Skip to main content
sharethis
นักเศรษฐศาสตร์พบสัญญาณการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ในระดับสูงมากกว่า 25% มีการทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นและอาจมีการทยอยปิดงานเลิกจ้างในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานจัดระเบียนการจ้างงานแบบเหมาช่วงให้เป็นมาตรฐานเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานทักษะต่ำและดูแลการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
 
10 ก.ค. 2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวถึง สถานการณ์การจ้างงานและการปลดพนักงานเลิกจ้างในขณะนี้ว่า สถานการณ์ภาวะการมีงานทำโดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วงนัก คาดการณ์อัตราการว่างงาน 1-1.7% ในปีนี้โดยเดือนพฤษภาคมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% หรือมีผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงานจำนวน 4.53 แสนคน แต่มีสัญญาณการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ในระดับสูงมากกว่า 25% ขณะนี้ผู้ว่างงานที่จบการศึกษาใหม่และไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานอยู่ที่ประมาณ 1.82 แสนคนโดยผู้สำเร็จระดับอุดมศึกษาว่างงานมากสุด 9.5 หมื่นคน นักศึกษาจบใหม่กลุ่มนี้หากไม่เลือกงานและยอมทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิตัวเองจะยังสามารถหางานได้อยู่ในขณะนี้ เพราะไทยยังขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมซึ่งต้องให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานแทน หากสถานการณ์การว่างงานไม่ดีขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจต้องจำกัดจำนวนการนำเข้าแรงงานบางประเภทจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะต่อไปเพื่อรักษาตำแหน่งงานให้คนไทยก่อน 
 
แนวโน้มในระยะนี้ อาจจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะนี้มีทำงานต่ำระดับ 2.68 แสนคนหรือร้อยละ 0.7 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานไม่เต็มเวลาและต้องการทำงานเพิ่มเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่วนการลดชั่วโมงการทำงาน OT ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมส่งออกที่หดตัวหรือมีการเติบโตต่ำ ทำให้รายได้ของผู้ทำงานจำนวนไม่น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แนวโน้มของอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจกลับมาสูงขึ้นอีกหลังจากอัตราเพิ่มขึ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีที่แล้ว ระดับการเพิ่มของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงอาจเปลี่ยนแปลงไปหากมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น
 
ดร. อนุสรณ์ ยังคาดการณ์ว่าอาจมีการทยอยปิดงานเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอ ธุรกิจโฆษณา สิ่งพิมพ์ และ ธุรกิจทีวีดิจิตอลอุตสาหกรรมน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติในไทย ธุรกิจสถาบันการเงินระหว่างประเทศในไทย รวมทั้ง กิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน การเลิกจ้างจะเกิดขึ้นมากในบริษัทเหมาช่วงของธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขณะที่จะมีการขยายตัวของการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ เป็นต้น ผู้ว่างงานบางส่วนที่มีทักษะตรงหรือสอดคล้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีขยายตัวจะสามารถกลับไปมีงานทำได้ในเวลาไม่นานนัก ปัญหาการเลิกจ้างจึงยังไม่ใช่วิกฤติในระยะสั้นแต่อย่างใดจับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Tesla ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทขนาดใหญ่ 17 แห่ง ซึ่งยังคงใช้เทคโนโลยีเดิม มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ขนาดใหญ่ 390 แห่ง และบริษัทผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก 1,250 แห่ง หากการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขยายตัวมากๆ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมก็หมดความจำเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า750,000 ตำแหน่งร้อยละ 40-50 ของตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นพนักงานเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค
 
ผู้ใช้แรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้ แต่คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลจากระบบประกันการว่างงานช่วงเวลาหนึ่งและต้องไปฝึกอบรมเรียนรู้ในการเปลี่ยนทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน กลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุด คือ บรรดาแรงงานทักษะต่ำและเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบการทำงานในบริษัทเหมาช่วงจะได้รับผลกระทบจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการผลิตและยอดขาย ปัญหาในระบบการผลิตแบบเหมาช่วงเป็นปัญหาในระดับสากล เรื่อง ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการในระบบการผลิตแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็แสวงหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีความยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะ ส่งออกงานในบางลักษณะให้บริษัทเหมาช่วงรับไปทำเพื่อให้มีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น  จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานไปจัดระบบให้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นสากล ไม่เช่นนั้นผู้ใช้แรงงานในระบบเหมาช่วงจะถูกเอาเปรียบอย่างมาก 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net