Skip to main content
sharethis
 
คลังเล็งเสนอบังคับนายจ้างตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการดูแลผู้สูงอายุทั้งระบบ ประกอบด้วยการเสนอให้ออก พ.ร.บ.กองทุนบำนาญแห่งชาติหรือกบช. ซึ่งจะบังคับให้ผู้ประกอบการทุกแห่งที่ยังไม่ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับให้กับลูกจ้าง ซึ่งจะแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันที่เป็นภาคสมัครใจ
 
ซึ่งการมีกบช. จะทำให้แรงงานในระบบทั้ง 14 ล้านคน มีหลักประกันเงินออม เพื่อใช้ตอนเกษียณ เพราะปัจจุบันมีแรงงานในระบบเพียง 3 ล้านคน ที่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และแม้จะมีระบบกองทุนประกันสังคม แต่รายได้หลังเกษียณที่ได้รับจากกองทุนฯจะอยู่ที่ประมาณ 19 % ของรายได้สุดท้าย ซึ่งจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ รัฐมนตรีคลัง บอกด้วยว่า ในเบื้องต้นกบช.จะกำหนดให้เก็บเงินสมทบจากลูกจ้างและนายจ้าง ในอัตราต่ำกว่ากองทุน สำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากเกินไป
 
นอกจากนั้น คลังจะเสนอมาตรการให้ผู้ประกอบการที่จ้างคนที่เกษียณอายุแล้วทำงานในสถานประกอบการ สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5-2 เท่า เพื่อจูงใจผู้ประกอบการจ้างผู้สุงอายุทำงานให้มากขึ้น แต่จะมีการกำหนดเงินเดือนที่จ้างในอัตราที่เหมาะสม
 
 
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานยื่น 3 ข้อเสนอแก้ปัญหาพนัน
 
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน พร้อมภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานในระบบและนอกระบบกว่า 30คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลผลสำรวจการพนันฟุตบอลยูโร 2016ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อสะท้อนปัญหาการพนันที่กระทบกับคุณภาพชีวิต แรงงานพร้อมยื่นข้อเสนอในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนัน ตลอดจนอบายมุขอื่นเพื่อต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีคุณพาะชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เป็นผู้รับหนังสือแทน
 
นายธนากร กล่าวว่า เครือข่ายมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานดังนี้ 1.ขอให้กระทรวงแรงงานรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้อเสียของการเล่นพนันและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการพนันให้กับแรงงาน 2.ขอให้บรรจุการสำรวจการเล่นพนันในกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าไว้การสำรวจสถานการณ์แรงงาน 3.ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)ทำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้ความรู้แรงงานเพื่อให้เท่าทันการพนัน เนื่องจากทางเครือข่ายได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,050 คน พบว่าร้อยละ 70ที่คิดจะเล่นพนันบอลยูโร จากจำนวนดังกล่าวเป็นกลุ่มอายุระหว่าง 21-35 ปี ทั้งนี้พบว่าบางรายเสียเงินเล่นการพนันสูงถึงหลักหมื่น ซึ่งส่งผลให้เงินไม่พอใช้จ่ายและบางรายเป็นหนี้การพนันจนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา
 
ด้าน นายสุวิทยา กล่าวว่า จะนำข้อเสนอนี้ไปรายงานต่อทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการกำหนดทิศทางในการดำเนินการต่อไป รวมถึงอาจจะมีการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการแก้ปัญหานี้เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย
 
 
ก.แรงงาน เร่งฝึกอาชีพ-หางานรองรับลูกจ้างโตโยต้าที่ลาออก
 
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 59 นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เผยถึงกรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในส่วนโรงงานผลิตรถยนต์ทั้ง 3 แห่ง จัดโครงการจากกันด้วยใจ เพื่อให้พนักงานรับเหมาค่าแรง (ซับคอนแทรค) สมัครใจลาออก โดยตั้งเป้าไว้ 1,000 คน ว่าได้ให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้ง จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา และ กรุงเทพมหานคร เข้าไปประสานกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัด ให้เข้าไปช่วยฝึกอาชีพ และจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานของ กสร. ในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่จากการประเมินในเบื้องต้น ยังไม่มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
 
 
นักวิชาการห่วงสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงขึ้น-แรงงานยังมองยังปกติ
 
เมื่อวันที่ 7ก.ค. นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขการว่างงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1 เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาลดลงมาเหลือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การเลิกจ้างยังขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์สถาวะปกติ ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาจนต้องเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะภาคการผลิต
 
"จากการเจรจากับญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทางญี่ปุ่นยืนยันจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เพราะแรงงานไทยมีทักษะสูง เหมาะกับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงมั่นใจได้ว่า จะไม่มีการเลิกจ้าง หรือชะลอการผลิตในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยยังเป็นผู้นำในด้านการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์"โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
ขณะที่นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ มองว่า น่าเป็นห่วงสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะหลายบริษัทจะเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจส่งผลต่อการบริโภคที่ลดลงจนทำให้ต้องลดอัตราการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องหนัง พลาสติก
 
"น่าจับตาต่อจากนี้ สถานการณ์การเลิกจ้างจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งภาครัฐควรหามาตรการป้องกัน รองรับปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ในช่วงที่มีการเลิกจ้าง ควรจัดฝึกอบรมแรงงานกลุ่มนี้ ให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพื่อป้อนสู่ตลาดงานระดับบนที่ยังขาดแคลนอยู่มาก จะช่วยลดปัญหาจ้างงานในอนาคตได้"นายยงยุทธ กล่าว
 
 
รมว.อุตฯ รับอุตสาหกรรมรถยนต์ 2 ปีที่ผ่านมาชะลอตัว แต่ยันออเดอร์ไม่ได้วูบหนัก
 
วันที่ 8 กรกฎาคม ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของเอเชีย” ในงานแบงกอก นิกเกอิ ฟอรั่ม 2559 ถึงโครงการ “จากกันด้วยใจ” ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ว่า เป็นเหตุการณ์ปกติของตลาดรถยนต์ เมื่อตลาดไม่บูมก็มีการเลิกจ้าง เนื่องจากเป็นการปรับลดการจ้างงานของพนักงานภายนอกที่ไม่ใช่พนักงานประจำ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็มองว่าอาจจะส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อตลาดตะวันออกกลาง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีผลต่อการผลิตรถยนต์
 
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีการปลดพนักงานของบริษัท โตโยต้า ว่า เป็นเรื่องของธุรกิจที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งการปลดพนักงานครั้งนี้เป็นพนักงานเอาต์ซอร์สหรือพนักงานจ้าง โดยให้สมัครใจลาออก ไม่ได้บังคับออก ส่วนพนักงานประจำไม่ได้มีการปลดแต่อย่างใด สาเหตุอาจจะมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศช่วง 1-2 ปีมานี้ชะลอตัวลง ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ 7-8 แสนคันต่อปี แต่กำลังการผลิตของโตโยต้าน่าจะมีสูงถึง 1.9-2 ล้านคัน ซึ่งเป็นการขยายกำลังการผลิตและจ้างงานเพื่มจากมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งในภาวะที่ตลาดและกำลังซื้อยังชะลอความจำเป็นที่จะจ้างงานเพิ่มมีลดลง ซึ่งต้องติดตามว่าพนักงานเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายหรือมีการสมัครงานใหม่อย่างไร ซึ่งในส่วนการจ้างงานพบว่าบางอุตสาหกรรมก็ยังขาดแรงงานอยู่
 
"แม้ว่าตลาดจะชะลอลงไป แต่ยอดขายก็ยังมีอยู่ไม่ได้หดหายไปหมดเหมือนช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยยังถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะต้องมีการผลักดัน เพราะไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน" นางอรรชกากล่าว
 
 
กำลังซื้อยังไม่ฟื้น-ว่างงานเพิ่มกดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงต่ำสุดรอบ 25 เดือน
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 71.6 ปรับตัวลดลง จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 72.6 เป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน ( 2 ปี 1 เดือน) นับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2557 แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวนัก และดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคต ปรับตัว ลดลงอยู่ที่ดับ 79.5 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2558 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 60.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 66.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ ในอนาคตอยู่ที่ 87.6
 
ทั้งนี้แม้ว่าตอนนี้สัญญาณภาคเกษตรเริ่ม เป็นบวก หลังจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งราคายางพารา ข้าว ข้าวโพด และปาล์ม ที่ดีขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะหมดลง ทำให้เกษตรกรเริ่มรับรู้ถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ความผันผวนจากกรณี BREXIT ก็ยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทำให้ไม่มั่นใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง
 
"ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและภาคธุรกิจยังคงคาดการณ์ว่าการบริโภคของประชาชนจะยัง ไม่ฟื้นตัวในช่วงนี้ แต่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจาก BREXIT คลี่คลายลงและประสิทธิภาพการ ใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเป็นรูปธรรม"
 
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการหางานทำ ดัชนีโดยรวม อยู่ที่ระดับ 66.5 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 ซึ่งจากการสำรวจ ผู้บริโภคเห็นว่าโอกาสในการหางานทำโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี 55.6% ปานกลาง 55.4% และแย่ 39.0% โดยผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวม และโอกาสในการหางานทำ ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลข อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบด้วยว่ามีตัวเลข ที่สูงขึ้นต่อเนื่องมา 5 ปี โดยปี 2554 อยู่ที่ 0.679% ปี 2555 อยู่ที่ 0.657% ปี 2556 อยู่ที่ 0.7 2% ปี 2557 อยู่ที่ 0.836% ปี 2558 อยู่ที่ 0.883% และในปี 2559 ณ เดือนพฤษภาคม อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.2% ขณะที่ปี 2552 อัตราการว่างงานอยู่ระดับ 1.489% และปี 2553 อยู่ที่ 0.041%
 
"อัตราการว่างงานมีภาพของการขยายตัวขึ้น หลังจากอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ต่อเนื่องมาหลายปี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งพอและยัง ไม่พบสัญญาณการเลิกจ้าง แต่ยอดการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาเกิดจากการไม่มีการจ้างงานใหม่ ทำให้คนว่างงาน ส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตจบใหม่"
 
สำหรับกรณีที่โตโยต้า ให้พนักงานกว่า 800 คน สมัครใจลาออกนั้น มองว่าเกิดจากผลประกอบการ ที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และคนงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะฝีมือสูง หากต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตก็ยังสามารถรับเพิ่มได้ไม่ยาก ซึ่งถือว่ายังเป็นสถานการณ์ไม่น่ากังวล
 
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3-3.5% เป็น 2.7-3.2% โดยการส่งออกลดลงเป็นติดลบ 2-0% ภายใต้สมมุติฐานที่ยังไม่รวมภัยก่อการร้าย อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้หรือไตรมาสสุดท้ายของปีงานประมาณ ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุนและงบค้างท่อทั้งหลายให้ออกมาโดยเร็ว รวมทั้งงบขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หรืออปท. ที่จะต้องเร่งกระจายออกมาสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น รวมทั้งควรต้องเร่งเสริมสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ ต่อการท่องเที่ยวของไทย
 
 
จับตา“ค่ายรถเล็ก-ชิ้นส่วน”ลดคนงาน
 
การลดคนงานโดยสมัครใจของพนักงานรับเหมาช่วงของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในไทย โดยระบุถึงความจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวฉุดยอดขาย ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว กำลังจะลามไปยังภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย
 
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การลดคนงานโดยสมัครใจของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนโยบายของแต่ละค่าย ไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด
 
แต่สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากในช่วงปี 2554-2555 มีโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้ในปี 2555 มีความต้องการรถยนต์พุ่งถึง 2.4 ล้านคัน และเมื่อหมดโครงการปริมาณยอดขายรถยนต์ก็ลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้ปี 2558 ยอดผลิตรถยนต์ลดมาอยู่ที่ 1.91 ล้านคัน ส่งผลให้ปีนี้จึงจำเป็นต้องลดคนงานที่เกินความต้องการ
 
“หลายปีที่ผ่านมาหลังจากโครงการรถยนต์คันแรกหมดลง ยอดการผลิตลดลงเรื่อยๆ แต่บริษัทต่างๆ ยังคงไม่ยอมปลด เพราะมองว่าในปีนี้ยอดการผลิตน่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ผ่านมาครึ่งปียอดขายทรงตัวไม่กระเตื้องขึ้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงโตโยต้า หลายค่ายก็ใช้แนวทางนี้ แต่ที่เป็นข่าวเพราะโตโยต้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ยอดการผลิตสูงสุด”
 
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องจับตาสถานการณ์การจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ อันดับ 1-5 ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ค่ายรถยนต์อันดับ 6-8 อาจจะได้รับผลกระทบที่หนักกว่า และต้องจับตาผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนต้องปลดคนงาน
 
ส่วนยอดขายรถยนต์ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ ยังอยู่ในภาวะทรงตัว แต่คาดว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านคัน โดยเป็นการส่งออก 1.25 ล้านคัน แต่ก็ต้องจับตาปัญหา Brexit (อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวน
 
ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลดแรงงาน ไม่ได้กระทบภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งระบบ ขณะที่การส่งออกมีปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ส่วนในประเทศยังขายได้อยู่ ปัญหาเศรษฐกิจมีผลระยะสั้น แต่อาจทำให้การตัดสินใจภาคเอกชนจะประเมินสถานการณ์ต่างๆมากขึ้น นักลงทุนมองเรื่องศักยภาพการแข่งขันในเรื่องของนโยบายรัฐมากกว่าส่วนอื่น เช่น รัฐจะสนับสนุนอะไร เน้นลงทุนอะไร และให้สิทธิประโยชน์อย่างไร
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นแนวโน้มของผลิตรถยนต์ในอนาคตที่จะมีการใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรไฮเทคทดแทนคนมากขึ้น ส่วนการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีความซับซ้อนมูลค่าไม่สูง ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก บริษัทผู้ผลิตได้เดินทางไปดูพื้นที่ตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา และเมียนมาเพื่อผลิตส่งเข้ามาไทยแทนเนื่องจากค่าแรงต่ำกว่า
 
ทั้งนี้ในเรื่องของนโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย การผลักดันประเทศไทย4.0 ซึ่งต้องสร้างแรงงานที่มีความสามารถขึ้นมารองรับ ขณะที่แรงงานบางส่วนจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือการเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าของตนเองได้โดยมีกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่รองรับไว้แล้ว เช่นการผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็กก็ไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4เป็นต้น
 
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า กระแสการปรับลดพนักงานทั้งใน และต่างประเทศที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เป็นภาพเริ่มต้น โดยจะเห็นภาพแบบนี้มากขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ามาจากปัจจุบันสำคัญ เช่น เทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องมาหารือกันมากขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐ และภาคประชาชน เน้นเรื่องการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับพนักงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน จะมองแค่มิติทางการเงิน หรือการจัดแพคเกจเงินชดเชยให้พนักงานอย่างเดียวไม่ได้
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ แพคเกจในแง่การชดเชยรายได้ของกลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์จะค่อนข้างดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น มีลักษณะ วิน-วิน ดังนั้นที่ผ่านมา มีจำนวนไม่น้อยที่สอบถามถึงแพ็คเกจดังกล่าวกันมาก
 
ด้านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และอะไหล่แห่งประเทศไทย (TEAM) สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโตโยต้าครั้งนี้ เป็นผลมาจากนโยบายการจ้างงานที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดโลก ต้องพยายามกดค่าแรงให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทำให้มีการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลาย
 
แต่การแสดงความรับผิดชอบของโตโยต้า ก็เป็นเหมือนการยอมรับว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงก็คือลูกจ้างของบริษัท แต่เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตที่สู้พนักงานประจำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ และสามารถส่งตัวคืนบริษัทรับเหมาค่าแรงได้ตามความพอใจ
 
ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา องค์กรแรงงานได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจ้างเหมาค่าแรง และให้ลูกจ้างทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในลักษณะหนึ่งสถานประกอบกิจการ หนึ่งกระบวนการผลิต หนึ่งสภาพการจ้าง แต่กระทรวงแรงงานกลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจน นอกจากการอ้างเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 11/1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551) ซึ่งสถานประกอบการก็ไม่ได้นำปฏิบัติตาม ต้องให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องซึ่งข้อจำกัด และใช้เวลานาน
 
