ศาลแพ่งยกฟ้องคดีประชาไทฟ้อง ICT ปิดเว็บปี 53

ศาลแพ่งยกฟ้อง บอกข่าวกลุ่มรักเชียงใหม่และบทความ ‘ธาตุแท้อภิสิทธิ์’ อาจทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อาจทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรง ใช้อำนาจปิดเว็บได้ ผอ.ประชาไท ยันอุทธรณ์ต่อ

11 ก.ค. 2559 ที่ศาลแพ่ง รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1455/2553 ที่มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (เว็บไซต์ประชาไท) เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และกระทรวงการคลัง เป็นเงิน 350,000 บาท จากกรณีมีคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553

คำพิพากษาโดยสรุป ระบุว่า ขณะเกิดเหตุบ้านเมืองเกิดความไม่สงบมีการชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง จนต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ การเสนอข่าวของโจทก์ (จากบทความเรื่อง "ธาตุแท้อภิสิทธิ์" ซึ่งมีข้อความที่ระบุว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหาร และรายงานข่าว "รักเชียงใหม่ขึ้นป้ายยุบสภา") มีเหตุให้นายสุเทพ จำเลยที่ 2 เป็น ผอ.ศอฉ.มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการกำหนดมาตรการอันจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เนื่องจากเกรงว่าบุคคลที่พบเห็นข้อความดังกล่าวอาจเข้าใจผิดในข้อมูลว่ารัฐบาลขณะนั้นมาจากการแต่งตั้งไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อาจเป็นเหตุให้สถานการณ์การชุมนุมเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่ปรากฏว่า นายสุเทพ จำเลยที่ 2 มีเจตนา จงใจหรือกลั่นแกล้งสั่งปิดเว็บไซต์ของโจทก์ โดยมุ่งให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ การเสนอข่าวบนเว็บไซต์ของโจทก์ ทำให้เข้าใจว่าเป็นการนำเสนอข่าว ขัดต่อข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 2 เป็นเหตุให้นายสุเทพ จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่า การปิดเว็บไซต์ของโจทก์ น่าจะเป็นมาตรการอันจำเป็น จึงเป็นการใช้อำนาจกฎหมายโดยชอบ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 4 และ 5 เป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า จะอุทธรณ์ เพราะคำพิพากษายังไม่ได้อธิบายในประเด็นต่อข้อสู้ในแง่ที่ว่า ข้อความที่ยกมาเป็นข่าวปรากฏในสื่อสารมวลชนโดยทั่วไป การปิดประชาไทในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ และการอุทธรณ์ยังเป็นไปเพื่อยืนยันการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพสื่อ

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2553 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นผู้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (จำเลยที่1) สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) (จำเลยที่ 2) ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 3) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จำเลยที่ 4) และกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 5) เรื่อง ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องค่าเสียหาย 350,000 บาท กรณีมีคำสั่งปิดกั้น prachatai.com และยื่นคำร้องขอให้ศาลเปิดการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ในการยกเลิกการปิดกั้น prachatai.com โดยวันเดียวกัน ศาลแพ่งมีคำสั่งยกฟ้องโดยไม่มีการไต่สวน ด้วยเหตุผลว่าจำเลยทั้งหมดมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต่อมา เว็บไซต์ประชาไทอุทธรณ์คำสั่งศาล โดยศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 4-5 คือ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, สุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ. ได้ ต่อมา จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รับฟ้องคคีดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 จากนั้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าอยู่ในอำนาจศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองศาลมีความเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลแพ่ง (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้บัญญัติตัดอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษา) โดยศาลแพ่งอ่านความเห็นของทั้งสองศาลเมื่อ 14 ธ.ค. 2558

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท