Skip to main content
sharethis

6 องค์กรแรงงานแถลงกรณีโครงการ "จากกันด้วยใจ" เรียกร้องโตโยต้า มีธรรมาภิบาล ปฏิบัติตามกม.คุ้มครองแรงงาน เรื่องการเลิกจ้าง พร้อมเรียกร้องกระทรวงแรงงานทบทวนทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย

7 ก.ค. 2559 วานนี้ (6 ก.ค.) เว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์ รายงานว่า 6 องค์กรแรงงานออกแถลงการณ์ เรื่อง “เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต” กรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดโครงการสมัครใจลาออกในชื่อ “จากกันด้วยใจ”

โดย 6 องค์กรแรงงานเรียกร้องต่อบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าผลักภาระให้ลูกจ้างผ่านข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องการเลิกจ้าง

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่มุ่งแต่อัตราการเจริญเติบโตและความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน

ทั้งนี้ 6 องค์กรแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

 

แถลงการณ์เปิดผนึกต่อสังคม
“เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต”

คำถามต่อกระทรวงแรงงานและบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับโครงการสมัครใจลาออก “จากกันด้วยใจ” แถลงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2559 โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM),สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

ตามที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนกรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออกในชื่อ “จากกันด้วยใจ” โดยให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ ประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือราว 900 คน สมัครใจลาออก นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินเพิ่มเติมพิเศษ

บริษัทได้อ้างถึงสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง  อีกทั้งทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก หากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะนับอายุงานต่อเนื่อง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และเห็นว่านี้เป็นผลพวงมาจากนโยบายการจ้างงานประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดโลก โดยกดค่าแรงให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการทำสัญญาจ้างโดยตรงแล้ว ยังมีการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลาย

กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า การแสดงความรับผิดชอบของบริษัทโตโยต้าฯในครั้งนี้ จึงคือการยอมรับไปโดยปริยายว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงก็คือลูกจ้างของบริษัทนั้นเอง

ทั้งๆ ที่ก็ทราบโดยทั่วไปว่า คุณภาพชีวิตลูกจ้างที่อยู่ภายใต้บริษัทรับเหมาค่าแรงมักจะได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ และสถานประกอบกิจการสามารถส่งตัวคืนบริษัทรับเหมาค่าแรงได้ตามความพอใจ

หลายสิบปีที่ผ่านมาองค์กรแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะการนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรสมาชิก เช่น สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF), กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รวมถึงสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง และให้ลูกจ้างทุกคนในสถานประกอบกิจการ “เท่าเทียมกัน” ในการจ้างงาน ในลักษณะหนึ่งสถานประกอบกิจการ หนึ่งกระบวนการผลิต หนึ่งสภาพการจ้าง

แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนแต่อย่างใด นอกจากการอ้างเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 11 /1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551) ซึ่งก็พบว่า สถานประกอบการมิได้นำพาในการปฏิบัติตามกฎหมายและต้องให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมแทน ซึ่งก็พบข้อจำกัดและระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน

เมื่อมาพิจารณาในคำชี้แจงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก็พบถ้อยคำที่ขัดแย้งกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันหลายประการ ได้แก่

(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรเริ่มปรับดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ประกอบกับการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐกลับมาขยายตัวดี อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูงเนื่องจากในปีก่อน ที่มีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ประกอบกับในปีนี้ความต้องการรถกระบะดัดแปลงขยายตัวดีต่อเนื่อง

(2) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 มีทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน เนื่องจากผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.08 และ 63.56 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 15.86 และในเดือนพฤษภาคม 2559 ผลิตรถยนต์ 168,394 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.69 ส่งออกรถยนต์ 99,547 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 ยอดขายรถยนต์ 66,019 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9

(3) หากย้อนไปดูสถิติยอดการผลิตรถยนต์รวมทั้งปีของบริษัทโดยตรง พบว่า มีส่วนแบ่งการตลาดขายรถยนต์ในประเทศสูงถึง 33.78 % สถิติการผลิตรถยนต์ ปี 2557 ยอดผลิต 1.88 ล้านคัน ปี 2558 ยอดผลิต 1.91 ล้านคัน ปี 2559 คาดการณ์ 2 ล้านคัน ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2559 ผลิตรถยนต์ จำนวน 138,237 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 11.51 ขายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18

(4) บริษัทมีรายได้สูงสุดติดอันดับ 2 ของประเทศถึงกว่า 417,826 ล้านบาท และมีผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 กว่า 29,937 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2558 ) และผลประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะกว่าเวลา 50 ปีที่ทำธุรกิจในประเทศไทย

(5) บริษัทสามารถจ่ายเงินเพื่อเป็นสปอนเซอร์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละปีได้มากมาย เช่น ในปี 2559 มอบเงิน 30 ล้านบาท สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทยสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก และอีก 180 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่างๆ

(6) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559  นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโตโยต้าฯให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “….จะสามารถทำตามเป้าหมายการส่งออกในปี 2559 ที่ 370,000 คัน ได้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าโตโยต้าไม่มีนโยบายที่จะปลดคนงานออกอย่างแน่นอน โดยโตโยต้ามีแผนที่จะส่งออกไปยังตลาดยุโรปและโอเชียเพิ่มขึ้น ทดแทนตลาดตะวันออกกลางที่กำลังซื้อลดลง รวมถึงมีแผนส่งออกรถยนต์ไปยังอิหร่าน ซึ่งเป็นตลาดเปิดใหม่ด้วย”

(7) นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ปรับลดพนักงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ ที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดเจนว่า คำกล่าวอ้างในการดำเนินโครงการสมัครใจลาออกจึงเป็นเพียงวาทกรรมลอยๆ ที่นำมากล่าวอ้างเพื่อลดจำนวนคนงาน ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ด้วยเช่นกันว่าบริษัทจะดำเนินการตามที่กล่าวนั้นจริง

อีกทั้งการกล่าวอ้างเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังนำไปสู่การที่บริษัทโตโยต้าฯ ละเลยในการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษในส่วนนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้ทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่มุ่งแต่อัตราการเจริญเติบโตและความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน

สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โดยต้องคำนึงถึงการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากกว่าผลักภาระให้ลูกจ้างผ่านข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด รวมทั้งการจักต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในบริษัทฯ แห่งอื่นๆ ในการนำข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจชะลอตัว มาใช้เลิกจ้างคนงานอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทซัพพายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อาจใช้ข้ออ้างเดียวกันกับบริษัทโตโยต้าฯ นำมาเลิกจ้างคนงานติดตามมา

ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีแรงงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)
สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM)
สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW)
สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF)
กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net