คสรท.ระบุอีกว่า คำชี้แจงของโตโยต้าขัดกับสถานการณ์จริง เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจเดือน พ.ค. ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูง เนื่องจากในปีก่อน มีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ความต้องการรถปิกอัพดัดแปลงเพิ่มขึ้น และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยการผลิตรถยนต์เดือนมี.ค.ว่าอยู่ที่ 1.92 แสนคัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน
 
และหากดูข้อมูลของโตโยต้าโดยตรงพบว่า ยังมีผลประกอบการที่ดี โดยในปี 2558 มีรายได้สูงสุดติดอันดับ 2 ของประเทศ กว่า 4.17 แสนล้านบาท มีกำไรอยู่ในอันดับที่ 4 กว่า 2.99 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังสามารถจ่ายเงินสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆในแต่ละปีจำนวนมาก เช่น ปีนี้ มอบเงิน 30 ล้านบาทสนับสนุนทีมฟุตบอลทีมชาติไทยสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก และอีก 180 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่างๆ
 
 
กรณี "โตโยต้า" เปิดโครงการสมัครใจลาออก ไม่ใช่แค่ปัญหาศก.-เตรียมตั้ง รง.ผลิตรถในมาเลย์
 
รศ.ดร.ภคพล จักรพันธ์อนุฤทธิ์ จากมหาวิทยาลัยสยาม ได้โพสต์เฟซบุ๊ค Pacapol X Anurit ตั้งค่าสาธารณะ ในกรณีโครงการสมัครใจลาออกสำหรับพนักงานรับเหมาช่วงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ระบุว่า สาเหตุที่โตโยต้าลดขนาดคนงานเพราะมีนโยบายเตรียมนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้แทนมนุษย์ ซึ่งลงทุนวิจัยไป 
 
1,000,000,000 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยจะนำเทคโนโลยีมาแทนมนุษย์ทั้งในโรงงาน และแทนคนที่ศูนย์บริการด้วย ขณะที่ ทางด้านโรงงาน โตโยต้ามีแผนลงทุนในประเทศแถบเออีซี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ชี้แจงกรณีโครงการดังกล่าวว่าเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังชะลอตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออก ทำให้ต้องปรับลดกำลังผลิตลง โดยหากสถานการณ์ตลาดรถยนต์ดีขึ้น ยินดีรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก และยังมีความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพจะเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป
 
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในส่วนภูมิภาคอาเซียน เจแปนไทมส์ รายงานข่าวว่า ทางบริษัทแม่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นที่ญี่ปุ่น ได้ประกาศเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าจะมีการสร้างโรงงานผลิตรถที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ตอบรับกับกำลังซื้อในประเทศมาเลเซีย โดยโรงงานใหม่จะเริ่มเปิดสายการผลิตได้ในปี 2019 ผลิตได้ปีละ 50,000 คัน
 
 
นักวิชาการชี้ ปัจจัยเศรษฐกิจ เหตุเลิกจ้างงาน-บัณฑิตจบใหม่ว่างงานเพิ่ม
 
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเลิกจ้างงานของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงกำลังซื้อรถยนต์หรือยานยนต์ในประเทศลดลง อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงก่อนหน้านี้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลมาจากยอดส่งออกและนโยบายรถคันแรก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงคนในประเทศซื้อรถน้อยลง จึงทำให้การผลิตและยอดขายรถยนต์ลดลง กระทบกับการจ้างงานด้วย
 
“กรณีการลดการจ้างงานของบริษัทแห่งหนึ่งนั้น เป็นการลดการจ้างงานในบริษัทเหมาช่วง ไม่ได้ปลดพนักงานออกจากบริษัทใหญ่ เป็นรูปแบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็ลดการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจดีก็จ้างกลับเข้ามาผ่านระบบเหมาช่วง”
 
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการจ้างงานของอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะยาวคาดว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีผลต่ออุตสาหกรรมและการจ้างงาน หากบริษัทยังผลิตรถยนต์แบบเดิม ไม่เปลี่ยนการผลิตรถยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ โดยการใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน จะทำให้บริษัทมีผลกำไรลดลง หรืออาจจะทำให้บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยหายไปจากระบบธุรกิจ เนื่องจากจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทน จะมีผลต่อแรงงานที่มีทักษะการผลิตแบบเดิมก็จะถูกเลิกจ้างงาน ยกเว้นว่าจะไปพัฒนาทักษะใหม่ จะสามารถผลิตรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ได้มากขึ้น”
 
“สำหรับการจ้างงานในภาพรวม จะเห็นว่าบัณฑิตจบใหม่อาจจะว่างงานมากขึ้น เพราะว่ากิจการต่างๆ จะจ้างคนที่มีประสบการณ์แล้วมากกว่าเข้ามาทำงาน รวมถึงการที่ภาคการส่งออกติดลบ ทำให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้น ความจำเป็นในการจ้างงานใหม่หรือจ้างงานเพิ่มเติมก็น้อยลง จึงเป็นผลทำให้อัตราการว่างงานโดยรวมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมา รวมถึงเดือนล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.2% จากอัตราการว่างงานของไทยต่ำกว่า 1% เกิดจากการชะลอตัวการจ้างงานในหลายกิจการ ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
 
เเละกล่าวสรุปว่า แนวโน้มการเลิกจ้างงานในอนาคตน่าจะมีเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังค่อนข้างทรงตัว มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก จึงทำให้การจ้างงานโดยรวมไม่ได้ลดลงมากเกินไป เพราะอัตราการว่างงานโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นไปในลักษณะการทยอยเลิกจ้างงาน ต่างกับการย้ายฐานการผลิต เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะทำให้มีการว่างงานค่อนข้างมาก ต้องรอดูว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตในบางอุตสาหกรรมหรือไม่
 
 
ลูกจ้างฟัง! โครงการสมัครใจลาออก-เกษียณก่อนกำหนด รับเงินชดเชยเทียบเท่า ‘ถูกเลิกจ้าง’
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเกิดคำถามในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงกรณีลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพราะเหตุการเลิกจ้างไม่ใช่เป็นการลาออก ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวมีขึ้นเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ช่วงที่นายปั้น วรรณพินิจ เป็นเลขาธิการ สปส. ส่วนตนขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองนิติการ เนื่องมาจากความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงานภายในของ สปส.เอง โดยกองนิติการเห็นว่า กรณีลูกจ้างเข้าโครงการสมัครใจลาออกควรถือเป็นการเลิกจ้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติมองว่าเป็นการลาออกเอง ดังนั้น กองนิติการจึงยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเพื่อให้ประเด็นนี้ได้ข้อยุติและปฏิบัติให้ตรงกัน เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยออกมาว่า กรณีลูกจ้างที่เข้าโครงการสมัครใจลาออกให้ถือเป็นการเลิกจ้าง เพราะไม่ใช่เป็นลาออกเองของลูกจ้างตามปกติ เพราะเป็นโครงการที่สถานประกอบการจัดขึ้น โดยมีการจ่ายเงินชดเชยตามอายุงาน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และอำนาจการตัดสินใจให้ลูกจ้างเข้าร่วมโครงการอยู่ที่สถานประกอบการไม่ได้อยู่ที่ตัวลูกจ้าง ทำให้ประเด็นนี้ได้ข้อยุติ โดยทุกฝ่ายทั้ง สปส. นายจ้างและลูกจ้างต่างยอมรับและเข้าใจตรงกัน
 
นายโกวิทกล่าวด้วยว่า ดังนั้น สปส.จึงยึดการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด โดย สปส.จะจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้แก่ลูกจ้างที่เข้าโครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณก่อนกำหนด โดยให้ถือเป็นกรณีถูกเลิกจ้าง โดยจะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ กรณีของหนักงานรับเหมาค่าแรง (ซับคอนแทรค) ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด(มหาชน) ที่เข้าร่วมโครงการจากกันด้วยใจก็เข้าข่ายดังกล่าวด้วย
 
