Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลายคนคงจะเห็นแล้วว่า นักโทษประหารชีวิตในคดีอุกฉกรรจ์ได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาไม่กี่ปี นักโทษก่อคดีซ้ำซาก นักโทษได้รับการปล่อยตัวทั้งที่ยังมีอาการทางจิต เหล่านี้เกิดจากกระบวนการลงโทษของเรือนจำที่ใช้วิธีการ “อภัยโทษ” แบบเหมาเข่งตามวโรกาสต่างๆเพื่อปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้

เรือนจำไทยใช้การอภัยโทษเป็นหลักเพื่อระบายนักโทษที่อยู่อย่างแออัดกว่า 3 แสนคนจากเรือนจำทั่วประเทศ 199 แห่ง เฉลี่ยมีนักโทษกว่า 16,000 คนต่อเรือนจำ โดยอ้างว่า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

แต่ละครั้งของการอภัยโทษจะมีนักโทษได้รับการปล่อยตัวออกมา 3-4 หมื่นคน และมีนักโทษได้รับการลดโทษอีกกว่า 1 แสนคน โดยไม่มีการพิจารณาถึงความเหมาะสม

สังคมไทยยังมองการลงโทษเป็นการ “แก้แค้น” ซึ่งนั่นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ทางที่ดีเราควรมองการลงโทษเป็นการ “แก้ไข” ดีกว่า

หลายคนอาจคิดว่า นักโทษในเรือนจำเป็นคนเลวทั้งหมด ไม่สมควรที่ใครจะได้รับการลดโทษ ก่อนที่ผมจะต้องอยู่ในเรือนจำผมก็เคยคิดเช่นนั้น แต่หลังจากที่ผมใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนในคดี  ม.112 ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป

นักโทษหลายคนสมควรได้รับการพักโทษ ขณะที่นักโทษหลายคนไม่สมควรได้รับการพักโทษ (ไม่นับพวกที่เป็น “แพะรับบาป” ที่ต้องอยู่ในเรือนจำทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด) จากประสบการณ์ของผม ผมขอแบ่งประเภทของนักโทษออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

1. นักโทษอาการทางจิต: นักโทษประเภทนี้มีสภาพเหมือนคนปกติทั่วไป เราจะไม่สามารถมองออกได้เลยว่าเขามีอาการทางจิต เขาอาจไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือรู้แต่ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้กระทำผิดได้ เช่น กรณีนักโทษคนหนึ่งมาจากตระกูลชั้นสูง ทั้งๆที่ตนเองมีฐานะดี แต่ชอบขโมยเงินและบัตรเครดิตของคนอื่นเพื่อนำไปใช้จ่าย จนต้องถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี

2. นักโทษขาดสติ: นักโทษประเภทนี้ไม่มีอาการทางจิต และรู้ผิดชอบชั่วดี แต่เป็นเพราะความอ่อนประสบการณ์หรือจิตใจจึงกระทำความผิด เช่น กรณีสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง ฝ่ายชายทำงานเป็นช่างติดตั้งกล้องวงจรปิด มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ฝ่ายหญิงทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง มีรายได้เดือนละ 9,000 บาท รวมกันเป็น 22,000 บาท ซึ่งเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ต่อมาฝ่ายหญิงตั้งครรภ์จนไม่สามารถทำงานต่อไปได้จึงต้องลาออกจากงานทำให้รายได้ครอบครัวลดลง หลังจากคลอดบุตรภาระค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาค่าใช้จ่าย วันหนึ่งฝ่ายชายเกิดอารมณ์ชั่ววูบขโมยโทรทัศน์ของเพื่อนข้างห้อง จนต้องถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี

3. นักโทษประมาท: นักโทษประเภทนี้คลายกับนักโทษรู้เท่าถึงการณ์ แต่กระทำความผิดเพราะความประมาท เช่น กรณีนักโทษคนหนึ่งมีฐานะดี จบการศึกษาจากต่างประเทศ พ่อ-แม่จึงซื้อรถหรูให้ขับเป็นรางวัล แต่ด้วยความอายุน้อยและขับรถประมาทจึงชนคนเสียชีวิต จนต้องถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี

4. นักโทษไม่กลัวกฎหมาย: นักโทษประเภทนี้รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ไม่เกรงกลัวกฎหมายจึงกระทำความผิด เช่น กรณีนักโทษคนหนึ่งได้รับการอุปการะจากผู้มีอิทธิพลรายหนึ่ง เมื่อผู้มีอิทธิพลรายนี้สั่งให้เขาไปทำร้ายผู้อื่น เขาก็ยินดีทำโดยไม่ลังเล และถูกพิพากษาจำคุกถึง 20 ปีตั้งแต่อายุ 16 ปี ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำได้รับการส่งเสียจากผู้มีอิทธิพลรายนี้จนอยู่อย่างสุขสบาย หลังจำคุกเพียง 8 ปีกว่าก็ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำขณะที่อายุได้ 23 ปีและกลับไปอาศัยกับผู้มีอิทธิพลรายนี้อีกครั้ง ผ่านไปไม่ถึง 1 ปีผู้มีอิทธิพลรายนี้สั่งให้เขาไปฆ่าคน เขาก็ยินดีทำโดยไม่ลังเลอีกครั้ง จนต้องถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

5. นักโทษรักเรือนจำ: นักโทษประเภทนี้น่าปวดหัวที่สุด เพราะต้องการกระทำผิดเพื่อเข้ามาอยู่เรือนจำ เช่น กรณีนักโทษคนหนึ่งเป็นคนจรจัด ไม่มีงาน-เงิน-ที่พักอาศัยจึงตัดสินใจเข้าไปในเซเว่นฯเพื่อขโมยมาม่า 5 ห่อและยืนรอให้ตำรวจจับโดยไม่หลบหนี และถูกพิพากษาจำคุก 4 เดือน เมื่อเขาอยู่ในเรือนจำเขามีที่นอนและอาหารจึงอยู่อย่างสุขสบายกว่าอยู่ข้างนอก หลังจากที่เขาออกจากเรือนจำก็ไปขโมยของในเซเว่นฯอีก ด้วยอายุเพียง 30 กว่าปี แต่เข้า-ออกเรือนจำรวม 39 ครั้ง ครั้งล่าสุดจึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนปล้นบ้านพ่อค้ารายหนึ่ง จนต้องถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี

จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้นักโทษเหล่านี้ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำแตกต่างกัน แม้กฎหมายจะกำหนดบทลงโทษที่เหมือนกัน แต่ใช่ว่านักโทษทุกคนเป็นคนเลวเสมอไป อีกทั้งการลดโทษก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในบางกรณีได้

ดังนั้นประเทศไทยควรเปลี่ยนวิธีการปล่อยตัวนักโทษจากการ “อภัยโทษ” มาเป็นการ “พักโทษ” โดยการผสมผสานรูปแบบของต่างประเทศจึงจะเป็นผลดีมากกว่า

หลายคนอาจสงสัยว่า การพักโทษกับการลดโทษต่างกันอย่างไร ? ผมขออธิบายว่า การลดโทษคือ การ “ลบ” โทษของนักโทษ เช่น นักโทษถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี ผ่านการอภัยโทษหลายครั้งจนเหลือโทษจำคุกเพียง 6 ปี นั่นเท่ากับลบโทษของเขาออกไปถึง 4 ปี หากเขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำและกระทำความผิดอีก โทษของเขาจะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ เพราะโทษเก่าถูกลบไปหมดแล้ว

แต่การพักโทษคือ การปล่อยตัวก่อนกำหนด แต่โทษจำคุกยังคงอยู่ เช่น นักโทษถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี แต่ได้รับการพิจารณาพักโทษในปีที่ 6 ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 4 ปี แต่หลังออกจากเรือนจำช่วง 4 ปีแรกเขายังต้องมารายงานตัวที่กรมคุมประพฤติเดือนละ 1 ครั้งเพื่อตรวจสอบพฤติกรรม บางครั้งอาจต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความเป็นอยู่ของนักโทษรายนี้ หากนักโทษรายนี้ขัดขืนไม่ยอมมารายงานตัวหรือให้ตรวจสอบพฤติกรรม จะต้องกลับมารับโทษจำคุกที่เหลือ 4 ปี และหากนักโทษกระทำความผิดซ้ำในช่วง 4 ปีนี้ จะต้องถูกเพิ่มโทษจำคุก 4 ปีที่เหลือนี้ร่วมกับโทษใหม่ที่ศาลพิพากษา

แต่ใช่ว่านักโทษทุกคนจะสามารถได้รับการพักโทษได้ การพักโทษจะต้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่มาจากศาล เรือนจำ ตำรวจ อัยการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และนักสิทธิมนุษยชน

ในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพจะต้องถามความเห็นของผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียหายด้วย โดยแบ่งหลักเกณฑ์ออกเป็นดังนี้

- ในกรณีที่โทษจำคุกต่ำกว่า 1 ปีไม่มีการพิจารณาพักโทษ

- ในกรณีที่โทษจำคุก 1-20 ปี นักโทษต้องถูกจำคุกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะพิจารณาพักโทษได้ และได้รับสิทธิการพิจารณาเพียงครั้งเดียว

- ในกรณีโทษจำคุก 20-50 ปี ให้พิจารณาพักโทษครั้งแรกในปีที่ 11 และครั้งต่อๆไปทุก 10 ปี

- ในกรณีที่โทษจำคุก 50 ปี-ตลอดชีวิตให้พิจารณาพักโทษครั้งแรกในปีที่ 21 และครั้งต่อๆไปทุก 10 ปี

