Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพ: Ruben ศิลปินยุคบาร็อค

สังคมไทยเรามักจะเห็นว่าที่มาของปัญหาสังคมสารพัดล้วนมาจากปัญหาศีลธรรม แต่เราอาจจะลืมไปว่าศีลธรรมของสังคมไทยเองก็มีปัญหา ดังเราจะเห็นได้จากกรณีสุดขั้ว 2 กรณี กรณีแรก เวลามีการทำความรุนแรงถึงชีวิต ผู้กระทำผิดจะถูกพาตัวไปขออโหสิกรรมหรือขออภัยต่อญาติของเหยื่อ ซึ่งศีลธรรมของศาสนาพุทธสอนว่าอโหสิกรรม รวมทั้งคำสอนเชิงจิตวิทยาว่าให้อภัยแล้วจะสบายใจ ดีกว่าโกรธแค้น

เหตุผลเชิงศาสนากับจิตวิทยาเหมือนจะบังคับให้ญาติของเหยื่อให้อภัย ทั้งๆที่เหตุการณ์เพิ่งเกิด ความเสียใจมีอยู่มาก หลายกรณีไม่พร้อมจะเจอฆาตกรด้วยซ้ำ หรือหลายคนโกรธแค้น แต่จะพูดออกมาก็ไม่ได้ อันที่จริงการให้อภัยมีข้อดี หากเป็นเหตุผลเชิงจริยศาสตร์ นั่นคือการให้โอกาสทั้งผู้กระทำกับเหยื่อได้เริ่มต้นใหม่ เหยื่อก็ไม่จมกับความโศกเศร้ายาวนานเกินไป ผู้กระทำก็ไม่จ่อมจมกับความรู้สึกผิด แต่การให้อภัยก็มีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น การขอโทษ การสำนึกผิด และสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความชั่วร้ายที่ให้อภัยไม่ได้ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สำคัญคือเหยื่อความรุนแรงจะให้อภัยหรือไม่ก็ได้ ไม่สามารถบังคับกันได้

อันที่จริงแล้วการโกรธแค้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ทำให้เหยื่อหรือญาติของเหยื่อยังเคารพตัวเองได้ว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ควรได้รับความเป็นธรรม ในขณะเดียวกันการโกรธแค้นก็สามารถเป็นพลังเรียกร้องให้ผู้กระทำความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเหมือนกันทุกคน ไม่เอาความสงสารหรือเหตุผลทางศาสนามาปล่อยให้คนทำผิดไม่ต้องรับผิด

กรณีที่สอง คือ การเรียกร้องให้ลงโทษประหารหรือฆ่าฆาตกรให้ตายตกไปตามกัน อย่างในกรณีฆ่าข่มขืนหลายครั้งมาแล้ว ที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนกฎหมายเป็นโทษประหาร ทั้งๆที่โทษสูงสุดของโทษข่มขืนเป็นโทษประหารอยู่แล้ว และจริงๆแล้วการลงโทษประหารก็มีปัญหาในตัวเอง เพราะหลายกรณีทำให้ผู้ข่มขื่นตัดสินใจฆ่าเหยื่อปิดบังความผิด รวมทั้งการตัดสินผิดในกรณีจับแพะ แต่นักโทษที่ถูกจับมาผิดตัวก็ถูกตัดสินประหารไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ เหล่านี้ล้วนเป็นจุดอ่อนของโทษประหาร

สมมติว่ายังไม่คิดเรื่องนี้ก่อนก็ได้ เอาแค่ว่าทำผิดแล้วเรียกร้องให้เหยื่อให้อภัยกับการเรียกร้องให้ลงโทษประหารเด็ดขาด แม้จะสารภาพผิด ก็สะท้อนถึงความรุนแรงได้ การคลั่งศีลธรรมทำให้เหตุผลไม่ทำงาน การใช้อารมณ์ก็สุดขั้วไปสองทาง คือให้อภัยทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ร้ายแรง และประหารทุกกรณีที่มีผู้กระทำความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ทำให้ไม่เข้าใจทั้งการให้อภัยและความโกรธแค้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

เราควรไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอันเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรง รวมทั้งแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการศึกษาเรื่องนี้ในทางอาชญาวิทยาอยู่แล้ว

 

เผยแพร่ครั่งแรกใน: เฟซบุ๊กแฟนเพจ Philotopia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net