Skip to main content
sharethis

นักวิชาการและกลุ่ม MAHAKAN MODEL เสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับป้อมมหากาฬ ดันชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเอาคนออกจากโบราณสถานเป็นแนวคิดล้าสมัย ย้ำกฎหมายที่สร้างทางตันให้การพัฒนาเมืองย่อมสามารถแก้ไขได้

10 ก.ค. 2559 เวลา 09.30 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ จัดงานเปิดตัวพื้นที่สาธารณะ (Public space) ‘พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ’ MAHAKAN MODEL โดยช่วงเช้าได้มีการจัดฉายหนังเรื่อง The Human Scale ที่เล่าถึงแนวคิดการพัฒนาเมืองผ่านมุมมองของสถาปนิกชาวเดนมาร์คในประเทศต่างๆ หลังจากดูหนังเสร็จจึงมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันระหว่างนักวิชาการ นักกิจกรรม และผู้เข้าร่วมงานอื่นๆ

ชาตรี ประกิตนนทการ หัวหน้างานวิจัยบ้านไม้โบราณชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า เริ่มต้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เข้ามาในชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อศึกษาโครงการวิจัยจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ เพราะสนใจทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม เมื่องานวิจัยเสร็จจึงเสนอโครงการที่ให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับสวนสาธารณะได้โดยไม่จำเป็นต้องไล่รื้อชุมชนออกไป แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นกลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าแผนดังกล่าวที่เปิดพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้คนในชุมชนที่อยู่คู่กับป้อมได้ โดยมีคนในชุมชนทำหน้าที่ดูแลพื้นที่สวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่รับเงิน แต่ก็มีความเห็นว่าโครงการวิจัยดังกล่าวเป็นรูปธรรมชัดเจนว่าในที่สุดชุมชนป้อมมหากาฬก็พ่ายแพ้ให้กับทุนนิยมและการท่องเที่ยว ซึ่งเราก็เกิดคำถามว่าทำไมชุมชนจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกับทุนนิยมได้และทำไมชุมชนจะไม่สามารถใช้ระบบดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมืออยู่รอด เลี้ยงปากท้องของคนในชุมชนได้

“เวลาเราตามเรื่องนี้เราจะเจอคำพูดที่พูดมาตลอดว่า สวนสาธารณะกับชุมชนอยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้ามีสวน สาธารณะ 100 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนก็จะทำให้สวนสาธารณะเล็กลง ถ้ามีชุมชน 100 เปอร์เซ็นต์ สวนสาธารณะก็ไม่มีทางอยู่ได้ หรือความคิดที่ว่าโบราณสถานไม่ควรจะมีคน ต้องเอาคนออกจากโบราณสถาน ซึ่งแนวคิดเรื่อง Public Space ที่ห้ามคนอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นความคิดที่โบราณมาก” ชาตรี กล่าว

ด้าน ภัททกร ธนสารอักษร จากกลุ่ม Mahakan MODEL กล่าวว่า Mahakan model เกิดขึ้นจากความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่เสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับเมือง โดยชุมชนป้อมมหากาฬมีทำเลที่ตั้งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีความสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Heritage Museum) โดยพัฒนาแนวคิดนี้จากโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนบ้านไม้โบราณ ป้อมมหากาฬ ของชาตรี ประกิตนนทการ เพื่อให้คนในชุมชน โบราณสถานและสวนสาธารณะแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในกรุงเทพมหานครต่อไป

“ผมไม่อยากให้ที่นี่กลายเป็นสุขุมวิท ผมไม่อยากให้ที่นี่กลายเป็นสีลม ผมอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่เป็นอยู่ แต่เป็นอย่างถูกต้องและถูกพัฒนาอย่างดี ผมจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนแถวนี้เข้มแข็งก่อน เราจึงจะสามารถอนุรักษ์เมืองที่ควรจะเป็นได้อย่างในอนาคต

“กรณีป้อมมหากาฬเป็นเรื่องของความสิ้นหวังที่นำมาสู่ทางตันของการพัฒนา เอาง่ายๆ อย่างเรื่องการแก้กฎหมาย เขาเห็นว่ากฎหมายแก้ไม่ได้ แต่มันไม่ใช่เลย แผนที่สร้างปัญหาเป็นกฎหมายระดับกฤษฎีกา ซึ่งต่ำกว่าพระราชบัญญัติจึงต้องแก้ได้ ก็เป็นที่ถกเถียงมาถึง 24 ปี กับกฎหมายกฤษฎีกาฉบับนี้ที่มีคำสั่งไล่รื้อพื้นที่และคนในชุมชนเพื่อทำสวนสาธารณะตั้งแต่ปี 2535 แม้ในช่วงเวลที่ผ่านมาจะมีความหวังในปี 2548 ที่อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครในขณะนั้น มีการลงนาม 3 ฝ่ายที่จะมีการพัฒนาแผนให้ป้อมมหากาฬเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่จะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธาณะ และชุมชนอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แต่ก็เงียบหายไปไม่มีการดำเนินการต่อ และเจ้าหน้าที่รัฐสมัยต่อมาก็ตอบเพียงว่าไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับกฎหมายกฤษฎีกา ปี 2535” ภัททกร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net