Skip to main content
sharethis

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมองปัญหาข่มขืนไม่ได้อยู่ที่โทษประหารแต่อยู่ที่การยอมความ ชี้การยอมความเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ด้านผู้เสียหายมองยอมความเป็นช่องทางให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ส่วนนักกฎหมายเห็นแย้ง ยอมความต้องมีเพราะเป็นสิทธิที่ผู้เสียหายควรเลือกได้

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กระแสเรียกร้อง ‘ข่มขืน=ประหาร’ ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆ่าปาดคอครูสาวที่จังหวัดสระบุรี คนร้ายได้ระบุว่าหวังจะข่มขืนแต่ผู้ตายขัดขืนจึงลงมือฆ่า ซึ่งกระแสเรียกร้องให้การข่มขืนต้องประหารชีวิตไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรณีนี้ แต่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดข่าวข่มขืนสะเทือนขวัญ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักวิชาการ มูลนิธิ และชาวเน็ตอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสเรียกร้องดังกล่าว เนื่องจากมองว่าการประหารชีวิตในทุกคดีข่มขืนจะทำให้เหยื่อถูกฆ่าปิดปาก อีกทั้งยังกลัวว่าจะมีการจับแพะและประหารคนที่ไม่มีความผิด ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้น่าเชื่อถือมากกว่าที่จะแก้กฎหมายให้ประหารชีวิต

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ช่องโหว่สำคัญของปัญหาอาชญากรรมการข่มขืนในไทยอยู่ที่ตัวกระบวนการยุติธรรมในการนำตัวคนผิดมาลงโทษ ขณะที่ตัวกฎหมายเองนั้น คนทำงานด้านผู้หญิงบางส่วนมองว่าเอื้อให้เกิดการพ้นผิดลอยนวล โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้เกิดการยอมความได้ในคดีข่มขืน ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษและเป็นช่องทางในการรีบจบคดีของตำรวจ

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ข่มขืนไม่เท่ากับประหาร แต่ข่มขืนต้องห้ามยอมความ

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับกระแสเรียกร้องให้ข่มขืนต้องประหารชีวิต เนื่องจากตามปกติกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องข่มขืนหรือฆ่าข่มขืนมีความรุนแรงอยู่แล้ว และหากมีการแก้ไขให้ข่มขืนต้องประหารจะส่งผลให้เหยื่อถูกฆ่าปิดปาก อีกทั้งยังมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การประหารชีวิต แต่อยู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพและการยอมความที่ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ

อังคณากล่าวถึงรายงานสถิติการให้บริการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิในปี 2558 ว่า มีผู้ใช้บริการทั้งหมดจำนวน 33 ราย โดยมี 16 รายตัดสินใจไม่ดำเนินคดี 15 รายดำเนินคดีจบในชั้นสอบสวน และมีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ดำเนินการฟ้องร้องถึงขั้นพิจารณาคดี ซึ่งสาเหตุที่ผู้เสียหายเกือบครึ่งหนึ่งจบคดีที่ชั้นสอบสวนไม่ไปถึงขั้นตอนการพิจารณาคดี เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก หนึ่งคือการขาดอายุความ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้ความรู้หรือข้อมูลกับผู้เสียหายมากพอ สองคือทัศนคติของสังคมที่มองผู้หญิงถูกข่มขืนในแง่ลบ ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเข้าแจ้งความ และหากตัดสินใจแจ้งความก็ล่าช้าจนร่องรอยหลักฐานหายไปหมด และสาม-เกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายที่ให้คดีความรุนแรงทางเพศของผู้มีอายุมากกว่า 20 ปี ยอมความได้ ซึ่งทำให้หลายครั้งพนักงานสอบสวนพยายามไกล่เกลี่ยหรือร้ายแรงถึงขั้นข่มขู่ให้ยอมความ

อังคณายังกล่าวอีกว่าการให้ยอมความในคดีทางเพศเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะมันมักจะถูกใช้เป็นช่องทางที่พนักงานสอบสวนบางคนพยายามใช้ในการจบคดี ความต้องการของมูลนิธิจึงอยากให้ทุกกรณีความรุนแรงทางเพศไปถึงชั้นศาล เพื่อให้มีการตัดสินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ และเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้เสียหายด้วยว่าอยากจะให้เรื่องดำเนินไปถึงขั้นตอนไหน เนื่องจากแต่ละคนก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น ไม่อยากทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นต้น

"ถ้าเกิดเราไม่ปรับกระบวนการยุติธรรม ผู้ชายก็ใช้เงินในการจบคดี อย่าไปคิดว่าผู้หญิงเขายอมรับเงิน ส่วนใหญ่เขาไม่อยากได้เงิน แต่ปัญหาคือเขาเจอกระบวนการที่มันแย่ ใช้วิธีพูดไม่ดี กริยาไม่ดี มันเหมือนถูกกระทำซ้ำ ซึ่งหลายคนก็จบที่การรับเงิน คือถ้าเกิดไม่มีกระบวนการที่เป็นมิตร ผู้หญิงก็ต้องยอมไกล่เกลี่ย ยอมรับเงิน เพราะว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว"

ไม่ใช่แค่ปัญหายอมความ แต่กระบวนการยังไม่เป็นมิตรกับเหยื่อ

ด้าน จะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ตัวกฎหมายที่ให้ยอมความได้ แต่รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นมิตรแก่ผู้เสียหาย ซึ่งทำให้หลายครั้งผู้เสียหายไม่กล้าที่จะเข้าแจ้งความ ดังนั้น สังคมต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับผู้หญิง อย่างเช่นมีพนักงานสอบสวนผู้หญิงหรือมีสหวิชาชีพเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น

"ถ้าเกิดเราไม่ปรับกระบวนการยุติธรรม ผู้ชายก็ใช้เงินในการจบคดี อย่าไปคิดว่าผู้หญิงเขายอมรับเงิน ส่วนใหญ่เขาไม่อยากได้เงิน แต่ปัญหาคือเขาเจอกระบวนการที่มันแย่ ใช้วิธีพูดไม่ดี กริยาไม่ดี มันเหมือนถูกกระทำซ้ำ ซึ่งหลายคนก็จบที่การรับเงิน คือถ้าเกิดไม่มีกระบวนการที่เป็นมิตร ผู้หญิงก็ต้องยอมไกล่เกลี่ย ยอมรับเงิน เพราะว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว" จะเด็ดกล่าว

ผู้เสียหายมองการยอมความทำให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

ด้านแยม (นามสมมติ) ผู้เคยเข้ารับการช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในประเด็นการถูกข่มขืน เล่าเหตุการณ์และขั้นตอนการดำเนินคดีว่า หลังจากที่เธอถูกข่มขืนโดยเพื่อนของแฟนแถวย่านพระราม 2 เธอก็มีความประสงค์ที่จะแจ้งความดำเนินคดี แต่เนื่องจากหน้าที่การทำงานทำให้เธอต้องกลับต่างจังหวัดในเช้าวันรุ่งขึ้น เธอจึงเข้าแจ้งความหลังจากเลิกงานที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ แต่ตำรวจในพื้นที่ไม่รับแจ้งความเนื่องจากต้องแจ้งในสถานีตำรวจที่เกิดเหตุ ทำให้เธอต้องกลับมากรุงเทพฯ เพื่อแจ้งความ หลังจากแจ้งความตำรวจก็ส่งเธอไปตรวจร่างกาย แต่ไม่พบหลักฐานเพียงพอเนื่องจากเวลาผ่านไปแล้วหลายวัน หลังจากนั้นทางพนักงานสอบสวนได้มีการเรียกตัวเธอไปสอบปากคำหลายครั้ง จนผ่านไปหลายเดือน พนักงานสอบสวนจึงพูดเชิงขอร้องให้เธอยอมความเพื่อจบคดี

