Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />
 

La démocratie est mort, vive la démocratie !

 

เรื่องต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เริ่มต้นขึ้นราว 50 ปีมาแล้ว ในประเทศหนึ่ง ที่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพนำโดยชายคนหนึ่งได้อ้างความชอบธรรมว่ามีความจำเป็นต่างๆนานาในการปกครองประเทศด้วยวิธีพิเศษ จนทำให้ประเทศนั้นเสื่อมโทรม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนด้วยเหตุผลทางการเมือง สิริรวมเวลาการอยู่ในอำนาจทั้งหมด 21 ปี จนในที่สุดต้องพ่ายต่อภัยตัวเอง และตายชนิดที่เรียกได้ว่า “ไม่มีที่ฝัง”

เฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอส (Ferdinand E. Marcos) เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์จากการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ. 2508 เขาเข้ามาบริหารประเทศด้วยนโยบายชาตินิยม กวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดในยุคสงครามเย็น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับฟิลิปปินส์ สร้างถนน น้ำไหล ไฟสว่าง การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

มาร์กอสบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปีในปี พ.ศ. 2512 และได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในคราวนี้เขาได้รับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งถ้าเขาดำรงตำแหน่งครบวาระ เขาจะดำรงตำแหน่งได้จนถึง พ.ศ. 2516 และไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อีก ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2478 ของฟิลิปปินส์ ที่วางรากฐานไว้โดยสหรัฐอเมริกาเมื่อคราวฟิลิปปินส์เตรียมตัวรับเอกราชในปี พ.ศ. 2489

การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปในฟิลิปปินส์ว่า มีการโกงการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงและการข่มขู่ใช้อำนาจ อีกทั้งการบริหารประเทศของเขาในสมัยที่สองไม่ได้ผลดีอย่างที่ผ่านมา ความนิยมของรัฐบาลเขาตกต่ำที่สุดจากปัญหาการฉ้อโกง สภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย และอัตราการเกิดเหตุอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น ท้องถนนบนมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากจนของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ไม่ได้รับการแก้ไข ฝ่ายคู่แข่งของมาร์กอส เบนิกโน กากิโน จูเนียร์ (Benigno Simone Ninoy Aquino) หรือ ที่เรียกกันทั่วไปในฟิลิปปินส์ว่า นินอย เป็นคู่แข่งทางการเมืองตลอดกาลของมาร์กอสที่แลดูมีผลงานเป็นที่ถูกใจประชาชนทั่วไปไม่แพ้กับมาร์กอส และมีศักยภาพที่จะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อจากเขาอย่างแน่นอน[1]

สถานการณ์เริ่มย่ำแย่สำหรับรัฐบาลของมาร์กอส จากการฉ้อโกงด้วยการดำเนินการเมืองด้วยระบบพวกพ้องของเขา บริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำคัญในฟิลิปปินส์ เช่นไฟฟ้า น้ำมัน หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ต่างมีเจ้าของเป็นเครือข่ายของพวกพ้องของมาร์กอสทั้งสิ้น โดยที่ทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์กัน คือมาร์กอสอำนวยความสะดวกต่างๆให้ในการดำเนินกิจการกับภาครัฐแลกกับผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ จนในปี พ.ศ. 2512 ตัวเลขของเงินคงคลังเกือบไม่มีเหลือ เขาหันไปขึ้นภาษีนำเข้า ลดค่าเงินเปโซ และทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าร้อยละ25 ชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์เริ่มกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเงิน เขาถูกประท้วงจากประชาชนจำนวนมาก ที่มารอขว้างปาสิ่งของใส่เขา ในปี พ.ศ. 2513 ขณะที่เดินทางออกจากรัฐสภา การประท้วงเริ่มแรกนำโดยนักศึกษา นักกิจกรรม ซึ่งต่อมามีขบวนการทางการเมืองอื่นๆและผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมด้วย อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

การชุมนุมของนักศึกษาในครั้งนั้น มีการปะทะกันระหว่างนักศึกษาและตำรวจ มีนักศึกษาบาดเจ็บและมีเหตุการณ์ระเบิดบานปลายทั่วไปในมะนิลา ที่ทำให้รัฐมนตรีกลาโหมของมาร์กอส เกือบจะประกาศกฎอัยการศึก เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในวันนั้นโดยทันที ตำรวจ ทหาร มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยตามอำเภอใจโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา ซ้ำร้าย พวกพ้องนักธุรกิจของมาร์กอส เริ่มแสดงความกังวลต่อนโยบายของเขาที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศลงไป

เขาเริ่มส่อแววจะขยายเวลาที่จะอยู่ในอำนาจ ด้วยการเลือกตัวแทนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ. 2513 มีการฉ้อโกงกันอย่างเปิดเผยด้วยการเรียกตัวบรรดาผู้แทนไป “เข้าพบ” มาร์กอส เพื่อรับซองใส่เงินสินบน ให้บรรดาผู้แทนเหล่านี้เข้าข้างกลุ่มของพวกเขาในการออกเสียงลงคะแนน เพื่อให้แน่ใจว่าข้อกฎหมายที่จะล้มล้างมาร์กอสในรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่ผ่านมติของสภาไปได้ และส่วนใหญ่พวกที่ถูกเรียกเข้าไปนั้นก็เป็นกลุ่มนักการเมืองเก่า ที่ไขว่คว้าจะยืดช่วงเวลาการอยู่ในอำนาจของตัวเองออกไปอยู่แล้ว[2] ทว่า เขาชิงประกาศกฎอัยการศึกเสียก่อนในปี พ.ศ. 2515 ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องหยุดลง การประกาศกฎอัยการศึกยังช่วยให้มาร์กอสสามารถกำหนด และมีอิทธิพลเหนือการร่างรัฐธรรมนูญได้

ระหว่างประกาศกฎอัยการศึก เขาได้จับกุมฝ่ายตรงข้าม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อันประกอบไปด้วยนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ วุฒิสมาชิก เสรีภาพของสื่อในยุคการประกาศกฎอัยการศึกถูกจำกัดและเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก สำนักข่าวต่างประเทศถูกปิดตัวลง รวมถึงหัวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับถูกปิดตัวลง เพราะเขาเห็นว่า เสรีภาพของสื่อที่มีมากเกินไป ไม่อาจทำให้กระบวนการสร้างชาติดำเนินไปได้ มีเพียงสามฉบับที่ยังเปิดได้ โดยที่ฉบับหนึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพวกพ้องของมาร์กอส  อีกฉบับหนึ่งมีน้องชายของภรรยาของเขาเป็นเจ้าของ และ อีกฉบับหนึ่งที่มาร์กอสเป็นคนเลือกชื่อเองหลังจากที่สั่งให้มีการเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เห็นได้ว่าทั้งสามเป็นหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยพวกพ้องของมาร์กอสทั้งสิ้น[3]

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการลงประชามติจากประชาชนในปี พ.ศ. 2516 ด้วยคะแนนเสียงโหวตรับมากกว่าร้อยละ 95 และในปีเดียวกัน มาร์กอสก็ได้จัดให้มีการลงประชามติว่า จะให้การประกาศกฎอัยการศึกมีต่อไปหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ยินยอมให้มีการประกาศกฎอัยการศึกต่อไป และยังมีการจัดประชามติอีกหลายครั้ง รวมถึงการลงประชามติว่าจะให้มาร์กอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหรือไม่ด้วย การลงคะแนนเสียงแต่ละครั้ง มาร์กอสและประเด็นที่รัฐบาลของเขาเสนอเป็นได้รับความเห็นชอบเสมอ

แต่นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย สื่อ และผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตัวแทนทางศาสนา และกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมาก ต่างเรียกร้องให้มาร์กอส คืนประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย และหยุดการจับกุมทางการเมืองและการตัดสินคดีโดยใช้ศาลทหาร นักธุรกิจหลายกลุ่มที่ไม่ใช่พวกของมาร์กอสยังคงมีท่าทีในการ “รอดู” ว่ามาร์กอสจะมีนโยบายอย่างไรต่อไป ซึ่งพวกนักธุรกิจกลุ่มนี้ต้องการให้มาร์กอสมีความระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายที่สุดโต่งมากเกินไป

มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนถึง พ.ศ. 2524 และจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งหลังจากประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ ทว่าในปี พ.ศ. 2526 นินอย คู่แข่งทางการเมืองของเขาที่มีคะแนนความนิยมสูง ถูกลอบสังหารขณะที่เดินทางกลับจากลี้ภัยในสหรัฐฯ ที่สนามบินในมะนิลา ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน

นอกเหนือจากการถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารนินอยแล้ว การจับกุม อุ้มหาย และลงโทษประหารชีวิตผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชากรของประเทศติดลบในปี พ.ศ. 2527 – 2528 ซึ่งเป็นผลมาจากการฉ้อโกงยักยอกเอาเงินในคลังไปเป็นของตัวเอง และความไม่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอันเนื่องมากจากการเอื้อประโยชน์กันระหว่างพวกพ้อง ร่วมกับการโกงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2529 ก่อให้เกิดการปฏิวัติจาก “พลังประชาชน” จำนวนนับล้านคน ออกมาต่อต้าน ร่วมกับบรรดาแกนนำในรัฐบาลของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีกลาโหม Juan Enrile กลับไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามแทน โดยให้เหตุผลว่าคอราซอน อากิโน (Corazon Aquino) ภรรยาของนินอย เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เพราะมาร์กอสโกงการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงและการข่มขู่ ทุกเงื่อนไขรวมกัน ทำให้เขาต้องลงจากตำแหน่ง และลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันนี้ และเสียชีวิตที่ฮาวาย ในปี พ.ศ. 2532 ศพของเขาถูกนำกลับมาที่ฟิลิปปินส์โดยไม่ได้รับการฝังที่สุสานของชาติได้ตามอย่างประธานาธิบดี หรือบุคคลสำคัญคนอื่นๆ จนทุกวันนี้ศพก็ยังคงตั้งอยู่ในโลงแก้ว ในจังหวัดบ้านเกิดของเขา

ถึงวันนี้ก็ราวสามสิบปีได้แล้ว ที่เผด็จการสิ้นสุดไปในฟิลิปปินส์

เรื่องต่อไปนี้ เกิดขึ้นเมื่อสักราว 2 ปีกว่า ในประเทศไทย เมืองแห่งรอยยิ้ม เมืองแห่งความสุข เมืองที่อนาคตตอนนี้ ขึ้นอยู่กับมือเพียงสองมือ กับหนึ่งลมหายใจ และเวลาอีกไม่นาน

20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ความพยายามในการประชุมเพื่อหาทางออกในปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ ทำให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เสียสละ” เข้ายึดอำนาจบริหารบ้านเมืองภายใต้กฎอัยการศึก โดยการตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปกครองประเทศด้วยวิธีพิเศษ ด้วยอำนาจพิเศษ เรียกบุคคลทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป เข้าปรับทัศนคติ สั่งจำคุกบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองโดยอ้างความเชื่อมโยงกับเหตุผลด้านความมั่นคง กับใช้อำนาจที่อธิปไตยที่ริบเอาไปจากประชาชนเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่มีทางเลือกเสียเอง

ในช่วงแรก เขาขอเวลาหนึ่งปี เพื่อจัดระเบียบนโยบายต่างๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ประเทศมีความเข้มแข็งไปอีก 20 ปี[4] ทว่าผ่านไปหนึ่งปีเขาขอต่อเวลาเพิ่มอีกเป็นหนึ่งปีหกเดือน[5] และก่อนจะครบสองปีรัฐประหาร เขาก็ขอเวลาเพิ่มอีกห้าปีในการบริหารประเทศ และถ้าปฏิรูปจัดระเบียบนโยบายต่างๆไม่สำเร็จ เขาก็จะอยู่ตาม “โรดแมป” ที่จะกินเวลาราว 20 ปี[6] “ลูกคู่” ของเขา รัฐมนตรีกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มีบทบาทในรัฐบาลเผด็จการอยู่ไม่น้อย โดยได้รับความไว้วางใจให้ดูแลด้านความมั่นคง

ทว่าความมั่นคงของรัฐ กลับอ่อนไหวเหลือเกิน เพราะต้องแลกกับการละเมิดเสรีภาพ ความปลอดภัยต่อร่างกายและทรัพย์สิน และสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน มีข่าวการคุกคามงานเสวนา จับกุม อุ้มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยโดยทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพียงเพราะเขาสงสัยการทำงานของรัฐ หรือแสดงออกทางสัญลักษณ์เพียงเล็กน้อย การเหยียดและละเมิดเนื้อตัวร่างกายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การเยี่ยมเยียนของทหารไปที่บ้านของนักการเมืองในขั้วตรงข้ามของรัฐบาล และกลุ่มนักเคลื่อนไหว คุกคามครอบครัวและพื้นที่ส่วนบุคคลของพวกเขา การสื่อสารส่วนบุคคลของประชาชนถูกคุกคามและตรวจสอบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมีความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมสื่อออนไลน์ ที่เป็นเสรีภาพสุดท้ายที่ประชาชนพึงจะมีได้ในการแสดงออกทางความคิดเห็นในประเทศที่กฎหมายที่มีที่มาจากระบอบประชาธิปไตยไม่มีความหมายต่อรัฐบาล ระบบยุติธรรมไม่สามารถทำงานได้ตามครรลองประชาธิปไตย กฎหมายพิเศษ อำนาจมาตรา 44 และกฎหมายอื่นๆถูกนำมาบังคับใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กับผู้ที่กล้าตั้งคำถาม เห็นต่าง หรือแม้กระทั่งยืนเฉยๆ ระบบยุติธรรมเดียวที่ยอมรับได้สำหรับรัฐบาลนี้ คือศาลทหาร

นักข่าวและสื่อสารมวลชน ถูกคุกคามโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีของประเทศ ทั้งทางวาจา กริยา การตอบคำถามสื่อด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว รุนแรง ก่นด่า ข่มขู่สร้างความหวาดกลัว เช่นการพูดว่า “โง่”[7] “บ้า” ขว้างปาสิ่งของใส่ผู้สื่อข่าว[8] เตะหรือถูกต้องเนื้อตัวร่างกาย[9] ขู่ให้ระวังตัวเมื่อถามถึงเสรีภาพของประชาชน[10] รัฐมนตรีกลาโหมก็ยังรับบทลูกคู่ที่ดีเสมอ เขาให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว “ไอ้ห่า” “บ้า” ถอดแบบมาจากท่านนายกรัฐมนตรีไม่มีเพี้ยนสักกระบิ นอกจากนี้ยังดูถูกว่าไม่ได้เรียนหนังสือ และข่มขู่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐไปเฝ้า[11] ท่านนายกรัฐมนตรีมักปิดท้ายการสัมภาษณ์เหมือนให้เป็นลบล้างสิ่งที่ทำมาทั้งหมดว่า “ไม่ได้อารมณ์เสียนะ” ไปเฉยๆอย่างนั้น วันถัดไป วันอื่นๆ หรือวันไหนๆ นายกรัฐมนตรีก็ยังคงมีกริยาแบบเดิม เสมอต้นเสมอปลายอยู่มิเสื่อมคลาย สื่อสามารถมีพื้นที่เสนอข่าวได้แค่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเท่านั้น พื้นที่สำหรับออกมาเสนอด้านที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ไม่ว่าจะในพื้นที่สื่อ หรือพื้นที่สาธารณะ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง[12]

สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด การส่งออกไม่เติบโตซ้ำมีอัตราติดลบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจะเป็น ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคแรงงานยังคงเป็นข้อกังวล ทว่ารัฐบาลยังหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ผ่านการตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด อันมีผู้ร่วมกระบวนการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศ งบประมาณแผ่นดินเอื้อไปทางทหารในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการฉ้อโกงที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อีก ใครที่หาญจะตรวจสอบ ก็จะมีทหารไปคอยดูแลความห่วงใย จัดแจงให้มีการอำนวยความสะดวกไปรับไปส่งให้ระหว่างค่ายทหาร เรือนจำ หรือสถานที่ต่างๆเสมอ

แต่ไม่ว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีมักจะย้ำเสมอว่า กำลังจะพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยมีขั้นตอนที่สำคัญคือ การร่างและบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้

ขอกล่าวไว้ให้เป็นผลทางตัวอักษรว่านี่ไม่ได้เป็นการปลุกระดม

สมมติ ว่าทั้งสองประเทศกำลังจะไปในทางเดียวกัน ที่ปลายทางการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยในที่สุด

เริ่มต้นจาก การประกาศกฎอัยการศึก จับกุมผู้เห็นต่างทางการเมือง และควบคุมการออกเสียงต่อร่างของรัฐธรรมนูญ

ถึงขั้นตอนนี้ ในประเทศไทยเพิ่งจะสองปีเท่านั้น และมีโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะ “อยู่ยาว” ตามโรดแมปที่ “ท่าน”ได้วางไว้

ประชาชนชาวไทยจะต้องทนต่อการถูกลิดรอนเสรีภาพภายใต้รัฐบาลประยุทธไปนานเท่าใด และท่านนายกรัฐมนตรีจะอยู่ยาว 21 ปี เหมือนมาร์กอสหรือเปล่า

รัฐมนตรีกลาโหม กำลังสำคัญของทั้งสองรัฐบาล จะ”หาทางลง”อย่างสวยงาม โดยก้าวไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งหรือไม่

ใคร จะมาสืบทอดอำนาจต่อ ถ้าหากเกิด “พลังประชาชน” ที่ล้มรัฐบาลมาร์กอส และส่งต่ออำนาจให้กับคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นเหมือนกัน

และผู้ที่มาโค่นรัฐบาล จะเป็นผู้หญิงหรือไม่

เส้นทางของผู้นำหลังหมดอำนาจจะเป็นอย่างไร

7 สิงหาคม 2559 จะเป็นหมุดหมายของประชาชนชาวไทยที่จะกำหนดเส้นทางเดินของประเทศต่อไปได้ (หรือไม่)

เพราะประชาธิปไตยไม่เคยตายไปจากหัวใจของเรา

La démocratie est mort, vive la démocratie!

0000

 

เชิงอรรถ

[1] G-P-D. The Election That Never Was. ใน Economics and Political Weekly, Vol. 21, No. 8 (Feb. 22, 1986), p.324.
[2] William C. Rempel.  The Marcos diary: At The heart of a dictator. 22/03/2556 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.rappler.com/thought-leaders/26252-marcos-diary-at-the-heart-of-a-dictator (10/07/2559)
[3] Amy Forbes. Courageous women in media: Marcos and Censorship in The Philippines. ใน Pacific Journalism Review, 21(1) May 2015. หน้า 197-199.
[4] ไทยรัฐออนไลน์. 'ประยุทธ์'ฮึ่ม!ขอเวลาจัดระเบียบประเทศ 1 ปี. 30/05/2557 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://www.thairath.co.th/content/426335 (10/07/2559)
[5] แนวหน้า. 'ประยุทธ์'ขอใช้เวลา1ปี6เดือน วางยุทธศาสตร์20ปีแข้มแข็ง. 23/12/2558. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://www.naewna.com/politic/194316 (10/07/2559)
[6] ข่าวไทยพีบีเอส. นายกฯย้ำขอเวลา 5 ปีแก้ปัญหาประเทศ-ยึดตามโรดแมปเดินหน้าเลือกตั้ง. 22/04/2559. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://news.thaipbs.or.th/content/251864 (10/07/2559)
[7] https://www.youtube.com/watch?v=oLeqtoo6VNw
[8] https://www.youtube.com/watch?v=SkKGMudXyCQ และ https://www.youtube.com/watch?v=P5zXsYEwy9o
[9] https://youtu.be/otGUYT-DAtY?t=33s
[10] https://youtu.be/ifeXWeJiGoU?t=2m13s
[11] https://www.youtube.com/watch?v=tsuinuWzf-E
[12] https://www.youtube.com/watch?v=cOtsENHNrNU

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net