 
เตรียมชง ครม.ตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงาน-ส่งกลับแรงงานต่างด้าวฯ
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เตรียมเสนอจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและส่งกลับแรงงานต่างด้าว 3 แห่ง ที่ชายแดนไทย - พม่า อ.แม่สอด จังหวัดตาก ชายแดนไทย - ลาว จังหวัดหนองคาย และชายแดนไทย - กัมพูชา จังหวัดสระแก้ว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 12 กรกฎาคมนี้ โดยศูนย์แรกรับเข้าทำงานและส่งกลับแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนจะช่วยให้แรงงานทั้ง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา สามารถมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสัญญาจ้างของไทยมากขึ้น
 
 
กรมจัดหางาน แจงมาตรการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ยันหากพ้นกำหนด ดำเนินการผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว หรือบัตรสีชมพู และอยู่ระหว่างการขอพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง ซึ่งครบกำหนดแล้ว ในวันที่ 31 ม.ค. 59 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานอยู่ในประเทศไทย ต่อได้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยนายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าวมาด้วยตนเอง พร้อมใบอนุญาตทำงานชั่วคราวหมดอายุ ไปทำประกันสุขภาพและมารายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานใหม่ ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงานใหม่ตามมติ ครม.จดทะเบียนทั้งสิ้น 786,743 คน เป็นแรงงานต่างด้าว จำนวน 769,525 คน ซึ่งหากพ้นกำหนดวันที่ 29 ก.ค. 59 แล้ว กรมการจัดหางาน จะดำเนินมาตรการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม ผู้กระทำความผิดตามนโยบาย “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน” โดยประสานความร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ
 
 
พนง.รับเหมาช่วง บ.ผู้ผลิตน้ำมันถ้าถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ
 
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานแรงงานบริษัท ISS support service ซึ่งรับเหมาช่วงพนักงานจากบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติชั้นนำในประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากที่บริษัทดังกล่าวกำลังจะหมดสัญญากับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันฯ.สิ้นเดือนนี้ โดยพนักงานกลุ่มดังกล่าวระบุว่าทางบริษัทต้นสังกัดไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแก่พนักงานบางส่วน ว่า จากที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่2 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ตั้งบริษัท ISS รายงานทราบว่าพนักงานของบริษัท ISS ที่ไปทำงานรับเหมาช่วงกับบริษัทผลิตน้ำมัน เป็นในส่วนของพนักงานขับรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งเมื่อจะหมดสัญญาช่วงสิ้นเดือนนี้จึงส่งพนักงานทั้งหมด 285คนกลับคืนมาให้แก่ทางบริษัทรับเหมา ISS ซึ่งในส่วนที่ส่งกลับมามีจำนวน 25คนที่ทางบริษัทต้นสังกัดไม่ประสงค์จะจ้างต่อจึงได้จ่ายเงินค่าชดเชยไปแล้วในส่วนนี้
 
นอกจากนี้มีพนักงานอีก 50คนได้ลาออกเพื่อย้ายไปทำงานเป็นพนักงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) กับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ส่วนพนักงานที่เหลือของบริษัท ISS อีก 210คนขณะนี้ทางบริษัทยังไม่มีการเลิกจ้างและกำลังอยู่ระหว่างประสานหางานให้ทำ ซึ่งก็ยังคงยังรับเงินเดือนตามปกติ แต่ในจำนวนนี้มี 30คนที่ทางบริษัทหางานให้ไว้แล้ว แต่ประสงค์ที่จะลาออกโดยขอให้บริษัทเลิกจ้างและขอเงินค่าชดเชย ฉะนั้นในส่วนนี้บริษัท ยังยืนยันว่า ไม่มีการเลิกจ้าง ฉะนั้นในทางกฎหมายกรมสวัสดิการฯ จึงยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้เพราะพนักงานจำนวนที่เหลือ เพราะยังถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวอยู่ จึงทำได้เพียงแต่ประสาน ชี้แจงให้นายจ้างควรทำให้พนักงานมั่นใจว่าจะมีแผนดูแลการทำงานอย่างไร รวมถึงฝ่ายลูกจ้างก็ควรปฏิบัติหน้าที่ตามที่บริษัทกำหนดก่อน เพราะยังไม่มีการเลิกจ้างอย่างใด ยกเว้นจะไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้ ฉะนั้นจึงจะถือว่าเข้าข่ายการเลิกจ้างได้แล้ว ทางกรมฯจึงจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net