- ในกรณีที่โทษประหารชีวิตให้พิจารณาว่า สมควรพักโทษประหารชีวิตเป็นตลอดชีวิตหรือไม่ในช่วง 3 ปีแรก

นอกจากนี้บางกรณีอาจต้องมีการพิจารณาการปล่อยตัวด้วย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นผมจะขอยกตัวอย่างเป็นกรณี


กรณีที่ 1: นักโทษกระทำผิดฐานข่มขืนและฆ่าผู้เสียหาย ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต
หลังจากคดีสิ้นสุดปีที่ 3 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดี แต่มีอาการทางจิตที่สามารถรักษาได้ สวมควรได้รับการพักโทษประหารชีวิตเป็นตลอดชีวิต และต้องเข้าโปรแกรมบำบัดทางจิต แต่เนื่องจากคดีนี้ผู้เสียหายเสียชีวิตจึงต้องถามความเห็นของญาติผู้เสียหาย ผลปรากฏว่า ญาติผู้เสียหายคัดค้านการพักโทษ จึงต้องส่งตัวนักโทษคนนี้ไปประหารชีวิต


กรณีที่ 2: นักโทษกระทำผิดฐานข่มขืนและทำร้ายร่างกายจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

หลังจากคดีสิ้นสุดปีที่ 21 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดี แต่ยังคงมีอาการทางจิตอยู่ จึงไม่อนุมัติการพักโทษ

ปีที่ 31 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษมีอาการทางจิตเป็นปกติแล้ว สมควรได้รับการพักโทษ แต่เนื่องจากผู้เสียหายทุพพลภาพและยังมีชีวิตอยู่จึงต้องถามความเห็นของผู้เสียหาย ผลปรากฏว่า ผู้เสียหายคัดค้านการพักโทษจึงไม่สามารถพักโทษได้

ปีที่ 41 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษมีอาการทางจิตเป็นปกติแล้ว สมควรได้รับการพักโทษ แต่ผู้เสียหายเสียชีวิตแล้วจึงต้องถามความเห็นของญาติผู้เสียหายแทน ผลปรากฏว่า ญาติผู้เสียหายคัดค้านการพักโทษจึงไม่สามารถพักโทษได้

ปีที่ 51 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษมีอาการทางจิตเป็นปกติแล้ว และมีอาการป่วยจากโรคความดันโลหิต เบาหวาน และอาการอัลไซเมอร์ สมควรได้รับการพักโทษ จึงถามความเห็นของญาติผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหายเห็นว่า นักโทษชรามากและป่วยหนักจึงไม่คัดค้านการพักโทษ นักโทษคนนี้จึงสามารถพักโทษได้


กรณีที่ 3: นักโทษเป็นเยาวชนชายอายุ 19 ปี มีเพศสัมพันธ์กับเยาวชนหญิงอายุ 17 ปี กระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์และข่มขืน ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน

หลังสิ้นสุดคดีปีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษไม่มีอาการทางจิต อีกทั้งการกระทำผิดเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเยาวชนทั้ง 2 คน สมควรได้รับการพักโทษ เนื่องจากคดีนี้ไม่มีผู้เสียหายเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ จึงไม่ต้องถามความเห็นผู้ใดอีก นักโทษคนนี้จึงสามารถพักโทษได้


กรณีที่ 4: นักโทษกระทำผิดฐานพยายามข่มขืน แต่ผู้เสียหายสามารถเอาตัวรอดได้ ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี

หลังสิ้นสุดคดีปีที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษรู้สำนึกผิดชอบชั่วดี แต่สภาพจิตไม่ปกติ มีความต้องการทางเพศสูงเกินกว่าคนทั่วไป ไม่สมควรได้รับการพักโทษ

ก่อนปล่อยตัวคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า นักโทษรายนี้ยังคงมีสภาพจิตไม่ปกติ มีความต้องการทางเพศสูงเกินกว่าคนทั่วไป เห็นควร ให้ส่งไปสถานบำบัดทางจิตเพื่อบำบัดอาการก่อน จนกว่าคณะแพทย์จะลงความเห็นว่า สภาพจิตเป็นปกติแล้ว จึงจะอนุญาตให้ปล่อยตัว

ทั้ง 4 กรณีเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน แต่ใช้การพักโทษแทนการอภัยโทษแบบเหมาเข่ง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเป็นรายบุคคลเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนักโทษเป็ยรายบุคคล และในบางกรณีอาจต้องขอความเห็นของผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียหายก่อน เรียกได้ว่า ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องกันก่อนจึงจะปล่อยตัวได้ วิธีนี้ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่าการอภัยโทษอย่างพร่ำเพรื่อ

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก เอกชัย หงส์กังวาน 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net