“เขาเรียกไปเหมือนจะบอกให้จบคดี บอกว่าเสียเวลา แล้วยังไงก็เอาผิดไม่ได้เพราะหลักฐานไม่ครบไม่สมบูรณ์ เขาบอกเราว่า สารวัตรขอเถอะ สารวัตรปวดหัวกับคดีนี้มาก”

แยมกล่าวต่อไปว่า เธอลังเลอย่างมากว่าจะยอมความจบคดีหรือไม่ ด้วยใจหนึ่งก็อยากสู้ แต่อีกใจก็ท้อ เพราะจากที่พนักงานสอบสวนพูดก็ทำให้รู้สึกว่าคงไม่ชนะคดี อีกทั้งหากมีการดำเนินคดีต่อก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย รวมไปถึงยังต้องเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายครั้ง ด้วยความท้อและเหตุผลข้างต้นเธอจึงตัดสินใจยอมความ และแยมยังกล่าวอีกว่าในคดีข่มขืนกฎหมายไม่ควรมีการยอมความ เนื่องจากผู้กระทำความผิดจะไม่ได้รับโทษในสิ่งที่กระทำลงไป

“พอเราบอกว่าถอนแจ้งความก็ได้ เขาก็ช่วยกันเขียนใบเขียนอะไร เหมือนดีใจมาก ผู้กำกับก็มาช่วยเขียนใบ เราก็ไม่ได้อยากยอมความ แต่หลักฐานออกมาแบบนี้ ผลออกมาแบบนี้ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ลึกๆ ก็ไม่อยากยอมความ ไม่อยากให้มีการยอมความ ไม่อยากให้คนกระทำผิดลอยนวล” แยมกล่าว

นักกฎหมายชี้ยอมความไม่ใช่ปัญหา-ปัญหาอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม

อีกมุมมองหนึ่ง เฉลิมวุฒิ สาระกิจ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่าการยอมความเป็นความตั้งใจของกฎหมายที่จะเปิดช่องให้ถามความประสงค์ของผู้เสียหายว่าต้องการจะดำเนินคดีหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะเป็นความผิดทางอาญา แต่หากเป็นความผิดที่สังคมโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบ อย่างเช่น การหมิ่นประมาทหรือการข่มขืนก็สามารถยอมความได้

เฉลิมวุฒิยังกล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นด้วยหากจะแก้ไขกฎหมายความรุนแรงทางเพศให้ยอมความไม่ได้ เพราะในประเด็นความรุนแรงทางเพศ สิทธิหรือความประสงค์ของผู้เสียหายควรได้รับการคำนึงถึงเป็นอย่างแรกเนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งหากไม่มีการยอมความก็อาจเป็นการบังคับให้ผู้เสียหายบางคนที่ไม่อยากดำเนินคดีด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น กลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ต้องออกไปดำเนินคดี ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย และหากผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายเป็นคนใกล้ชิดกัน เช่น แฟน เพื่อน คนในครอบครัว หรือญาติ ซึ่งต่อมามีการไกล่เกลี่ยหรือยอมความกันได้ และผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อ ก็จะไม่มีช่องให้เกิดการยุติการดำเนินคดีได้เลย

เฉลิมวุฒิมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายแต่อยู่ที่กระบวนการยุติธรรม แม้จะแก้ไขกฎหมายให้ยอมความไม่ได้ แต่หากพนักงานในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีความเที่ยงธรรม ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ดี

“ถ้าเราสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมของเรา ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนมีความโปร่งใส และเก็บความลับของผู้เสียหายได้ ผมว่าเมื่อผู้เสียหายรู้สึกพึ่งพากระบวนการยุติธรรมได้ เขาจะไปแจ้งความทุกคดีแหละครับ แต่ถ้าเขาไม่อยากให้ใครรู้จริงๆ มันก็เป็นความประสงค์ของเขา” เฉลิมวุฒิกล่าว

สุดท้ายเฉลิมวุฒิ เสนอให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวน เพื่อถ่วงดุลอำนาจของพนักงานสอบสวน ซึ่งอาจทำให้การทุจริตหรือการกระทำโดยมิชอบทำได้ยากกว่าเดิม และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net