยก็ตาม

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กรมีความไม่สบายใจต่อการใช้อำนาจออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอในการนำเสนอข่าวสารดังกล่าว เพราะขณะนี้สัญญาณว่า มีความพยายามที่จะออกกฎหมายอื่นๆ ที่มีลักษณะในการแทรกแซงและจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ

อนึ่ง ในสถานการณ์การเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งแตกแยกของของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อขอเรียกร้องมายังสื่อมวลชนต่างๆ ให้ปฏิบัติหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นโดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด เพื่อสร้างหลักประกันในการนำเสนอข่าวสารอย่างมีเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
      15 กรกฎาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท