'ไม่ก็คือไม่' เยอรมนีผ่านกฎหมายป้องกันการข่มขืนฉบับใหม่

จากเดิมที่กฎหมายต่อต้านการข่มขืนของเยอรมนีเหยื่อต้องขัดขืนเชิงกายภาพด้วยจึงจะถือว่าถูกข่มขืน เรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหาผู้ก่อเหตุลอยนวลจนมีผู้รณรงค์ให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายระบุเพียงแค่เหยื่อแสดงออกต่อต้านปฏิเสธทางวาจาอย่างคำว่า "ไม่" ก็ถูกว่าผู้ก่อเหตุข่มขืนแล้ว นอกจากนี้มีข้อถกเถียงว่ากฎหมายฉบับใหม่จะเนรเทศบุคคลต่างชาติง่ายขึ้น หากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ

ชาวเมืองโคโลญจน์ประท้วงเหตุล่วงละเมิดทางเพศหมู่ช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เมื่อ 9 มกราคม 2016  ต่อมา ส.ส. ในรัฐสภาเยอรมนีลงมติผ่านกฎหมายป้องกันการข่มขืน 'ไม่ก็คือไม่' อย่างท่วมท้น นั่นหมายความว่าแค่บอกว่า "ไม่" ก็สามารถตีความว่าเป็นการไม่ยินยอมพร้อมใจให้ถูกกระทำและถ้าหากผู้กระทำยังดึงดันต่อไปจะถือเป็นการข่มขืนต้องลงโทษตามกฎหมายเยอรมนี (ที่มา: Elke Wetzig/Wikipedia CC By-SA 4.0)

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2559 เยอรมนีผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่โดยมีการปรับนิยามการข่มขืนหลังจากที่มีเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในเมืองโคโลญจน์เมื่อช่วงงานฉลองปีใหม่ต้นปีนี้ สื่อเทเลกราฟของอังกฤษ รายงานว่า ส.ส. ในรัฐสภาเยอรมนีลงมติสนับสนุนกฎหมายป้องกันการข่มขืนที่เรียกว่าข้อกำหนด "ไม่ก็คือไม่" อย่างท่วมท้น โดยมีผู้ลงมติ 601 คะแนน โดยไม่มีผู้ลงมติคัดค้านเลยมีเพียงแต่ ส.ส. บางส่วนที่งดออกเสียง

กฎหมายใหม่ของเยอรมนีระบุว่าถ้าหากมีการบังคับให้แตะเนื้อต้องตัวกันทางเพศโดยที่ผู้ถูกกระทำไม่ยินยอมพร้อมใจ หมายถึงถ้าหากผู้กระทำแสดงออกต่อต้าน ขัดขืน ในทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ก็จะถือว่าเป็นการข่มขืนทันที นั่นหมายความว่าแค่บอกว่า "ไม่" ก็สามารถตีความว่าเป็นการไม่ยินยอมพร้อมใจให้ถูกกระทำและถ้าหากผู้กระทำยังดึงดันต่อไปจะถือเป็นการข่มขืนต้องุกลงโทษตามกฎหมายเยอรมนี

มานูเอลา ชวีสิก รัฐมนตรีด้านกิจการครอบครัว, ผู้สูงอายุ, สตรีและเยาวชน เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะทำให้เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศสามารถฟ้องร้องได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีกรณีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแต่ผู้ก่อเหตุลอยนวลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้นักวิจารณ์ยังเคยวิจารณ์มาก่อนหน้านี้ว่าเยอรมนีมีกฎหมายการข่มขืนที่ล้าหลังกว่าประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ จากที่กฎหมายเดิมระบุให้เหยื่อต้องแสดงการต่อสู้ขัดขืนทางกายภาพด้วยถึงจะถือว่าถูกข่มขืน

เรื่องนี้มีงานวิจัยสนับสนุนจากปี 2557 โดยสมาคมศูนย์ให้คำปรึกษาสตรีและศูนย์วิกฤตการข่มขืนเยอรมนี (BFF) ระบุถึงกรณีข่มขืน 107 กรณีพบว่า ในกรณีที่ฝ่ายผู้ถูกกระทำพยายามต่อต้านด้วยวาจามักจะไม่มีการสั่งฟ้องหรือไม่เช่นนั้นศาลก็ตัดสินให้ไม่มีความผิด เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้คำนึงถึงสภาพความจริงในเรื่องความสามารถในการขัดขืนของเหยื่อมากพอทำให้มีกรณีข่มขืนเพียง 1 ใน 10 กรณีเท่านั้นก็มีการตัดสินความผิด

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจลงมติในเรื่องนี้ของทางการเยอรมนีก็สืบเนื่องมาจากกรณีการที่มีคนถูกล่วงละเมิดทางเพศหมู่ในเหตุการณ์ช่วงงานฉลองคืนวันสิ้นปี-ปีใหม่ แต่มีการฟ้องร้องจากอัยการน้อยมากสาเหตุจากกฎหมายเดิมของเยอรมนีที่ระบุให้ต้องขัดขืนทางกายภาพ ทำให้หลังจากนั้นมีการรณรงค์เรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมายด้วยแฮชแท็ก #NeinHeisstNein หรือ "ไม่ก็คือไม่" โดยกรณีที่สร้างความไม่พอใจในเยอรมนีอย่างมากคือกรณีที่มีชาย 2 คนมอมยาและข่มขืนโมเดล จินา-ลิซา โลห์ฟิงค์ รวมถึงอัพโหลดวิดีโอที่มีเสียงโลห์ฟิงค์บอกให้หยุดและบอกว่า "ไม่" แต่ก็มีการยกฟ้องชายทั้ง 2 คน

อย่างไรก็ตามจากที่ในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศหมู่ในโคโลญจน์มีผู้ต้องหาส่วนหนึ่งที่เป็นชาวต่างชาติและเชื่อว่าอาจจะเป็นผู้อพยพ พวกเขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปี แบบรอลงอาญา ทำให้ในกฎหมายใหม่มีส่วนที่ชวนใหเกิดข้อถกเถียงคือมาตรการที่ทำให้สามารถส่งตัวคนเข้าเมืองจากต่างชาติ ออกนอกประเทศง่ายขึ้นถ้าหากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ

 

เรียบเรียงจาก

Germany passes 'no means no' rape law, The Telegraph, 07-07-2016 http://www.telegraph.co.uk/news/2016/07/07/germany-passes-no-means-no-rape-law/

Germany rape law: 'No means No' law passed, BBC, 08-07-2016 http://www.bbc.com/news/world-europe-36726095

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท